106 หมู่บ้านวิกฤติท่วมนานครบเดือน

 

ประชาไท -ริมทะเลสาบสงขลายังจมน้ำ ทั้งคนทั้งสัตว์ 106 หมู่บ้านอยู่ไม่ได้ บางแห่งท่วมครบ 1 เดือนแล้ว เคราะห์ซ้ำน้ำเน่า - ขยะลอยนิ่งเหตุปะทะเลหนุน หลายฝ่ายเร่งช่วยเหลือ

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 ธันวาคม 2548 ที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีการประชุมหารือแนวทางการฟื้นฟูหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน โดยมีตัวแทนเครือข่ายชุมชนเพื่อการฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาภาคประชาชน ตัวแทนเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเองภาคใต้ ตัวแทนชาวบ้านและผู้นำชุมชนใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร เข้าร่วม 30 คน

 

ที่ประชุมได้กำหนดพื้นที่วิกฤตที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือเนื่องจากภาวะอุทกภัย โดยให้ชุมชนสามารถจัดการปัญหาได้เอง โดยกำหนดเงื่อนไขดังนี้ เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมนานกว่า 2 สัปดาห์ บ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมอยู่อาศัยไม่ได้ สัตว์เลี้ยงไม่มีอาหารและที่อยู่ และการติดต่อสื่อสารยากลำบาก

 

4 อำเภอริมเลสาบยังวิกฤติ

นายไสว หนูหยก เจ้าหน้าที่โครงการบ้านมั่นคงชนบท สถาบันพัฒนาองค์กระชุมชน (พอช.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการประชุม ได้ให้ผู้เข้าร่วมระบุชื่อหมู่บ้านที่ยังถูกน้ำท่วมตามเงื่อนไขดังกล่าว ปรากฏว่าทั้ง 4 อำเภอมีทั้งหมด 106 หมู่บ้าน

 

โดยหมู่บ้านที่วิกฤต ประกอบด้วยอำเภอระโนด 15 หมู่บ้าน 2 ชุมชน อำเภอกระแสสินธุ์ 20 หมู่บ้าน อำเภอสทิงพระ 35 หมู่บ้าน และอำเภอสิงหนคร 27 หมูบ้านกับอีก 2 ชุมชน โดยหมู่บ้านที่มีน้ำท่วมรุนแรงที่สุด ได้แก่บ้านคอหงส์ หมู่ที่ 9 ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ ทางเข้าหมู่บ้านถูกตัดขาด และมีบ้านเสียหายจากคลื่นที่เกิดจากเรือแล่นผ่านซัดเข้าบ้าน ส่วนตำบลลำแดง ทั้ง 7 หมู่บ้าน และบ้านแหลมไทร ตำบลชะแล้ ที่ถูกน้ำท่วมนานที่สุด ตั้งแต่น้ำท่วมระลอกแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548

 

จากนั้นที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันที่จะทำแผนฟื้นฟูในระยะยาว โดยจะร่วมกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่วิกฤต ตั้งคณะทำงานขึ้นมารวบรวมข้อมูลความเสียหาย โดยจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทชุมชนเพื่อการฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาภาคประชาชน และแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเองภาคใต้

 

นายไสว กล่าวในที่ประชุมว่า หลังจากเก็บข้อมูลแล้วจะนำไปสรุปร่วมกับกลุ่มที่ได้ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันตก พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง และพื้นที่ลุ่มน้ำตรัง ในวันที่ 30 ธันวาคม 2548 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

 

"เหตุน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านรับมือได้ ถึงจะเป็นวิกฤตภาคใต้ก็เป็นวิกฤติที่ไม่ดัง แต่กลับเป็นปัญหาที่เรื้อรัง จึงต้องให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการกับปัญหาด้วยชุมชนเองได้" นายไสวกล่าว

 

ด้านนางพูนทรัพย์ ศรีชู เครือข่ายชุมชนเพื่อการฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาภาคประชาชน เปิดเผยว่า สำหรับการจัดทำแผนแม่บทชุมชนเพื่อการฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาภาคประชาชน อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลในพื้นที่ แต่ต้องหยุดชะงักเนื่องจากสภาวะน้ำท่วม ทางเครือข่ายจึงคิดว่าน่าจะนำปัญหาน้ำท่วมเข้าเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนแม่บทชุมชนด้วย จึงได้มีการประชุมหารือในเรื่องนี้ขึ้น โดยใช้งบประมาณจากเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเองภาคใต้

 

น้ำเน่าปะทะเลหนุน

นายขุนทอง บุณยประวิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชะแล้ เปิดเผยว่า สำหรับหมู่บ้านแหลมไทร มีทั้งหมด 18 ครัวเรือน ชาวบ้านยังไม่สามารถอพยพเข้าไปอยู่ได้ เนื่องจากระดับน้ำยังสูงประมาณ 150 เซนติเมตร ปัญหาที่เกิดเพิ่มในตำบลชะแล้คือ ตำบลชะแล้เป็นรอยต่อระหว่างทะเลสาบตอนล่างกับทะเลสาบตอนบน ทำให้น้ำที่ไหลมาจากตอนเหนือมาปะทะกับน้ำทะเลหนุน จึงทำให้น้ำนิ่ง ซึ่งน้ำเสีย รวมทั้งขยะจากที่ต่างๆ ลอยรวมอยู่ที่ตำบลชะแล้ ส่งกลิ่นเนาเหม็นไปไกลกว่า 500 เมตร และหากสัมผัสน้ำจะเกิดอาการผื่นคันทันที

 

นายขุนทองกล่าวอีกว่า สำหรับการรับมือกับน้ำท่วมในระยะยาวนั้น ตนจะรณรงค์ให้มีการสร้างบ้านแบบมีใต้ถุนสูง เนื่องจากพื้นที่หลายแห่งของตำบลชะแล้ในอดีตไม่เคยถูกน้ำท่วมสูงขนาดนี้ ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นอีก ซึ่งเราไม่สามารถไปห้ามไม่ให้เกิดภัยธรรมชาติได้

 

ส่วนการช่วยเหลือจากภาครัฐในพื้นที่ดังกล่าว ทางจังหวัดได้นำอาหาร น้ำดื่ม สิ่งของ เครื่องใช้ ไปมอบให้ประชาชน ซึ่งหลายหมู่บ้านไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ รวมทั้งการจัดอาหารสัตว์ไปช่วย โดยขณะนี้ทางจังหวัดได้เร่งสำรวจโค กระบือ ที่อยู่ในพื้นที่เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือและรับซื้อหากเกษตรกรรายใดไม่ต้องการเลี้ยงต่อไป

 

คาดงบซ่อมโรงเรียน400ล้าน

นายรุ่ง แก้วแดง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จะขออนุมัติเบิกงบกลางจากรัฐบาลเพื่อมาซ่อมแซมอาคารเรียนและจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนให้โรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม จากการ

ตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าเสียหายกว่า 400 ล้านบาท

 

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดส่งสิ่งของบริจาคลงไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้และจะโอนเงินบริจาคไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในพื้นที่ไปมอบให้ผู้ประสบภัยโดยเร็ว

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สัปดาห์หน้าจะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ทำรายงานสรุปปัญหาและความต้องการ โดยเฉพาะในส่วนต้องประสานกับส่วนราชการ แล้วส่งให้ทางราชการทราบต่อไป

 

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนจำนวนมากที่ประสบอุทกภัย ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ และในการช่วยเหลือหลังน้ำลด รัฐบาลควรวางแผนเป็นแบบระยะสั้น และระยะยาว แบ่งเป็นกลุ่มอาชีพ เพื่อการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตจะได้ตรงกับต้องการของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว

 

นายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวหลังพบปะพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า มีบางพื้นที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ จึงขอให้เร่งดำเนินการโดยด่วน เพราะประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส และให้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังน้ำลดด้วย โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีปัญหาความไม่สงบแล้วยังต้องประสบกับอุทกภัยซ้ำเติมอีก

 

หลายแห่งคลี่คลายนครศรีฯยังทรงตัว

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้โดยทั่วไปเริ่มคลี่คลาย โดยที่จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ได้เร่งทำความสะอาดดินโคลนตามถนนและสถานที่ราชการ รวมถึงอาคารเรียนเพื่อเตรียมเปิดสอนในวันที่ 26 ธันวาคม 2548 ขณะที่นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ได้ทุ่มงบประมาณ 120 ล้านบาทเพื่อการฟื้นฟูหลังน้ำลด ทั้งการซ่อมแซมบ้าเรือนที่เสียหายและการจัดหาอาหารสัตว์ เป็นต้น

 

ขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราชสรุปความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท แต่ยังมี 5 อำเภอที่มีน้ำท่วมขัง ได้แก่ อำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอหัวไทร อำเภอชะอวด เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่มบางแห่งยังมีน้ำท่วมสูง 1-2 เมตร และระดับน้ำยังทรงตัว คาดว่าต้องใช้เวลานับเดือนกว่าจะลดลงสู่ภาวะ

 

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัด

ปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ปริมาณฝนในภาคใต้ลดลง สำหรับคลื่นลม

ในอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ความสูงของคลื่น ประมาณ 2 เมตร อนึ่ง ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนอ่อนกำลังลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อยกับมีหมอกในตอนเช้าโดยทั่วไป


กลับหน้าแรกประชาไท


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท