Skip to main content
sharethis

ประชาไท—12 ม.ค. 2549 ผู้แทนการเจรจาเอฟทีเอฝ่ายสหรัฐรับฟังข้อมูลจาก ส.ส. และ ส.ว. ณ ห้องรับรองพิเศษอาคารวุฒิสภา วานนี้ (11 ม.ค.) ขณะที่นายไกรศักดิ์ ชุณหวัณ จวกผู้นำรัฐบาล "แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด"


 


"ทางเราได้เริ่มต้นด้วยการขอบคุณที่ทางสหรัฐฯ ได้ให้เกียรติต่อรัฐสภา ทุกคนที่เป็นตัวแทนสหรัฐฯที่เกี่ยวข้องให้เกียรติ สะท้อนความแตกต่างอย่างชัดเจนกับนายกรัฐมนตรีไทย ที่ยืนยันว่าเรื่อง FTA ไม่ต้องผ่านสภา และพูดในทำนองว่าไม่รู้เพียงพอ แต่ทุกคนในวันนี้แสดงความเห็นและรู้ชัดแม้แต่ในบทเรียนของประเทศอื่นๆที่ทำ FTA กับสหรัฐฯ เช่น ชิลี สิงคโปร์ แม็กซิโก ที่มีผลกระทบไปแล้วต่อคนจน แรงงาน เกษตรกรและสาธารณะสุข" นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศวุฒิสภา กล่าวเปิดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังการพูดคุยกับทางสหรัฐ โดยทางสหรัฐขอไม่ให้มีสื่อมวลชนอยู่ในห้อง


 


เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 11 ม.ค.  Ralph L. Boyce เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  Barbara Weisel ผู้นำทีมเจรจา FTA ฝ่ายสหรัฐฯ Michael Delarey ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ Susan Sutton ที่ปรึกษาทางการเมือง ได้เข้าร่วมฟังข้อมูลและข้อกังวลของไทยนอกเหนือจากที่รัฐบาลเสนอจากส.ส. และส.ว. ซึ่งประกอบไปด้วย นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศวุฒิสภา นายจอน อึ๊งภากรณ์ สว.กรุงเทพฯ คุณหญิงชดช้อย โสภณพณิช สว.กรุงเทพฯ นางมาลีรัตน์ แก้วก่า สว.สกลนคร นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สว.อุบลราชธานี  พญ.มาลีนี สุขเวชชวรกิจ ส.ว.นครสวรรค์ นายวิญญู อุฬารกุล สว.สกลนคร นายบัณฑูร เศรษฐศิโรฒม์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา


 


นายกรณ์ จาติกวนิช สส.ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ นพ.บูรณัชย์ สมุทรักษ์ สส.ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์  นายเกียรติ สิทธิอมร สส.ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์  คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช สส.ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ นายยุทธนา โพธสุธน สส.ฝ่ายค้านพรรคชาติไทย


 


หลังการพูดคุยผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมงการแลกเปลี่ยนความเห็นก็จบลง ผู้สื่อข่าวจึงเข้าไปสัมภาษณ์ท่าทีของสหรัฐกับนาย Ralph L. Boyce  ได้ความว่า การเข้ามาฟังข้อมูลในครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์กับทางสหรัฐมาก เมื่อถามว่าการประท้วงของที่เชียงใหม่นั้นจะสร้างความกดดันในการเจรจาหรือไม่ เอกอัครราชทูตสหรัฐตอบว่าไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ต้องไปถามผู้แทนในการเจรจา


 


ส่วนหนังสือที่กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการทำ FTA นำยื่นต่อสถานทูตสหรัฐเมื่อวานนี้อยู่บนโต๊ะทำงานแล้ว และยืนยันว่าหนังสือดังกล่าวจะถึงวอชิงตันดีซีแน่นนอน


 


จากนั้นตัวแทน สส.ฝ่ายค้าน และ สว. จึงเปิดแถลงผลการแลกเปลี่ยนความเห็นในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วย นายไกรศักดิ์ ระบุว่า ได้ชี้แจงให้ทางสหรัฐทราบว่าการทำ FTA เป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญของรัฐไทยมาตราที่ 224 เพราะการตัดสินใจทำ FTA ต้องผ่านสภาเนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อคนไทยทั้งเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่รัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตามนั้น


 


นายไกรศักดิ์บอกว่าได้ยืนยันท่าทีให้สหรัฐทราบด้วยว่าการทำ FTA แบบนี้ไม่ใช่การเจรจา เพราะทางสหรัฐมีกรอบความต้องการชัดเจนตามกฎหมาย ซึ่งต้องทำตามทุกกระเบียดนิ้ว การตกลงจึงอยู่บนพื้นฐานว่าต้องสอดคล้องตามกฎหมายสหรัฐทุกฉบับ ทำให้ไทยไม่มีสิทธิต่อรองได้ FTA จึงไม่มีความยุติธรรม


 


