คำประกาศขบวนการเสรีไทย ๒๕๔๙

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในกระบวนการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐนั้น ทางรัฐบาลไทยได้แสดงความกระตือรือร้นที่จะดำเนินการต่อไป โดยไม่รับฟังข้อคิดของประชาชน การดำเนินการที่เกิดขึ้นมีปัญหาที่สำคัญใน 2 ด้าน

 

ประการแรก ด้านกระบวนการ รัฐบาลได้ดำเนินการในการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐด้วยท่าทีที่ลุกลี้ลุกลน ขาดความโปร่งใส ไม่มีการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และที่สำคัญเป็นการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2540 มาตรา 224 วรรค ซึ่งกำหนดว่าหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลง "เขตอำนาจรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นการเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา"

บทบัญญัติในมาตรานี้มีจุดมุ่งหมายก็เพื่อทำให้การตัดสินใจในระดับระหว่างประเทศ ที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางได้รับการพิจารณาและตัดสินจากตัวแทนของประชาชน เพื่อให้เกิดการหาข้อสรุปที่รอบด้านมากที่สุด บทบัญญัตินี้จึงการพยายามแสวงหาความรู้และมุมมองให้ได้มากที่สุดก่อนดำเนินการใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของชาติ

 

ซึ่งในการทำเอฟทีเอนั้น มีหลายประเด็นหากมีการลงนามในข้อตกลงแล้วต้องมีการเสนอร่างกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมายต่อรัฐสภา เช่น การขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร แต่รัฐบาลก็ไม่ได้แสดงเจตนาที่จะนำข้อตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาแต่อย่างใด การกระทำเช่นนี้จึงเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนและจงใจ

 

ไม่เพียงปฏิเสธอำนาจของรัฐสภา รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการจัดทำข้อตกลงเอฟทีเอ ยังไม่เคยเปิดเผยหรือให้คำชี้แจงต่อสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมาสักครั้งเดียว ถึงผลกระทบที่จะบังเกิดขึ้นกับสังคมไทย รวมถึงมาตรการในการลดทอนผลกระทบหรือทางเลือกอื่น แต่ทำราวกับว่าต้องมีการทำข้อตกลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และเมื่อเกิดผลกระทบก็ปล่อยประชาชนต้องเผชิญกับชะตากรรมและความหายนะจากการเจรจาเอฟทีเอด้วยตนเอง ดังที่เกษตรกรผู้ปลูกหอม กระเทียม และพืชผักผลไม้เมืองหนาวในภาคเหนือได้เผชิญมา

 

แม้ในบางเรื่องที่แม้จะไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 224 ซึ่งต้องนำมาสู่การพิจารณาของรัฐสภา ดังการลดภาษีทางการค้าระหว่างกัน แต่หากรัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบและคำนึงถึงชีวิตของคนยากคนจนดังที่มักพร่ำบอกอยู่ตลอดเวลา ก็สามารถที่จะใช้กระบวนการทางรัฐสภาและช่องทางอื่นๆ ในการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบได้

 

แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลนายทุน นักการเมืองเทวดาแต่อย่างใด

 

ประการที่สอง ด้านเนื้อหา การจัดทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐได้ก่อให้เกิดผลดีและผลเสีย หากพิจารณาจากประสบการณ์ที่รัฐบาลไทยได้จัดทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ มาก่อน เช่น ออสเตรเลีย จีน นิวซีแลนด์ จะพบว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการทำข้อตกลงจะเป็นกลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่ของไทย ดังนี้ กลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มธุรกิจดาวเทียมและโทรคมนาคม บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตร กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มบุคคลที่ได้รับประโยชน์ล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีอำนาจทางการเมืองแทบทั้งสิ้น

ขณะที่กลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจะเป็นคนเล็กคนน้อยของสังคม เช่น เกษตรกรปลูกหอม กระเทียม พืชผักผลไม้เมืองหนาว เกษตรกรที่เลี้ยงโคนม โคเนื้อ เกษตรกรที่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ต่างประเทศ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

จะเห็นว่าการดำเนินนโยบายในลักษณะเช่นนี้คือ การนำเอาประชาชนระดับล่างของสังคมไปเซ่นสังเวยเพื่อแลกกับความร่ำรวยของกลุ่มนายทุนนักการเมืองที่ยึดครองอำนาจอยู่ การดำเนินการที่เกิดขึ้นจึงไม่แตกต่างไปจากข้อกล่าวหาที่มีกับนักการเมือง ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการตัดสินใจนโยบายเรื่องต่างๆ ที่มีมักมีคนของรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ แต่สำหรับการจัดทำ เอฟทีเอถือเป็น "อภิมหาการโกงกินเชิงนโยบาย" ซึ่งมีความเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะเป็นการหาประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้องบนความหายนะของคนยากคนจน

 

(เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะที่เร่งรัดให้มีการเปิดเสรีด้านต่างๆ ในการเจรจากับสหรัฐ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง แต่สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมกลับไม่มีการกล่าวถึงแต่อย่างใด ทั้งที่สถาบันทางวิชาการหลายแห่งสนับสนุนให้มีการเปิดเสรีขึ้น ก็ชัดเจนว่ามีนักการเมืองคนใดบ้างจะได้รับผลกระทบหากมีการเปิดเสรี ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยแม้แต่น้อยว่า เหตุใดนายกรัฐมนตรีของไทยจึงยืนยันว่าไม่มีการเปิดเสรีธุรกิจด้านนี้ โดยไม่ได้ชี้แจงถึงเหตุผลแม้แต่น้อย)

 

จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดการดำเนินการของรัฐบาลจึงเป็นไปอย่างลับๆ ล่อๆ ไม่กล้าเผชิญหน้ากับคำถามของสาธารณชนราวกับกำลังกระทำความผิด เพราะมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนในสังคมเป็นหลักของการจัดทำ

 

สภาวะเช่นนี้จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นรัฐบาลของนายทุน โดยนายทุน และเพื่อนายทุน

 

ด้วยการดำเนินนโยบายที่มุ่งประโยชน์ตนและพวกพ้องเป็นหลัก จึงไม่สามารถยอมรับให้รัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ถือเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของประชาชนได้ ถึงแม้จะมีการลงนามในข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐเกิดขึ้น ก็ไม่อาจที่จะนับว่าข้อตกลงนี้เกิดขึ้นด้วยความเห็นชอบของประชาชน

 

ขบวนการเสรีไทย 2549 คือ ข้อเสนอให้ตัดความสัมพันธ์และไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลในการแสดงบทบาทเป็นตัวแทนของประชาชน รวมทั้งตอบโต้ต่อกลุ่มนายทุนนักการเมืองที่ใช้ระบบการเมืองแสวงหาประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้อง ด้วยมาตรการดังนี้

 

หนึ่ง ร่วมกันลงนามเพื่อปฏิเสธสถานะการเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของรัฐบาลไทยในการทำข้อตกลงกับสหรัฐ เช่นเดียวกับที่ขบวนการเสรีไทยเคยปฏิเสธการประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรของรัฐบาลไทยที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และหากมีการลงนามเกิดขึ้น ประชาชนไทยก็จะไม่ยอมรับผลผูกพันในข้อตกลงดังกล่าว โดยสามารถเข้าร่วมลงชื่อขบวนการเสรีไทย 2549 ได้ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org

สอง ตอบโต้กับกลุ่มนายทุนนักการเมืองที่แสวงหาประโยชน์จากการทำข้อตกลงเอฟทีเอ ด้วยการเลิกซื้อหรือใช้บริการของกลุ่มทุน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มทุน ดังนี้ กลุ่มทุนโทรศัพท์มือถือดาวเทียม กลุ่มทุนอุตสาหกรรมเกษตร กลุ่มทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ กลุ่มทุนสัมปทานโทรทัศน์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ศุกร์ 13 มกราคม 2549

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท