Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 15 ม.ค.48 นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานเปิดการสัมมนา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ม.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยมี รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ผู้แทนจาก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ผู้แทนจากธนาคารโลก และผู้แทนประเทศเพื่อนบ้าน พม่า-ลาว-จีน เข้าร่วม

         


นายยงยุทธ กล่าวว่า หลังจากจีนสร้างเขื่อนสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศผู้ใช้แม่น้ำโขง ยังขาดงานวิจัยมาตรฐานที่เป็นภาพรวมร่วมกันของทุกประเทศ ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะประเทศจีนซึ่งอยู่ต้นน้ำยังไม่ยอมร่วมเป็นภาคี ข้อมูลหลักที่สำคัญจึงยังไม่สามารถนำมาต่อเข้ากันได้ อย่างไรก็ตาม ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่จีนส่งตัวเข้าร่วมเจรจาครั้งนี้ ทั้งยังรับปากว่าจะให้ความร่วมมือในเรื่องการทำงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมกับภาคีอย่างเต็มที่


 


เขาระบุด้วยว่า การประชุมในครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากการประชุมกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปีที่ผ่านมา โดยในส่วนอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงประเทศไทยจะเป็นแกนนำ เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับทุกประเทศในแถบนี้ได้ รวมทั้งให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นตัวหลักในการพัฒนา และสร้างขีดความสามารรถของประชากรในภูมิภาค เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยจะเร่งสร้างเครือข่าย ระหว่างมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศ GMS เพื่อร่วมกำหนดขอบเขต และกิจกรรมการวิจัยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่มีความต้องการมากที่สุดจากองค์กรต่างๆ รวมทั้งจะได้มาซึ่งแหล่งสนับสนุนด้านการเงินต่อไป


 


ทั้งนี้ จากการจัดประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และไทย ยังคงเป็นประเด็นความขัดแย้งที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ และจนถึงขณะนี้ ประเทศจีนก็ยังไม่ยอมเข้าร่วมเป็นภาคีในคณะกรรมการแม่น้ำโขง ทำให้การบริหารจัดการน้ำในกลุ่มอนุภูมิภาคยังทำได้ไม่เต็มที่ เพราะที่ผ่านมา ประเทศจีนซึ่งอยู่ต้นน้ำถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะน้ำแล้งในประเทศปลายน้ำ ทั้งการก่อสร้างเขื่อนหลายแห่ง และการระเบิดแก่ง เป็นต้น


        


อย่างไรก็ตาม นายกิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่คาดหวังว่าการจัดประชุมที่ม.แม่ฟ้าหลวงครั้งนี้จะสามารถต่อรองแก้ไขปัญหาน้ำแล้งในประเทศปลายน้ำได้ เพียงแต่ต้องการมุ่งเน้นให้ทั้ง 6 ชาติสร้างเครือข่ายและพัฒนาขีดความสามารถทางด้านทรัพยากรมนุษย์ และใช้หลักวิชาการการวิจัยในการดูแลปัญหาร่วมกัน


 


ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.เชียงราย กล่าวว่า จากการติดตามประเด็นปัญหาพบว่า นับจากที่จีนสร้างเขื่อน ส่งผลให้ประเทศท้ายน้ำ ตั้งแต่ จ.เชียงรายลงมา ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดระดับลงของน้ำในแม่น้ำ


 


ขณะที่ นาย ชาน บิง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยคุณหมิง ประเทศจีน กล่าวว่าเคยได้ยินเรื่องนี้ แต่ไม่ได้ติดตาม เพราะที่ผ่านมาจีนศึกษาแล้วว่าสามารถสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงได้ ส่วนแผนการที่จีนจะสร้างเขื่อน 11 แห่งกั้นแม่น้ำโขงนั้น ต้องไปติดตามข่าวที่จีน เพราะตนเองไม่ทราบเนื่องจากเป็นเรื่องนโยบายของประเทศ


 


 


         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net