Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


 



พระสุพจน์ สุวโจ


พระนักพัฒนาแห่งสำนักปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม


"ทำอย่างไรถึงจะให้ความจริงที่ถูกความรุนแรงทำร้ายได้กลับคืนมา"


 


กรณีคนร้ายสังหาร พระสุพจน์ สุวโจ พระนักกิจกรรมในกลุ่มเสขิยธรรม กลุ่มพุทธทาสศึกษา และเจ้าอาวาสสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงู ต.สันทราย อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2548 จนมรณภาพ และได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง


 


เพราะถือว่าคดีดังกล่าว เป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนต่อพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นพระนักปฏิบัติสายท่านพุทธทาส ซึ่งมีคนนับถือทั่วประเทศ และเป็นการฆาตกรรมพระอย่างโหดร้ายทารุณ ด้วยของมีคมไม่ทราบชนิดและขนาดจากคนร้ายไม่ทราบจำนวน มีบาดแผลฉกรรจ์กว่า 20 แผล ทั้งที่ ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ มือ แขน และลำตัว กระทั่งถึงแก่มรณภาพ ห่างจากกุฏิที่พักกว่า 300 เมตร ริมทางเดินซึ่งอยู่ห่างจากถนนระหว่างหมู่บ้าน ประมาณ 10 เมตร ในเขตสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่


 


 


ในชั้นต้น ตำรวจท้องที่ได้ตั้งสมมติฐานว่า การฆาตกรรมเกิดจากกรณีชาวบ้านมาลักลอบตัดไม้ไผ่ในสำนักปฏิบัติธรรม และเมื่อผู้ตายได้ยินเสียงตัดไม้ก็ออกมาห้ามปราม หรือดุด่าว่ากล่าว จนชาวบ้านบันดาลโทสะ ใช้ขวานตัดไม้ทำร้ายถึงแก่ชีวิต


 


แต่หลังจากนั้น เมื่อญาติและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ตลอดจนผู้คนที่รู้จักคุ้นเคยกับพระในสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรมกันดี ต่างตั้งข้อสังเกตและไม่เห็นด้วยกับการสันนิษฐานเบื้องต้น เนื่องจากทราบดีว่าผู้ตายมีอัธยาศัยนุ่มนวลอ่อนโยน โอบอ้อมอารี และให้การช่วยเหลือชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่อง


 


นอกจากนั้น ผู้ตายยังจบการศึกษาระดับสูงจากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อุปสมบทโดยมี พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นศิษย์ใกล้ชิดของ ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยมีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญในสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มาก่อน


 


นอกจากนั้น ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ได้เคยถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับขบวนการค้ายาเสพติดและนักการเมืองระดับชาติในเขตเลือกตั้งนั้นมาอย่างต่อเนื่อง เพราะหวังจะใช้ประโยชน์จากที่ดินซึ่งมีสภาพเป็นป่าต้นน้ำที่สถานปฏิบัติธรรมดูแลอยู่


 


อีกทั้งผู้ตายและเพื่อนภิกษุ ยังมีบทบาทการเคลื่อนไหวทางสังคม ด้านการใช้ศาสนธรรมเพื่อระงับความขัดแย้ง ตลอดจนการแก้ปัญหาความรุนแรง อันเกิดจากการกระทำของรัฐและฝ่ายทุนด้วยสันติวิธี ร่วมกับขบวนการและเครือข่ายภาคประชาชน จนก่อให้เกิดความไม่พอใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้บริหารราชการแผ่นดินระดับสูงอยู่เสมอ


 


นับจากนั้น คดีฆาตกรรมพระสุพจน์จึงเริ่มเป็นที่สนใจจากหลายองค์กรหน่วยงาน และได้เข้ามาตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกันอย่างคึกคักต่อเนื่อง


 


นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความเชื่อว่าคดีดังกล่าวต้องเป็นประเด็นเรื่องความขัดแย้งการแย่งชิงฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำฝางทั้ง 3 อำเภอ คือฝาง แม่อาย ไชยปราการ ซึ่งได้ติดตามกรณีนี้มานานหลายปี ซึ่งกรณีคดีดังกล่าว ไม่ได้อยู่ที่การฆาตกรรมธรรมดา แต่อยู่ที่ผลการสรุปบทเรียนว่า ความขัดแย้งการแย่งชิงทรัพยากรนั้น ได้นำไปสู่การข่มขู่ คุกคาม และลอบฆ่าชาวบ้านไปทั่วประเทศ ดังนั้น คดีนี้น่าจะมีเหตุอื่นมากกว่าการฆาตกรรมธรรมดา


 


อีกทั้งคณะกรรมาธิการ ทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เช่น คณะกรรมาธิการตำรวจ คณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริง ก็มีความเห็นสอดคล้องกับญาติและผู้เกี่ยวข้องกับพระสุพจน์ สุวโจ ว่าคดีนี้มีเงื่อนงำ และความไม่ชอบมาพากลอยู่หลายประการ ตลอดจนมีความเป็นไปได้สูง ที่คดีจะไม่คืบหน้า เนื่องจากเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล และการตั้งสมมติฐานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น


 


จนนำไปสู่การโอนคดีจากกองกำกับการตำรวจภูธรภาค 5 ไปให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เข้ามารับผิดชอบแทน


 


และล่าสุด เริ่มมีการสืบสวนสอบสวนพบว่า คดีการมรณภาพของพระสุพจน์ มาจากการขัดขวางขบวนการค้ายาเสพติด และจากกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น! ไม่ใช่แค่เรื่องการทะเลาะวิวาทแอบตัดไม้ไผ่แต่อย่างใด


 


ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เคยเปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีฆาตกรรมพระสุพจน์ให้กับประชาไท ว่า ขณะนี้คดีมีความคืบหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว โดยทางดีเอสไอได้ตัดประเด็นกรณีพิพาทเรื่องการตัดไม้ทิ้งไป โดยมีประเด็นใหม่ที่ซับซ้อนและใหญ่กว่า คือ อาจเป็นเรื่องของขบวนเครือข่ายยาเสพติด ร่วมกับนักการเมืองระดับชาติบางคนบางกลุ่ม ที่ต้องการฮุบที่ดินของสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม เพื่อใช้เป็นแหล่งพักยาและการฟอกเงิน


 


แหล่งข่าว "ประชาไท" ระบุอีกว่า คดีดังกล่าว ได้สร้างความหนักใจให้แก่ชุดสืบสวนสอบสวนของทางดีเอสไอพอสมควร และเร็วๆ นี้ คงต้องนำข้อมูลที่ได้รับล่าสุด เสนอในที่ประชุมให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ เนื่องจากเป็นไปได้ว่า คดีฆาตกรรมพระสุพจน์ อาจมีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนบางกลุ่มเข้าไปมีส่วนพัวพันด้วย


 


 "จริงๆ แล้ว เรื่องคดีพระสุพจน์ ยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะขณะนี้ทางดีเอสไอกำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนกันอยู่ โดยมีแนวโน้มของรูปคดีว่ามีความซับซ้อนและเริ่มมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำไมจู่ๆ ทางกองปราบกลับเรียกเจ้าหน้าที่กลับ ซึ่งถือว่า สวนทางการทำงานของดีเอสไอ จึงทำให้สงสัยว่า ต้องมีอะไรบางอย่างที่มีผิดสังเกตอย่างยิ่ง" พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานกลุ่มเสขิยธรรม กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม นับจากวันที่17 มิถุนายน 2548 จนถึงบัดนี้ เหตุการณ์ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง


 


"แม้ดีเอสไอจะยอมรับว่าสาเหตุการฆาตกรรมมาจากขัดขวางขบวนการค้ายาเสพติดซึ่งมีผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติเกี่ยวข้องก็ตาม แต่การทำคดีพบว่ามีความพยายามที่จะบิดเบือนประเด็นมาตลอด นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะลดทอนความสำคัญของคดี ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้มีผู้ที่รับผิดชอบคือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 สถานี ตำรวจภูธรฝาง ดีเอสไอ และนายกฯ ที่เคยให้สัญญาว่าจะเข้ามาดูแลเอาผิดกับผู้ที่รับผิดชอบที่ละเลย" พระกิติศักดิ์ประธานกลุ่มเสขิยธรรม กล่าว


 


นอกจากนั้น ประธานกลุ่มเสขิยธรรม ยังตั้งประเด็นคำถามอีกว่า ใครหรือองค์กรใด จะเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อความเสียหายด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเนื่องมาจากความล่าช้า และมิอาจนำมาซึ่งความยุติธรรม ในการดำเนินคดีระดับต่างๆ ทั้งต่อผู้ยังอยู่ และผู้ที่ต้องจากไปอย่างเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน อันเนื่องมาจากการลอบสังหารที่โหดเหี้ยมและทารุณ ซึ่งมักเกิดขึ้นเพราะความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐและบุคคลากรภายใต้การดูแลรับผิดชอบของรัฐเป็นด้านหลัก


 


"เราผ่านบทเรียนการถูกเข่นฆ่าผู้นำมามากต่อมาก ไม่ว่าผู้นำชุมชน ผู้นำชาวบ้านในการเรียก


ร้องต่อสู้ล้วนถูกฆ่า เราสรุปบทเรียนบทเรียนกันมานับครั้งไม่ถ้วน แต่กระบวนการในการรักษาชีวิตของผู้นำ ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้นำชาวพุทธ ผู้นำมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ หรือที่อื่นๆ ไม่นับที่มีชื่อในสื่อสาธารณะที่ต้องล้มหายตายจากไป โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรถึงจะให้ความจริงที่ถูกความรุนแรงทำร้ายได้กลับคืนมา และถึงที่สุดจะเป็นอย่างไร ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม ผู้ที่เกี่ยวข้องในการบงการสังหาร จะต้องถูกลากตัวมาลงโทษให้จนได้ " ประธานกลุ่มเสขิยธรรม กล่าวย้ำในตอนท้าย.


 


นี่เป็นเพียงบางกรณีตัวอย่าง ที่นักอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม นักเผยแผ่ด้านศาสนธรรม ได้สละชีพเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนที่อาศัยอยู่ ท่ามกลางกระแสของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่จับมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ใช้อำนาจอันป่าเถื่อนเข้าไปทำลายชีวิตของผู้คนชาวบ้านที่ขัดขวางผลประโยชน์ เพื่อเข้ากอบโกยทรัพยากรในชุมชนและอยู่อย่างต่อเนื่อง


 


ในห้วงขณะที่นโยบายของรัฐและกระบวนการยุติธรรมของไทยที่อ่อนเปลี้ยเสียขาลงไปทุกชั่วขณะ


แล้วในที่สุดประชาชนจะหวังพึ่งใคร!?


 


 กลับหน้าแรกประชาไท
















 ข่าวประกอบ
 นักต่อสู้สามัญชน ความยุติธรรมที่สูญหาย (2) : เจริญ วัดอักษร
 นักต่อสู้สามัญชน ความยุติธรรมที่สูญหาย (1) : สุพล ศิริจันทร์
 นักต่อสู้สามัญชน ความยุติธรรมที่สูญหาย (3) : สมชาย นีละไพจิตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net