อธิปไตยและพระราชอำนาจอัน FTA ละเมิดมิได้

"อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" มาตราที่ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540


 

เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา การประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่องเอฟทีเอไทยสหรัฐ ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อฟังเสียงจากหลายๆ ฝ่ายก่อนที่จะมีการเจรจาเอฟทีเอไทยกับสหรัฐ รอบที่ 6 ในวันที่ 9 มกราคม ที่จังหวัดเชียงใหม่

 

เวทีดังกล่าวมีการพูดคุยกันหลายประเด็น "อธิปไตย และพระราชอำนาจ" เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก

 

นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า "วิธีการที่ทำให้อำนาจอธิปไตยหมดไปคือการสร้างข้อตกลงระหว่างประเทศที่เหนือกว่ากฎหมายภายใน อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นสิ่งสูงสุด การใช้ต่างจาก CEO เพราะเป็นอำนาจของปวงชนทั้งประเทศ ที่ต้องเชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์กับประชาชน แต่การทำเอฟทีเอครั้งที่แล้วพระองค์ไม่มีส่วนรู้"

 

ประเด็นของนายเจริญก็คือ การใช้อำนาจอธิปไตยผ่านอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ของพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 3 หายไปไหนในการทำเอฟทีเอ เพราะมีหลายฝ่ายตีความว่า เป็นประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนทั้งเขตอำนาจรัฐและเกี่ยวข้องกับสัญญาระหว่างประเทศที่ผูกพันและกระทบคนในรัฐอย่างเป็นวงกว้างและผูกพันไปถึงรุ่นหลัง ซึ่งตรงนี้เข้าข่ายการละเมิดพระราชอำนาจทั้งตามมาตรา 3 ดังที่กล่าวมาและมาตรา 224 ที่ระบุว่า

 

"พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ

 

หนังสือหรือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา"

 

แต่รายละเอียดการเจรจาเอฟทีเอครั้งนี้สภากลับไม่ได้รับรู้เลยว่ามีการเจรจาอะไรกันบ้าง

 

รศ.พิชัยศักดิ์ หรยางกูร คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยากล่าวอธิบายเสริมว่า การทำเอฟทีเอก็คือการไม่เก็บภาษี ซึ่งก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐหรือเขตอำนาจของรัฐด้วย ตามรัฐธรรมนูญการเจรจาเอฟทีเอจึงต้องผ่านรัฐสภาเพื่อวางกรอบให้ประชาชนรับรู้เข้าใจตั้งแต่ต้นจนจบ "ไม่ใช่ไปแอบทำกันตามโรงแรม" ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ

 

เอฟทีเอกับ "อธิปไตย" ที่กำลังกลายเป็น "อธิปตาย"

"แต่ละประเทศมีความต่างในอำนาจอธิปไตยซึ่งจะสะท้อนอัตวินิจฉัยภายในประเทศ แต่เอฟทีเอเปลี่ยนหลักการนี้โดยสิ้นเชิงหลังการเซ็นข้อตกลง เพราะการพิจารณากฎหมายต่อไปต้องพกข้อตกลงในเอฟทีเอมามีส่วนในการพิจารณาด้วย ข้อผูกพันนี้ผูกพันทุกรัฐบาล บทเรียนสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่เราเคยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกว่าจะแก้ไขได้ก็ 100 กว่าปี แต่เอฟทีเอที่จะทำนี้ มีข้อผูกพันกว่า 300 ข้อ หากภายหลังเสียประโยชน์ กว่าจะแก้ไขได้คงต้องใช้เวลาแก้กัน 2000 ปี" นายเจริญกล่าว

 

ส่วน รศ.พิชัยศักดิ์กล่าวลึกลงไปในรายละเอียดประเด็นเรื่องความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจทางตุลาการ ซึ่งหลังจากการทำเอฟทีเอแล้ว กฎหมายภายในประเทศของไทยจะไม่มีผล หากมีการผิดข้อตกลงหรือมีการฉีกสัญญา จะต้องตั้งอนุญาโตตุลาการ 3 คนมาเจรจาภายใต้ความไม่เป็นกลาง เพราะตัวแทนฝ่ายไทยจะต้องเป็นคนที่สหรัฐฯยอมรับ โดยธรรมชาติแล้วเขาต้องไม่เลือกคนที่ทำให้เขาเสียประโยชน์

 

ในด้านเศรษฐกิจนั้น รศ.พิชัยศักดิ์ชี้ว่า การทำสัญญาเอฟทีเอคือการพ่ายแพ้เป็นครั้งที่ 3 ส่วนครั้งแรกคือการกดดันด้วยนโยบายเรือปืนในยุคล่าอาณานิคม ครั้งที่สอง ไทยเกรงกลัวการลุกลามแบบโดมิโนของลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้ต้องยอมทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ จนต้องไปร่วมรบในสงครามเกาหลี

 

นอกจากนี้ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม กล่าวถึงเจตนาของการทำเอฟทีเอว่า เป็นเพราะประเทศมหาอำนาจกำลังต้องการเข้าถึงทรัพยากรทางชีวภาพที่ประเทศไทยมีอย่างสมบูรณ์และหลากหลาย รวมทั้งต้องการต้องการภูมิปัญญาที่ควบคู่กับฐานทรัพยากรนั้น

 

"มหาอำนาจอยากใช้ไทยเป็นฐานในอนาคต เพราะพื้นที่โซนร้อนอย่างไทยมีความมั่งคั่งทางทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญา ในระยะยาวหากเซ็นสัญญาเราจะเสียประโยชน์ คือเสียทั้งทรัพยากรและภูมิปัญญาตอนนั้นก็หมายถึงสิ้นชาติ"

 

"เราคงจำเปล้าน้อยที่ญี่ปุ่นนำไปจดสิทธิบัตรยาในการรักษาโรคกระเพาะได้ ญี่ปุ่นอ่านและได้ความรู้ตรงนี้มาจากสมุดข่อยไทย ภายในไม่ถึง 10 ปีก็เอาความรู้ตรงนี้ไปตั้งโรงงานผลิตยาได้ ซึ่งหากคิดค้นเองจริงๆ อาจใช้เวลาเป็น 100  ปี เมื่อ 20 ปีก่อนก็เคยเห็นญี่ปุ่นมากว้านซื้อสมุดข่อยพวกนี้บอกว่าจะเอาไปอนุรักษ์ แต่พอได้มาทำงานกับชาวบ้านมากขึ้นทำให้รู้ว่าในนั้นมีคุณค่าอยู่มหาศาล"

 

นายเจริญยังกล่าวทิ้งท้ายในประเด็นพระราชอำนาจไว้อีกว่า การทำเอฟทีเอเป็นการเพาะเชื้อความรุนแรงที่ดึงพระมหากษัตริย์เข้าไปเกี่ยวข้องในอนาคต ซึ่งหากทรงเห็นว่าพสกนิกรของท่านเป็นอันตรายแล้วไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยสิ่งที่จะเกิดคือพระมหากษัตริย์ต้องกลายเป็นผู้เผชิญหน้าทั้งกับรัฐเอง กับกลุ่มทุนข้ามชาติ และกับอเมริกา

 

"เอฟทีเอเป็นกระบวนการทำให้เกษตรกรกลายเป็นอาชญากร ดังกรณีพันธุ์ข้าวบางชนิดจะตกอยู่ภายใต้สิทธิบัตรสหรัฐ เจ้าหน้าที่ไทยก็ต้องมาพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญาให้ต่างชาติ หากเกษตรกรปลูกข้าวก็โดนจับ หรือในกรณี GMOs หากยีนไปตกที่แปลงใดแปลงนั้นก็ต้องจ่ายให้เจ้าของลิขสิทธิ์ มิฉะนั้นก็ติดคุก ถ้าพระมหากษัตริย์เห็นว่าพสกนิกรเป็นอันตรายไม่ยอมลงพระปรมาภิไธยก็เท่ากับส่งพระมหากษัตริย์ไปเผชิญหน้ากับกลุ่มต่างๆ แต่รัฐหลบอยู่ข้างหลัง"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท