Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา รายการมองคนละมุมของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน F.M 100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เชิญนายสมศักดิ์ โยอินชัย และนายปฏิภาณ วิริยะวนา ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ที่เข้าร่วมชุมนุมคัดค้านการประชุมเจรจาขององค์การโลกหรือดับเบิลยูทีโอ ที่ฮ่องกง มาพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวรายละเอียดของการประชุมการเจรจาของกลุ่มองค์การการค้าโลก และรวมไปถึงการคัดค้าน จนทำให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการสลายฝูงชนและจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงเข้าห้องขัง ทำให้คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามกันว่า ทำไมต้องเข้าประท้วงร่วมกับเขา และหลายส่วนก็ได้แสดงความคิดเห็น สะท้อนข้อเท็จจริงว่า ประเทศของตนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างจากการเปิดการค้าเสรี


 


ในฐานะตัวแทนเกษตรกรไทยที่ไปร่วมการชุมนุมที่ฮ่องกงที่ผ่านมา บรรยากาศโดยรวมเป็นยังไงบ้าง?


สมศักดิ์ : เราเดินทางไปถึงฮ่องกงในวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา และเริ่มการประชุมดับเบิลยูทีโอ ตั้งแต่วันที่ 13 - 18 ธ.ค. ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีชาวนาหรือเกษตรกรที่มาจากหลายประเทศ นอกจากนั้นก็มี องค์กรมหาชนในส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน และผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากภาคบริการ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้มีการพูดอยู่สามเรื่องคือ หนึ่ง การเปิดเสรีด้านภาคการเกษตร สอง ภาคการบริการ และสาม ภาคอุตสาหกรรม


 


บรรยากาศก็หนักหนาสาหัสพอสมควร โดยเฉพาะอย่างชาวนาเกาหลี ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปิดเสรีการนำเข้าข้าว พวกเขาได้ร่วมกันต่อสู้กันมาหลายครั้ง ก่อนหน้านี้ก็มีการชุมนุมคัดค้านการประชุมเอเปค ก็มีชาวนาเกาหลีตายไปคนหนึ่ง ดังนั้น จึงพอรู้มาก่อนว่า การชุมนุมของชาวนาเกาหลีจึงมีบรรยากาศที่ค่อนข้างตึงเครียด


 



 


คิดเห็นอย่างไรที่เจ้าหน้าที่ฮ่องกงได้ทำการสลายฝูงชน และจับเข้าห้องขัง?


สมศักดิ์ : ใช่ ขณะที่พวกเรากำลังทำการคัดค้าน มีเจ้าหน้าที่พยายามเข้าทำการสลายม็อบ จนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก ผมโดนกระบองตีตรงบริเวณท่อนขาจนช้ำ ก่อนจับเข้าห้องขัง


 


เมื่อหันมาดูที่คนฮ่องกง น่าแปลกใจที่คนฮ่องกงเขาไม่รู้เรื่องดับบลิวทีโอ สักเท่าใด ผลกระทบต่อคนฮ่องกงจริง ๆ ดูแล้วก็คงไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาคเกษตรซึ่งฮ่องกงแทบจะไม่มี แต่คงจะกระทบในด้านอื่น เพราะฮ่องกงส่วนมากจะทำงานในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก


 


การได้พบเจอผู้ร่วมชุมนุมจากส่วนอื่นๆ ได้เห็นได้เรียนรู้อะไรบ้าง


ปฏิภาณ : อย่างที่คุณสมศักดิ์พูดเมื่อกี้ การชุมนุมคัดค้านมีหลายกลุ่มหลายประเทศ ในขณะเดียวกัน ที่ฮ่องกงเอง ส่วนหนึ่งอาจยังไม่รู้เรื่องดับบลิวทีโอสักเท่าไร แต่พอเข้าไปตรงจุดนั้น กลับเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนฮ่องกงกับคนที่มาจากประเทศอื่น บรรยากาศตรงนั้น 2-3 วันแรก อาจเป็นการรณรงค์ไปก่อน คล้ายๆ ว่า ทำความเข้าใจกับพี่น้องในฮ่องกงเสียก่อน และพอมาช่วงหลังๆ จะเห็นว่ามีพี่น้องในฮ่องกงมาร่วมด้วย แต่ถ้าถามว่าประทับใจจริงๆ คือกลุ่มไหน แน่นอนคือ กลุ่มเกาหลีที่สามารถสร้างบรรยากาศ ผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้เกิดความครึกครื้นขึ้นมา ตรงนี้เป็นสิ่งประทับใจ


หมายความว่ามีกลุ่มเกษตรกร หรือว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าภาคเกษตร ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม เข้ามาร่วมจากหลายประเทศมาก?
สมศักดิ์ :
ใช่ มีตั้งแต่ทวีปอเมริกา เช่นบราซิล เม็กซิโก แล้วก็คอสตาริก้า ทางอเมริกาเหนือ ก็มีชาวนาเกษตรกรจากอเมริกา มา 2-3 คน แคนาดาก็มา กลุ่มเขตการค้าอเมริกาเหนือก็มาครบทั้ง 3 ประเทศ แล้วก็มีแถบทวีปแอฟริกา ก็มากัน 4 - 5 ประเทศ ส่วนทางยุโรปก็มี 4-5 คน แม้ฝรั่งเศส ก็มากันเยอะ ในส่วนของเอเชียเรา ก็มีไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่เข้ามาร่วม ในส่วนของเอเชียใต้ จะมีอินเดีย กับศรีลังกา


แม้แต่กลุ่มประเทศที่เราบอกว่าเป็นประเทศแกนหลักในการที่จะเปิดการค้าเสรีอย่าง ญี่ปุ่น หรือทางยุโรปก็ดีได้ร่วมคัดค้านกระบวนการตรงนี้ แสดงว่าผลกระทบที่เกิดจากการเจรจาการค้า ไม่ใช่กระทบเฉพาะคนจนในประเทศด้อยพัฒนา?


สมศักดิ์ : ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ ถ้าพูดถึง 3 เรื่องที่ว่านี้ ในการเจรจากันจริงๆ มันต่อมาจากการเจรจา ที่เมืองโดฮา ประเทศกาต้า และไปต่อที่แคนคูน มันไม่จบ และมาต่อที่ฮ่องกงอีก คิดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด แต่ปรากฏว่า มันก็ไม่ได้บรรลุถึงขนาดที่ว่าจบในทีเดียวที่ฮ่องกง


 


ในเฉพาะประเด็นเรื่องสินค้าเกษตร ซึ่งประเด็นใหญ่ก็คือ การอุดหนุนของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะการอุดหนุนด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น อียู หรือ ยุโรปเอง หรือไม่ว่าอเมริกาเองก็มีการอุดหนุนภายในมหาศาล ซึ่งยังไม่ได้ข้อตกลงว่า จะเอากันอย่างไร



หมายความว่าประเด็นการประชุมที่ฮ่องกง แทบจะไม่มีความคืบหน้าเลย?
สมศักดิ์ :
ประเด็นเรื่องสินค้าเกษตร ประเด็นหลักก็คือ เรื่องการอุดหนุน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศด้อยพัฒนาได้เสนอในที่ประชุม นั่นก็คือประเด็นการคุ้มครองพืชพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยต้องการที่จะคุ้มครองพืชสัก 2-3 ชนิดเช่น ข้าว ข้าวโพด เป็นต้น แต่กับประเทศด้อยพัฒนากลุ่มนี้จะยังไม่ให้เปิด อย่างเช่น เกาหลี ก็เสนอว่าพืชข้าว เป็นรายการที่จะต้องถูกปกป้อง ไม่ให้เข้าสู่กระบวนการเจรจาการค้าเสรี


 


