Skip to main content
sharethis




น.ส.ปิยสุดา อาชาสันติสุข


คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


น้อมรับพระราชดำรัส พูดง่ายแต่ทำยาก


 


เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 48 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ฝ่ายรัฐบาลก็รีบออกมาประกาศทันทีว่า จะน้อมรับพระบรมราโชวาทไปยึดเป็นหลักปฏิบัติ


 


แต่ว่าสิ่งที่พูดออกมานั้น รัฐบาลจะทำได้จริงแค่ไหนกัน


 


ประการแรก โฆษกรัฐบาลออกมาประกาศว่า จะบริหารประเทศอย่างมีสติ จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แม้จะมีข้อบกพร่องบ้าง แต่เมื่อถูกวิจารณ์ รัฐบาลจะน้อมรับคำวิจารณ์เหล่านั้นอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ตอบโต้ หรือทะเลาะ


 


ที่จริงแล้ว การวิจารณ์เกิดขึ้นเพื่อให้รัฐบาลรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรผิด/ถูกอย่างไร รัฐบาลจึงไม่เพียงแค่รับฟัง แต่ต้องนำไปปฏิบัติด้วย


 


ส่วนการไม่ตอบโต้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้คำตอบใดๆทั้งสิ้น ดังนั้นการให้สัมภาษณ์และตอบข้อสงสัยข้อซักถามของสื่อมวลชน จึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ เพื่อให้เกิดความกระจ่างกับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต หรือผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ ไม่ควรบ่ายเบี่ยงหรือแสดงอารมณ์อย่างที่นายกฯ เคยกระทำมา


 


ตอนนี้สิ่งที่แสดงให้เห็น มีเพียงการให้ นายธนา เบญจาทิกุล ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาและแพ่งรวม 6 คดี ที่พ.ต.ท.ทักษิณเป็นโจทก์ฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุลและพวก แบบไม่มีเงื่อนไข      


 


ถ้าจะให้ดี นายกฯ ควรพิจารณายกเลิกคดีฟ้องร้องสื่อมวลชนคดีอื่นด้วย เช่น คดีบริษัทชินคอร์ปเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฟ้อง น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ กรณีตีพิมพ์ข่าวผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างรัฐบาลกับบริษัทธุรกิจเครือญาตินายกฯ


 


ประการที่สอง รัฐบาลจะยึดมั่นในหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยบริหารงบประมาณอย่างประหยัด รู้ค่าของงบฯที่ทุ่มเทต่อประเทศ


 


ในความเป็นจริง นโยบายของรัฐบาลสวนทางกับเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ 1.7 ล้านล้านบาทต่อไป โดยเชิญทูตจากประเทศต่างๆ มาฟังรายละเอียดในวันที่ 15 ธ.ค. ทั้งๆ ที่มีเสียงทัดทานจากหลายฝ่าย เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินมหาศาลเพื่อซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยที่ไม่แน่ว่าเราจะได้ประโยชน์คุ้มค่าจริงหรือไม่


 


นอกจากนี้นโยบายประชานิยม การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน เพื่อหวังตัวเลขจีดีพีสูงๆ กลับทำให้ประชาชนฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ส่งผลให้มีเงินออมลดลง มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงไว้ว่า ปริมาณเงินออมสุทธิในประเทศลดลงจากร้อยละ 14.4 ของจีดีพี ในปี 32 เป็นร้อยละ 3.8 ของจีดีพี ในปี 46 


 


ด้านหนี้ครัวเรือน ในปี 47 ครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ย 103,940 บาทต่อครัวเรือน คิดเป็น 7.11 เท่าของรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนต่อเดือน


 


รวมถึงการที่นายกฯ ซื้อเครื่องบินประจำตำแหน่ง ราคา 2,200 ล้านบาท และยังต้องเสียค่าซ่อมบำรุงอีกราว 80 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ในขณะที่รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ (หนึ่งในประเทศ G-8 กลุ่มประเทศร่ำรวยของโลก) ยังไม่เห็นชอบให้นายกฯ ของอังกฤษมีเครื่องบินประจำตำแหน่ง โดยบอกว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะรองรับการอวดอ้างอภิสิทธิ์บารมีของนักการเมือง


 


ประการที่สาม โฆษกรัฐบาลบอกว่า ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของประเทศ รัฐบาลจะมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า


 


ทว่า การทำโครงการเมกะโปรเจกต์เพื่อซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถไฟฟ้า หรือการจัดการน้ำ เป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เราต้องพึ่งพาต่างประเทศ ไม่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง จึงมิใช่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังตอบไม่ได้ว่าผลประโยชน์จะอยู่กับประเทศของเรา หรือตกไปเป็นของต่างประเทศกันแน่ ซึ่งต่างกับแนวทางตามพระราชดำรัสที่ทรงยกตัวอย่างเขื่อนกุยบุรีว่าอาศัยช่างและเครื่องมือในเมืองไทยทั้งสิ้น และได้ประโยชน์กับประชาชนจริงๆ


 


ประการที่สี่ รัฐบาลจะเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะยาว เรื่องการขาดแคลนน้ำมันในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลจะนำเรื่องพลังงานทดแทน การปรับโครงสร้างการใช้พลังงานทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอีก 20-30 ปีมาพิจารณา


 


การจะหาพลังงานทดแทน ไม่ได้หมายความว่าเราจะเปลี่ยนการนำเข้าพลังงานรูปแบบหนึ่ง แล้วไปนำเข้าพลังงานอีกแบบแทน อย่างในปัจจุบันที่รัฐบาลรณรงค์ให้มีการใช้แก๊สโซฮอล์ ประเทศไทยก็ไม่มีวัตถุดิบเพียงพอ ต้องนำเข้าเอธานอลจากต่างประเทศ หากรัฐบาลจะเอาจริงเรื่องไบโอดีเซล อย่างปาล์มน้ำมันตามพระราชดำรัส ก็ควรต้องเตรียมประเทศให้พร้อมทั้งในด้านวัตถุดิบ การผลิต และตลาดด้วย


 


ดังนั้น การน้อมรับพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางปฏิบัตินั้น ในความเป็นจริงรัฐบาลกลับกระทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่ประกาศออกมา ขณะที่สิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องการเห็นคือการกระทำที่เป็นรูปธรรม  มิใช่เพียงลมปากลอยๆ ของรัฐบาล


 


อย่าลืมว่าการพูดง่ายแต่การทำยาก


 


 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net