เปิดแฟ้ม TDRI : ความขัดแย้งการจัดการชายทะเลและชายฝั่ง กรณีจังหวัดตรัง

 

ตลอดชายฝั่งจังหวัดตรังในอดีตเป็นที่ตั้งของชุมชนประมงพื้นบ้านประมาณ 65 หมู่บ้าน มีประชากร 50,000 คน อยู่ในเขตอำเภอสิเกา อำเภอกันตัง อำเภอปะเหลียน อำเภอย่านขาวและกิ่งอำเภอหาดสำราญ พื้นที่ดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศที่ละเอียดซับซ้อน มีความสัมพันธ์เกื้อกูลและสมดุลกัน ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง

 

ต่อมาภาครัฐเข้าไปมีบทบาทในการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดตรังหลายด้าน เช่น การพัฒนาเครื่องมือประมงให้มีประสิทธิภาพสูงในการจับสัตว์น้ำเพื่อป้อนตลาดแต่เกินกำลังการผลิตของทะเล การสัมปทานป่าชายเลนเพื่อทำถ่านจนทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมผลที่ตามมาคือสัตว์น้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ร่อยหรอลงและมีผลกระทบมากต่อชาวประมงพื้นบ้าน

 

ก่อน พ.ศ. 2528 ชาวประมงพื้นบ้านในหลายพื้นที่พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อปกป้องน่านน้ำโดยลำพังแบบลองผิดลองถูก แต่การรณรงค์ก็อย่างจริงจังและต่อเนื่องขึ้นโดยยึดแนวคิดการจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบยั่งยืนแบบชุมชนมีส่วนร่วมเป็นยุทธศาสตร์หลัก ทำให้ภายหลังมีการร่วมมือกับภาคีต่างๆทั้งนักวิชาการท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชน สถาบันการศึกษาและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เกิดเป็นเครือข่ายองค์กรชาวประมงในพื้นที่ 7 หมู่บ้านเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในปี 2533

 

แนวคิดดังกล่าวขยายตัวไปเรื่อยๆจนเกิด "ชมรมชาวประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง" ปัจจุบันมีการขยายเครือข่ายมากขึ้นมากกว่า 40 หมู่บ้าน ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดตรังกลายเป็นเครือข่าย "ชมรมชาวประมงพื้นที่บ้านจังหวัดตรัง" และมีการประสานความร่วมมือไปยังเครือข่ายประมงพื้นบ้าน 13 จังหวัดภาคใต้ เป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคในชื่อ "สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้"

 

อย่างไรก็ตามแม้มีการรวมตัวโดยยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของชุมชนก็ตาม แต่ภาครัฐยังมีบทบาทสูงในการจัดการพื้นที่และทรัพยากรชายฝั่ง ทางเครือข่ายจึงนำวิเคราะห์ปัญหาและนำเสนอดังต่อไปนี้

 

1. แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัย

1.1การตั้งชุมชนของชาวประมงพื้นบ้าน

รัฐมีแนวทางจัดระเบียบชายหาดซึ่งมีผลดีในด้านความสวยงามแต่มีผลกระทบมากต่อการตั้งชุมชนประมงพื้นบ้านเนื่องจากจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชายฝั่งเพื่อให้ใกล้กับแหล่งทรัพยากร การตั้งถิ่นฐานแบบดังกล่าวถูกมองว่าบุกรุกที่สาธารณะ

 

ในด้านวัฒนธรรม ชุมชนประมงพื้นบ้านมีวัฒนธรรมที่สั่งสมมานาน และส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีศาสนสถานที่ผูกพันกับชุมชน การโยกย้ายชุมชนประมงพื้นบ้านจึงไม่อาจทำได้ง่าย

 

หรือการย้ายชาวประมงพื้นบ้านไปอยู่สังคมแบบอื่น วัฒนธรรมแบบอื่นก็สร้างปัญหาให้กับชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นมุสลิมมาก เพราะสังคมอื่นมีสถานบันเทิงที่ขัดกับความเชื่อทางศาสนา

 

ข้อเสนอ

เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนตามแนวชายฝั่งทะเล รัฐควรจัดระเบียบชายฝั่งด้วยการคำนึงถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชนชายฝั่งและไม่ย้ายชุมชุนโดยพลการ หากจัดที่อยู่ให้ต้องทำการรับรองสิทธิให้ถูกต้อง

 

ประการต่อมา ชาวบ้านมักถูกแย่งชิงพื้นที่โดยอ้างว่าไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทั้งที่เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยมานาน รัฐควรให้สิทธิเบื้องต้นในการอาศัย

 

นอกจากนี้การจัดระเบียบชายฝั่งควรเน้นไปที่กิจกรรมที่ไม่เหมาะสม แปลกวัฒนธรรม และธุรกิจท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะ ผลักดันโยบายการท่องเที่ยวที่สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างไม่เบียดเบียน รวมทั้งการจัดระเบียบชายฝั่งของรัฐต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 มกราคม 2548 คือให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้วย

 

1.2 ปัญหาเครื่องมือทำลายล้างทรัพยากร

การประมงและเครื่องมือต่างๆมีแนวโน้มทำลายรุนแรงขึ้น เพราะความต้องการวัตถุดิบจากทรัพยากรทางทะเลของกลุ่มนักลงทุนมีสูง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลถูกทำลายอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดวิกฤติ แต่รัฐกลับไม่นำกฎหมายมาใช้อย่างจริงจัง เห็นได้ชัดจากการที่กรมประมงผ่อนผันการยกเลิกอวนรุนมาตลอด หรือไม่ปราบปรามอวนลากที่รุกล้ำเขตหวงห้าม  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็อนุญาตให้กลับมาใช้เครื่องมือจับปลากระตักโดยใช้แสไฟล่อ และใช้อวนตาเล็กว่า 2.5 เซนติเมตร  เป็นต้น

 

ข้อเสนอ

ต้องยกเลิกเครื่องมือการประมงที่ทำลายล้างทุกชนิดโดยเร่งด่วน รัฐต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องสนับสนุนให้ชุมชนมีความพร้อมในการจัดการป่าชายเลน เขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ เขตปะการัง และหญ้าทะเล

 

2. ปัญหาป่าชายเลนถูกทำลาย และรัฐไม่ยอมรับสิทธิการดูแลของชุมชน

ป่าชายเลนและทรัพยากรชายฝั่งต่างๆเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญ  รวมทั้งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด แต่ปัจจุบันมีป่าชายเลนเหลืออยู่ประมาณ 1 ล้านไร่ จาก 2,099,357 ไร่ เมื่อ พ.ศ.2504 และยังถูกทำลาบุกรุกอย่างต่อเนื่อง

 

สิ่งที่คุกคามป่าชายเลน คือ การบุกรุกและครอบครองพื้นที่ของธุรกิจท่องเที่ยว การทำนากุ้งการก่อสร้างและพัฒนาของรัฐ และการไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

 

เมื่อชุมชนได้เข้าไปปกป้องรักษาเองจนพัฒนาเป็นการจัดการ "ป่าชายเลนชุมชน" กลับขาดกฎหมายรองรับ และชาวประมงในเครือข่ายถูกลอบฆ่าเสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย

 

ข้อเสนอ

ฟื้นฟูป่าชายเลนและยกเลิกการทำนากุ้งที่มีผลต่อการทำลายสภาพนิเวศทรัพยากรชายฝั่ง ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาในรูปแบบป่าชายเลนชุมชน ทั้งนี้รัฐบาลต้องสนับสนุนการออกพระราชบัญญัติป่าชายเลนชุมชน ตามเนื้อหาและเจตนารมณ์ของประชาชน

 

3. อุทยานแห่งชาติทางทะเล การอนุรักษ์ที่ขับไล่ชุมชนท้องถิ่น

รัฐดำเนินการ 2 มาตรฐาน การประกาศแนวเขตอุทยานลงบนพื้นที่ทางทะเลทำให้หมู่บ้านและที่ทำกินของชาวบ้านกลายเป็นการบุกรุก การจับสัตว์น้ำที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวประมงในพื้นที่รวมถึงวิถีการพักพิงเกาะเพื่อทำการประมงของกลุ่มชาวเลและชาวประมงเชื้อสายมลายูกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

 

ในทางกลับกันการประกาศดังกล่าวกลับไม่มีผลบังคับนักธุรกิจท่องเที่ยว การเพาะเลี้ยงกุ้ง ในบางกรณีมีการออกเอกสารสิทธิ์ให้ด้วย

 

ข้อเสนอ

รับรองสิทธิ์ชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ดั้งเดิม ปฏิรูปกฎหมายการป่าไม้ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2482 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535

 

มีนโยบายผ่อนผันให้ชาวประมงพื้นบ้านทำการประมงและพักอาศัยบนเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลได้โดยไม่ใช้เครื่องมือที่ทำลายทรัพยากร และหาทางจัดทำแผนการใช้พื้นที่ร่วมกัน

 

4. ปัญหากฎหมายการประมงล้าสมัย ใช้แก้ปัญหาการประมงไม่ได้

 พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ออกบังคับใช้มากว่า 26  ปี หลายกรณีเอื้อต่อการทำลายล้างที่รุนแรง อีกทั้งยังเปิดช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนใช้เป็นเครื่องมือในการทุจริต และยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

 

ข้อเสนอ

ปฏิรูป พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 โดยยกร่างให้ประชาชนมีส่วนรวม  รัฐเองก็ต้องปรับปรุงเป้าหมายการใช้ทะเลจากเดิมที่มุ่งกอบโกยผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นเพื่อฟื้นคืนความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของทะเล

 

5.โครงการธนาคารอาหารทางทะเล (SEA FOOD BANK)

โครงการนี้ผ่านความเห็นชอบในหลักการของรัฐบาลทักษิณ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2547 โดยผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำใบอนุญาตเพาะเลี้ยงและใบอนุญาตรับรองการเข้าร่วมโครงการไปเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงินได้

 

โครงการดังกล่าวทำให้เกิดการเพาะเลี้ยงชายฝั่งมากขึ้นโดยเฉพาะปลากระชัง หรือสัตว์น้ำที่กินอาหารประเภทสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย แต่กลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อยนิยมใช้วิธีที่ไม่ต้องลงทุนมาก เช่นการทำอวนรุน ใช้โป๊ะน้ำตื้น และโป๊ะน้ำลึก เพื่อจับลูกสัตว์น้ำมาเป็นอาหารปลาที่เลี้ยง วิธีการจับสัตว์น้ำแบบนี้จะทำลายสัตว์น้ำธรรมชาติมากขึ้น

 

ส่วนในกลุ่มผู้เลี้ยงเป็นระบบธุรกิจมักใช้ปลาป่นในการเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก และปลาป่นนั้นผลิตมาจากสัตว์น้ำวัยอ่อน มีเป็นจำนวนมากที่เป็นลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ หากส่งเสริมการเพาะเลี้ยงที่มากขึ้น ปริมาณอาหารที่ใช้ต้องมากขึ้นตาม จึงหมายความว่าในอนาคตการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำจะเกิดขึ้นในทะเลอย่างมหาศาล

 

นอกจากนี้ การให้กรรมสิทธิ์พื้นที่ทางทะเลแก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขัดกับหลักการจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนที่ถือกันว่าทะเลเป็นสมบัติสาธารณะ ไม่มีบุคคลใดถือสิทธิ์ครอบครองได้

 

 SEA FOOD BANK อาจนำไปสู่การสร้างหนี้ด้วย เพราะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดูเหมือนทำได้ง่าย แต่ในทางปฏิบัติมีอุปสรรคหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ การเข้าถึงแหล่งต้นทุนพันธุ์สัตว์น้ำ อาหาร แหล่งที่เหมาะสม ตลาด เชื้อโรค การลงทุนใหม่ต้องใช้งบประมาณสูงจึงต้องกู้มาลงทุน ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้เลี้ยงรายใหม่สู้รายเดิมไม่ได้เพราะไม่มีต้นทุนเดิม การลงทุนของผู้เลี้ยงรายใหม่จึงอาจมีแต่รายจ่ายเท่านั้น

 

การให้สิทธิที่ประกันการกู้ได้ ในโครงการนี้จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเกินเพื่อมาสร้างหนี้ให้ตัวเอง และบางกรณีอาจเห็นว่ามีโอกาสกู้ก็กู้ไว้เพื่อใช้ในด้านอื่นแทนที่จะนำมาลงทุนทางธุรกิจ ตรงนี้จึงเท่ากับให้สิทธิชุมชนทำลายตัวเองด้วย

 

ปัญหาที่ตามมาอีกประการคือการฮุบพื้นที่ของกลุ่มทุน สามารถทำเป็นกระบวนการได้ตั้งแต่ การให้บุคคลอื่นไปขอสัมปทานหรือขออนุญาตเพาะเลี้ยงแต่เจ้าของจริงมีรายเดียว หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจับจองที่ไว้แล้วใช้วิธีกว้านซื้อจากประชาชนโดยประชาชนไม่กล้าขัด นอกจากนี้รายย่อยที่ขาดทุนจะเริ่มขายสิทธิ์ของตัวเองให้แก่ผู้อื่น สุดท้ายกรรมสิทธิ์ต่างๆจะตกไปอยู่ในกำมือของรายใหญ่

 

ข้อเสนอ

ชะลอและปรับปรุงโครงการใหม่ SEA FOOD BANK ที่แท้จริงจะได้มาโดยการแก้ไขปัญหาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐต้องหาทางยกเลิกการใช้เครื่องมือไม่เหมาะสมในการทำประมงอย่างจริงจัง

 

....................................

หมายเหตุ บทความนี้จัดทำโดย โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา เป็นส่วนหนึ่งของชุดเอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2548 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  ซึ่งมี มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นองค์กรร่วมจัด เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงเรียนแอมบาสเดอร์ พัทยา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท