Skip to main content
sharethis


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 มกราคม 2548 ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี คณะทำงานประสานชุมชนเพื่อสนับสนุนภารกิจประธานคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปบทเรียนบทบาทสถาบันปอเนาะและเครือข่ายอาสาสมัครฟื้นฟูและเยียวยากับการบริการชุมชน มีผู้เข้าร่วม 280 คน ประกอบด้วย โต๊ะครู ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และอาสาสมัครฟื้นฟูและเยียวยาชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะทำงานประสานชุมชนฯ กล่าวในที่ประชุมว่า ประชุมครั้งนี้เป็นการซักซ้อมการทำงานของปอเนาะและอาสาสมัคร ตามโครงการโครงการส่งเสริมบทบาทปอเนาะและอาสาสมัครเพื่อการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีระยะเวลาทำงานอีก 10 เดือน โดยจะสิ้นสุดเดือนกันยายน 2549 โดยมีกลไกการทำงานได้แก่ คณะกรรมการและคณะทำงานบริหารโครงการ ศูนย์ประสานงานการเยียวยาชุมชน มี 4 แห่ง ได้แก่ที่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และที่กรุงเทพมหานคร เครือข่ายฟื้นฟูเยียวยาชุมชน 3 จังหวัด มีจำนวน 10 เครือข่าย ได้แก่ที่ปัตตานี 3 เครือข่าย ยะลา 2 เครือข่าย และนราธิวาส 5 เครือข่าย ศูนย์ปฏิบัติงานเยียวยาชุมชนปอเนาะ 70 แห่ง ได้แก่ ปัตตานี 31 แห่ง ยะลา 18 แห่ง และนราธิวาส 21 แห่ง และ อาสาสมัครเยียวยาชุมชน ปอเนาะละ 3 คน รวม 210 คน


 


นายแพทย์พลเดชกล่าวอีกว่า สำหรับบทบาทปอเนาะและอาสาสมัครนั้น ได้แก่การติดตามเยี่ยมบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะที่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ สำรวจและติดตามเยี่ยมบ้านผู้ได้รับผลกระทบที่ตกสำรวจจากการช่วยเหลือของราชการ โดยการเยียวยาจะเป็นแบบชาวบ้านกับชาวบ้านพูดคุยให้กำลังใจและหาทางบรรเทาความเดือนร้อนที่เกิดขึ้นด้วย และจัดให้มีกระบวนการกลุ่มระหว่างผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้กำลังใจ ความหวัง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มและบุคคลอย่างต่อเนื่อง


 


นายแพทย์พลเดชกล่าวต่อว่า สำหรับผู้ได้รับผลกระทบรายใหม่นั้น เป็นหน้าที่ของเครือข่ายฟื้นฟูเยียวยาชุมชนระดับจังหวัด โดยจะเฝ้าระวังสถานการณ์และจะใช้ดุลยพินิจในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรายใหม่ และให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นไปก่อน จากนั้นจึงมอบให้ศูนย์ปฏิบัติงานเยียวยาชุมชนปอเนาะติดตามเยียวยาต่อไป


 


"โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเรามีความเชื่อมั่นพื้นฐานอยู่ 3 ประการ 1.ให้เกิดพลังแห่งการเยียวยาและสมานฉันท์ทางใจ 2.ทุกคนเป็นเพื่อมนุษย์ด้วยกัน ถ้าเขามีทางเลือกที่ดีกว่า เขาก็ไม่อยากใช้ความรุนแรง แต่ถ้าใครจะใช้ความรุนแรงเราก็ไม่ห้าม แต่เมื่อมีคนเดือดร้อน เราจะเป็นเพื่อนกันเพื่อช่วยเหลือเยียวยา 3.ขณะนี้ในสังคมไทยมีความรู้สึกเหมารวมว่า มุสลิมในภาคใต้คือผู้ที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งจะไปห้ามความรูสึกเช่นนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าพลังจากการปฏิบัติจะช่วยอธิบายให้กับสังคมไทยได้"นายแพทย์พลเดช กล่าวว่า


 


นายแพทย์พลเดช กล่าวหลังการประชุมว่า หลังจากครบ 10 เดือนแล้ว จะเป็นเรื่องของการฟื้นฟูและการพัฒนา โดยจะใช้ฐานของการเยียวยาชุมชน โดยมีปอเนาะเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังจัดหางบประมาณและองค์กรที่จะเข้ามาสนับสนับสนุน


 


ด้านนายไพฑูรย์ สมแก้ว หัวหน้าศูนย์ประสานงานกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายองค์กรเข้ามาทำงานเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยบางองค์กรมีชื่อคล้ายๆ กัน ซึ่งเกรงว่าจะทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเกิดความสับสน อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า ยิ่งมีผู้เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาจำนวนมากก็ยิ่งดี


 


นายไพฑูรย์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับอาสาสมัครในโครงการนี้ทุกคนจะมีบัตรประจำตัวอยู่ด้วย โดยในบัตรจะระบุว่า เป็นอาสาสมัครศูนย์สนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนด้านหลังบัตรจะระบุหลักปฏิบัติสำหรับอาสาสมัครเยียวยาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 ข้อ โดยมีข้อสำคัญๆ ระบุว่า จะดำรงความเป็นกลางโดยเคร่งครัด ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายในทุกรูปแบบ มุ่งมั่นช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกเงื่อนไข ทุกสถานการณ์โดยไม่คำนึงถึงฝักฝ่าย เป็นต้น


 


นายมุคตาร์ กีละ หนึ่งในคณะทำงานฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ใช้ชื่อว่ากลุ่มมุสลิมเพื่อสันติภาพ ได้เข้าไปพบกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ตามชุมชนและสถานบันปอเนาะต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่ออกมามอบตัวหรือแสดงตัวต่อทางราชการ เพื่อให้การช่วยเหลือเยียว โดยเมื่อเร็วนี้ๆ ได้เข้าไปในพื้นที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา


 


ทางด้านนายศุภนัฐ สิรันทวิเนติ นายอำเภอยะหา เปิดเผยกับ "ประชาไท"ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบในอำเภอยะหาทุกรายได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากทางจังหวัด โดยตนเองจะเป็นผู้ประสานงานและนำเจ้าหน้าที่ของจังหวัดเข้าไปพบกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกราย แต่ยังไม่มีองค์กรอื่นที่ติดต่อมาเพื่อขอเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามตนเองได้สั่งการให้ตรวจสอบองค์กรดังกล่าวแล้ว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net