Skip to main content
sharethis

"ชีวิตคนไทยหรือผลประโยชน์มหาศาลของบรรษัทยาข้ามชาติสหรัฐฯ"


ภายใต้ข้อตกลงการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ



วันพุธที่ 11 มกราคม 2549


 


ในการเจรจาข้อตกลงการค้าหรือเอฟทีเอระหว่างไทยและสหรัฐฯรอบที่หก ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมเชอราตัน เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 9 - 13 มกราคม 2549 นั้น มีหัวข้อสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของคนไทยในการเข้าถึงยา ซึ่งสหรัฐฯเป็นฝ่ายต้นเรื่อง คือ เรื่อง สิทธิบัตรยา สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต  ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญ สหรัฐฯได้ผิดสัญญาที่ว่าจะส่งเนื้อหาเรียกร้องเพื่อให้ทีมเจรจาของไทยได้มีเวลาพิจารณาและทำความเข้าใจล่วงหน้าให้ในวันที่ 4 มกราคม 2549 ก่อนที่จะเริ่มการประชุมในวันพุธที่ 11 มกราคม นี้ แต่สหรัฐฯกลับใช้อุบายจัดส่งให้ในห้องประชุมเลย เพื่อไม่ให้ฝ่ายไทยตั้งตัวทัน


 


แม้ว่าก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีไทยเคยกล่าวไว้ว่าการเจรจาไม่มีกรอบเวลา จะเจรจาจนทุกฝ่ายพอใจ เป็นชัยชนะของทั้งสองฝ่ายแล้วจึงลงนาม แต่ขณะนี้ นายกรัฐมนตรีคนเดียวกันนี้กลับป่าวประกาศและสำทับซ้ำว่า การเจรจาผ่านมาห้ารอบแล้วยังไม่มีความคืบหน้าจำเป็นต้องรีบจบภายในเดือนเมษายนปีนี้ ซึ่งเป็นเงื่อนเวลาที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดไว้แล้ว


 


นอกจากนี้ นักวิชาการ วุฒิสภา กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ รวมทั้งกลุ่มศึกษาปัญหายา และเครือข่ายประชาสังคมไทยที่ติดตามศึกษาข้อมูลเรื่องเอฟทีเอตั้งแต่รอบแรกของการเจรจา มีการทวงถามและเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลการเจรจาตั้งต้นมาตลอด และได้รับคำตอบว่าเรื่องสิทธิบัตรยายังไม่มีการเรียกร้องจากฝ่ายสหรัฐ ฯ เมื่อขณะนี้สหรัฐฯ ได้กำหนดเป็นหัวข้อการเจรจาในรอบนี้และต้องการจบโดยเร็ว รัฐบาลไทยกลับสนองตอบโดยฉับพลัน เช่นนี้ทำให้เข้าใจได้ว่าชีวิตและสุขภาพของคนไทยมิได้อยู่ในการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาล แม้ว่านายกทักษิณให้คำพูดไว้ว่าเรื่องสิทธิบัตรยาเป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นวาทะที่ไม่มั่นใจได้นัก


 


จากการศึกษาโดยทีมงานกลุ่มศึกษาปัญหายา ในด้านผลกระทบที่เกิดจากข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ จากการทำเอฟทีเอของสหรัฐฯกับประเทศต่างๆ เช่น จอร์แดน สิงคโปร์ มอรอกโก ออสเตรเลีย และบาร์เรน เป็นต้น พบว่าถ้าไทยรีบร้อนและยอมทำตามคำสั่งหรือเรียกร้องซึ่งมักเป็นข้อเรียกร้องที่มากกว่าข้อตกลงในองค์การการค้าโลก หรือที่เรียกกันว่า "ทริปส์พลัส"  จะส่งผลทำให้ราคายาแพงจนคนไทยเข้าไม่ถึงยา และอุตสาหกรรมยาในประเทศถูกดองไม่ให้มีโอกาสในการพัฒนาเลย ดังนั้น กลุ่มศึกษาปัญหายา จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ดังนี้


 


1.       เปิดเผยรายละเอียดข้อเรียกร้องของสหรัฐฯทุกเรื่อง เพื่อประเมินผลประโยชน์และผลเสียต่อระบบสาธารณสุขไทย


2.       ข้อเรียกร้องที่ยอมไม่ได้เกี่ยวกับสิทธิบัตร คือ


·         ขยายอายุการผูกขาดตลาดยายาวนานขึ้นกว่าข้อตกลงพหุภาคีทริปส์ โดยสหรัฐฯ กำหนดขยายอายุสิทธิบัตร จาก 20 ปี เป็น 25 ปี


·         ขอผูกขาดตลาดยารูปแบบใหม่ด้วยการผูกขาดข้อมูลผลทดสอบเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์ (Data exclusivity) 5 ปี


·         จำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิและการนำเข้าซ้อน มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการผูกขาดตลาดจากระบบสิทธิบัตรยาที่ระบุในข้อตกลงทริปส์และการสาธารณสุข


·         การให้สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์


3. ข้อเรียกร้องที่ยอมไม่ได้ ที่ห้าม อย. รับขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญทางยาของยาที่ติดสิทธิบัตร


 


กลุ่มศึกษาปัญหายา  (กศย.)


Drug  Study  Group (DSG)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net