Skip to main content
sharethis

ลองหลับตา ย้อนนึกกลับไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงวันนี้ แล้วถามตัวเองว่า หากเราย่นย่อเวลาได้เท่ากับระยะที่สมองและหัวใจส่งสัญญาณได้ "คุณเห็นใครในปีที่ผ่านมา" และนี่คือโจทย์ที่กองบรรณาธิการประชาไทแต่ละคนได้รับ เพื่อให้มันเหมาะกับวาระแห่งการสรุปบทเรียนอย่างในช่วงปีเก่าผ่าน-ปีใหม่มานี้


 


โปรดอย่าเพิ่งคิดว่า บุคคลที่อยู่ในหัวข้อข้างบนเป็นบุคคลที่ "ประชาไท" จัดให้เป็น "The Visible Man" ของเรา เพราะบทวิพากษ์วิจารณ์ต่อจากนี้ เป็นการนำเสนอคนที่อยู่ในสายตาในรอบปี 2548 จากบุคคลในกองบรรณาธิการประชาไท คนที่ 1 ที่ผ่านการสืบค้น วิเคราะห์ วิพากษ์ ชั่ง ตวง วัด และให้น้ำหนัก จากจำนวนทั้งหมด 8 คน ซึ่งจะทยอยนำเสนอวันละคนจนครบ 8 ก่อนที่เรา "กองบรรณาธิการประชาไท" จะได้ร่วมกันประชุม ถกเถียง และเลือกโดยใช้หลักฉันทามติ ซึ่งก็คือ ทุกคนจะต้องเห็นพ้องต้องกันอย่างปราศจากข้อข้องใจ เพื่อให้ได้ "The Visible Man" ของ "ประชาไท" โดยมี อ.รุจน์ โกมลบุตร จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการประชุม


 


0 0 0




 






เขียนที่บ้านจันทร์ลืมส่อง


วันที่นกน้อยไร้ส้มเกาะ


 


สรยุทธที่รัก


 


ฉันตัดสินใจเขียนจดหมายถึงคุณหลังจากที่ทบทวนดูแล้วว่า คุณเป็นคนที่ทำให้หัวใจของฉันเต้นแรงบ่อยครั้งในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา จะเป็นรองก็แต่ท่านเหลี่ยมที่รักของเราเท่านั้น แต่เนื่องจากในกรณีของท่านเหลี่ยมนั้นฉันมักมีอาการหนังตาขวากระตุกร่วมด้วย จึงเดาว่าไม่น่าจะเป็นลางดีที่ฉันจะเขียนถึงท่าน


 


แรกพบของเราเกิดขึ้นเมื่อสักหลายปีก่อนตั้งแต่ยุคที่ไอทีวียังเป็นสื่อเสรี หรือ Independent media ไม่ใช่ "I" media อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สมัยนั้นคุณจะมีหน้าที่มาวิเคราะห์แยกแยะสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงข่าวภาคค่ำ ยังจำได้ว่าฟังจนเคลิ้ม แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากมือของคุณที่ปัดไปโบกมาประกอบการวิเคราะห์อย่างดุเด็ดเผ็ดมันจนวิงเวียนก็ตาม


 


ด้วยความที่เป็นคนข่าวที่ดูขึงขัง ฉลาด น่าจับตามอง ฉันจึงติดตามฟังคุณเป็นประจำ นานๆ เข้าญาณทัศนะก็ถึงจุด "ทึ่ง" เมื่อพบว่า การวิเคราะห์วิจารณ์ของคุณนั้นช่างมหัศจรรย์เหลือเชื่อว่า แม้จะไม่เจือข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังหรือความรู้ในข่าวนั้นๆ มาเลย แต่คุณก็ยังแจกแจงและแยกแยะให้เห็นจริงเชียวว่า ...ขี้หมากองหนึ่งถูกคนหนึ่งเหยียบไป เผอิญว่าคนนั้นไม่รู้ตัวว่าเหยียบขี้หมาเข้าแล้วจึงเดินต่อไป เป็นเหตุให้มีรอยขี้หมาเปื้อนไปทั่วบริเวณ พร้อมทิ้งวัตถุพยานสำคัญไว้เป็นกองขี้หมาแบนแต๋และร่องรอยที่พื้นรองเท้าของเขา


 


นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ใจฉันเต้นตึก อึ้ง ระทึก ทึ่งในความเฉลียวฉลาดของคุณ และฉันก็ยังติดตามคุณด้วยความเพลิดเพลินใจมาตลอด จนกระทั่งคุณหายไปจากแวดวงฟรีทีวี แต่ไปสร้างเรือนใหม่ใต้ชายคาเดิมที่เนชั่นแชลแนล ในบทบาทของนักเล่าข่าวร่วมกับเขาคนนั้น (ที่ร่ำลือกันนักหนาว่าเป็นกิ๊กของคุณL)


 


จนเมื่อสักกลางปี 2546 ที่คุณได้กลับมาโลดแล่น และกลายเป็นดาวเด่นโด่งดังจนใครก็รั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ตอนนั้นฉันพยายามที่จะตัดใจจากคุณให้ได้ เพราะเห็นว่าเราต่างกันเกินไป แต่ก็เหมือนโชคชะตากลั่นแกล้ง ยิ่งฉันพยายามหนีกลับยิ่งต้องเจอคุณทุกวัน เช้าลืมตามาก็เห็นคุณจ้อข่าวเหมือนเรากำลังนั่งคุยกัน ก่อนนอนวงสนทนายามดึกของคุณก็ปลุกให้ประสาทฉันตื่นตัว ตาค้างนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวงสนทนาดุเด็ดเผ็ดมัน โต้กันไปมา ชนิดที่เห็นท่าว่าจะไม่มีใครฟังกัน คุณก็พยายามที่จะทำหน้าที่ผู้คุมเกม ดูเหมือนจะทำให้คุณต้องเหนื่อยที่ห้ามแล้วไม่ฟัง แต่ เอ ฉันแอบเห็นคุณยิ้มเล็กๆ มุมปาก เหมือนว่าสมใจบางอย่าง (อะไรล่ะ) หรือนั่นคือวัฒนธรรมแห่งการถกเถียงที่คุณฝันไว้มันใกล้เป็นจริง ถ้าใช่ !?! (โอ๊ะ ใจฉันมันกระตุกแรงขึ้นมาอีกแล้วสิ)


 


ฉันลองย้อนทวนดูอาการใจเต้นที่เกิดขึ้น พบว่าบ่อยครั้งที่เกิดขึ้นในตอนเช้า จำได้ว่าวันนั้นคุณดูดุดันมากกับเรื่องของผู้หญิงใจร้ายที่ทิ้งลูกได้ลงคอ ฉันจำไม่ได้หรอกนะว่า เรื่องราวมันเป็นยังไงที่ผู้หญิงคนนั้นถึงตัดสินใจทิ้งลูก แต่คำที่บอกว่า "เลวมาก" ของคุณยังก้องอยู่ในใจ ในหัว ในหูฉัน วาจาสิทธิ์พิพากษาที่มาจากปากย้อยๆ น่ารักของคุณมันช่างโดนใจฉันเหมือนได้ผรุสวาทออกไปด้วยตัวเอง ความรู้สึกมันจึงเบาโล่งเหมือนได้ระบายความคับข้องใจออกไปบ้าง น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีของสังคมใช่ไหม (โอ๊ะ เสน่ห์คุณมันแทงจึ๊กนึกถึงคราวใดก็ยังจี๊ดได้เสมอ)


 


