ชีวิตอเมริกันชน ใต้อุ้งเท้าอุตสาหกรรมยา (2)

ในวาระที่เรื่อง "สิทธิบัตรยา" กำลังเป็นประเด็นทั้งในเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ซึ่งเพิ่งจบรอบที่เชียงใหม่โดยมีการประท้วงควบคู่การประชุมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ จากราคายาที่จะแพงขึ้น และโอกาสในการพัฒนายาตัวใหม่ๆ ที่น้อยลง


 

รวมถึงการประชุม "เอฟต้า" (EFTA: European Free Trade Association) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรี
ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอร์แลนด์
และลิกเตนสไตน์ ที่กำลังจะจัดขึ้นที่เชียงใหม่  ในวันที่
16-20  ม.ค.นี้ เรื่องยาก็กลายเป็นประเด็นร้อน
โดยมีข้อเรียกร้องคล้ายๆ ในเอฟทีเอสหรัฐ คือ ขอผูกขาดข้อมูล
5 ปี (Data Exclusivity) และการขยาย
อายุสิทธิบัตรออกไป

 

การเข้าถึงยา จึงกลายเป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องเร่งทำความเข้าใจเบื้องหลังการผลักดันการผูกขาดผ่านการค้าเสรีทั้งหลาย ประชาไทขอนำเสนอบทเรียนพื้นฐาน คือ บทความเรื่อง ชีวิตอเมริกันชน ใต้อุ้งเท้าอุตสาหกรรมยา จากหนังสือ "สิทธิบัตรยา : ยาใจคนรวย"  โดยกรรณิการ์ กิจติเวชกุล แห่งเอฟทีเอวอทช์ที่จะทำให้ท่าน "อ่านสนุก" และ  "ทุกข์ถนัด"


 


- - - - - - - - - -


 


จากคิดค้นยา…สู่เครื่องจักรขายยา


จากการติดตามวงการแพทย์และอุตสาหกรรมยามาเกือบทั้งชีวิต มาร์เซีย แอนเจลล์ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยาในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เธอสรุปว่า อุตสาหกรรมยาได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์เดิมจากการเป็นหน่วยงานที่ผลิตคิดค้นยามาเป็น "เครื่องจักรการตลาดที่ทำหน้าที่ขายยาให้ได้กำไรสูงสุด"


 


ดังนั้น อุตสาหกรรมนี้จึงต้องใช้ทั้งอำนาจและเงินตราในการเป็น "พันธมิตรที่แนบแน่น" กับองคาพยพต่างๆ เช่น รัฐบาล รัฐสภา หน่วยราชการ อย่าง FDA สถาบันวิจัยตามมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ (ซึ่งการตลาดส่วนใหญ่จะทุ่มให้กับการเกลี้ยกล่อมแพทย์เป็นสำคัญ เพราะเป็นผู้เขียนใบสั่งยา)


 


สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นผลโดยตรงจากนโยบายเปิดเสรีนิยมแบบสุดๆ ของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโรนัล เรแกน เมื่อปี 2523 (หากยังจำกันได้เป็นช่วงเดียวกับที่แปรรูปการศึกษาในสหรัฐ)


 


ในช่วงปี 2503-2523 ยอดขายยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์มีการขยายตัวเท่ากับ จีดีพีของประเทศ แต่จากปี 2523-2543 ยอดขายยาที่ต้องมีใบสั่งขยายตัวสูงกว่าจีดีพีของสหรัฐถึง 3 เท่า


 


การที่นโยบายของรัฐบาลเรแกนสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างสุดแรงเกิด ได้เปลี่ยนทัศนคติของคนอย่างมาก ในอดีตนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการจะทุ่มเททำงานให้กับสังคม แม้จะไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากมาย แต่ก็มีชีวิตอยู่อย่างสบายและมีเกียรติ พวกเขามุ่งมั่นที่จะทำวิจัยชิ้นยอดฝากไว้กับแผ่นดิน แต่นับจากยุคเรแกน คำว่าร่ำรวยถูกทำให้ใกล้เคียงกับความดี มีผู้ชนะและผู้แพ้ ผู้ชนะที่สังคมยกย่องคือ คนที่ร่ำรวย


 


มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ คือ การออกกฎหมายให้งานวิจัยที่ได้ทุนสนับสนุนจากรัฐสามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าได้ โดยเรียกแบบเลิศหรูว่า เป็น "การถ่ายทอดเทคโนโลยี" เพื่อให้ธุรกิจด้านไฮเทคของสหรัฐเป็นผู้นำในตลาดโลก และมีกฎหมายสิทธิบัตร ทำให้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากนำงานวิจัยไปจดสิทธิบัตรในนามบริษัท แล้วขายสิทธิบัตรให้บริษัทยาใหญ่ๆ อีกทอดหนึ่ง


 


จากตัวเลขปัจจุบัน 1 ใน 3 ของยาที่ทำตลาดโดยบริษัทใหญ่ๆ มาจากสิทธิบัตรของมหาวิทยาลัย หรือบริษัทเล็กๆ ที่ตั้งโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ไม่มีใครกล้ายืนยันว่า การออกกฎหมายในครั้งนั้นทำเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชน


 


นับจากการแก้กฎหมายชุดนั้น สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไร เริ่มมองเห็นตัวเองเป็นพันธมิตรกับอุตสาหกรรมยา และเริ่มเล็งหาโอกาสและช่องทำกำไรงามๆ เรียกว่าจิตใจความเป็นพ่อค้าแบ่งบานกันไปทั่ว ชีวิตสมถะ รักในเกียรติ ศักดิ์ศรี เริ่มแทนที่ด้วยคำที่ มาร์เซล ยกขึ้นมาว่า "คุณฉลาดขนาดนี้ ทำไมไม่รวย"


 


ในสมัยที่ 2 ของเรแกน ยังคงมุ่งมั่นเช่นเดิม รัฐสภาออกกฎหมายทำนองเดียวกันนี้ ให้สิทธิผูกขาดตลาดยาให้กับบริษัทที่ผลิตยาชื่อการค้า โดยที่บริษัทอื่นๆ ไม่สามารถขายแข่งได้ในช่วงเวลาที่ได้สิทธินี้ ซึ่งสิทธินี้จะได้จากสำนักงานสิทธิบัตร หรือจาก FDA นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายยืดอายุสิทธิบัตรเพื่อขวางไม่ให้ยาชื่อสามัญเข้าตลาด เพราะหากยาชื่อสามัญเข้าตลาดจะทำให้ยาชื่อการค้าราคาตกไปอย่างต่ำประมาณ 20 %


 


ช่วงปี 2523-2533 อุตสาหกรรมยาทำกำไรได้สูงสุด จากนโยบายและกฎหมายที่เปิดทางสะดวก และยังทรงอำนาจอย่างเหลือเชื่อ เช่น ถ้าพวกเขาไม่ชอบใจ FDA ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลอุตสาหกรรมยา พวกเขาก็สามารถกดดัน FDA ผ่านสภาคองเกรสให้เสนอตัดงบประมาณหรือยุบหน่วยงานบางแผนก (คงพอเห็นภาพ ทำไม FDA จึงต้องเออออห่อหมกกับอุตสาหกรรมยา พูดแบบบ้าๆ ก็เพื่อความอยู่รอดตามแบบข้าราชการที่ดี)


 


ในปี 2543 นับเป็นปีแรกที่อุตสาหกรรมนี้เผชิญปัญหาครั้งใหญ่ เนื่องจากเริ่มมีคนไม่อยากทนกับราคายาที่แพงหูดับตับไหม้ เริ่มมีการต่อรองจากบริษัทประกันสุขภาพ และโรงพยาบาล รัฐบาลท้องถิ่นถูกกดดันจากประชาชนให้ออกกฎหมายควบคุมราคายา เช่น รัฐเมน ซึ่งอุตสาหกรรมยาได้รวมตัวกันฟ้องจนไปถึงศาลสูงให้ระงับระเบียบนี้ ในที่สุดปี 2546 ศาลสูงสหรัฐมีคำสั่งห้ามรัฐเมนต่อรองราคายา


 


กฎหมายซึ่งครั้งหนึ่ง ผู้ว่าการรัฐเมน นายแอนกัส คิง เคยกล่าวว่า "ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ คนธรรมดาทั่วไปจะสามารถได้รับยาที่จำเป็นสำหรับพวกเขา โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเผชิญกับภาวะที่ต้องเลือกระหว่าง ค่าเช่า อาหารและ ยา" ถูกทำให้สิ้นสภาพการบังคับใช้โดยอุตสาหกรรมยา


 


มีเรื่องตลกร้ายอีกเรื่อง ที่พอจะเล่าสู่กันฟังได้ ในปี 2543 มีกฎหมายฉบับหนึ่งผ่านออกมาจากสภาคองเกรส อนุญาตให้เภสัชกรอเมริกันสามารถนำเข้ายาอเมริกันจากประเทศอื่นได้ เพราะแม้จะรวมค่าขนส่งแล้ว ยาอเมริกันที่ไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังถูกกว่ายาอเมริกันที่ขายในสหรัฐอเมริกา แต่จะนำเข้าได้นั้นต้องผ่านการรับรองของรัฐมนตรีสาธารณสุขฯ ว่า จะไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน ซึ่งตั้งแต่มีกฎหมายนี้ รัฐมนตรีสาธารณสุขฯ ทั้งรัฐบาลคลินตันและบุช ไม่เคยยอมเซ็นรับรองให้แม้แต่ใบอนุญาตเดียว


