Skip to main content
sharethis



 


 


 









บทความใน "มุมคิดจากนักเรียนน้อย" เป็นแบบฝึกหัดที่นักศึกษาทำเพื่อส่งผู้บรรยายในวิชาระดับปริญญาตรีของ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


อยู่ได้อย่างเป็นสุข (ในใจ)


 


วริษา ลัคนาศิโรรัตน์


คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


เนื้อเรื่องดำเนินไปจนจบ ผมนั่งเอนตัวดูรายชื่อนักแสดงที่ปรากฏขึ้นบนหนังที่ค่อนข้างเก่า พลางคิดไปถึงเนื้อเรื่องเดิมทั้งหมดในหนังสือที่อ่านมาก่อนหน้านี้ หนังสือซีไรต์เล่มแรกของไทย ผีมือ คำพูน บุญทวี เรื่อง "ลูกอีสาน"


 


ถึงเนื้อเรื่องเนื้อความในภาพยนตร์และหนังสือจะแตกต่างกันบ้างด้านรายละเอียด แต่แก่นเรื่องยังคงชัดเจนไม่ผิดเพี้ยน คือการนำเสนอเกร็ดชีวิตของผู้เขียน สะท้อนความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ สังคม และประเพณีของชาวที่ราบสูงดินแดนอีสาน ผ่านตัวละคร เด็กน้อย "คูน" และพ่อ พร้อมทั้งการดำเนินชีวิตของชาวชุมชนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความแร้นแค้น ที่หล่อหลอม พวกเขาให้เป็น "ลูกอีสาน" อย่างแท้จริง


 


ประเด็นหนึ่งในเนื้อเรื่องที่สะกิดใจผมคือ การตั้งมั่น ไม่ยอมละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดของพ่อคูน ถึงแม้ว่าใครจะย้ายไปสู่ถิ่น "ดินดำน้ำชุ่ม" หรือถิ่นที่มีน้ำท่าไหลอุดมสมบูรณ์ พ่อของคูนก็ยังยึดมั่นจะอยู่และตายที่เดิม มีอะไรก็กินก็ใช้ ไม่มีจริงๆ ถึงจะไป...คำถามผุดขึ้นในใจผมคือ แล้วพวกเขาจะอยู่ได้อย่างไรกัน?


 


เดิมทีคำถามคล้ายๆ กันนี้ผมเคยถามกับพ่อ ครั้งยังอยู่ที่บ้านเกิดต่างจังหวัดและยังเป็นเด็กน้อย "พ่อๆทำไมเราไม่ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯล่ะ ที่นั่นออกจะมีอะไรมากมาย อยู่ที่นี่น่าเบื่อ ไม่เห็นจะมีอะไรเลย" พ่อยิ้มแล้วหันมาตอบผมว่า "อยู่ที่ไหนก็ไม่สบายใจเท่าบ้านเรา ถึงจะไม่มีอะไร แต่เราก็ยังสบายใจ น้ำท่าอาหารใช้สอยอย่างแบ่งปัน คนก็ไม่แข่งขัน" ได้ฟังคำตอบพร้อมรอยยิ้มจากใบหน้าพ่อ


 


ผมไม่เข้าใจหรอกว่าเพราะเหตุใดพ่อจึงยังมีความสุขได้ บนถิ่นฐานบ้านเกิดทั้งที่ผมคิดว่ามันไม่มีอะไรเลย


 


.....คำถามนี้ย้อนกลับมาให้ผมทบทวนอีกครั้งเมื่อได้สัมผัสกับเรื่อง "ลูกอีสาน" และคราวนี้ผมก็ได้คำตอบ.....


 


ถึงแม้ว่า "ลูกอีสาน" จะต้องดิ้นรนต่อสู้กับความแร้นแค้น และความเจ้าอารมณ์ของดินฟ้าอากาศ ต้องกินทุกอย่างตามที่มีกิน ใช้ทุกอย่างตามที่มีใช้ ต้องอดออมข้าวยาอาหารที่หามาได้อย่างยากลำบาก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพบได้ตลอดการเดินทางของเรื่องคือ "ความสุข" ความสุขที่ลูกอีสานทุกคนมีมาโดยตลอด


 


ความสุขที่ได้จากการแบ่งปัน เช่น การแลกข้าวของซึ่งกันและกัน ไม่ได้วัดเป็นมูลค่า เพียงแค่ว่าแลกกันกินกันใช้ ความสุขที่ได้จากการช่วยเหลือเกื้อกูล เช่น การช่วยกันหาอาหาร ช่วยเรื่องงานบุญ งานแต่ง ซึ่งถือว่าเป็นงานที่มีส่วนร่วมของทุกคน ความสุขที่จะให้ความรักและความสัมพันธ์ ทุกคนในชุมชนรู้จักกัน สังเกตจากการเรียกชื่อคนที่มีลูกแล้ว จะเรียกว่าเป็นพ่อ แม่ใคร แทนการเรียกชื่อ เช่น "พ่อบักคูน" เป็นต้น แม้แต่การแต่งงาน ถ้ารักกันชอบกัน ก็ไม่ต้องมีสินสอด เงินทองมากมายมาสู่ขอ แค่ยกมาเพียงเล็กน้อยพอเป็นพิธีให้ผีปู่ผีย่า ดังคำที่พ่อของคูนบอกคูนว่า "การเป็นผัวเป็นเมียกันเขาเป็นกันด้วยน้ำใจ"


 


และความสุขประการสำคัญที่ผมคิดว่าหล่อเลี้ยงชีวิต "ลูกอีสาน" ให้มีแรงสู้ต่อไปคือ ความสุขจากการเคารพธรรมชาติ และใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล


 


เคารพสิ่งที่พวกเขาใช้อยู่ใช้กิน ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ และไม่เคยถือโทษธรรมชาติ ที่ทำให้สภาพความเป็นอยู่ลำบาก นอกจากนี้ยังขอบคุณธรรมชาติที่ให้พวกเขาสามารถพอเลี้ยงชีพได้ ไม่อดตาย ถึงแม้จะไม่สบายนักก็ตาม


 


อาจเป็นเพราะสิ่งนี้ที่ทำให้ถิ่นอีสาน มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น ประเพณีแห่นางแมวขอฝน การทำบุญบั้งไฟ ที่พยายามติดต่อกับพญาฟ้าพญาแถน เทวดาที่จะดลบันดาลฝนที่ชุ่มชื้นแก่พวกเขาอีกสักครั้ง... แม้ไม่รู้ว่าจะสมหวังหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็ยังรอ


 


รอด้วยใจที่เคารพ และไม่คิดหาวิธีเอาชนะ เมื่อไม่คิดที่จะเอาชนะ ก็ไม่เกิดการแข่งขัน ที่จะต้องแข่งขันกับธรรมชาติ แข่งขันกับผู้อื่น ความสุขจึงบังเกิดตามมา เลี้ยงดูคำว่า "แข่งขัน" ให้อ้วนขึ้นจนขยายฐานให้ ข.ไข่ ตัวแรกเติบใหญ่จนเป็น บ.ใบไม้ และ หล่อเลี้ยง ข.ไข่อีกตัวให้เติบโตแตกยอดเป็น ป.ปลา รวมๆแล้วเรียกว่า การ "แบ่งปัน" นั่นเอง


 


...เวลานั้นพ่อคงพยายามให้ผมเรียนรู้ความสุขในถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยตัวเอง แต่อาจเพราะยังเป็นเด็ก และความสุขเหล่านี้ยังใกล้ตัวมากจนผมลืมสังเกตไป ถึงแม้ว่าบ้านเกิดของผมจะต่างกับเรื่องลูกอีสานทั้ง วาระ เวลา และสถานที่ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ความสุขจากความรักและเคารพถิ่นฐาน ธรรมชาติ รวมถึง การ "แบ่งปัน" ที่ยังอ้วนพีอยู่


 


ขณะนี้ผมอยู่ในเมืองหลวง แหล่งที่ผมคิดว่าเป็น "แหล่งดินดำน้ำชุ่ม" ในวัยเยาว์ ต้องดิ้นรนและต่อสู้เพื่อความอยู่รอดเช่นกัน แต่เป็นความอยู่รอดของ "ตัวเอง" มากขึ้น คิดถึงคนอื่นน้อยลงบ้างบางเวลา อยู่ในสังคมที่เห็นธรรมชาติเป็นเหมืองผลประโยชน์มากกว่าการเกื้อกูลแบบเดิม ทั้งน้ำทั้งไฟ ใช้กันไปอย่างบ้าคลั่ง ต้นไม้ก็เป็นแค่ที่นั่งพักและให้ออกซิเจน และเมื่อถึงคราวไม่ได้อย่างใจ มีใช้อย่างไม่สะดวก ก็กลายเป็นเรื่องลำบากเหลือคณา... แม้แต่ฝนตกลงมายังมีบางคนบ่นด่าว่า ต้องทำให้รถติดอีกแน่นอน.....วุ่นวายจริงๆ


 


ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าบ้านผมมีอะไรที่ผมต้องการเยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะความสุขแบบเดิมที่เคยสัมผัสที่ผมต้องการอย่างยิ่งในเวลานี้ แต่ในเมื่อต้อง "ทน"อยู่ต่อไป


 


ผมก็ขอแค่ว่า เจ้าตัว "แบ่งปัน"ของผมคงจะไม่ซูบผอม ถึงแม้ว่าตอนนี้มันจะโดนบีบให้ไดเอทอยู่บ้างก็ตาม


 


 
















 บทความทั้งหมด
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : กฎอัยการศึกฉบับป่าชุมชน
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย:น้อมรับพระราชดำรัส พูดง่ายแต่ทำยาก
 มุมคิดจากนักเรียนน้อย : แก้มลิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net