ตรงนี้เป็นข้อเสนอของกลุ่มผู้ประท้วงหรือ ว่าตัวแทนรัฐบาล?
สมศักดิ์ :
ตัวแทนประเทศด้อยพัฒนาที่เสนอในที่ประชุม แต่ไม่ได้มีการให้ความสนใจสักเท่าไร ตัวแทนประเทศไทยเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจในประเด็นนี้ด้วย


รัฐบาลไทยได้นำเสนอ ลักษณะสินค้า หรือเกษตรพิเศษอย่างนี้ไหม?
สมศักดิ์ :
ในตัวแทนเจรจามันก็แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ อยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 90 ประเทศ มีทั้งเอเชีย เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วก็ทางแอฟริกา เพราะฉะนั้น มีอีกกลุ่มสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ต้องการที่จะเปิดเสรี และมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อียู หรือว่าจะเป็นอเมริกา ก็มีความขัดแย้งภายใน คือถ้าประเมินแล้ว ผลการประชุมครั้งนี้ มันเป็นความก้าวหน้าของทางกลุ่มที่ต้องการจะเปิดการค้าเสรี


 


จากข้อมูลที่ได้รับ มีที่เข้าไปร่วมประชุมที่ห้องประชุมใหญ่ ได้นำข้อมูลในเรื่องภาคบริการออกมาพูดมากที่สุด ตอนนี้ได้ข้อตกลงในระดับหนึ่ง ในกรอบข้อตกลงในเรื่องด้านบริการ เพียงแต่ว่าอาจจะมีรายการหนึ่ง ไปพูดเรื่องเทคนิค เรื่องรายละเอียด โดยเฉพาะในหลักการ ในกรอบมันไม่ได้มีความก้าวหน้า


 


อย่างเช่น ประเทศไทยจะเปิดเสรีด้านภาคบริการ คือมันมีกี่รายที่จะต้องเปิด อะไรบ้าง พอจะมีรายละเอียดไหมในตรงนี้ คือในส่วนของประเทศไทย ที่เข้าไปเจรจาในภาคบริการ มันไม่สามารถที่จะลงรายละเอียดได้ แต่จะมีอะไรบ้าง อันนี้คงจะเจรจาในรอบต่อไป ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 เมษายนนี้ ที่เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ดูแล้วในประเทศไทย จะมุ่งไปที่ด้านสาธารณสุข การศึกษา การท่องเที่ยว การสาธารณูปโภค กลุ่มน้ำมัน เป็นต้น


คือเราเจออย่างนี้ก็ต้องปรับหมด การแก้ไขอย่างเช่นเรื่อง บริการ ทุกอย่างล้วนเป็นอาชีพสงวนของคนไทย จะถูกระบุไว้ในประกาศ ปฏิวัติฉบับที่ 281 แต่ประกาศฉบับนั้นได้ถูกยกเลิกไป หลังจากดับเบิลยูทีโอเข้ามา ฉะนั้นถ้าดูประเทศไทย ประวัติศาสตร์ในเรื่องกฎหมาย ในเรื่องนโยบาย ได้เปิดให้ต่างชาติเข้ามาเต็มที่แล้ว


 


หมายความว่าประเทศไทยเรา ไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่มีกำแพง ไม่มีกรอบในการที่จะป้องกันตัวเอง อย่างเรื่องการอุดหนุนสินค้า สินค้าการเกษตร ซึ่งในการเสนอมีการลดการอุดหนุน สินค้าการเกษตรที่เหลือ 0 เปอร์เซนต์ ประมาณปี 2553 เท่ากับว่าปีนี้ ปี 2548 ใช่ไหมอีก 4 - 5 ปีข้างหน้า จะต้องถูกลดการอุดหนุนการเกษตรจะต้องเหลือ 0 เปอร์เซนต์


 


แต่รายละเอียดข้อมูลเหล่านี้ มันไม่ได้มาถึงตัวเกษตรกรซึ่งจะได้รับผลกระทบ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ใช่หรือไม่?
ปฏิภาณ
: ถ้ามองในเรื่องของผลกระทบ ผมว่าถ้าการเจรจาตัวนี้มันลงตัวทุกอย่าง ผลกระทบถ้ามองในระยะสั้น จะมีหลายด้าน เช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบเดิมๆ เพราะว่าการเข้ามาของเอฟทีเอ หลายๆ อย่าง มันทำให้เกิดการผูกขาด ไม่มีอิสระ หรือว่าเกิดการละเมิดในเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างเช่นการเข้าถึงทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ก็คือเราจะได้ผลกระทบในส่วนนี้ เพราะหลายๆ อย่างมันอยู่ในข้อตกลงในส่วนนั้นหมดแล้ว


 


สมศักดิ์ : มันเป็นผลกระทบเชิงเป็นลูกโซ่ ฉะนั้น การทำข้อตกลงในกรอบดับเบิลยูทีโอ หรือเอฟทีเอ สิ่งหนึ่งมันเป็นสิ่งที่ออกมาเป็นสื่อ ที่บอกว่าถ้าสามารถขายได้เยอะ ก็จะได้เงินเยอะ แต่ถ้าดูจริงๆ ถ้าทำเยอะมันก็ต้องใช้ที่ดินเยอะ ใช้ทรัพยากรเยอะ อันนี้เป็นผลกระทบอย่างต่อเนื่อง คล้ายๆ เป็นโดมิโนไปเลย


 


ทีนี้ประเด็นที่ผมว่าเราน่าจะติดตามว่า มันจริงหรือไม่ คือการที่การค้าโดยเฉพาะด้านการเกษตร มันจะทำให้เกษตรกร หรือ ชาวไร่ ชาวนา มีชีวิตที่ดีขึ้นจริงหรือ ฉะนั้นดูจากเอฟทีเอ ไทย - จีน มันก็ชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับเกษตรกรไทย เราคิดว่าเราจะขายอย่างเดียวหรือ? แต่เราไม่ได้คิดเขาจะมาขายให้เราเหมือนกัน ถ้าพูดถึงว่าประเทศไทย เราขาใหญ่เรื่องข้าว ต้องการไปขายที่ฟิลิปปินส์ ในอินโดนีเซีย ในขณะเดียวกัน คนฟิลิปปินส์ คนอินโดนีเซีย คนเกาหลี เขาก็ต้องการขายเหมือนกัน อันนี้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้ว


 


ฉะนั้น สิ่งหนึ่งในกรอบข้อตกลงการค้าเสรี ประเด็นหลักจริงๆ จึงอยู่ที่ใครได้ประโยชน์ ตัวนี้ต้องเจาะกันให้ลึกว่า ข้าวนี้ ชาวนาขายเจ๊ง หรือมันพลาดอะไร กลไกการตลาดมันเป็นอย่างไร และชาวนาจะได้เท่าไหร่ อันนี้ผมคิดว่ามันจะต้องให้เกิด เขาคิดว่าเปิดการค้าเสรีแล้ว มันจะได้เงิน มันก็ไม่แน่เสมอไป สิ่งที่เราต้องการ เราก็ไปสืบได้ว่ามันจะต้องมีเรื่องการค้าเข้ามา


 


แต่สิ่งที่เราต้องการก็คือว่า มันจะเกิดการค้าที่เป็นธรรมได้อย่างไร ซึ่งคนกิน คนขาย คนผลิต มันน่าจะมีอะไรที่เฉลี่ยผลประโยชน์ มันน่าะสมดุลย์ มันไม่ใช่จะกินทางหัว มั่วทางหาง และปลอกทางกลาง ทำให้คนที่อยู่ตรงกลางรวยขึ้น ผู้บริโภคก็กินของแพง คนขายก็ขายของถูก อันนี้มันจะต้องสร้างการค้าที่เป็นธรรมขึ้นมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมปัจจุบันนี้ ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน หรือในโลกปัจจุบัน เราจะเซ็นเสรีการค้า แต่ว่าการค้าให้ความเป็นธรรมกับคนในสังคมได้อย่างไร แค่นั้นเองที่เป็นหัวใจ



เรื่องของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับผลกระทบด้วย ตรงนี้ทางผู้ประท้วงเกี่ยวข้องเรื่องยาเรื่องสุขภาพตรงไหน?
สมศักดิ์ : กลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ เป็นประเด็นภาคบริการ ซึ่งนั่นหมายความว่าจะทำให้ค่าบริการด้านสาธารณะสุขแพงขึ้น และค่ายา ซึ่งประเด็นหนึ่งก็คือ ว่าด้วยสิทธิบัตรยา ซึ่งยาตัวนี้แพงอยู่แล้ว กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไปร่วมงานด้วยก็พูดกันว่า เดือนหนึ่ง เขาต้องใช้เงินประมาณ 7 - 8 พันบาท ในการซื้อยาต้านตัวนี้มา แต่ถ้าหากวันใด เกิดการบริการทั้งเรื่องสิทธิบัตรยา ด้านสาธารณสุขตรงนี้ถูกเปิดเสรี ถูกเปิดโดยที่ว่ารัฐไม่ต้องเข้ามาอุดหนุน


 


นั่นหมายความว่า ด้านสาธารณะสุขจะไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐภายใต้ข้อตกลงดับเบิลยูทีโอ ฉะนั้น ก็จะตกเป็นภาระให้ผู้มาใช้บริการทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการก็ไม่ได้แบกภาระอะไร ก็ผลักภาระเหล่านั้นให้ผู้ป่วยไป


ถ้าพูดถึงความก้าวหน้า การชุมนุมคัดค้านข้อตกลงที่ฮ่องกงมีพัฒนาการอย่างไร


            สมศักด์ : ผมคิดว่า มันทำให้เกษตรกรทั่วโลกได้พบกัน แลกเปลี่ยนปัญหา ความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากว่ากรอบข้อตกลงดับเบิลยูทีโอ มันบรรลุและจะต้องเกิดขึ้นในอนาคต การแลกเปลี่ยนกับชาวนาเม็กซิโก หลังจากที่เปิดเสรีภายใต้ข้อตกลงเขตเศรษฐกิจอเมริกาเหนือ (นาฟตา) หรือว่า บราซิล ซึ่งมีคนจนไร้ที่ดินมากมายเป็นล้าน ซึ่งจะพบได้ว่า ความที่ล้มเหลวนี้ มันเกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดเสรีการค้า หรืออาเจนติน่าที่เปิดเสรีการค้าแล้วประเทศก็ล่มสลาย ล่มสลายก็คือเศรษฐกิจล่ม


 


            ผมคิดว่าตัวอย่างในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในอเมริกา ลาตินอเมริกา น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนไทยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ฟังแล้วมันไกลตัว แต่ว่าจริงๆ แล้วมันก็อยู่ใกล้ๆ เรา


 


            ฉะนั้น เราจะต้องติดตามข้อมูล มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อที่ว่าจะทำยังไงให้สังคมไทยมันอยู่ได้ ผมไม่อยากให้ใครในประเทศไทยเหมือนกับเม็กซิโก เมื่อ 9-10 ปีก่อน เหมือนกับอาเจนติน่าที่สุดท้ายจะต้องไปปล้นชิงอาหารในร้านกันเหล่านั้น ซึ่งผมเป็นห่วงตรงนี้


 


                        ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่คนจนด้วยกันในหลายๆ ประเทศ ที่ไปรวมตัวกันชุมนุมคัดค้านที่ฮ่องกง มันไม่ใช่มีแค่ว่า คนอยู่ในภาคเกษตรเท่านั้น มีอยู่ทั้งภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่เราได้พบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net