Skip to main content
sharethis


คงมีคนในประเทศนี้ไม่กี่คนที่ทราบว่า จนถึงบัดนี้ชาวเกาะพีพี ยังได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐน้อยมาก จนกล่าวได้ว่า แทบจะไม่ได้รับความช่วยเหลือเอาเสียเลย เมื่อเทียบผู้ประสบภัยในพื้นที่อื่นๆ


 


สาเหตุที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐไปไม่ถึงเกาะพีพี ก็เพราะคณะรัฐมนตรีมีมติให้รอแผนการฟื้นฟู ที่ได้มอบหมายให้องค์การการบริหารการพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนดำเนินการแล้วเสร็จก่อน


 


ระหว่างการรอ ห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างและซ่อมแซมอาคาร รวมทั้งการก่อสร้างบ้านพักถาวรให้กับผู้ประสบภัย


 


แน่นอน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ไปจนถึงแรงงานบนเกาะพีพีอย่างยิ่ง ด้วยเพราะนั่นหมายถึงผู้ประกอบการบนเกาะแห่งนี้ ไม่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารมาดำเนินให้ธุรกิจเดินต่อไปได้


 


ไม่เฉพาะแต่การก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคารเท่านั้นที่หยุดชะงัก บรรดาโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ท่าเรือ ก็พลอยถูกสั่งให้รอไปด้วย


 


ต่อไปนี้ คือ ลำดับเหตุการณ์ 1 ปีเศษ แห่งความทุกข์ของคนพีพี


 


0 0 0


 


26 ธันวาคม 2547 เกิดภัยพิบัติ


 


9 ธันวาคม 2547 - 15 มกราคม 2548 ค้นหาศพ ติดตามผู้บาดเจ็บตามทรัพย์สินที่สูญหายโดยมีทางราชการ อาสาสมัครกู้ภัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ


 


11 - 17 มกราคม 2548 ทำความสะอาดเบื้องต้นบนเกาะพีพี


 


20 มกราคม 2548 ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ แต่งตั้งผู้แทนเจ้าของที่ดิน ผู้ประกอบการ เป็นผู้ประสานและให้ข้อคิดเห็นในการจัดทำแผนพื้นฟูเกาะพีพี จำนวน 6-7 คน คือ


 


1. นายสมเกียรติ กิตติธรกุล


2. นางวิชชุดา จันทโร


3. นายมานพ กองข้าวเรียบ


4. นายชาญณรงค์ เตชะรัชต์กิจ


5. นายประเสริฐ วงนา


6. นายวุฒิศักดิ์ ทองเกิด


 


ทางองค์การบริหารการพัฒนาพิ้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เสนอผังเมืองเกาะพีพี ให้อพยพคนและสถานประกอบการขึ้นไปอยู่บนที่สูง เนื่องจากเกาะพีพีเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ส่วนที่ราบทั้งที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ์ รัฐจะจัดซื้อ หรือเวนคืน เพื่อนำไปปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะ จากนั้นจะพัฒนาเกาะพีพีให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก


 


21 มกราคม 2548 นายอานนท์ พรหมนารถ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ออกประกาศให้เกาะพีพีเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ห้ามมิให้บุคคลหรือยานพาหนะเข้าไปในพื้นที่เกาะพีพี ห้ามกระทำการใดๆ เกี่ยวกับอาคาร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน


 


24 มกราคม 2548 ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และหาแนวทางในการขอการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ท่าเรือคลองจิหลาด


 


27 มกราคม 2548 ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการที่ภูเก็ต เรื่องพื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบภัย นายกรัฐมนตรีรับปากว่า จะเร่งฟื้นฟูบูรณะให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนกุมภาพันธ์  2548


 


29 มกราคม 2548 ประชุมตั้งองค์กรความร่วมมือผู้ประกอบการรายย่อย แรงงาน และชุมชนที่ประสบภัยสึนามิ เกาะพีพี โดยตั้งศูนย์ประสานงานที่เจ้าฟ้าวัลเล่ย์ จังหวัดกระบี่


 


10 กุมภาพันธ์ 2548 แถลงข่าวโครงการรักษ์พีพี (ดำน้ำเก็บขยะ) ที่ศูนย์เจ้าฟ้าวัลเล่ย์


 


17 กุมภาพันธ์ 2548 ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, กรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้ประกอบการ ร่วมประชุมเรื่องแนวทางการฟื้นฟูเกาะพีพี ซึ่งแตกต่างกันสองแนวทาง ระหว่างแนวทางขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ต้องการย้ายคนและสถานประกอบการไปอยู่บนที่สูง พัฒนาเกาะพีพีให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก กับแนวทางของกรมโยธาการและผังเมือง ที่จัดทำผังเมืองให้คนและสถานประกอบการ ยังอยู่บนพื้นที่ราบได้


 


23 กุมภาพันธ์ 2548 เจ้าของที่ดิน 29 ราย ร่วมประชุมพิจารณาแนวทางการฟื้นฟูที่โรงเรียนบุญสยาม


 


24 กุมภาพันธ์ 2548 เจ้าของที่ดิน 26 ราย ร่วมประชุมพิจารณาแนวทางการฟื้นฟู ที่ศูนย์ประสานงานองค์กรความร่วมมือ เจ้าฟ้าวัลเลย์ สรุปแนวทางการฟื้นฟูเกาะพีพี เพื่อเสนอต่อภาครัฐ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ดังนี้


 


ไม่เห็นด้วยกับแนวทางขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สนับสนุนแนวทางของกรมโยธาธิการและผังเมือง


 


พร้อมกับเสนอหลักการเบื้องต้น 3  ข้อ


 


1. การจัดทำผังเมืองต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมชุมชน ภูมิทัศน์ และอื่นๆ


2. ในกระบวนการการจัดทำผังเมือง เจ้าของที่ดิน ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ ต้องมีส่วนร่วมรับรู้และตัดสินใจร่วมกับรัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อประชาชนและประเทศชาติ


3. ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดกรอบแนวทางเวลาในการจัดทำผังเมือง ร่วมกับชาวเกาะพีพี ให้เร็วที่สุด


 


25 กุมภาพันธ์ 2548 ประชุมร่วมกับทางจังหวัดกระบี่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธาน มีชาวบ้าน ประกอบการ เจ้าของที่ดิน เข้าร่วมประชุมประมาณ  60  คน ผู้เข้าร่วมประชุมยืนยันไม่เห็นด้วยกับแนวทางฟื้นฟูขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สนับสนุนแนวทางการฟื้นฟูของกรมโยธาธิการและผังเมือง


 


นายพันคำ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง ในฐานะตัวแทนคนเกาะพีพี ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนชาวบ้านอย่างเข้มแข็ง


 


28 กุมภาพันธ์ 2548 นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่วนาง ออกแบบสอบถามความคิดเห็นการฟื้นฟูเกาะพีพี ผลสรุป ชาวเกาะพีพี ที่มีทะเบียนบ้าน  500  ครัวเรือน ร้อยละ  94  คัดค้านผัง  เมืองขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


 


3 มีนาคม 2548 องค์กรความร่วมมือผู้ประกอบการรายย่อยแรงงานและชุมชนที่ประสบภัยสึนามิ เกาะพีพี ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ กรณีสึนามิ จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการจัดทำผังเมือง ที่โรงแรมเวียงทอง จังหวัดกระบี่ มีนักวิชาการด้านผังเมือง เช่น คุณภารณี สวัสดิรักษ์ เข้าร่วมประชุมด้วย


 


8 มีนาคม 2548 ตัวแทนชาวบ้านเกาะพีพี ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้หยุดซ้ำเติม เพิ่มความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัยสึนามิ


 


- ยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการพัฒนาสังคม  และความมั่นคงของมนุษย์


- ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


16 มีนาคม 2548 นายธีระเทพ ศรียะพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ทำหนังสือแจ้งขอเลื่อนการประชุมร่วมกับเจ้าของที่ดินบนเกาะพีพี จากที่กำหนดประชุม ในวันที่  10  ธันวาคม  2548 ออกไปเป็นวันที่ 22 มีนาคม 2548 อ้างว่าจังหวัดติดภารกิจสำคัญ


 


ข้อสังเกต ก็คือ ในขณะที่เจ้าของที่ดิน และองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง กำลังคัดค้านการเข้ามาฟื้นฟูขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในหนังสือเชิญประชุมฉบับนี้ กลับระบุให้เจ้าของที่ดินเตรียมรายละเอียด เกี่ยวกับราคาที่ดิน ราคาทรัพย์สิน ในกรณีที่มีการเวนคืน เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการฟื้นฟู และแนวทางการแลกเปลี่ยนที่ดิน หรือในกรณีเจ้าของที่ดินประสงค์จะย้ายสถานประกอบกิจการ


 


17 มีนาคม 2548 องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นแนวทางการฟื้นฟูเกาะพีพี


 


22 มีนาคม 2548 มีการประชุมเรื่องแนวทางการฟื้นฟูเกาะพีพี ระหว่างองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับเจ้าของที่ดิน และผู้ประกอบการบนเกาะพีพีประมาณ 100 ราย มีนายอานนท์ พรหมนารท ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธาน มีนายอาคม  เอ่งฉ้วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมสังเกตการณ์


 


ดร.สุรเชษฐ์ เชษฐมาษ ผู้จัดการโครงการจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวเขาหลัก เกาะพีพี ตัวแทนองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ได้รับมอบหมายจากนายปลอดประสพ สุรัสวดี ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน แต่เนื่องจากมีความคิดเห็นแตกออกเป็นสองแนวทาง คือ แนวทางของกรมโยธาธิการและผังเมือง กับแนวทางขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำให้ล่าช้า ต้องขอเวลาอย่างน้อย 60 วัน ความชัดเจนในเรื่องการฟื้นฟูเกาะพีพี จึงจะออกมาได้


 


ผู้ว่าราชกาสรจังหวัดกระบี่ จึงมอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการควบคู่กันไป แต่ต้องไม่ขัดแย้งกัน


 


25 มีนาคม 2548 นายไมตรี บุญยัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ออกประกาศเรื่องกำหนดเขตพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มเติม ห้ามบุคคลและยานพาหนะกระทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาคารบนเกาะพีพี เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน


 


19 เมษายน 2548 ประชุมเจ้าของที่ดิน ผู้ประกอบการ ชาวบ้านเกาะพีพี นักวิชาการจากส่วนกลาง ที่ห้องประชุมจังหวัด เรื่องการจัดผังเมืองเกาะพีพี มีผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธาน


 


อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำกลับไปพิจารณา ถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาฟื้นฟูเกาะพีพี โดยการจัดระเบียบใหม่ เช่น การรื้อถอนอาคารที่ได้รับความเสียหาย การทำแผนพัฒนา ส่วนเรื่องผังเมืองยังไม่มีข้อสรุป


 


30 เมษายน 2548 สัมมนาเรื่องการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาและทางเลือกในการพัฒนาฟื้นฟูเกาะพีพี โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายฟื้นฟูและทรัพยากรธรรมชาติ ที่โรงแรมเวียงทอง มีนายวสันต์ พานิช นางสุนีย์ ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ดร.สราวุธ  ชโยวรรณ จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และนักวิชาการเข้าร่วม


 


ต้นเดือนพฤษภาคม 2548 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห้งชาติ พร้อมด้วย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร ลงไปรับฟังความเห็นชาวบ้านเกาะพีพี เกี่ยวกับการจัดทำผังเมือง


 


กลางเดือนพฤษภาคม 2548 คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความรู้เรื่องการจัดทำผังเมืองกับชาวเกาะพีพี


 


ปลายเดือนพฤษภาคม 2548 มีการประชุมแลกเปลี่ยนเรื่องผังเมืองอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดการริเริ่มสร้างบ้านถาวร โดยมูลนิธิชุมชนไทกับโครงการเซฟอันดามัน พร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณ มีผู้บริจาคที่ดิน 6 ไร่ แต่อยู่ในเขตทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี ขณะที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง ก็มีโครงการสร้างบ้านถาวรให้กับผู้ประสบภัยจำนวน  220  ครอบครัว ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตอยู่ด้วย


ในที่สุด ผู้ประสบภัยเกาะพีพีได้ตัดสินใจให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนางกับมูลนิธิศุภนิมิต เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างบ้านถาวร


 


10 มิถุนายน 2548 ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ออกประกาศว่า ภายหลังจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับมอบหมายให้จัดทำผังเมืองเกาะพีพี ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2548 ให้ยกเลิกการห้ามก่อสร้าง อาคารบนเกาะพีพี ส่วนรายละเอียดการทำผังเมือง ต้องรอความคืบหน้าจากกรมโยธาธิการและผังเมืองอีกประมาณ 2 เดือน


 


16 มิถุนายน 2548 กระทรวงแรงงาน โดยนายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการที่โรงแรมเดอะรอยัล พาราไดส์ จังหวัดภูเก็ต ระดมความคิดการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพิบัติภัยสึนามิ ทางแรงงานจังหวัดกระบี่ได้นำตัวแทนชาวบ้าน ผู้ประกอบการเกาะพีพี เข้าร่วมประชุมด้วย


 


ช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฏาคม - สิงหาคม 2548 ไม่มีความคืบหน้าเรื่องการจัดทำผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมืองแจ้งให้ทราบเพียงว่า อยู่ระหว่างการของบประมาณมาจัดทำผังเมือง


 


25 มิถุนายน 2548 นายพนาพร ประชุมทอง และนางพิชามญชุ์ หมายจิตร เป็นตัวแทนผู้ประกอบการ จากองค์กรความร่วมมือผู้ประกอบการรายย่อย แรงงาน และชุมชนที่ประสบภัยสึนามิ เกาะพีพี เข้าร่วมประชุมนานาชาติเรื่องการฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิระยะยาว ทั้ง 2 ได้แจ้งต่อที่ปชุมว่า ในส่วนของเกาะพีพี ยังมีปัญหาเรื่องทุนการศึกษาตกค้างเป็นจำนวนมาก เรื่องขยะที่ยังไม่สามารถกำจัดให้หมดไปจากเกาะ เรื่องสัญญาณเตือนภัย และเรื่องผังเมืองที่ยังไม่มีความคืบหน้า


 


30 มิถุนายน 2548 องค์กรความร่วมมือผู้ประกอบการรายย่อย  แรงงานและชุมชนที่ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ  เกาะพีพี ได้ย้ายออกจากเจ้าฟ้าวัลเลย์ ไปยังเกาะพีพี โดยตั้งศูนย์ประสานงานที่เดอะเพียร์เกสเฮาส์ ต่อมา ร้านอาหารอารีย์อนุญาตให้ใช้พื้นที่ด้านหลัง ตั้งเป็นสำนักงานชั่วคราว


 


6 กันยายน 2548 ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดพังงาว่า มีมติให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เข้ามาทำผังเมืองแทนกรมโยธาธิการและผังเมือง


 


15 กันยายน 2548 จังหวัดกระบี่มีความเห็นเสนอนายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรีว่า ควรให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เร่งจัดทำผังเมืองและปรับปรุงภูมิทัศน์เกาะพีพีโดยด่วน เพื่อรองรับฤดูกาลการท่องเที่ยวที่จะมาถึง เพราะทราบว่าในเดือนพฤศจิกายน 2548 ทุกโรงแรมบนเกาะพีพีมียอดจองแล้ว 80% รวมทั้งป้องกันการปลูกสร้างอาคารทำลายทัศนียภาพ และมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป


 