นายเกียรติ  สส.ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันท่าทีของพรรคว่าไม่เห็นด้วยกับการทำ FTA กับสหรัฐ ณ วันนี้ รัฐบาลไทยต้องปรับกระบวนการก่อนทำ FTA ใหม่ เนื่องจากมีความไม่น่าไว้ใจหลายอย่าง โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิบัตรยาที่สหรัฐฯยืนยันว่าราคาจะไม่สูงขึ้นต้องให้ทำสัญญาชัดเจนคือไม่ว่าจะตีความในมุมไหนหลังเซ็น FTA แล้วราคายาจะไม่สูงขึ้นเด็ดขาด  แต่ทางสหรัฐก็ตอบแบบอ้อมแอ้มในประเด็นนี้และตอบเลี่ยงว่าคงไม่จำเป็นถึงขั้นนั้น


 


"พูดอย่างไรเราก็ไม่เชื่อ เราไม่ไว้ใจในตัวอักษร" นายเกียรติกล่าว พร้อมยกบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ที่ทำ FTA กับสหรัฐไปแล้วว่า ราคายาสูงขึ้น ในบางรายการสูงถึง 25 เท่า หากไทยทำ FTA จะมียาประมาณ  43 รายการที่ราคาสูงขึ้น รวมแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท คิดเป็น 104.3 เปอร์เซ็นต์


 


ด้านนายจอน สว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า ได้เข้าไปร่วมการชุมนุมประท้วงที่เชียงใหม่ตั้งแต่วันแรก มีผู้มาชุมนุมกว่า 10,000 คน  กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ติดเชื้อ HIV อนาคตของพวกเขาขึ้นกับการเจรจานี้ เพราะไทยมีระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้แล้วทำให้ทุกคนเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ ชีวิตพวกเขายาวขึ้น พวกเขาคิดถึงอนาคตได้ คิดถึงการแต่งงานการมีครอบครัวได้ คิดถึงวันข้างหน้าได้ ตอนนี้ยาต้านไวรัสที่พวกเขาใช้มีราคาไม่แพง องค์การเภสัชกรรมผลิตได้ แต่ต่อไปพวกเขาจะดื้อยา ซึ่งยาที่ต้องใช้ในขั้นที่สูงกว่าตอนนี้สหรัฐฯคุ้มครองไว้ และรียกร้องการคุ้มครองจากประเทศอื่น พวกเขาจะไม่สามารถเข้าถึงยาได้


 


"ต้องการให้สหรัฐฯ ถอนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาออกจากการเจรจา FTA เพราะจะมีความครอบคลุมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย Barbara บอกการเจรจาสามารถยืดหยุ่นได้ เหมือนที่ นายกฯบอกว่าไม่เปิดเสรีโทรคมนาคมขณะนี้ ทำไมจึงไม่บอกให้ชัดว่ารัฐไทยไม่เจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าไม่ชัดภาคประชาชนจะต่อต้านถึงที่สุด เรื่องนี้กระทบต่อผู้ป่วยเรื้อรังทุกโรคด้วย หวังว่ารัฐไทยจะไม่นำชีวิตของคนไทยไปแลกกับประโยชน์ทางการค้าบางอย่าง" นายจอนกล่าว


 


นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้คนไทยจับตาดูในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ เรื่องของยาและโทรคมนาคม สิ่งที่เป็นห่วง ไม่ได้ห่วงในความไม่รู้ของสภาสูงและสภาล่างตามที่นายกฯอ้าง แต่เป็นห่วงความแกล้งโง่ลักษณะของสัญญาที่เซ็นไปในอดีต เป็นประเด็นต่อรองที่นายกฯกล่าวว่า ต้องมีให้ ต้องมีรับ เรายอมรับไม่ได้ถ้าจะไม่ให้การคุ้มครองยาราคาถูกแต่แลกเปลี่ยนกับการไม่เปิดและจำกัดข้อตกลงโทรคมนาคม อยากให้จับตาดูว่าสิ่งที่เราห่วงใยตรงนี้จะเกิดขึ้น
       


เมื่อมีการถามว่า ตัวแทนการเจรจาจากสหรัฐฯมีท่าทีอย่างไรกับการที่ประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้านการทำ FTA นายไกรศักดิ์ ตอบว่า ทางสหรัฐฯเห็นว่าเป็นเรื่องดีสำหรับสังคมที่มีสิทธิเสรีภาพ เพราะสายตาประชาชนบอกว่าไม่โปร่งใส คุกคาม ริดรอนสิทธิ


 


ส่วนนายวิญญู สว.สกลนคร กล่าวว่าหากพูดถึงความโปร่งใสทางสหรัฐฯเปิดเผยต่อประชาชนในประเทศ แต่การที่ประเทศไทยไม่เปิดเผยนั้นเป็นเรื่องภายในของไทยเอง


 


"เขาบอกว่าทางสหรัฐฯก่อนทำ FTA เขามีกระบวนการฟังความเห็นของประชาชนของเขา เหตุการณ์ประท้วงที่เชียงใหม่อาจเป็นเพราะไทยไม่มีกระบวนการเหล่านี้ จึงมีการประท้วงเรียกร้องให้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางกว่านี้" นพ.บุรณัชย์ กล่าวเสริม


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net