Skip to main content
sharethis


thumb_prasit1.jpg


 



(ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ)


 


 


วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2005 19:15น. 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


"วิเคราะห์ไฟใต้ปี 49" ในวันนี้ เป็นบทความของ "ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ" อดีตประธานสหพันธ์ครู จ.ยะลา และหนึ่งในกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ซึ่งเขาประเมินว่า ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของกลุ่มก่อความไม่สงบ กำลังทำให้ "เสียมวลชน" ขณะที่ฝ่ายรัฐกำลังเปิดเกม "รุกทางการเมือง" ทำให้เชื่อว่าความรุนแรงในปี 2549 จะเบาบางลง และกลับสู่ภาวะปกติในไม่ช้า


 


1.สถานการณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม 2547-10 ธันวาคม  2548


1.1  ฝ่ายก่อความไม่สงบ


การเคลื่อนไหวต่ออำนาจรัฐของฝ่ายก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน  นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547  เป็นต้นมา  มีข้อควรพิจารณาที่สำคัญ  ดังนี้


 


1.1.1  การสร้างองค์กรการต่อสู้ลักษณะปิดลับตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี จนสามารถบ่มเพาะบุคลากรระดับนำ  ทั้งฝ่ายการเมืองและการทหารที่มีประสิทธิภาพ   อีกทั้งยังสร้างแนวร่วมที่กว้างขวางทั้งในระดับท้องถิ่น  ระดับภูมิภาค   และระดับสากล


 


1.1.2  การดึงสภาวะแวดล้อมภายนอก  คือ "การปฏิวัติอิสลาม" ที่มีเป้าหมายในการนำคนมุสลิมกลับสู่วิถีชีวิตตามพระคัมภีร์อัลกุรอาน และการปฏิเสธกระแสโลกาภิวัฒน์ที่นำลัทธิบริโภคนิยม รวมทั้งการต่อต้านอบายมุขที่เข้ามาในพื้นที่พร้อมกับการพัฒนา ซึ่งมีส่วนในการทำลายวัฒนธรรมอิสลาม 


 


ทั้งหมดได้ถูกนำมาเป็นปัจจัยเสริมในการปลุกปั่นการก่อความไม่สงบ  เพื่อเรียกร้องการปกครองตนเองในระบอบ "เชื้อชาตินิยม" และ "ศาสนาบริสุทธิ์" อันเป็นสิ่งสร้างแรงบันดาลใจร่วมของคนไทยเชื้อสายมลายู   ศาสนาอิสลามให้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐไทย


 


1.1.3  การนำสภาวะแวดล้อมภายในซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ก่อให้เกิดปัญหา คือพลังแห่งประวัติศาสตร์  ศาสนา  วัฒนธรรม  การศึกษา เศรษฐกิจ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์   มาเป็นเครื่องมือขยายผลทางด้านลบ ส่งผลให้ชาวไทยมุสลิมซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ มีความรู้สึกแตกแยกเป็นคนละพวกกับรัฐไทยที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ 


 


เมื่อรวมเข้ากับปัจจัยพฤติกรรมส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่สร้างเงื่อนไขความไม่ยุติธรรมแก่คนในพื้นที่  จนเกิดความคับแค้นทางจิตใจและมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐไทยมากขึ้น   ทำให้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในการก่อความไม่สงบในรูปแบบต่าง ๆ


 


1.1.4   รูปแบบและเนื้อหาในการก่อความไม่สงบ


1)  ด้านรูปแบบ  กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้รูปแบบการต่อสู้ที่สำคัญ 4 อย่าง  คือ การวางระเบิดสถานที่ และยานพาหนะ   , การจู่โจมทำร้ายบุคคลด้วยอาวุธ , การเผาทำลายสถานที่ราชการและบ้านเรือน  และการปล่อยข่าวลวงว่าการก่อเหตุร้ายล้วนเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ


 


2)  ด้านเนื้อหา  กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมาย 2 ทาง คือ


 


(1) ยุทธวิธี  ต้องการให้การปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์    ทำลายเป้าหมายได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทุกครั้ง  เพื่อให้กองกำลังของตนมีขวัญและกำลังใจที่ดีในการต่อสู้  อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่มวลชนของตนให้หันมาร่วมมือกับขบวนการให้มากขึ้น


 


(2)  ยุทธศาสตร์  ต้องการให้คนไทยศาสนาอื่นที่ไม่ใช่เชื้อสายมลายูมุสลิมอพยพออกนอกพื้นที่ พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นต่อกลุ่มแนวร่วมทั้งในระดับพื้นที่และระดับสากลให้หนุนช่วยในทางการเมือง  เพื่อบรรลุการก่อตั้ง "รัฐปัตตานี"


 


1.2  ฝ่ายรัฐบาล


ความพยายามในการระงับเหตุการณ์ก่อความไม่สงบทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาวนั้น รัฐบาลได้ทุ่มเทความพยายามอย่างมาก  ซึ่งมีประเด็นเปรียบเทียบกับฝ่ายตรงกันข้ามที่สำคัญควรพิจารณา ดังนี้


 


1.2.1  การจัดองค์กรการต่อสู้ นับตั้งแต่เริ่มการจัดตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าการจัดองค์กรเป็นไปในรูปแบบองค์กรเปิดของราชการ


 


อย่างไรก็ดี บุคคลากรที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำที่ไม่ได้ผ่านการบ่มเพาะเพื่อการต่อสู้กับองค์กรนอกกฎหมายซึ่งมีลักษณะ "การเมือง"  ที่จะต้องมีทั้งฝ่ายงานการเมือง งานการทหาร และฝ่ายงานแนวร่วม เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่แน่นอน


 


ทั้งนี้ เนื่องจากฝ่ายรัฐไม่เชื่อว่าคู่ต่อสู้เป็นองค์กรจัดตั้งทางการเมืองที่มีลักษณะเป็นขบวนการปฏิวัติที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธ โดยหวังให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่แน่นอนคือการก่อตั้ง "รัฐปัตตานี"


 


1.2.2  การใช้สภาวะแวดล้อมภายนอกที่เป็นกระแสโลกมาเป็นประโยชน์ เช่น ความเป็นประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน  การจัดตั้งประชาคมภูมิภาค  การบริหารจัดการสังคมอย่างบูรณาการ  บทบาทขององค์กรโลกในมิติที่หลากหลาย   การหวนคืนของกระแสอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิต  ตามหลักการทางศาสนาและวัฒนธรรม


 


ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้ทางความคิดต่อกลุ่มที่นิยมความรุนแรงต่างๆ ซึ่งยังมีน้อย    หรือแม้มีก็สะเปะสะปะไม่เป็นเอกภาพ ขาดการศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นรากฐานในการกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่ชัดเจน


 


1.2.3 ไม่ได้นำสภาวะแวดล้อมภายในมาใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอเพื่อลดเงื่อนไขที่คู่ต่อสู้พยายามสร้างขึ้นให้เป็นประเด็นปัญหาทางการเมือง การปกครอง  เช่น การกระจายอำนาจ การเปิดให้มีสิทธิเสรีภาพทางศาสนาและวัฒนธรรมอย่างสมบูรณ์ การอำนวยความยุติธรรมทางการเมืองการปกครอง แก่ประชาชนทุกเชื่อชาติ ทุกวัฒนธรรม


 


1.2.4 รูปแบบและเนื้อหาในการต่อสู้เพื่อยุติปัญหาการก่อความไม่สงบ โดย เจ้าหน้าที่รัฐได้พยายามใช้มาตรการเพื่อยุติปัญหาทั้งด้านการเมือง และการทหาร  ดังนี้


 


1)   ด้านการเมือง


(1) ใช้ยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา


(2) เน้นการแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี


(3) ใช้กระบวนการสมานฉันท์และเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง


(4) ใช้หลักนิยมด้านการทูต  สร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนทั้งในระดับภูมิภาค และระดับสากล


 


2) ด้านการทหาร


(1) ปรับปรุงประสิทธิภาพงานด้านการข่าว เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้องมากขึ้น


(2) วางกำลังในพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ และจัดระบบลาดตระเวนตามจุดเสี่ยงทางยุทธวิธีให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย


(3) ดำเนินงานยุทธการเพื่อตอบโต้ ไล่ล่า กดดันกองกำลังติดอาวุธฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง


(4) ตรวจค้น สืบสวน จับกุม   จำกัดเสรีภาพ การเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อเหตุในทุกพื้นที่


(5)  เปิดโอกาสให้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างสันติสุขต่อผู้หลงผิดที่กลับใจ


(6) เชิญกลุ่มเสี่ยงที่สมัครใจเข้าโรงเรียนการเมืองเพื่อฟื้นฟูความคิดและจิตใจ


 


1.3 ผลที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของทั้ง 2 ฝ่าย ดังนี้


1.3.1 มีกลุ่มก่อความไม่สงบ เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บ


ล้มตายนับพันคน


 


1.3.2 รัฐบาลสิ้นเปลืองงบประมาณที่มาจากภาษีอากรของประชาชนนับหมื่นล้านบาทในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีโดยประมาณ


 


1.3.3 สภาวะทางสังคมจิตวิทยาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เสื่อมทรามลง ความไม่เข้าใจและความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มคนต่างวัฒนธรรมและระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนมีเพิ่มมากขึ้น


 


1.3.4  มีประชาชนอพยพลี้ภัยออกนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากเป็นประวัติการณ์


 


1.3.5 ชาวต่างชาติทั้งในระดับภูมิภาค และระดับสากลได้ให้ความสนใจสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเพิ่มมากขึ้น


 


2. แนวโน้มของสถานการณ์ ในปี 2549


จากการประเมินสถานการณ์การต่อสู้ของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายก่อความไม่สงบที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน  คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางต่อไปนี้ คือ


 


2.1 ตัวตนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้น ประชาชนที่ไม่เคยเชื่อว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีตัวตนและมีศักยภาพก็จะเริ่มเชื่อ และแจ้งเบาะแสให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้น ทำให้การสืบสวน ตรวจค้น จับกุมผู้ต้องสงสัยตรงตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมากขึ้น


 


2.2 ผู้ก่อความไม่สงบเลือกใช้ปฏิบัติการรุนแรง ก่อภัยสยองต่อผู้บริสุทธิ์มากเกินไป ทำให้ประชาชนบางส่วนอยู่ในสภาพจนตรอก จึงเริ่มเปลี่ยนความตั้งใจจาก "หนี" เป็น "สู้"  เกิดเป็นกิจการป้องกันตนเองในรูปแบบต่างๆ  ทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบปฏิบัติการยากลำบากขึ้น


 


2.3 ฝ่ายรัฐบาลประสบความสำเร็จในการดำเนินงานทางการทูต ทำให้ประเทศต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล เข้าใจเหตุการณ์นี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในทางบวกดีขึ้น


 


2.4 รัฐบาลเริ่มเข้าใจทิศทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องมากขึ้น เห็นได้จาก


1)  การยืนหยัด ยึดมั่นในแนวทางการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีและสร้างสมานฉันท์  อดทน อดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรงแบบเหมารวม แต่จะใช้วิธีแยกแยะยืดหยุ่นการใช้กฎหมายในแต่ละสถานการณ์


 


2) ใช้เมตตาธรรมต้อนรับผู้กลับใจ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ดังเดิม


 


3) การแก้ปัญหามุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน


 


2.5 กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมุ่งเน้นชัยชนะทางยุทธวิธี แยกมิตรแยกศัตรูอยู่ในวงจำกัดเกินไป จึงเกิดภาวะอ่อนด้อยในทางยุทธศาสตร์  โดยเฉพาะงานแนวร่วม ทำให้แนวร่วมทางคุณธรรมลดลง ความไม่ชอบธรรมทางสังคมค่อยๆ  เพิ่มระดับมากขึ้น


 


เช่น การที่ผู้ก่อความไม่สงบยังมีปฏิบัติการทางทหารต่อเจ้าหน้าที่และผู้บริสุทธิ์ในช่วงที่ประชาชนกำลังประสบอุทกภัยร้ายแรง ก็จะยิ่งทำให้เสีย "การเมือง"  ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำลังช่วยเหลือประชาชนอยู่ในทุกพื้นที่ ซึ่งถ้าในแง่การต่อสู้ ก็ คือ "ได้การเมือง"


 


โดยสรุปแล้ว สถานการณ์ทั่วไปในขณะนี้ หากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบไม่ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีด้านการเมือง และการทำงานแนวร่วมแล้ว ด้านการทหารที่เคยได้เปรียบ เพราะมีเงื่อนไขเชิงบวกด้านมวลชน พื้นที่ และการข่าว ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเสียเปรียบ และพ่ายแพ้ในระยะยาว


 


และในทางกลับกัน หากฝ่ายรัฐบาล รู้จักปรับเปลี่ยนการต่อสู้โดยยืนหยัดยุทธศาสตร์ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เน้นความสมานฉันท์และสันติวิธีอย่างมั่นคงแล้ว ก็จะเป็นฝ่าย "รุกทางการเมือง"


 


การต่อสู้ในลักษณะนี้ เมื่อใดรุกทางการเมืองได้ ชัยชนะทางการทหารก็กลายเป็นเรื่องง่ายไปทันที  หากสถานการณ์โดยรวมยังเป็นไปในทิศทางนี้ คาดว่าในปี 2549 เหตุร้ายจะค่อยๆ  เบาบางลง ความสงบสุขก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และคืนสู่สภาวะปกติในไม่ช้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net