Skip to main content
sharethis



 


 


ในการเจราจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา รอบที่ 6 ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 9-13 ม.ค.นี้ที่ จ.เชียงใหม่ ประเด็นสำคัญที่ได้รับการจับตามองอย่างยิ่ง คือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งสหรัฐน่าจะเสนอข้อเรียกร้องต่อเรื่องนี้ในครั้งนี้ หลังจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีการพูดถึงประเด็นอ่อนไหวอย่าง "สิทธิบัตร" มาก่อนเลย


 


แม้แต่ "นิตย์ พิบูลสงคราม" หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐเอง ก็กล่าวยอมรับในเวทีสาธารณะ* ว่า รอบนี้สหรัฐเอาแน่! เพราะถือเป็นผลประโยชน์สำคัญยิ่งของสหรัฐ สำคัญขนาดที่การเจรจาเอฟทีเอทั้งหมดจะไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน หากเราหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยประเด็นนี้ตามข้อเสนอที่องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และนักวิชาการเรียกร้อง  


 


และนั่นหมายความว่า ไทยจะเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากหัวข้อเจรจาอื่นๆ เพราะการเจราจาเอฟทีเอกับสหรัฐนั้นเป็นแบบ ครอบคลุมเบ็ดเสร็จทุกประเด็น (COMPREHENSIVE) ซึ่ง "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกฯ ที่ดูแลเรื่องเอฟทีเอโดยตรงก็ย้ำกับคณะเจรจาว่า ให้ดูผลประโยชน์ในภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่ดูเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องใด รวมทั้งต้องให้ได้ประโยชน์เท่าเทียมกับสหรัฐมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้


 


นิตย์ มองว่า IPR เป็นประเด็นที่ถูกโจมตีมาก เพราะมักเป็นการมองจากจุดของผู้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นด้านหลัก แต่หากคำนึงในฐานะผู้ผลิตนวัตกรรมก็จะช่วยให้เข้าใจสหรัฐมากขึ้น นอกจากนี้ประเด็นนี้ยังเปิดโอกาสให้ไทยปรับมาตรฐานการคุ้มครอง IPR ให้ใกล้เคียงมาตรฐานสากล โดยไทยมีท่าทีที่จะหาจุดเหมาะสมให้นักลงทุนมั่นใจที่จะมาลงทุน ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ผูกขาดตลาดจนเกินไป


 


สิทธิบัตรยา


กล่าวเฉพาะเรื่องยา ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นกังวลอย่างมาก เนื่องจากการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยาตามที่สหรัฐเรียกร้องในเอฟทีเอที่ทำกับประเทศอื่นนั้น ชัดเจนว่าจะยิ่งเพิ่มอำนาจผูกขาดตลาดและกีดขวางอุปสรรคการเข้าถึงยาของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะโรคเอดส์และโรคเรื้อรังอื่นๆ


 


หัวหน้าคณะเจรจายืนยันหนักแน่นว่า จะต้องปกป้องการเข้าถึงยาของประชาชนให้ถึงที่สุด โดยที่ผ่านมาการที่สหรัฐยังไม่คุยเรื่องสำคัญนี้เสียที เพราะรู้ดีถึงท่าทีต่อต้านหนักหน่วงของภาคประชาชนไทย จึงขอขอบคุณภาคประชาชนมา ณ โอกาสนี้ด้วย


 


"เขารู้อยู่แก่ใจ คราวนี้คงเตรียมทีมมาเต็มที่ แต่เรื่องสิทธิบัตรยา ถ้าเรารับไม่ได้ก็คือรับไม่ได้ เราต้องยืนยันตามที่บอกมาตั้งแต่ต้น และยืนยันมาตลอด 5 รอบ หรือต้องหาทางออกร่วมกัน"


 


เขายังย้ำว่า ไทยมีท่าทีชัดเจนว่า เอฟทีเอต้องไม่กระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน และต้องเคารพปฏิญญาโดฮาที่อนุญาตให้รัฐใช้มาตรการที่จำเป็นในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เรื่องนี้เขามั่นใจถึงขนาดที่ระบุว่า สหรัฐเองก็ติดตามการเคลื่อนไหวภาคประชาชนใกล้ชิด ไม่แน่ว่า อาจมีการนำข้อมูลนี้ไปปรับปรุงทำให้เอฟทีเอที่ทำกับไทยแตกต่างจากที่ผ่านมาก็ได้ 


 


ส่วนในท่าทีเชิงรุกนั้น นิตย์ระบุว่า ไทยได้เสนอต่อสหรัฐเช่นกันให้มีการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อไม่ให้สหรัฐนำทรัพยากรของเราโดยเฉพาะทรัพยากรชีวภาพไปใช้พัฒนาธุรกิจ หรือหากจะนำไปใช้ก็ต้องมีการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ให้เรา รวมไปถึงการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วย


 


แรงงาน และ สิ่งแวดล้อม


ประเด็นนี้เป็นอีกเรื่องที่หัวหน้าคณะเจรจาระบุว่า หากไม่มีการเจรจาเรื่องนี้ ก็อาจถึงขั้นไม่มีเอฟทีเอทั้งหมดด้วย โดยสหรัฐกำหนดให้เรื่องนี้เป็นข้อบท (ประเด็นบังคับ) ที่ทำเอฟทีเอกับทุกประเทศ ในมุมมองของไทย นิตย์กล่าวว่า เรื่องนี้จะเสริมให้ไทยบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ลดหย่อนมาตรฐานเพียงเพื่อดึงดูดการลงทุนจากการเปิดการค้าเสรี ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว และผลประโยชน์จะตกอยู่กับลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานเป็นสำคัญ


 


ในกรณีที่เกิดการละเมิด หากบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ประสิทธิภาพอย่างซ้ำซาก สหรัฐเสนอให้มีกลไกเพื่อปรับปรุงการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างเขตการค้าเสรีอเมริกากลาง (CAFTA) นั้น กำหนดให้คู่ภาคีที่ล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายตัวเอง จัดสรรกองทุนไม่เกิน 1.5 ล้านเหรียญ มาพัฒนาปรับปรุงสภาพแรงงาน สิ่งแวดล้อมในประเทศตัวเอง ไม่ได้จ่ายเป็นค่าปรับให้สหรัฐด้วยซ้ำ


 


การเกษตร


เรื่องสินค้าเกษตรซึ่งเป็นประเด็นที่คณะเจรจาเน้นหนัก นอกจากจะมีเรื่องการลดภาษีรายการสินค้าต่างๆ ระหว่างกันแล้ว ยังมีประเด็นการอุดหนุนสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญแม้แต่ในเวทีพหุภาคีอย่างองค์การการค้าโลก (WTO) เองก็ตาม


 


นิตย์ กล่าวว่า ในส่วนของการอุดหนุนการส่งออก (EXPORT SUBSIDy) เป็นประเด็นที่คณะเจรจาตระหนักอย่างยิ่งยวด และจากการศึกษาเอฟทีเอที่สหรัฐทำกับชิลีและออสเตรเลีย ชัดเจนว่า สหรัฐจะยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรที่ขายในประเทศคู่เจรจา ยกเว้นจะมีการนำเข้าจากประเทศที่ 3 ขณะที่การอุดหนุนภายใน (domestic subsidy) นั้น หลายรายการที่สหรัฐอุดหนุนก็เป็นสิ่งที่ไทยต้องนำเข้าจำนวนมากอยู่แล้ว เช่น ถั่วเหลือง ไทยผลิตได้เพียง 2.5% ของความต้องการทั้งประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าจากสหรัฐถึง 1.5 ล้านตัน ส่วนฝ้ายต้องนำเข้าถึง 95%


 


ขณะที่เรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (RULES OF ORIGIN) นั้นต้องมีการเจรจาไปพร้อมๆ กับการลดภาษี เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่มั่นใจว่า ภาคเอกชนจะให้ความร่วมมือและคำปรึกษาอย่างใกล้ชิด


 


มาตรการสุขอนามัย (SPS) ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจัดตั้งกลไกแก้ปัญหาระหว่างกัน ส่วนเรื่องการเปิดตลาด (MARKET ACCESS) นั้น สหรัฐเสนอให้จัดเวิร์คชอปในการให้ความรู้เรื่องกฎระเบียบ กติกาภายในของสหรัฐ ทั้งกับหน่วยงานรัฐและเอกชน


 


การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ


เรื่องนี้เป็นอีกเรื่อง ที่หัวหน้าคณะเจรจาชี้ชวนให้ดูตัวเลขมหาศาล เพราะปีหนึ่งๆ สหรัฐเทงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากกว่า GDP ของประเทศไทยประมาณหนึ่งเท่าตัว หรือราว 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสหรัฐจะมีการพิจารณาแบ่งส่วนแบ่งนี้ให้เฉพาะกับประเทศที่มีการเจรจา


 


"มันเป็นสิ่งที่เขาไม่ให้กับคนอื่น ผมยังรับปากไม่ได้ว่าเราจะได้อะไร แต่ถ้าเราได้ส่วนแบ่งสัก 1 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าหนักหนาสาหัส เราจึงต้องพยายามอย่างยิ่งยวดให้ได้มา เวิร์คชอบต่างๆ จะทำให้ผู้ประกอบการของเรารู้รายละเอียดเรื่องพวกนี้มากขึ้น"


 


การบริการ และ การลงทุน


นิตย์ยอมรับว่า ภาคบริการของสหรัฐนั้นแข็งแกร่งกว่าไทยมาก และการเจรจาในเรื่องนี้ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้า แต่ฝ่ายไทยก็เห็นว่าการเจรจาควรเป็นแบบคลอบคลุมทุกประเด็น เรื่องนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งการบริการการเงิน โทรคมนาคม ฯ ด้วย


 


อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าไทยจะไม่มีศักยภาพในสาขาของการบริการเอาเสียเลย เช่น เรื่องสุขภาพ ความงาม การท่องเที่ยว เหล่านี้ก็ถือเป็นจุดแข็งของเรา


 


นอกจากนี้คณะเจรจายังตระหนักถึงผลกระทบ โดยเฉพาะในภาคบริการทางการเงิน ซึ่งสหรัฐไปไกลกว่าเราหลายขุม จึงได้มีการศึกษารายละเอียด และหารือกับนักวิชาการอย่างใกล้ชิด เพื่อหามาตรการชะลอการปฏิบัติตามพันธกรณีในบางเรื่อง จนกว่าเราจะมีความพร้อม


 


ง่ายๆ ก็คือ ยืนยันว่า เรื่องการเปิดเสรีทางการเงินจะต้องมีระยะเวลาปรับตัว (TRANSITION PERIOD) แต่จะเป็นเท่าใดนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ตอนนี้


 


ลอจิสติกส์ (การขนส่ง)


เรื่องนี้ทั้งฝ่ายตกลงจะหาแนวทางร่วมกัน คือ 1. พัฒนาหลักสูตรการศึกษาเรื่องลอจิสติกส์เพื่อปรับคุณภาพบุคลากร เพราะนโยบายรัฐขณะนี้ (2548-2552) ต้องการบุคลากรระดับสูงราว 30,000 คน 2.จะมีการจัดงาน LOGISTICS FAIR เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบของทั้งสองประเทศได้พบปะและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของไทย ซึ่งปัจจุบันสูงถึง 20% ของ GDP


 


การเตรียมความพร้อมของคณะเจรจา


รอบ 6 นี้มีการเตรียมความพร้อมในการหารือกับ 34 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชน นักวิชาการ แม้เศรษฐกิจของสหรัฐจะใหญ่กว่าไทย 100 เท่า แต่ก็ต้องเจรจาแบบ in good face โดยมีจุดหมายเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจในระยะยาว


 


อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดรัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ และหน้าที่ของคณะผู้เจรจาก็คือ เจรจาใน "กรอบ" ที่ประเทศจะได้ประโยชน์มากที่สุด และหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่แค่รักษาแต่ต้องเสริมสร้างด้วย


 


สิ่งสำคัญคือเรื่อง TRANSITION PERIOD สิ่งไหนที่เรายังไม่พร้อมก็ต้องให้เวลา จะไม่มีการทุบโต๊ะเรียกร้องให้ทำเวลานี้ เดี๋ยวนี้ หากสหรัฐยอมรับไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่าจะยอมแค่ไหน


 


ตัวเลขล่าสุด ในขณะนี้เรามีการเจรจาใน 22 กลุ่ม ยังมี 238 เรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ และในจำนวนนั้นมี 100 เรื่องที่ต้องยันกันไปจนถึงที่สุด และหากท้ายที่สุด รัฐบาลไม่เห็นด้วยในเชิงนโยบายก็คงตกลงกันไม่ได้ แต่หากรัฐบาลเห็นชอบ ถามว่ารัฐสภาจะมีบทบาทไหม มีแน่นอน หากเราต้องปรับปรุงแก้กฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณาเห็นประโยชน์เอง ไม่ใช่โดนบังคับ


 


เอฟทีเอจะเสร็จเมื่อไร


ในอดีตคณะเจรจายึดถือตามมติ ครม.ปี 2547 ที่ระบุว่า ไม่กำหนดระยะเวลาในการเจรจาเอฟทีเอ แต่ปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะตอนนี้มีหลายประเทศจ่อคิวเตรียมทำเอฟทีเอกับสหรัฐ โดยเฉพาะในภูมิภาคของเราเอง ดังนั้นจึงไม่อาจช้าได้ ต้องรีบตักตวงผลประโยชน์


 


ทั้งหมดเป็นเรื่องของโลกาภิวัตน์ เป็นความตกลงระหว่างประเทศ ที่คณะเจรจาจะทำหน้าที่รักษาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ประเทศให้มากที่สุด ขอให้วางใจเรา ซึ่งจะสะท้อนประโยชน์ไปสู่รากหญ้าด้วย เมื่อมีการลดภาษีสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก มีผลในการกระตุ้นการผลิต ซึ่งทำให้มีการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้คนรากหญ้าก็จะดีขึ้น  


 


 .......................................................


* สรุปความจากการนำเสนอข้อมูล "สถานภาพการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา" โดย นิตย์ พิบูลสงคราม ในงานประชุมเวทีนโยบายสาธารณะเรื่อง เอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา : ประโยชน์และผลกระทบ ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ วันที่ 6 มกราคม 2549


 


 


อ่านข่าวประกอบ


ครั้งแรก "ทูตนิตย์พบประชาชน" แจงปัญหาคาใจเอฟทีเอไทย-สหรัฐ


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=841&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 


 


คำชี้แจงการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ของนิตย์ พิบูลสงคราม


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=843&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net