 


อาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่า ยาที่ขายในสหรัฐอเมริกาแพงแค่ไหน ลองดูตัวเลขนี้ ราคายาเฉลี่ยที่ขายปลีกในสหรัฐอเมริกา จะสูงกว่าประมาณ 160 - 250 % ของราคายาที่ขายในออสเตรเลีย และถึงแม้จะมีการลดราคาให้แก่ผู้ซื้อที่เป็นสถาบันใหญ่ๆ ราคาก็ยังคงสูงกว่าอย่างน้อย 84 % และสูงกว่าราคาที่ขายแคนาดาและเม็กซิโกอย่างน้อย 45 %


 


ทุกวันนี้ คนอเมริกัน 1-2 ล้านคนสั่งซื้อยาทางอินเตอร์เนตจากแคนาดา แม้ว่า เมื่อปี 2530 จะมีกฎหมายที่ออกตามแรงกดดันของอุตสาหกรรมยา ห้ามซื้อยาที่ต้องมีใบสั่งจากต่างประเทศ


 


และทุกๆ วัน ยังมีประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนแก่ เดินทางข้ามชายแดนไปซื้อยาในแคนาดาและเม็กซิโก แล้วซุกซ่อนเข้ามาในสหรัฐราวกับขนยาเสพติดเข้าประเทศ


 


ล็อบบี้ยิสต์ ล็อบบี้ยา


แม้ว่าจะมีกฎหมายมากมายที่เปิดทางสะดวกให้ อุตสาหกรรมยาทำกำไรอย่างเต็มที่ แต่ปัญหาใหม่ที่อุตสาหกรรมยากำลังเผชิญคือ ยาขายดีหลายตัวกำลังจะหมดสิทธิบัตร ขณะที่บริษัทต่างๆ ก็ยังไม่มียาตัวใหม่ (จริงๆ) เข้ามาแทนที่ ทำให้หุ้นของพวกเขาตกวูบเพียงชั่วข้ามคืนที่ข่าวนี้หลุดรอดไป


 


แต่แล้วในที่สุดก็มีข่าวดีที่ทำให้หุ้นอุตสาหกรรมยาและบริษัทประกันสุขภาพพุ่งกระฉูดยกแผง นั่นคือ กฎหมายใบสั่งยาในโครงการประกันสุขภาพสำหรับคนชรา (Medicare Prescription Drug Bill) ที่เพิ่งผ่านไปล่าสุด


 


บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เซนต์หลุยส์ โพสต์ ระบุว่า เหล่าอุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ได้ทุกอย่างตามที่พวกเขาต้องการจากกฎหมายฉบับนี้ บริษัทประกันสุขภาพได้ช่องทางหาเงินมากขึ้น โรงพยาบาลและหมอได้ค่าตอบแทนมากขึ้น บรรษัททั้งหลายได้มากกว่าที่พวกเขาร้องขอเสียอีก แต่คนชราอเมริกันและผู้ที่กำลังเข้าวัยชราอีกหลายล้านคนจะต้องจ่ายค่ายาของตนเอง โดยที่อยู่ในวงประกันอย่างมาก 22 % เท่านั้น "นี่คือยาขม"


 


ลองไปดูกันว่า อุตสาหกรรมยาและบริษัทประกันสุขภาพทุ่มพลังมากแค่ไหน เพื่อให้ได้มาซึ่ง "ยาขมของผู้บริโภค ของหวานชุบชีวิตหุ้นของพวกเราเอง"


 


ปี 2546 เพียงปีเดียวซึ่งเป็นปีที่การร่างกฎหมายกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม อุตสาหกรรมยาและบริษัทประกันสุขภาพทุ่มเงินเกือบ 141 ล้านดอลลาร์ ในการล็อบบี้รัฐบาลและนักการเมืองในวอชิงตัน เพื่อผลักดันการแก้กฎหมายฉบับนี้ เพื่อรับประกันกำไรสูงสุด พวกเขาได้จ้างล็อบบี้ยิสต์มากถึง 952 คน เพื่อทำหน้าที่ล็อบบี้ทั้งในทำเนียบขาวและที่แคปปิตอลฮิลล์ที่ตั้งของรัฐสภาอเมริกัน


 


อุตสาหกรรมยาในที่นี้หมายถึง ผู้ผลิตยาชื่อการค้า ยาชื่อสามัญ ยาชีวภาพ ผู้ผลิตเครื่องมือและเครื่องจักรผลิตยา ผู้จัดการและจัดจำหน่าย ได้ใช้เงินมากถึง 108.6 ล้านดอลลาร์ในกิจกรรมการล็อบบี้ฝ่ายการเมืองส่วนกลาง (รัฐบาลกลางและรัฐสภา)


 


อุตสาหกรรมยาได้จ้างล็อบบี้ยิสต์ทั้งสิ้น 824 คนซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การล็อบบี้ของโลก ซึ่งนั่นเท่ากับวุฒิสมาชิกอเมริกัน 1 คน จะถูกล็อบบี้ยิสต์ยา 8 คนตามประกบ


 


The Pharmaceutical Research & Manufacturers of America หรือ PhRMA ซึ่งเป็นสมาคมผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่ร่มของบริษัทผลิตยาชื่อการค้ากว่า 40 บริษัท ทุ่มมากที่สุดเป็นเงินมากกว่า 16 ล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้น 12 % จากปี 2545) และยังจ้างล็อบบี้ยิสต์ 136 คนมากกว่าปีก่อนหน้า 24 คนเพื่อผลักดันกฎหมายนี้โดยเฉพาะ


 


อย่างที่บอก ไม่แค่เฉพาะอุตสาหกรรมยาเท่านั้น ที่จะโกยกำไรเละจากกฎหมายฉบับนี้ บริษัทและสมาคมรับประกันสุขภาพก็รับกำไรเต็มๆ ด้วย จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันสุขภาพระบุว่า บริษัทเหล่านี้จะสามารถทำกำไรได้มากถึง 531,500 ล้านดอลลาร์


 


เหล่าบริษัทประกันใช้จ่ายเงินเพื่อการล็อบบี้ครั้งนี้มากถึง 32.2 ล้านดอลลาร์ โดยจ้างล็อบบี้ยิสต์มากถึง 222 คน ซึ่งเกือบครึ่งของล็อบบี้ยิสต์พวกนี้ (42 %) ก็ทำงานให้อุตสาหกรรมยาไปในคราวเดียวกัน (เรียกว่ารับเงินสองต่อ)


 


The Blue Cross Blue Shield Association คือบริษัทประกันสุขภาพที่ใช้จ่ายเพื่องานล็อบบี้มากที่สุด 8.1 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน The American Association of health Plans (AAHP) และ The Health Insurance Association of America (HIAA) ซึ่งควบรวมกิจการ 2 เดือนก่อนหน้ากฎหมายฯจะผ่านทุ่มเงินเพื่อล็อบบี้ทั้งสิ้น 8.3 ล้านดอลลาร์


 


ทั้งอุตสาหกรรมยาและบริษัทประกันสุขภาพ จะใช้บริการล็อบบี้ยิสต์ที่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐสภา ทำเนียบขาว และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง พวกนี้จะรวมเรียกว่า "พวกที่มีประตูหมุนเชื่อมถึง" ซึ่งเกือบครึ่งของล็อบบี้ยิสต์ที่ถูกจ้างเพื่อล็อบบี้กฎหมายนี้เคยทำงานกับรัฐบาลหรือเป็นข้าราชการมาก่อน


 


45 % ของล็อบบี้ยิสต์ หรือ 431 คน จาก 952 คน เคยเป็นข้าราชการก่อนที่จะออกมาทำงานเป็นล็อบบี้ยิสต์เต็มตัว ในจำนวนนี้ 30 คนเคยเป็นวุฒิสมาชิกและส.ส. มาจากพรรครีพับลิกัน 18 คน และมาจากพรรคเดโมแครต 12 คน


 


หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ผ่าน ข้าราชการจำนวนมากลาออกไปทำงานให้กับอุตสาหกรรมยาและบริษัทประกันสุขภาพ ให้ทำกำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยยิ่งขึ้นจากกฎหมายที่พวกเขาช่วยผลักดัน


 


ตัวอย่างเช่น


 


ทอม สคูลลี่ หัวหน้าศูนย์โครงการประกันสุขภาพและเงินช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลคนชรา และเป็นผู้นำการเจรจากฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลบุช ต่อรองผลประโยชน์กับนายจ้างใหม่หลายเจ้าในเวลาเดียวกับที่เจรจาต่อรองสาระของกฎหมายกับสมาชิกสภาคองเกรส


 