เที่ยงๆ วันเสาร์-อาทิตย์ฉันก็ว่าจะพยายามตัดใจจากคุณซะหน่อย คุณยังตามมาให้เห็นให้คิดถึง หนำซ้ำยังพากิ๊กของคุณออกมาหัวร่อต่อกระซิกกันให้ฉันคันหัวใจอีก คุณมีเสื้อใหม่ๆ และของรางวัลมากำนัลให้ผู้คนเสมอ ช่างมีวิญญาณนักบุญคล้ายท่านเหลี่ยมของเราเหลือเกิน มีวันนึงคุณใจดีมากเอารองเท้ามหัศจรรย์คู่หนึ่งมาแจก บอกด้วยว่า "ทางบริษัทรองเท้า...เขาให้ผมมา ผมเอามาให้คุณๆ กันต่อ แค่ SMS มาบอกว่า..." (อย่างนี้ต้องกรี๊ด สงสัยจะตื่นเต้นมากไป ฉันจึงเกิดอาการมวนท้องคล้ายจะอาเจียนร่วมด้วย)


 


อาการรักคุณหัวปักหัวปำของฉันเป็นหนักมากขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ทางภาคใต้ไม่ดีเอาซะเลย ยิ่งเมื่อเกิดระเบิดที่สนามบินหาดใหญ่ มิวสิควิดิโอที่คุณส่งออกมาแทนความรู้สึก เศร้า สลดใจ มันพาลทำให้ฉันรักในความอ่อนโยนของคุณ และยิ่งทำให้ฉันเกลียดชังผู้คนทางใต้ที่ก่อเหตุร้ายนี้ขึ้นมา แต่คุณคงไม่อยากให้ผู้คนเกลียดชังกันมากเกินไป จึงพยายามที่จะคั่นด้วยเรื่องสนุกเบาๆ ด้วยการเล่นหัว ยั่วล้อกับกิ๊กของคุณว่าทีมฟุตบอลของใครจะเจ๋งกว่ากัน


 


ฉันทึ่งในความสามารถอันอัศจรรย์ของคุณที่จะปรับอารมณ์เศร้า สู่เรื่องสนุกสนานเฮฮา มันทำให้ฉันย้อนนึกไปถึงคำพูดของนักข่าวในภาพยนตร์เรื่อง Hotel Rwanda ที่บอกกับพระเอกว่า อย่าหวังให้มากนักว่า การที่มีภาพข่าวความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แพร่ภาพออกไปสู่สายตาชาวโลกแล้วจะทำให้สถานการณ์อะไรดีขึ้น เพราะมันก็อาจเป็นแค่ความเศร้าใจและบทสนทนาในค่ำคืนหนึ่งบนโต๊ะอาหาร เท่านั้น!


 


หรือคุณจะเข้าใจความเป็นจริงข้อนี้ คุณจึงมักไม่ปล่อยให้ฉันเศร้า ระทมทุกข์ หรือมีข้อมูลที่จะจมความคิดกับเรื่องหนึ่งเรื่องใด มากไป คุณช่วยดึงฉันมาสู่โลกที่ทำให้เข้าใจว่า ฉันมีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก วิพากษ์ วิจารณ์ ข้อมูลที่ไม่ยากเกินไป ช่วยให้ฉันมั่นใจในสติปัญญาและความรู้สึกของฉันว่า ฉันแสดงความคิด ความเห็น ความรู้สึกได้ โดยไม่ต้องมีข้อมูลมากมาย ขอแค่สามัญสำนึกและเงินในกระเป๋าที่พอจะจ่ายเป็นค่า sms เข้าไปบอกว่าฉันคิด ฉันรู้สึก อะไร และสรยุทธคุณก็มีหน้าที่ทำให้ฉันไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในความคิด


 


ยิ่งฉันเขียนถึงคุณ ฉันยิ่งพบความจริงบางอย่างว่า อาการใจเต้นที่เกิดนั้นเห็นที่จะเป็นอาการ "แทงใจดำ" ที่คุณทำให้เกิดขึ้นกับฉันเป็นระยะ และการที่ฉันหลงรักคุณนั้น ฉันก็ชักมั่นใจแล้วว่าเป็นอาการหลงรักตัวเอง เหมือนที่นาร์ซิสซัสหลงรักเงาของตัวเอง แล้วอาการนี้กำเริบหนักขึ้นเมื่อเจอเข้ากับ "กระจก" อย่างคุณ


 


รักนะ เด็กโง่


 


มวลชน


 


 


 


0 0 0


 


สรยุทธ สุทัศนะจินดา


คนข่าวที่ร้อนแรงที่สุดแห่งปี เอแบคโพลล์ประกาศให้เขาครองอันดับหนึ่งนักสื่อสารมวลชนที่เป็นผู้นำความคิด และอันดับที่ห้าในฐานะบุคคลแห่งปี ยังพ่วงด้วยผลโหวตให้เป็นพิธีกรชายที่เซ็กซี่ที่สุดจากเว็บไซต์http://www.yoohoo.com 


 


ประวิทย์เรียกสรยุทธว่า เขาคือ "ฮีโร่ของผม" เพราะตั้งแต่เกิดไอเดียความคิดการสร้างข่าวแบบวาไรตี้เข้ามาในหัวสมอง เจ้าสัวช่อง 3 มั่นใจว่า รายการประเภทนี้ผู้ที่เหมาะสมที่สุด คือ สรยุทธ และเป็นจริงดังฝัน สรยุทธทำเงิน ทำรายได้ จากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ และสร้างปรากฏการณ์ข่าวให้ช่อง 3 ชนิดที่คู่แข่งขันต้องหันมาทบทวนการผลิตรายการข่าว


(นิตยสาร positioning เดือนกันยายน 2548)


 


 


เส้นทาง "ฮีโร่"


เกิด 11 พฤษภาคม 2509 เป็นลูกคนกลาง มีพี่สาว 1 คน น้องสาว 1 คน พ่อเสียตั้งแต่เขาอายุได้ 3 ขวบ เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของแม่เพียงลำพัง เป็นเด็กเรียนหนังสือค่อนข้างดี แต่ชอบโดดเรียนด้วย
การเข้าไปดูหนังวน หนังควบ ตลอดทั้งวัน จนกระทั่งมีเรื่องมีราว ริรักเด็กรุ่นพี่ ทางโรงเรียนเลยเชิญให้ออก แต่ยังรักที่จะเรียน จึงไปสมัครเรียนศึกษาผู้ใหญ่ภาคค่ำทั้งๆ ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ เพื่อนๆ จึงมีตั้งแต่ระดับ ลุง ป้า น้า อา แถมเรียนหนังสือเก่งอีกต่างหากทำให้เป็นที่รักใคร่

จากนั้นเขาหันมาใส่กางเกงขาสั้นอีกครั้งในรั้วอำนวยศิลป์ ที่ช่วงนั้น เด็กนักเรียนมักชอบตีกัน เขาก็ติดกลุ่ม นักเรียน - นักเลงไปด้วย จนถูกตำรวจรวบเข้าไปอยู่ในบ้านเมตตาประมาณ 15 วัน กลับออกมาคราวนี้เข็ดไปอีกนาน จึงตั้งใจเรียนหนังสือเป็นเรื่องเป็นราว จนสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพพร้อมกับได้ทุนเรียน และที่เรียนนิเทศศาสตร์ เพราะว่า ชอบงานข่าว ชอบอ่านหนังสือการเมืองรายสัปดาห์ วิเคราะห์ข่าว ชอบไปฟังเวลา คุณสมัคร (สุนทรเวช) คุณวีระ(มุสิกพงศ์) พูด พอจบจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็สมัครเข้าทำงานที่ "เดอะ เนชั่น" เลย


 


สรยุทธ บอกว่า เขาเป็นนักข่าวที่จบมาจากเนชั่น เป็นเหมือนสถานศึกษาทางอาชีพที่ฝึกฝนให้เขาเป็นนักเล่าข่าว วิเคราะห์ข่าว เขาเป็นนักจัดรายการที่ไม่ชอบมีสคริปต์ จึงไม่พึงปรารถนานักที่อยากจะทำรายการแบบวาไรตี้ หรือเกมโชว์ เพราะรายการเหล่านี้ต้องมีสคริปต์ สิ่งที่ถนัดจะทำไปจนถึงที่สุด คือ รายการข่าว ประเภทวิเคราะห์ข่าว คุยข่าว


 


เขาเริ่มต้นเป็นคนข่าวที่ปรากฏทางหน้าจอไอทีวี โดยรับหน้าที่วิเคราะห์ข่าวจากโต๊ะข่าวการเมืองที่เนชั่น ในยุคที่เนชั่นยังบริหารงานข่าวไอทีวี ด้วยบุคลิกและลีลาที่โดดเด่นเข้าตา เมื่อเนชั่นหลุดจากการดูแลข่าวไอทีวี ไปผลิตรายการข่าวออกทาง ยูบีซี 8 คนข่าวคู่หู คู่ฮา อย่าง กนก รัตน์วงศ์สกุล และสรยุทธ สุทัศนะจินดา ก็กลายเป็นขวัญใจมีแฟนประจำติดตามในรายการทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุ "เก็บตกจากเนชั่น" ซึ่งยังได้ขยายมามีคอลัมน์คุยข่าวในหนังสือพิมพ์ "คมชัดลึก" เรียกว่า "ก๊วน กวนข่าว"


 


ความอบอุ่นที่เติบโตที่เนชั่นในฐานะกรรมกรข่าว อาจจะยังไม่ใช่เป้าหมายในชีวิต แม้ยอดพิมพ์หนังสือกรรมกรข่าวของเขาจะทะลุหลักแสนเล่มแล้วก็ตาม


 


จากกรรมกรข่าว สู่ผู้รับเหมา และเข้าสู่หลักชัยการเป็นซุปเปอร์สตาร์


ในขณะะที่เนชั่นถูกกดดันให้ถอดรายการจากยูบีซี เขาพูดถึงเรื่องนี้ไว้ในรายการเจาะใจว่า  "เหมือนกับ
ชีวิตขาดอะไรไปสักอย่างหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับในชะตากรรม" แต่เขาก็ไม่ได้ยอมรับในชะตากรรมนี้นานนักเพราะเมื่อทางบางกอกการละคอนติดต่อให้เขาเป็นพิธีกรรายการ "กล่องวิเศษ" เขาก็รับที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ แม้จะมีกระแสความไม่พอใจนักจากทางเนชั่น และมาถึงจุดแตกหักจริงๆ เมื่อเขาตัดสินใจรับเป็นผู้ดำเนินรายการคุยข่าว "เรืองเล่าเช้านี้" ให้กับทางช่อง 3 ซึ่งเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 แต่การทำงานที่ช่อง 3 ของสรยุทธ ก็ยังอยู่ในฐานะของกรรมกร เพียงแต่เป็นกรรมกรเนื้อหอมค่าตัวสูง ในฐานะพิธีกรที่ควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์รายการด้วยผลตอบแทนเดือนละ 300,000 บาท เขาเคยให้สัมภาษณ์กับมติชนไว้เมื่อเดือน มีนาคม 2547 ว่า


 


"ตอนต้องออกจากบ้านเก่าหลังเดิม ถ้าถามว่าแล้วจะเอาอย่างไงต่อ? ตอนที่ออกมาเคยคิดไหมว่าถ้าตกยากมาจริงๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นก็คิดหนัก ถามตัวเองว่าอยู่ได้ไหมก็อยู่ได้ แม้ไม่มีรายการโทรทัศน์ให้ทำ แย่ที่สุดหาทางออกไว้ว่าจัดรายการวิทยุ ก๊อกๆ แก๊กๆเดือนละ 30,000 บาท เราอยู่ได้ไหม? ก็ตอบตัวเองว่าอยู่ได้แล้วไม่คาดหวังสูง ช่วงเริ่มรายการกับช่อง 3 กลัวเหมือนกันมันจะไม่เวิร์ก ถ้าไม่ล่ะก้อศูนย์หมดเลย"


 


สรยุทธเรียกตัวเองว่า เป็นผู้รับเหมาเมื่อเขาเปิดบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ผลิตรายการถึงลูกถึงคน และคุยคุ้ยข่าว ออกอากาศในฐานะอาวุธใหม่ Edutainment ให้กับทางโมเดิร์น ไนน์ มีผลกำไรงอกงามเกือบสิบเท่าจากเงินลงทุน 6-7 ล้านบาท และเมื่อนับรวมกับรายได้จากค่าตอบแทนการเป็นผู้ดำเนินรายการ และส่วนแบ่งจากหนังสือขายดีอันดับต้นๆ อย่าง "กรรมกรข่าว" หรือล่าสุด "คุยนอกสนาม" ก็ทำให้สรยุทธเป็นสื่อมวลชนที่กลายเป็นเศรษฐีใหม่ ที่พ่วงไปด้วยตำแหน่งของการเป็นซุปเปอร์สตาร์ที่หมายปองของเอเยนซี่ที่ต้องการซื้อเวลาโฆษณาในทุกรายการที่เขามีส่วนร่วม แม้แต่การจะได้มีโอกาสนำของมาแจกในรายการเพื่อสมนาคุณผู้ชม ก็คือรายได้สำหรับรายการ เช่นเดียวกับการเป็นโฆษณาแฝงชั้นยอดสำหรับสินค้า


 


นอกจากนี้เขายังมีสถานะกลายเป็นที่พึ่งของมวลชนกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เป็นคนทุกข์รายเดี่ยวๆ หรือกลุ่มคนที่เดือดร้อนเรื่องต่างๆ หากมีโอกาสได้ออกรายการกับสรยุทธแล้ว โอกาสที่ปัญหาได้รับการเหลียวแลแก้ไขสูงมาก ยิ่งรายการได้รับการันตีจากผู้นำประเทศอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นแฟนที่ติดตามรายการ จึงเป็นไปได้ว่าโอกาสที่เรื่องจะถึงหูนายกฯ จะสูงมาก ถ้าไม่ถึงด้วยการได้ยินกับหู ก็มาถึงหูท่านด้วยกระแสร้อนแรงของรายการ


 


ด้วยเหตุนี้สรยุทธ สุทัศนะจินดา จึงเข้าสู่สถานะของการเป็นซุปเปอร์สตาร์มากกว่าที่จะเป็นเพียงคนข่าวธรรมดา


 


สูตร(ไม่)ลับความสำเร็จ


รายการเล่าข่าวไม่ใช่ของใหม่ เพราะโดยความเป็นจริงแล้วก็เป็นการเลียนแบบรายการคุยข่าวทางวิทยุที่โด่งดังในอดีต เพียงแต่อาจจะถึงใจกว่าเมื่อมีภาพให้เห็นและรัศมีความแรงของการส่งออกอากาศทางโทรทัศน์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ จากกระแสรายการคุยข่าวที่เป็นที่นิยมมาก จนเกิดเป็นรายการคุยข่าวเต็มจอทีวีไปหมด หากมองดูแล้วยังไม่มีรายการไหน หรือผู้ดำเนินรายการคนใดจะประสบความสำเร็จสูงเท่าสรยุทธ ถ้าเช่นนั้นอะไรคือสูตรความสำเร็จเฉพาะตัวของคนข่าวแห่ง พ.ศ.นี้


ในมุมมองของนักวิชาการสื่อสารมวลชนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.สุภาพร โพธิ์แก้ว มองว่า สภาพความเป็นคนนำเสนอข่าว คนเป็นข่าว และคนดูก็ถูกละลาย กลายเป็นเหมือนคนใกล้ชิด ในเชิงจิตวิทยามันทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นเรื่องของคนใกล้ตัว" นี่เป็นกลวิธีหนึ่งที่ทำให้คนดูข่าวแล้วรู้สึกไม่เครียด


 


สำหรับ "สรยุทธ" จุดเด่นที่ส่งให้เขากลายเป็น "เจ้าพ่อนักเล่าข่าว" อาจารย์สุภาพร บอกว่า "การเป็นนักอธิบายและทำให้เรื่องเข้าใจยากกลายเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย และช่วยผูกโยงหรือย้อนไปถึงที่มาของเรื่องได้ เพราะเขาเกาะติดข่าวมาตลอด นี่คือคุณค่าของรายการแบบนี้ ส่วนลีลาที่เป็นลูกเล่นของเขาเป็นเพียงตัวเคลือบเล็กน้อย ที่พรีเซ็นเตอร์คนอื่นมักนึกว่าเป็นจุดที่ทำให้เขาโดดเด่น"


 


คล้ายจะสอดคล้องกับสิ่งที่สรยุทธได้สะท้อนไว้ในครั้งที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชนไว้ว่า


"ผมว่าการเล่าข่าว วิเคราะห์ข่าว เป็นการสื่อสารข่าวที่เลือกประเด็นหรือหยิบประเด็นให้กับผู้ชมหรือผู้ฟัง ประเด็นข่าวที่เลือกมานั้นผมจะตัดสินใจเอง มองว่าประเด็นไหนน่าสนใจ ใช้วิธีคิดเหมือนผู้ชมว่า ควรจะอยากรู้เรื่องอะไร รู้กระแสข่าวใด"

เขายกตัวอย่างว่า อย่างรายการ "ถึงลูกถึงคน" บางครั้งประเด็นเล็กๆ ที่ชาวบ้านหรือผู้ชมทางบ้านติดต่อมาให้เราไปตรวจสอบ แม้ไม่ได้อยู่ในกระแส ก็สามารถขยายเป็นเรื่องใหญ่ได้ หากมีมูล มีบรรทัดฐานความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น มีประเด็นที่สังคมควรรู้เกิดขึ้น

อ.สุภาพร วิเคราะห์ต่อด้วยว่า ในแง่อุปนิสัยพื้นฐานของคนไทย "คนไทยไม่ค่อยชอบคุยเรื่องอะไรหนักๆ กลวิธีนำเสนอแบบคุยข่าวก็ช่วยลดความจริงจังของเนื้อหาข่าวได้ และสังคมไทยวันนี้ก็ยังไม่ใช่สังคมการอ่าน ฉะนั้นเมื่อมีคนเอาหนังสือพิมพ์มาอ่านให้ฟังก็ดูจะสอดรับกับลักษณะอุปนิสัยนี้"



สรยุทธคงจับจุดคนไทยได้เช่นเดียวกันนี้ ความผูกพันที่เขาจงใจสร้างให้เกิดขึ้นกับผู้ชมทั่วประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย ที่กลายมาเป็นคนสนใจข่าวมากขึ้น เพราะสรยุทธ เห็นอย่างที่หลายคนไม่เคยเห็นมาก่อน เขาเห็นว่า


 


"ข่าวมีสาระที่สนุกอยู่แล้ว ข่าวสนุกกว่าละคร"


 


"ทำข่าวให้เข้าใจง่าย เข้าใจง่ายก็น่าสนใจ เลือกสิ่งที่คนดูคาดว่าสนใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ผสมผสานกับสิ่งที่คนเป็นสื่อคิดว่าสำคัญ"


 


"ปีแรกเลือกเรืองที่เขาสนใจก่อน จนเขารู้สึกผูกพัน ไม่เครียด ไม่ได้หมายถึงความตึงเครียด เพราะบางทีความตึงเครียดก็เป็นความสนุก แต่ไม่เครียด คือไม่น่าเบื่อ"


 


"แล้วถ้าคนสนใจดูแล้วเราก็สามารถผลักดันเรื่องที่มันหนักให้คนเค้าสนใจได้"



ความสำเร็จมีราคาที่ต้องจ่าย


ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่สรยุทธก่อให้เกิดในสังคมไทย คือการที่คนหันมาสนใจข่าวสารมากขึ้น ชนิดเสพติดรายการ ชนิดเบียดเรตติ้งละครจนหนาวๆ ร้อนๆ กันไปทีเดียว แต่สิ่งที่น่าคิดต่อคือ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ช่วยให้เกิดการพัฒนาข่าว หรือกำลังทำให้เกิดเส้นแบ่งที่พร่าเลือนระหว่างข่าวกับบันเทิง ดร.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา ตั้งข้อสังเกตบางประการไว้ในบทความ "ที่เรียกว่า "ข่าว" ในโทรทัศน์" ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับวันที่ 10 พ.ย. 2548 ว่า


 


"ข้อที่น่าสังเกตก็คือ รายการคุยๆ เล่าๆ ข่าวอะไรแบบนี้จะวางตัวเป็นกลางๆ เน้นความสนุกสนานเป็นใหญ่ หากจะต่อว่าใครก็มักจะทำแบบทีเล่นทีจริง ตอดนิดตอดหน่อย จนกระทั่งคนดูโทรทัศน์อาจจะสับสนเหมือนกันว่า เรื่องที่ตนเองได้ยินเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ทั้งๆ ที่ข่าวส่วนมากมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคมได้จริงๆ แต่ก็จะถูกนำเสนอแบบเล่นๆ จนกระทั่งมีผลกับใครๆ ในลักษณะที่ชั่งน้ำหนักไม่ค่อยได้ว่า อะไรสำคัญหรือไม่สำคัญเพียงไหน และเพราะอะไร ทว่าคนดูโทรทัศน์ก็ดูจะชื่นชอบรายการแบบนี้ จนว่ากันว่าเงินโฆษณาเข้าสู่รายการข่าวโทรทัศน์มากขึ้นในระยะหลังๆ ก็เพราะรายการประเภทนี้


 


"นักข่าวหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าๆ ที่เห็นโลกมานานคงจะอดรู้สึกทึ่งกับความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้ ใครเลยจะนึกว่า ข่าวเป็นสิ่งที่เอามาขายกันแบบทีเล่นทีจริงได้ มิหนำซ้ำ คนขายข่าวแบบนี้ยังกลายเป็นคนดังถึงขนาดที่มีแฟนคลับมาคอยกรี๊ดให้อีกต่างหาก นี่แหละคือความมหัศจรรย์ของสื่อ "มวลชน" อย่างโทรทัศน์"


 


การท้วงถามทำนองนี้นับวันจะได้ยินหนาหูและบ่อยเข้าทุกที มนต์เสน่ห์ของเจ้าพ่อนักเล่าข่าวก็อาจเสื่อมได้ ตามกันมากับพ่อมดหน้าเหลี่ยม ถ้าเขายังไม่พลิกตัวเองไปสู่สิ่งที่เขาเคยบอกว่า "แล้วถ้าคนสนใจดูแล้วเราก็สามารถผลักดันเรื่องที่มันหนักให้คนเค้าสนใจได้"


 


แม้สรยุทธจะไม่เคยบอกว่าตนเองจะเป็น "ตะเกียง" ที่จะชี้นำส่องความสว่างให้สังคม แต่พึงใจเพียงบทบาทของตนเองไว้กับการเป็น "กระจก" ที่สะท้อนสังคม แต่หากกระจกอย่างสรยุทธจะเลือกสะท้อนเพียงบางภาพที่ถูกใจมวลชน ก็น่าเป็นห่วงว่ากระีจกนี้จะไม่ได้กำลังสะท้อนความจริงใดๆ ในสังคมมากไปกว่าภาพมายาที่หล่อเลี้ยงให้มวลชนหลงลืมความจริงบางด้านที่ต้องมอง


 


ความคาดหวังเหล่านี้กำลังเรียกร้องเอาจากความสำเร็จของเขา สรยุทธ สุทัศนะจินดา นักสื่อสารมวลชนผู้นำความคิดแห่งปี 2548


 



แหล่งข้อมูล


นิตยสาร Positioning ฉบับเดือน กันยายน 2548


และ www.google.co.th ขอบคุณสำหรับการช่วยค้นหาข้อมูลของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net