Skip to main content
sharethis



 


0 0 0


สมชาย ปรีชาศิลปกุล


 


สู้คดีโดยอ้างรัฐธรรมนูญ ความเสี่ยงที่ไม่คุ้มเสียของชาวบ้านตาดำ ๆ


ผมขอยกตัวอย่าง 2 คดีซึ่งเกี่ยวพันกัน คดีแรกชาวบ้านใช้สิทธิชุมชนตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ เข้าไปตัดไม้ในป่าชุมชน โดยขออนุญาตกรรมการป่าชุมชนแล้ว ผลปรากฏเจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ ชาวบ้านสู้มั้ยครับ... สู้โดยใช้รัฐธรรมนูญ


 


ขึ้นศาลศาลตัดสินปี 44 จำเลยสู้กับศาลด้วยประเด็น 1. หนึ่ง ไม่รู้กฎหมาย 2. อ่านภาษาไทยไม่ออก 3.ใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ


 


ศาลตัดสิน จำคุก 6 เดือน รอลงอาญา วินิจฉัยประเด็นเรื่องไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ภาษาไทย แต่ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนไม่ได้วินิจฉัย


 


อีกคดีหนึ่งขึ้นคู่กันมา ชาวบ้านเหมือนกันเข้าไปเอาไม้ ไม้ล้มในป่า ขออนุญาตกระทั่งจากคณะกรรมการป่าชุมชน เหมือนกัน ต้นไม้ล้มมา 7 ปีแล้วเอาขวานไปถากๆ แบกกลับบ้าน เจ้าที่ป่าไม้มาจับกุมตามพระราชบัญญัติป่าไม้ในข้อหาแปรรูปไม้ (โอย...ชาวบ้านใช้แค่ขวานอันเดียวตั้งข้อหามันทำเป็นโรงงานแปรรูปเลย) ชาวบ้านสู้เหมือนเดิมครับ อ้างไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ภาษาไทย ไม่ใช่การแปรรูปไม้ และใช้สิทธิชุมชนมาตรา 46


 


คดีนี้ทนายแนะว่าอย่าสู้เรื่องสิทธิชุมชน เปลี่ยนมารับสารภาพดีกว่า เพราะถ้ารับสารภาพแล้วได้รอลงอาญาชาวบ้านเลยเปลี่ยนใจรับสารภาพ ศาลตัดสินจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ก่อน


 


จาก 2 คดีที่กล่าวมา หากคดีแรกชาวบ้านสู้เรื่องสิทธิชุมชนแล้วชนะ ผมคิดว่คดีที่ 2 ชาวบ้านไม่รับสารภาพแน่ แต่ปัญหาคือว่าคดีแรก อย่าว่าแต่ตีความเลย วินิจฉัยก็ยังไม่วินิจฉัยเลย ในคดีที่ 2 ตอนผมเจอชาวบ้าน บอกให้สู้ต้องพิทักษ์สิทธิตามรัฐธรรมนูญให้ได้ตามมาตรา 46 แต่ชาวบ้านบอก "อาจารย์ ไม่ติดคุกก็บุญแล้ว ถ้าสู้ไปแล้วติดคุกล่ะอาจารย์ติดกับผมรึเปล่า"


 


 ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ และในภายหลังผมถึงมาคิดว่า เรากำลังโยนภาระในการปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้ชาวบ้านเป็นผู้แบก


 


สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญกำลังถูกทำให้ไร้ความหมายโดยศาล


ผมคิดว่าเวลาเราพิจารณารัฐธรรมนูญ เราพิจารณาแต่ตัวหนังสือไม่ได้ สิ่งที่กำลังสร้างปัญหาคือการตีความโดยองค์กรตุลาการ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง เราไปเจอปัญหาอย่างนี้ ตัวอย่างเช่น อาจารย์ส. ศิวรักษ์ก็ไปขัดขวางการวางท่อก๊าซไทย-พม่า ในปี 2544  ใช้วิธีชุมนุมโดยสงบ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ปรากฏว่าถูกฟ้อง อาจารย์ ส. อ้างมาตรา 44 เรื่องสิทธิในการชุมนุม  ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การชุมนุมอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธที่จำเลยจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 นั้น จำเลยจะได้รับการคุ้มครองนั้นต่อเมื่อจำเลยมิได้ละเมิดตามกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิอันพึงมีโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลอื่น....ผมนึกไม่ออกว่าการชุมนุมที่ไม่ละเมิดกฎหมาย มีด้วยหรือ


                                                


ตัวอย่างตัวอย่างหนึ่ง การชุมนุมกันเกิน 10 คน ตำรวจอาจจะเข้ามาผิดกำหมายอาญา และถ้าผมปวดปัสสาวะ ฉี่รดถังขยะ ฉี่รดบนท้องถนน ผิดไหม...ผิด


 


มีการชุมนุมอะไรที่ไม่ผิดต่อกฎหมาย...ไม่มี ปัญหานี้ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญในหมวดของสิทธิเสรีภาพของประชาชนมันกำลังถูกทำให้ไร้ความหมายโดยการวินิจฉัยของศาล ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่าในเมืองไทยกำลังเกิดกระแสอย่างหนึ่งคือมีด้านหนึ่งดึงไปในทางที่เหมือนเรามีสิทธิเสรีภาพ แต่ในอีกด้านหนึ่งดึงไปในทิศทางที่สิทธิเสรีภาพประชาชนหดแคบ ซึ่งอาจปรากฏได้หลายรูปแบบ หนึ่ง ไม่เข้าใจเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเลย สอง สนใจแต่ว่าตีวงมันให้แคบลงอีก การชุมนุมเป็นตัวอย่างที่ดี การชุมนุมชุมนุมได้ถ้าไม่ผิดกฎหมาย หาไม่เจอครับ หาไม่มีหรอกครับ


 


ศาลไทยมีแนวโน้มตีความสิทธิตามรธน. แบบอำนาจนิยม


ปัญหาที่สำคัญคือเวลาเราคิดถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ถูกตีความโดยฝ่ายตุลาการไม่ว่าศาลใดๆ ก็ตาม ในทัศนะของผมเชื่อว่าศาลมีแนวโน้มที่จะตีความไปในทิศทางแบบอำนาจนิยม บางครั้งอาจมีการตีความแบบสิทธิเสรีภาพประชาชนอยู่บ้าง


 


ประเด็นที่ตามมาคือว่า ทำไมศาลมีแนวโน้มที่จะตีความไปทางส่งเสริมอำนาจนิยม ผมก็มี 3 เรื่องด้วยกันที่คิดว่าเป็นคำตอบ ประการแรก ระบบความรู้ในแวดวงนิติศาสตร์ไทย การเรียนการสอนในแวดวงนิติศาสตร์เน้นการท่องจำ กฎหมายที่เรียนส่วนใหญ่เป็นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา วิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา ถามว่าให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญขนาดไหน ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ได้รับความสนใจน้อย หรือถ้าเรียนรัฐธรรมนูญก็เรียนคล้ายกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา ก็ท่องเป็นมาตราๆ แต่ไม่ได้เรียนว่านี่เป็นฐานที่รับรองสิทธิเสรีภาพซึ่งจะนำไปสู่การจัดองค์กรและการซึ่งต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


เวลาเราเรียนเราเรียนเป็นมาตราๆ แล้วก็เรียนๆ ไป ถามว่าเกิดปัญหาขึ้นว่าเวลาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรามีพื้นฐานของอาญาว่าจะใช้อย่างนี้ มันสามารถเอามาตราๆ มาชนกันแต่โดยไม่ทำความเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญคือฐานของการรับรองสิทธิเสรีภาพที่สำคัญที่สุด การจัดองค์กรของรัฐ การใช้อำนาจต่างๆ ต้องมุ่งไปเพื่ออันนี้ครับ การจัดองค์กรของรัฐต้องไม่มุ่งไปที่เพื่อให้รัฐมีอำนาจมากที่สุด แต่เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผมคิดว่าระบบบ้านเราไม่ได้สนใจเรื่องของรัฐธรรมนูญมากนัก


 


ประการต่อมาก็คือว่ามันเป็นบรรทัดฐานในเชิงสถาบันของตุลาการ มีหลายครั้งที่เกิดข้อพิพาทในการใช้กฎหมายระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตั้งแต่อดีตมันเกิดข้อพิพาทว่า จะตัดสินกฎหมายอย่างไรซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ระหว่างเรื่องอำนาจรัฐกับประเด็นที่อยู่ระหว่างเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น คณะปฏิวัติยึดอำนาจได้ มีคนฟ้องคณะปฏิวัติว่า กระทำการโดยมิชอบ ถามว่าศาลจะเลือกอย่างไร คณะปฏิวัติทำผิดกฎหมายครับ ฉีกรัฐธรรมนูญเลย ล้มล้างรัฐบาลเก่าสถาปนาตัวเองขึ้นมา คุณอุทัย พิมพ์ใจชน เคยฟ้องจอมพลถนอม กิตติขจรเนื่องจากจอมพลถนอมรัฐประหารตัวเอง คำฟ้องระบุว่าการทำรัฐประหารขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลบอกว่า คุณอุทัยมิใช่ผู้เสียหาย ขณะนั้นคุณอุทัยเป็น ส.ส. ขนาด สส.ยังไม่เป็นผู้เสียหายแล้วถามว่าถ้าประชาชนไปฟ้องล่ะ....เมื่อใดที่เกิดข้อพิพาทแบบนี้ ศาลมักจะเลือกยืนไปในทางที่จะสนับสนุนอำนาจรัฐ


 


ถ้าใกล้เข้ามาหน่อย รัฐบาลชุดคุณทักษิณออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม 2546 พระราชกำหนดออกได้คือถ้าจำเป็นเร่งด่วน มีเหตุผลรองรับ ก่อน 2546 รัฐบาลคุณทักษิณโฆษณาไปเต็มหมดแล้ว ประเทศไทยเราเจริญ รุ่งเรือง เศรษฐกิจฟื้น ทุกอย่างดี พอปรากฏว่า 2546 จะออกพระราชกำหนดฉบับนี้ เหตุผลในการออกพระราชกำหนดฉบับนี้ เนื่องจากว่าประเทศไทยยังมีภาวะฟื้นฟู เราต้องการที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างโน้นอย่างนี้รัฐบาลจึงออกพระราชกำหนด...... ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าไง การออกพระราชกำหนดแบบนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้


 


สถาบันตุลาการปิดกั้นตัวเองจากสังคม


ประการต่อมาซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นประเด็นความสำคัญ อาจกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจก็ได้ คือสถาบันตุลาการปิดกั้นตัวเองจากสังคม เวลาจะเกิดการพูดถึงการวิจารณ์คำพิพากษาของศาล มักจะได้ยินเสมอๆ ว่าระวังจะละเมิดอำนาจศาล


 


ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่ต้องพูด การลงโทษในคดีต่างๆ ต้องขึ้นศาลเพื่อพิจารณา โจทก์จำเลยก็เอาพยานหลักฐานมาโต้แย้ง แต่การละเมิดอำนาจศาล ศาลสั่งได้โดยไม่ต้องมีวิธีพิจารณาใดๆ


 


ผมคิดว่าการใช้คำว่าการละเมิดอำนาจศาลในเมืองไทยมีปัญหา 2 เรื่องด้วยกัน ประเด็นแรก ผมคิดว่าละเมิดอำนาจศาลควรจะจำกัดไว้เฉพาะการกระทำที่เป็นการขัดขวางกระบวนวิธีพิจารณาเท่านั้น หมายความว่าศาลพิจารณาแล้วเกิดผมทะเล่อทะล่าเข้าไปโวยวายในศาล ไปว่ากล่าว ละเมิดอำนาจศาล แต่ไม่ควรจะใช้กับการวิจารณ์


 


