Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis







 


ศ.เสน่ห์ เป็นนักรัฐศาสตร์ที่ทำงานกับชุมชนมายาวนาน และมักเน้นย้ำเรื่อง "ป่าเขตร้อน" กับ "สิทธิชุมชน" อยู่เสมอ โดยเฉพาะในห้วงการเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับป่าชุมชนที่หาทางออกไม่ได้มานาน เมื่อให้นักรัฐศาสตร์อธิบายเรื่องป่า จึงได้เห็นว่าแท้ที่จริงในป่าไม่ได้มีแต่ต้นไม้  หากแต่เต็มไปด้วยอำนาจ.....


 


 


ทำไมอาจารย์เน้นย้ำเรื่องป่าเขตร้อนอยู่ตลอด?


ป่าในโลกนี้ถ้าเราแบ่งอาณาบริเวณโลก จะเห็นว่าในเส้นศูนย์สูตรตรงกลางรอบโลก จะเป็นพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ แอฟริกา เรียกเฉพาะว่าอาณาบริเวณป่าเขตร้อน ถ้าคำนวณเนื้อที่ที่เป็นแผ่นดินทั้งหมดก็แค่ 7% นอกนั้นเป็นป่าเขตอบอุ่น


 


ลักษณะเด่นของป่าเขตร้อนมันมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหนาแน่นของความหลากหลายทางชีวภาพ พันธ์พืช สัตว์จุลินทรีย์ต่างๆ รวมทั้งมนุษย์ด้วย เพราะมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์ในป่าเขตร้อนก็มีความหลากหลายเหมือนกับพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ แล้วก็มีประเพณี วัฒนธรรมที่พึ่งพาธรรมชาติ ทำการเกษตรที่มีความละเอียดอ่อนตามลักษณะของป่าแตกต่างกันไป


 


ความหลากหลายทางชีวภาพหมายความว่า ในพื้นที่ป่าเขตร้อนจะขึ้นต่อภูมิอากาศ พื้นที่ภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ดูอย่างในประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ก็จะไม่เหมือนกัน และในเนื้อที่ป่าเขตร้อนไม่ถึง 7% นี้กลับมีทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ไม่ว่าจุลินทรีย์ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่ทำอาหารทำยา  ทำปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับมนุษย์


 


พูดถึงเรื่องป่าเขตร้อน มันหยุดแค่นั้นไม่ได้ เพราะป่าที่มันอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีชุมชนอยู่ แล้วตอนนี้ก็มีข้อถกเถียงกันเรื่องกฎหมายป่าชุมชน


 


แต่ก่อนในวิถีชีวิตก็อยู่กับป่าได้อย่างดี แต่อยู่ๆ เมื่อ 100 กว่าปีมานี้ ตะวันตกก็เปลี่ยนแปลง จริงๆ ก็ตั้งแต่มีการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมทั้งก่อตั้งรัฐชาติ  แต่ก่อนไม่มีเส้นเขตแดน มันเป็นแค่พรมแดน เป็นอาณาจักร ไม่มีการแบ่งเส้นชัดเจน ซึ่งอาณาจักรเล็กก็ขึ้นต่ออาณาจักรใหญ่ แต่ไม่รวมศูนย์อำนาจ แล้วชุมชนก็อยู่อย่างอิสระ มีการจัดการดูแลทรัพยากรของตัวเองอย่างอิสระ มีการไปมาหาสู่เป็นที่เป็นน้องกัน


 


พอตะวันตกเข้ามาก็ มีการขีดเส้นเขตแดน บั่นทอนวัฒนธรรมของชาวบ้านโดยการผูกขาดอำนาจจัดการทุกอย่าง นี่คือจุดเริ่มต้นของการออกเอกสารที่ดิน ที่ดินทั้งหมดถ้าไม่เป็นของรัฐก็เป็นของเอกชน ทั้งที่แต่ก่อนนี้อาจใช้ระบบของสิทธิร่วมกัน ใช้ความรู้ที่เรียนรู้จากธรรมชาติ เกิดเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน


 


พอจัดระเบียบโลกใหม่ มีการขีดเส้นเขตแดนแล้ว ก็คล้ายว่าเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐ เป็นอำนาจผูกขาด รัฐเป็นเจ้าของ พอมีฝรั่งเข้ามา ก็มีการเปิดใช้ทรัพยากร ภาคเหนือมีทรัพยากรป่าไม้ ภาคใต้มีดีบุก เริ่มมีระบบสัมปทาน


 


ระบบการทำป่าไม้ก็เป็นระบบสัมปทานที่เป็นตัวการทำลายทรัพยากรชีวภาพ ทำลายวิถีชีวิตชาวบ้านซึ่งเคยอาศัยหยูกยาอาหาร จนมาถึงตอนนี้เราจึงต้องมาพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน เพราะเขาสูญเสียสิทธิในการดำรงชีวิต โดยการผูกขาดอำนาจมารวมไว้ที่รัฐ แล้วรัฐก็ไม่ยอมรับในสถานะของชุมชน ออกกฎหมายแบบฝรั่ง ทุกอย่างก็อปปี้ฝรั่ง ที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ หรือไม่ก็ออกโฉนดให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน แต่สำหรับชุมชนไม่มี


 


สิ่งที่เราเริ่มเห็นคือ ความล่มสลายของชุมชน ความล่มสลายของวัฒนธรรม ต้องเข้าใจว่าวัฒนธรรม กฎหมายเป็นสิ่งที่เขาร่วมกันสร้าง พอระบบนี้เข้ามามันจึงล่มสลายทั้งชุมชน วัฒนธรรม และความมั่นคงของชีวิต


 


ปัจจุบันนี้รัฐรวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพยากรมากขึ้นหรือลดลง ?


ในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร ก็เพียงการเข้าไปล่าเอาทรัพยากร แต่การขยายอำนาจไปสู่ชุมชนก็ยังไม่รุนแรงมากนัก เพราะยังไม่มีปัญญาในการใช้ แต่มาสมัยนี้จักรวรรดินิยมมองทรัพยากรเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่การผลิตขนาดใหญ่อย่างเดียว นโยบายของรัฐจึงเป็นนโยบายที่ทำลายป่าเขตร้อน ทำลายวิถีชีวิตชุมชนแล้วยังทำลายความรู้วัฒนธรรมที่คนเคยอยู่อย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติ แม้กระทั่งวิชาวนศาสตร์ก็ยังมองป่าในแว่นของตะวันตก


 


มาถึงทุกวันนี้ มีปัจจัยเทคโนโลยีเพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ เอาจุลินทรีย์มาวิจัยเป็นตัวยาขึ้นมาจำหน่าย โดยมีระบบทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อคิดค้านมาได้ก็เอาไปจดสิทธิบัตร ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการผูกขาดหมดเลย ภูมิปัญญาที่เราเคยมีอยู่จะพัฒนาไม่ได้เลย


 


เทคโนโลยีชีวภาพจึงกลายเป็นอาวุธของมหาอำนาจ ความเป็นมหาอำนาจของฝรั่งตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่อำนาจปืนอย่างเดียว แต่อยู่ที่ระบบเงินทุนและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอาวุธของจักรวรรดินิยมสมัยใหม่หรือโลภาภิวัตน์


 


เมื่อประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของเรา กระแสบริโภคนิยม ก็ต้องการใช้ทรัพยากรมาบำรุงบำเรอความต้องการ เช่น รีสอร์ต เขื่อน สนามกอล์ฟ ล้วนต้องไปกว้านเอาที่ดินจากชาวบ้าน นี่คือสาเหตุของความล่มสลายของป่าเขตร้อน


 


แต่อย่าลืมว่าป่าเขตร้อนมีลักษณะธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อมันถูกทำลายไปแล้ว ถ้าให้เวลาสักหน่อย ธรรมชาติสามารถที่จะฟื้นคืนตัวเองขึ้นมาได้ แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น พอตรงไหนถูกทำลายก็ปลูกพืชปลูกง่ายอย่างยูคาลิปตัสป้อนโรงงานกระดาษ แล้วปลูกทีเป็นหมื่นไร่


 


คิดว่าสังคมเข้าใจความสำคัญเรื่องนี้แค่ไหน ?


สังคมไม่เข้าใจ รู้แต่ว่าป่าถูกทำลาย ป่าหมดไม่เป็นไร ก็ปลูกใหม่ได้


 


แต่การตื่นตัวของชุมชนท้องถิ่นมันมีทั่วโลก ทางละตินอเมริกานี่ก้าวหน้ากว่าเพื่อน เขาผลักดันจนกระทั่งเกิดร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง มีนักวิชาการร่วมด้วยหลายคน ตอนนี้เราก็เริ่มรวมตัวกัน อย่างเรื่องพ.ร.บ.ป่าชุมชนนี้ แต่ถ้าเทียบกับละตินอเมริกาแล้วเรายังห่างไกลจากเขามาก


 


ที่ผ่านมารัฐมีแต่รวบอำนาจมากขึ้น การต่อสู้เพื่อแบ่งอำนาจมาให้ชาวบ้านดูแลทรัพยากรเองจะเป็นจริงได้ยังไง ?


มันคงเป็นจริงยาก สมัยพัฒนาเศรษฐกิจ เผด็จการทหารก็อาศัยนักเศรษฐศาสตร์ วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้โต มาสมัยนี้นักนิติศาสตร์ก็รับใช้อำนาจ ต้องการกฎหมายสามารถออกได้ภายในข้ามคืน


 


แล้วจะเห็นได้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้เราจะบอกว่าเป็นฉบับประชาชน แต่ว่าสิทธิทุกข้อจะลงท้ายว่า ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด  แสดงว่าสิทธิจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลออกกฎหมาย มันถูกกำกับไปด้วยเทคนิคทางด้านนิติศาสตร์


 


พลังชุมชนท้องถิ่นของเราค่อนข้างอ่อน ต่างคนต่างว่ากันไป ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมของลาตินอเมริกาเขาแข็ง จะเห็นว่าตอนนี้แนวโน้มของการเมืองในรัฐบาลชุดนี้เป็นแนวโน้มที่จะผูกขาดพื้นที่มากขึ้น จ้างให้นักกฎหมายทำร่างกฎหมายฉบับสำคัญเรียกว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐธรรมที่ให้สิทธิต่างๆ จะถูกลบล้างหมดแล้วปกครองด้วยคณะกรรมการ ความจริงกฎหมายนี้มันผิดรัฐธรรมนูญ แต่เราก็มีนักกฎหมายรับใช้ให้ได้


 


สรุปแล้ว ผมเห็นว่าบ้านเรามีการละเมิดกฎหมาย ทำสิ่งผิดให้เป็นสิ่งถูก นี่คือความฉ้อฉลทางการเมือง


 


ชาวบ้านเริ่มสะท้อนว่าหมดหวังกับรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชน มองสัญญาณนี้อย่างไร ?


ความจริงผมเคยทักตอนเริ่มมีกระแสปฏิรูปการเมือง ผมเคยพูดมาแล้วว่า เวลานั้นมองแต่ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลชุดก่อนล้มลุกคลุกคลาน เราต้องมีรัฐบาลเข้มแข้ง ผมก็เคยทักเอาไว้ว่า ระวังนะ


 


เราไม่เข้าใจระบบ รัฐสภาเป็นระบบที่สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในอังกฤษเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว เพราะแต่ก่อนนี้อำนาจจะอยู่ที่ชนชั้นขุนนาง เจ้าที่ดิน พอสังคมเขาเริ่มเปลี่ยนแปลง มีการค้าขาย มีอุตสาหกรรม ก็มีชนชั้นใหม่เกิดขึ้น เรียกว่า ชนชั้นกลาง แล้วก็เริ่มต้องการอำนาจ แล้วมีการผลักดันจนกระทั่งมีการปฏิรูปการเมือง ขยายสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง


 


คราวนี้ชนชั้นกลางก็ได้เข้าไปนั่งในสภา มีอำนาจขึ้นมาก็เปลี่ยนทฤษฎีกฎหมาย แต่ก่อนนี้กฎหมายคือสิ่งที่สังคมปฏิบัติ แต่กฎหมายในความหมายใหม่ คือ อำนาจคำสั่ง ใครมีอำนาจสั่งยังไงก็เป็นกฎหมาย สิ่งเหล่านี้เราไม่ค่อยคำนึงถึงว่ามันมีรากเหง้าที่มายังไง


 


แล้วเราก็อาจถามว่า แต่อังกฤษเข้าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยนี่ อย่าลืมว่าเขามีระบบรวมศูนย์อำนาจ แต่เขาก็มีการกระจายอำนาจ ท้องถิ่นจะเป็นตัวถ่วงอำนาจที่เข้มแข็ง แต่ของเราจะต่างไป มีการรวมศูนย์อำนาจแล้วท้องถิ่นก็ตกเป็นเครื่องมือ


 


นักการเมือง นักวิชาการของเราก็มองดูเฉพาะระบบรัฐสภา การเลือกตั้ง เราไม่ได้มองดูระดับท้องถิ่น รากหญ้า ฉะนั้น ชาวบ้านก็ไม่มีทางออก ต้องดิ้นรน ต้องใช้ความรุนแรง


 


เห็นว่ากรรมการสิทธิฯ พยายามหาทางออกเรื่องนี้ ?


เราอาจแก้รัฐธรรมนูญได้ อย่างที่กรรมการสิทธิฯ เสนอในเบื้องต้นให้ตัดคำว่า ทั้งนี้เป็นไปตามที่บัญญัติในกฎหมาย  ผมแปลกใจที่ว่า คนพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ โดยไม่คำนึงถึงท้องถิ่น ไม่มีใครพูดถึงเลย เพราะการกระจายอำนาจเป็นการให้อำนาจกับประชาชนรากหญ้า


 


รูปแบบที่รัฐพยายามทำอยู่ไม่ใช่การการกระจายอำนาจหรือ ?


รูปแบบที่ทำอยู่มันยังรวมศูนย์  ยังเป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ แม้จะมีการกระจายรายได้ลงไป แต่วันก่อนรัฐมนตรีคลังพูดว่า เอ๊ะ กระจายรายได้ไป 35%  ดูๆ แล้วท้องถิ่นยังไม่พร้อม ต้องมีคณะทำงานไปคุม ดูแลการใช้จ่ายเงินของท้องถิ่นด้วย


 


แล้วอีกอย่างหนึ่ง ท้องถิ่นเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน สมัยก่อนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พวกครูประชาบาล เขาเป็นผู้นำชุมชน มาตอนหลังซักช่วง 20-30 ปีนี้ ผู้นำท้องถิ่นเป็นบริวารของนายทุนเป็นส่วนใหญ่ เป็นนายหน้าขายที่ดิน หาที่ดินทำรีสอร์ต ทำสนามกอล์ฟ เป็นนายหน้าที่จะให้ปลูกป่า ท้องถิ่นเองตอนนี้ก็มีปัญหา


 


คำถามคือแล้วจะกระจายอำนาจอย่างไร ถ้าเล่นตามฟอร์ม มีเทศบาล มีอบต. เป็นระบบตามตำรา มันก็ลำบาก สรุปแล้วคือ คุณต้องกระจายอำนาจโดยต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถของชุมชน เป็นเงื่อนไขสำคัญมาก


 


ฉะนั้น ถ้าจะบอกแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่ได้  พร้อมๆ กับการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องระดมความตื่นตัว ระดมการเรียนรู้ ขีดความสามารถให้กับผู้นำท้องถิ่น ที่จะเป็นผู้ดูแลทรัพยากรท้องถิ่น


 


 


กลับมาที่ป่าชุมชน รู้สึกว่าสิ่งที่ชุมชนพยายามจะสื่อกับชนชั้นกลาง ไม่ค่อยเป็นผล ?


 


ชนชั้นกลางก็ต้องแบ่งยุค สมัยทำให้เกิด 14 ตุลา ทำให้เกิดพฤษภาทมิฬ เพราะว่าชนชั้นกลางที่รวมตัวกันขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลจนต้องออกไปได้ เพราะระบอบเผด็จการทหารเป็นระบอบที่ขัดผลประโยชน์ของชนชั้นกลาง กดขี่รีดไถ จึงไม่น่าประหลาดใจที่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้น


 


แต่ชนชั้นกลางเดี๋ยวนี้ ภายใต้ระบบประชานิยม ระบบที่มีการขยายกิจการขนาดใหญ่ มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับทุนข้างนอกมาก หมายความผลประโยชน์มันกระจายไปสู่ชนชั้นกลางมากขึ้น รัฐบาลอยู่บนฐานของชนชั้นกลาง ซึ่งก็แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มกลุ่มหนึ่งเป็นฐานของรัฐบาล อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ซึ่งน่าจะมีจำนวนน้อยกว่า มันไม่เหมือนเดิมแล้วที่คนชั้นกลางทั้งหมดรวมตัวกันแล้วสู้กับเผด็จการ เราก็ต้องดูต่อไปว่ามันจะเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน


 


สื่อมวลชนแต่ก่อนเวลาขัดแย้งกับรัฐบาลจะแรงมาก แต่เดี๋ยวนี้แค่สะกิด ทีวีนี่ถูกครอบไปหมดแล้ว


 


แล้วเราจำเป็นต้องอธิบายเรื่องทรัพยากรกับชนชั้นกลางแค่ไหน แล้วจะทำยังไงกับมายาคติที่ดำรงอยู่ ?


หนึ่ง เวลานี้ในแวดวงการศึกษาก็หลอมความคิดคนไปอีกแบบ สอง ในแวดวงของวิชาการ วิชาชีพ ก็มีช่องว่างกับชะตาชีวิตของชาวบ้าน สาม สื่อมวลชน ก็เหมือนกับสถาบันการศึกษา ฉะนั้น เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น สื่อก็ไม่รู้ว่าควรจะสื่ออะไร มันเป็นช่องโหว่มานานแล้ว


 


ถ้าพ.ร.บ.นี้ออกมาแบบบิดเบี้ยว หรือตกไปเลย คิดว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ?


มันก็จะเกิดการต่อสู้ ความรุนแรง อย่างสมัยปลอดประสพเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ก็จะให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ใส่ชุดพรางคอยจับคนบุกรุกป่า ชาวบ้านเขาไม่ได้บุกรุกเขาอยู่มาก่อน ก็จับหมด  ในขณะนี้ก็กำลังเป็นประเด็นเรื่องป่าชุมชน รัฐบาล รัฐมนตรีก็ใช้คนพวกนี้ แนวโน้มตอนนี้จึงน่าเป็นห่วง คนชั้นกลางก็ไม่ค่อยมีเอกภาพ


 


กุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงต้องให้ประชาชนมีขีดความสามารถในการรักษา ปกป้องสิทธิชุมชน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักอะไรต่างๆ พวกนี้มักเป็นพวกที่หันหลังให้กับชาวบ้าน


 


แต่ชุมชนก็เรียนรู้น้อยมาก ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงมันเร็วมาก อาวุธของผู้ที่กุมอำนาจ มันไม่ใช่ปืนอย่างเดียว มีสื่อ มีอะไรอีกมากที่ส่งเสริมบริโภคนิยม ถ้าเป็นในรูปนี้ ผลสุดท้ายจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงยาก จะจบด้วยอะไร ผมทำนายไม่ได้ แต่จะไปหวังพรรคการเมือง ก็หวังไม่ได้ และแต่ละพรรคในอดีตก็ล้วนมีนโยบายเป็นปฏิปักษ์กับชุมชนทั้งนั้น มองธรรมชาติแตกต่างจากที่ชาวบ้านมอง


 


เมื่อก่อนมีกฎหมายป่าไม้ต่างๆ ที่ไล่เขาออกมา ตอนนี้ก็มี เขตอนุรักษ์พิเศษอีก การกันเขาออกมาจากป่าเท่ากับเป็นการประหารชีวิตเขานะ  เขาไม่ได้เพียงสูญเสียที่ดิน หรือผลประโยชน์เท่านั้น เรื่องนี้น่าเป็นห่วง


 


แนวโน้มอีก 10 ปีข้างหน้าการแย่งชิงทรัพยากรจะอยู่ระดับไหน ?


 ผมคงทำนายไม่ได้ แต่เคยทำนายได้ช่วงก่อนปฏิรูปการเมือง ว่ามันจะเป็นหนทางการผูกขาดอำนาจ แล้วก็ผูกขาดจริงๆ แต่เรื่องทรัพยากรนี่ยากมา เพราะมันก็เป็นแนวโน้มทั่วโลกตอนนี้


 


ทำไมในต่างประเทศท้องถิ่นจึงเข้มแข็ง ?


อังกฤษ ยุโรป เขาจะไม่เหมือนเรา ญี่ปุ่นนี่จะเป็นระบบฟิวดัล มีเจ้าของแคว้นเล็กแคว้นน้อย ก็รวมรัฐชาติเข้ามาแต่ว่าท้องถิ่นก็ยังมีอำนาจ สมัยปฏิรูปจักรพรรดิเมจิ ตรงกับสมัยรัฐกาลที่ 5 จักรพรรดิเมจิอายุใกล้เคียงกับร.5 ขึ้นครองราชย์ตอนยังทรงพระเยาว์เหมือนกัน มีผู้สำเร็จราชการแทนเหมือนกัน ของเขาปฏิรูปไปในทางกระจายอำนาจ แต่ว่าของเรามันไปตรงกันข้าม เราไปในแนวทางที่รวมศูนย์อำนาจ ญี่ปุ่นฐานเขาแข็งมาก ตอนนี้ทั่วโลกเรียกร้องให้เลิกอุดหนุนเกษตรกรแต่ญี่ปุ่นก็ยังคงไว้ ยังไม่ยอม เพราะเสียงเกษตรกรของเขาแข็งมาก ฉะนั้น โดยโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม ไม่เหมือนกัน


 


ระบบรัฐสภาเป็นระบบที่รวมศูนย์แน่นอน แล้วเราก็มาบอกว่าอำนาจถ่วงดุลอยู่ที่อำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ แต่การถ่วงดุลกันไม่ได้จริง  แล้วก็พูดแต่ว่ารัฐบาลชุดนี้มันเสียงมากเกินไป เมื่อก่อนเราว่ามันน้อยเกินไป พอมากแล้วก็อยากให้น้อยอีก เราเล่นกระดานหกอยู่แค่ตรงนี้ ไม่มีใครมองไปที่ระดับรากหญ้าเท่าไร


 


ฉะนั้น คนในระดับรากหญ้าต้องช่วยตัวเอง  แต่จะช่วยได้แค่ไหน พูดยาก


 


มองในแง่ดี ประเด็นเรื่องป่าชุมชนอาจะเป็นโอกาสให้คนรากหญ้ารวมตัวกันได้ ?


การรวมตัวไม่ใช่ของง่าย ที่จะนะ ระยอง ประจวบฯ ก็รวมตัวให้คำแนะนำกัน จนกระทั่งผมไปงานศพคุณเจริญ วัดอักษร ก็เห็นชาวบ้านจากที่ต่างๆ มาร่วมงาน แต่ก็รวมกันแค่นั้น มันยังไม่รวมเป็นขบวนการที่สามารถมีพลังได้ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ยังไงท้องถิ่นเอง กลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐก็ยังเป็นกลุ่มเล็กๆ เพราะเวลานี้ผู้นำท้องถิ่นเป็นนายหน้าหมดแล้วใกล้ชิดกับส่วนกลางมาก


 


บทบาทของกรรมการสิทธิฯ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ?


กรรมการสิทธิฯ ในเวลาต่อจากนี้ไป 6 เดือนถึงหนึ่งปี เราตั้งใจจะทำงานเชิงรุกเกี่ยวกับสิทธิชุมชน แต่จะได้ผลแค่ไหนก็ไม่รู้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net