Skip to main content
sharethis


ภาพจากhttp://www.thailabour.org/wnews/050204tsunami.html


 


วันที่ 26 ธันวาคม 2548 จะถึงวันครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดอันดามัน ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ต่างระดมสรรพกำลังแยกกันจัดงานชนิดชัดเจนยิ่ง ด้วยขนาดงบประมาณและวิธีการจัดการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


 


ขณะที่ภาครัฐใช้งบประมาณทั้งสิ้น 360 ล้านบาท กระจายสถานที่จัดงานไปตามจังหวัดต่างๆ ยกเว้นจังหวัดสตูล ใช้วิธีการให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งปรากฏว่า บริษัทในเครือข่ายยักษ์ใหญ่แกรมมี่ ได้รับการประมูล


 


ถึงกระนั้น ไฮไลต์ของการจัดงานนี้ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ต่างยึดเอาตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งได้รับความเสียหายหนักที่สุด เป็นพื้นที่หลักของการจัดงานเหมือนกัน


 


งานครบรอบ 1 ปี สึนามิของภาครัฐ มีกำหนดจัดในวันที่ 26 ธันวาคม 2548 โดย "...ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน


 


งานนี้ จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสรณ์สถานสึนามิ ตรงบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาหลัก - ลำรู่ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พร้อมกับเชิญชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาร่วมประกอบพิธีทางศาสนา อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต ทั้งที่บริเวณหาดป่าตอง หาดกมลา จังหวัดภูเก็ต, เกาะพีพี จังหวัดกระบี่, บ้านน้ำเค็ม บ้านบางเนียง จังหวัดพังงา


 


จากนั้น จะมีพิธีกล่าวสุนทรพจน์ที่เขาหลัก ตามด้วยกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตหลากหลายกิจกรรม


 


"คาดว่า จะมีแขกรับเชิญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาร่วมงานประมาณหมื่นกว่าคน" เป็นความคาดหวังของรัฐบาล จากคำยืนยันของ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" รองนายกรัฐมนตรี


 


ประเด็นที่น่าจับจ้องมองอย่างไม่กระพริบตา จากการเปิดเผยของรองนายกรัฐมนตรีนาม สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ก็คือ รัฐบาลไม่ได้หยุดแค่เพียงงานรำลึกครบรอบ 1 ปี สึนามิเท่านั้น


 


ทว่า ยังเตรียมจัดงานต่อเนื่องเน้นการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวแถบอันดามัน โดยไม่เกี่ยวกับการจัดงานครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์สึนามิ แต่จะใช้ห้วงเวลานี้ ประชาสัมพันธ์ให้ชาวโลกเห็นว่า ประเทศไทยมีการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน จนความพร้อมของแถบอันดามันหวนกลับคืนมาสวยงามดั่งเดิม


 


จึงไม่แปลกอันใด ที่การจัดงานโดยใช้งบประมาณมหาศาล จัดจ้างภาคเอกชนให้เป็นผู้ดำเนินการจัดงาน เน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อฟื้นฟูการท่งเที่ยวฝั่งอันดามัน จะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ


 


ด้วยเพราะนอกจากจะเป็นการจัดงานโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประสบภัยได้มีส่วนร่วมแล้ว แนวคิดฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวอันดามันโดยเร็ว ด้วยการใช้งานรำลึกครบรอบ 1 ปีสึนามิเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ ทางฝั่งภาคประชาชนเชื่อว่า จะนำไปสู่การกลบปัญหาที่ยังดำรงอยู่เอาไว้ใต้พรมของรัฐบาล


 


ปฏิบัติการแยกกันจัดงานจึงเกิดขึ้น โดยภาคประชาชน จะแยกกันจัดงานออกเป็น 4 แห่ง


 


แห่งแรก ที่บ้านทุ่งหว้า ตำบลคึกคัก จังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 23 - 25 ธันวาคม 2548


แห่งที่สอง ที่บ้านเกาะมุก ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง วันที่ 25 ธันวาคม 2548


แห่งที่สาม ที่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ วันที่ 26 ธันวาคม 2548


แห่งที่ 4 ที่บ้านบ่อเจ็ดลูก อำเภอละงู จังหวัดสตูล วันที่ 29 ธันวาคม 2548


 


ไฮไลต์ของภาคประชาชน อยู่ที่บ้านทุ่งหว้า ซึ่งจัดโดยเครือข่ายฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิ 6 จังหวัด ด้วยงบประมาณ 5 ล้านบาท ระดมผู้ประสบภัยจาก 6 จังหวัด และพันธมิตรกว่า 3,500 คน ร่วมกันถกประเด็นปัญหาที่ยังไม่คลี่คลายในแต่ละพื้นที่มานำเสนอ


 


ประเด็นปัญหาที่ยังคุกรุ่นอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะหยิบยกขึ้นมาพูดคุย แยกเป็น 7 ประเด็น


 


หนึ่ง ปัญหาที่ดินและสาธารณูปโภค


สอง ปัญหาจากนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการ sea food bank ฯลฯ


สาม ปัญหาการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และระบบการเตือนภัย


สี่ ปัญหาการฟื้นฟูอาชีพ และสวัสดิการ


ห้า ปัญหาชาติพันธุ์


หก ปัญหาการสร้างบ้านพักถาวร


เจ็ด ปัญหาเด็ก - เยาวชน


 


เป็นการหยิบยกขึ้นมาถก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างผู้ประสบภัยด้วยกัน และบอกกล่าวให้สังคมรับรู้ว่า ปัญหาต่างๆของผู้ประสบภัยสึนามิยังไม่จบ รัฐบาลยังแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่แล้วเสร็จ


 


นับจากนี้ไป เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ 6 จังหวัด ก็จะได้ฤกษ์ออกมาเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหาที่ยังดำรงอยู่ให้ลุล่วงต่อไป


 


ส่วนจังหวัดตรัง กำหนดจัดงานครบรอบ 1 ปี สึนามิภาคประชาชน ในวันที่ 25 ธันวาคม 2548 ที่สนามโรงเรียนบ้านเกาะมุก ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จะมีการเสวนากระบวนการฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งจังหวัดตรัง โดยตัวแทนชุมชนเกาะมุก ตัวแทนชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ตัวแทนเครือข่ายเซฟอันดามัน ตัวแทนเครือซิเมนต์ไทย และอาจารย์สุวัฒน์ ทองหอม และมีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการกองทุนหมุนเวียน อู่ต่อเรือ ฟื้นฟูอาชีพ อาชีพเสริม ต่อด้วยการแสดงธรรมเรื่อง "ในทัศนะอิสลามท่านคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ภัยพิบัติ" โดยฮัจญี อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง


 


ขณะที่ภาครัฐ ถือฤกษ์วันที่ 26 ธันวาคม 2548 จัดงานรำลึก 1 ปี สึนามิ ที่อ่าวพังกา บ้านเกาะมุก มี "พล...ชิดชัย วรรณสถิตย์" รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน


 


สำหรับการจัดงานของภาคประชาชนที่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2548 เป็นความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและชาวบ้านบนเกาะพีพี ที่นอกจากรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากพิบัติภัยคลื่นสึนามิแล้ว ยังขอบคุณอาสาสมัคร และกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย


 


"งานนี้ ใครช่วยเหลืออะไรได้ก็ช่วยกัน คนที่ไม่มีเงินก็ช่วยลงแรงทำกับข้าว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเรือโดยสารก็ไม่คิดค่าบริการ ผู้ประกอบการร้านอาหารก็ช่วยวัตถุดิบในการทำกับข้าว" เป็นคำบอกเล่าของ "นายณัฐวุฒิ แก่นทอง" ผู้ประสานงานองค์กรความร่วมมือผู้ประกอบการรายย่อย แรงงาน และชุมชนที่ประสบภัยสึนามิเกาะพีพี


 


ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ยึดพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ บนเกาะพีพี จัดงานรำลึก 1 ปี สึนามิเช่นกัน


 


ส่วนจังหวัดสตูล ทางภาคประชาชน กำหนดจะจัดงานในวันที่ 29 ธันวาคม 2548 ที่ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ในวันที่ 29 ธันวาคม 2548 จะมีการพูดคุยกันในประเด็น "มิติทางศาสนาว่าด้วยเรื่องภัยธรรมชาติ และการฟื้นฟูชุมชน" เพื่อรองรับเรื่องราวต่างๆอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นเข้ามาช่วย เตรียมวางแผนรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมกับจัดตั้งองค์กรรองรับพิบัติภัยภาคประชาชน โดยเน้นการวางแผนรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยจะเลือกกรรมการฯ ขึ้นมาบริหารองค์กรในวันเดียวกันนี้ด้วย


 


ขณะเดียวกัน ภาครัฐของจังหวัดสตูล ยกพลไปร่วมงานใหญ่ของรัฐบาลที่จังหวัดพังงา ในวันที่ 26 ธันวาคม 2548 แทนการจัดงานในพื้นที่


 


สำหรับจังหวัดภูเก็ต ภาคประชาชนไม่มีการจัดงานรำลึก 1 ปี สึนามิ แต่จะยกขบวนไปร่วมงานรำลึกของภาคประชาชน ที่บ้านทุ่งหว้า จังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 23 - 25 ธันวาคม 2548 เช่นเดียวกับภาคประชาชนของจังหวัดระนอง


 


ในส่วนของภาครัฐจังหวัดภูเก็ต จะกิจกรรมรำลึก ในวันที่ 26 ธันวาคม 2548 ที่หาดป่าตอง หาดกมลา และหาดไม้ขาว ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาของแต่ละศาสนา และแต่ละประเทศ ส่วนช่วงเย็นจะยกพลไปร่วมงานของรัฐบาล ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา


 


ขณะที่จังหวัดระนอง ทางจังหวัดร่วมกับกองทัพอากาศ และบริษัทอาร์.เอส.โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จัดงานรำลึกครบรอบ 1 ปี สึนามิ ไปก่อนล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 16 - 18 ธันวาคม 2548 ที่สนามโรงเรียนบ้านบางเบน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ มี พล...คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน


 


นี่คือ 2 เนื้อหา ของงานรำลึก 1 ปี สึนามิ ที่ภาครัฐเน้นพิธีกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิต และฟื้นฟูการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน


 


อันแตกต่างอย่างยิ่งกับภาคประชาชน ที่เน้นการพูดคุยในประเด็นปัญหาของผู้ประสบภัยสึนามิ ที่ยังแก้ไม่เสร็จ



กลับหน้าแรกประชาไท 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net