ประการที่  2 ผมไม่เห็นด้วยกับการห้ามวิจารณ์ในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยให้เหตุผล เพื่อป้องการชี้นำ เพื่อทำให้ผู้พิพากษาปราศจากอคติ ผมไม่เห็นด้วย เพราะ ผมคิดว่า 1) ผู้พิพากษามิใช่อรหันต์ใดๆ การไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมิได้หมายความว่าผู้พิพากษาจะปราศจากอคติ เพราะว่ามนุษย์ปุถุชนทั่วไปย่อมมีสิ่งที่เรียกว่าอคติ อยู่ภายใต้อิทธิพลความคิดความเชื่อที่ตนเองมีอยู่ในขณะนั้นอยู่แล้ว ถ้าศาลเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถไตร่ตรองโดยใช้เหตุผลได้ดี ควรเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์


 


การไม่เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาที่ตามมาก็คือว่า นักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ของไทยมีแนวโน้มที่จะ หนึ่ง อนุรักษ์นิยม สอง สนับสนุนอำนาจของรัฐ พอไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การตัดสินนั้นมักจะเดินไปในแนวทางที่สนับสนุนอำนาจรัฐเป็นส่วนใหญ่


 


แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร


ในระยะเฉพาะหน้าผมคิดว่าเราต้องช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญในส่วนสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีความหมายมากกว่าบทบัญญัติที่จะต้องถูกตีความแบบเปิดพจนานุกรม ผมคิดว่าว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่วนหนึ่งคือ ความปรารถนาสังคม ความใฝ่ฝันของผู้คนในการที่จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งอันนี้คือฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพต่างๆ ถ้ารัฐธรรมนูญถูกตีความให้มีความหมายน้อยลง ถูกละเลยมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่จะอิงกรอบตามรัฐธรรมนูญจะมีปัญหา การเคลื่อนไหวชาวบ้านจะถูกบีบให้แคบลงถ้ารัฐธรรมนูญไม่สามารถคุ้มครองเสรีภาพต่างๆ เหล่านั้นได้


 


ประการที่ 2 ผมคิดว่าสถาบันตุลาการต้องเปิดการรับฟังความคิดเห็น และถูกตรวจสอบ ในทางหนึ่ง การถกเถียง การตรวจสอบ การวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นเงื่อนไขทำให้ศาลเท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคม


 


ยกตัวอย่างเช่น ในอเมริกาช่วงหนึ่ง กฎหมายแรงงานออกมาแล้วคุ้มครองสิทธิผู้หญิง เช่น สิทธิที่จะลาคลอด สิทธิอะไรต่างๆ มีคนฟ้องไปที่ศาลสูงสุดของอเมริกาว่าอันนี้เลือกปฏิบัติ ศาลสูงสุดของอเมริกาตีความออกมาว่าการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงมากกว่าปกติแบบนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ ทำไม่ได้ สิทธิลาคลอด ห้ามยกของหนัก อันนี้เลือกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน ผู้ชายผู้หญิงต้องยกของเหมือนกัน ผู้ชายผู้หญิงต้องคลอดเหมือนกัน พอตัดสินออกมาแบบนี้ผลปรากฏว่า สาธารณชนรุมให้ความเห็น คือ ถ้าศาลกักตัวอยู่บนสถานที่ที่ไม่สามารถสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือคำพิพากษานี้เกิดในช่วงทศวรรษที่ 1950-60 เป็นช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิ เกิดความเปลี่ยนแปลงที่กว้างขวางในอเมริกา ทั้งสิทธิของชนกลุ่มน้อย สิทธิของคนผิวดำ สิทธิของผู้ชายผู้หญิง ถ้าศาลไม่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม คำตัดสินก็จะออกมาดูว่าเชยๆ มันช้าไป คือว่ามันมากกว่าเชย


 


ประการสุดท้าย ผมคิดว่าต้องทำให้ตระหนักได้ว่า ศาลเป็นองค์กรหนึ่งที่ใช้อำนาจอธิปไตยเช่นเดียวกับองค์การฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งอำนาจอธิปไตยนี้มาจากปวงชนชาวไทยทั้งหมด ต้องทำให้สถาบันตุลาการสำนึกในจุดนี้นะครับว่า จะกระทำในนามของพระมหากษัตริย์ก็จริง แต่อำนาจทั้งหมดมาจากปวงชนชาวไทย


 


.................................................


โปรดติดตาม พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ : ทัศนะจาก รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ วันพรุ่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net