1 ตุลาคม 2548 องค์การบริหารส่วสนตำบลอ่าวนาง ออกประกาศห้ามก่อสร้างและดัดแปลงอาคารบนเกาะพีพี  อ้างว่าต้องรอผังเมืองจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนก่อน


 


พฤศจิกายน 2548 มีข่าวนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่คนใหม่ สั่งห้ามสร้างบ้านถาวรให้กับผู้ประสบภัยสึนามิ ขององค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนางร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิต ชาวบ้านกับผู้ประกอบการ  จึงร่วมกันประชุมหารือเพื่อหาทางออกกรณีถูกระงับการก่อสร้างทุกประเภท


 


25 พฤศจิกายน 2548 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ลงตรวจพื้นที่เกาะพีพี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ เจ้าของที่ดิน และราษฎรบนเกาะพีพี ร่วมประชุมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อบูรณาการพัฒนาพื้นที่บริเวณเกาะพีพี  ให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


 


2 ธันวาคม 2548 ทางจังหวัดกระบี่ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุม ทางองค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้เสนอ 3 ทางเลือกในการฟื้นฟูและพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะพีพี


 


1. ให้เป็นไปตามความต้องการของชาวเกาะพีพีเป็นหลัก โดยภาครัฐเป็นผู้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการรับรองจากสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร โดยได้รับความเห็นชอบจากประชาชนและรัฐ


 


2. รัฐบาลอาจจะซื้อที่ดินเอกสารสิทธิ์และทรัพย์สินของผู้ประกอบการบางส่วน โดยตั้งอยู่บนหลักการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และกระจายประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินและผู้ประกอบการอย่างเป็นธรรม โดยภาครัฐเป็นผู้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการรับรองจากสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร โดยได้รับความเห็นชอบจากประชาชนและรัฐ


 


3. รัฐบาลอาจจะซื้อที่ดินและเอกสารสิทธิ์ทั้งหมด จำนวน 279 ไร่ เพื่อนำมาจัดรูปที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปรับปรุงหรือจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การบริการสาธารณูปโภคแบบบูรณการ การปรับปรุงสภาพแวดล้อม โดยการร่วมมือระหว่างเอกชนกับรัฐ


 


ที่ประชุม ให้จังหวัดกระบี่แต่งตั้งคณะทำงานจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณาในรายละเอียด ต่อมา ทางจังหวัดกระบี่ได้มีคำสั่งที่ 2354/2548 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2548 แต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวแล้ว


 


ส่วนกรณีมูลนิธิศุภนิมิต ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง มีโครงการก่อสร้างบ้านให้แก่ราษฏรผู้ประสบภัย 216 หลัง แยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง 50 หลัง ให้มูลนิธิศุภนิมิตจัดส่งแผนที่ก่อสร้าง ให้องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตรวจสอบว่า อยู่ในระยะถอยร่น หรือเส้นทางเพื่อความปลอดภัยหรือไม่ และส่งแบบให้องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง, โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกระบี่ตรวจสอบ หากที่ดินราษฏรรายใด ไม่ขัดกับผังขององค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้มูลนิธิศุภนิมิตดำเนินการก่อสร้างได้เลย


 


กรณีสร้างบ้าน 166 หลัง ในที่ดินบริจาคของคุณวิชุดา จันทโร เนื้อที่ 12 ไร่ ให้สำนักบริหารอนุรักษ์ที่ 5 จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรวจสอบพื้นที่ก่อน


 


8 ธันวาคม 2548 มีการประชุมคณะทำงานครั้งที่ 2 ทางองค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้นำร่างแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวบนเกาะพีพี โดยขอให้ที่ประชุมพิจารณาการกำหนดแนวเส้นทางหนีภัย พื้นที่ปลอดภัยสำหรับหลบภัย และพื้นที่แนวถอยร่นระยะ 30 เมตร จากระดับน้ำทะเลสูงสุด เพื่อไว้ใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ ตามประกาศของกรมโยธาธิการและผังเมือง ฉบับที่ 2 โดยที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และให้จังหวัดกระบี่ แต่งตั้งคณะทำงานฯเพิ่ม จากคำสั่งจังหวัดกระบี่ที่ 2354/2548 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2548


 


ให้องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และกรมโยธาธิการและผังเมือง บริษัทโมดัส คอนซัลแตนท์ ซึ่งเป็นบริษัทฯที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ว่าจ้างให้จัดทำผังเฉพาะเกาะพีพี ก่อนเกิดสึนามิ และผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ร่วมกันปรับปรุงข้อเสนอขององค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ แล้วนำเสนอต่อคณะทำงานฯ ที่จังหวัดแต่งตั้งขึ้นให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 27 - 28 ธันวาคม 2548 เมื่อได้ข้อยุติแล้ว องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะต้องทำรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน


 


สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในระยะแนวถอยร่นหรือพื้นที่ส่วนกลาง หรือเส้นทางหนีภัย จะนำเสนอรัฐบาลให้จ่ายเงินชดเชยตามราคาประเมิน ส่วนพื้นที่ที่เป็นเส้นทางหนีภัย พื้นที่ส่วนกลางองค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะนำไปใช้เฉพาะเป็นเส้นทางความปลอดภัย และการวางสาธารณูปโภคเท่านั้น


 


ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมืองชี้แจงว่า ประกาศของกรมโยธาธิการและผังเมืองจะไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้นระยะแนวถอยร่น 30 เมตร จะไม่มีผลบังคับใช้กับอาคารปัจจุบัน ยกเว้นจะก่อสร้างใหม่


 


22 ธันวาคม 2548 ทางสำนักบริหารอนุรักษ์ที่ 5 จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สำรวจพื้นที่สร้างบ้านถาวรให้กับผู้ประสบภัยพบว่า ที่ดินที่คุณวิชุดา จันทโร บริจาคให้ 12 ไร่นั้น เป็นที่ดินของผู้บริจาคเองเกือบ 4 ไร่ อีก 8 ไร่เศษ เป็นที่ดินของอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี


 


27 ธันวาคม 2548 มีการประชุมคณะทำงานเพื่อบูรณาการพัฒนาพื้นที่บริเวณเกาะพีพี ครั้เงที่ 3 นายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ในฐานะประธานการประชุม ชี้แจงเรื่องการสร้างบ้านถาวรว่า ในส่วนของการสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง 50 หลัง สามารถดำเนินการได้เลย เพราะอยู่ในบริเวณที่ไม่เกี่ยวข้องกับระยะถอยร่น และเส้นทางหนีภัย สำหรับที่ดินบริจาคเกือบ 4 ไร่ ให้รอการวางผังเมืองก่อน ส่วนที่ดินในเขตอุทยานฯ ทางจังหวัดกระบี่จะประสานงานกับกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอใช้พื้นที่ต่อไป


 


ต่อมา ผู้เข้าร่วมประชุมได้เดินสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดความกว้างเส้นทางหนีภัย ส่วนพื้นที่ชายทะเล มีการรับหลักการว่า จะจัดพื้นที่ถอยร่น 20 เมตร จากพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึง


 


จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้มอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไปจัดทำร่างแผนแม่บทเบื้องต้นมานำเสนอต่อคณะทำงานฯ ภายในวันที่ 26 มกราคม 2549 เพื่อให้ชาวเกาะพีพีได้ศึกษาก่อน โดยจะกำหนดนัดวันประชุมคณะทำงานอีกครั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2549


 


สำหรับท่าเรือเกาะพีพี นายธันยา หาญพล รักษาการผู้อำนวยการองค์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ทางผู้ชำนาญการของสำนักนโยบายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เห็นว่าท่าเรือที่กรมการขนส่งทางน้ำและพานิชยนาวีเสนอไปมีขนาดใหญ่เกินไป ขอให้ลดขนาดลง เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทางคณะกรรมการฯ จึงได้ขอให้รอแผนการฟื้นฟูขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแล้วเสร็จก่อน


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net