ในที่สุด ทอม สคูลลี่ ตกลงใจทำงานกับบริษัทล็อบบี้ Alston & Bird และบริษัทลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ Welsh, Carson Anderson & Stowe นับแต่ ทอม สคูลลี่ เริ่มทำงานมีบริษัทยาและบริษัทประกันสุขภาพหลายสิบแห่งแห่เข้ามาขอใช้บริการล็อบบี้จาก Alston & Bird เช่น Abbott และ Aventis


 


โทมัส กริสซัม ผู้อำนวยการสถาบันจัดการโครงการประกันสุขภาพ ลาออกจากตำแหน่งหลังกฎหมายผ่านเพียงไม่กี่วัน ไปรับเงินเดือนของบริษัทล็อบบี้ยิสต์ของผู้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งระหว่างที่เป็นผู้อำนวยการสถาบันนั้น เขาทำหน้าที่ดูแลงบประมาณของโครงการมูลค่า 240,000 ล้านดอลลาร์ 


 


แจ๊ค โฮเวิร์ด รองผู้อำนวยการงานด้านกฎหมายของประธานาธิบดีบุช ลาออกไปทำงานกับ Wexler & Walker Public Policy Associates เช่นกัน


 


ลินดา ฟิชแมน เจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ซึ่งทำหน้าที่บรรยายสรุปให้วุฒิสมาชิกและเจ้าหน้าที่ฟังทุกวัน และทำหน้าที่เชื่อมประสานสองสภาอย่างใกล้ชิดในการพิจารณากฎหมาย ออกไปเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายสุขภาพแก่บริษัทล็อบบี้ Hogan & Hartson ซึ่งทำหน้าที่ล็อบบี้ให้กับ GlaxoSmithKline และ PhRMA


 


ฯลฯ


 


ไม่ใช่แค่ฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำจะย้ายไปเป็นล็อบบี้ยิสต์ แต่จากกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของอุตสาหกรรมยา บริษัทรับประกันสุขภาพ หลายคนตบเท้าเข้าไปไปเป็นใหญ่เป็นโตในรัฐบาลบุชเป็นทิวแถว อาทิ


 


ดัก แบดเจอร์ ผู้บริหาร Ernst & Young ได้นั่งตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายสุขภาพของรัฐบาลบุช หลังจากช่วยหาเงินบริจาคจากบรรดาลูกค้า เช่น Aventis, Baxter, Biogen, Eli Lilly, Pfizer และ Johnson & Johnson ให้บุชในการเลือกตั้งมากถึง 1 ล้านดอลลาร์


 


จูลี่ กูน ล้อบบี้ยิสต์จากบริษัท AAHP ถูกจ้างไปเป็นผู้ช่วยพิเศษรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข


 


ดอน ยัง อดีตประธานบริษัทล็อบบี้ HIAA ก็ได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยของท่านรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข แล้วก็อุตสาหกรรมยา, บริษัทประกันสุขภาพและบรรดาล๊อบบี้ยิสต์นี่แหล่ะที่เป็นกลุ่มที่ให้เงินสนับสนุนการเลือกตั้งสูงที่สุด


 


ซีอีโอและล้อบบี้ยิสต์ 21 คนติดกลุ่มผู้มีอุปการคุณสูงสุด และรองสูงสุดของบุช คือมียอดบริจาคคนละ 200,000 ดอลลาร์ หรือ 100,000 ดอลลาร์ รวมแล้วเป็นยอดเงินจากกลุ่มนี้ในปี 2543-2547 ประมาณ 3.4 ล้านดอลลาร์


 


บรรดาผู้มีอุปการะคุณเหล่านี้ เป็นซีอีโอจากบริษัทยายักษ์ใหญ่ 5 คน จากบริษัทประกันสุขภาพ 6 คน 8 คนเป็นล็อบบี้ยิสต์ของบริษัทยาและบริษัทประกัน ที่เหลือเป็นซีอีโอจากการบริการด้านยา และบริษัทขายยาทางไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุด


 


ทางด้านอดีตผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐ จอห์น แคร์รี่ จากพรรคเดโมแครต แม้จะได้รับการสนับสนุนในจำนวนเงินที่น้อยกว่าแต่ส่วนใหญ่ก็มาจากบริษัทยาเช่นกัน


 


แต่ที่จริงแล้ว หากเราย้อนกลับไปอีกนิดก็จะพบว่า อุตสาหกรรมยามีอิทธิพลและแนบแน่นอย่างมากต่อผู้บริหารประเทศของสหรัฐ


 


ระหว่างการเลือกตั้งในปี 2543 ยาราคาแพงรวมทั้งสิทธิบัตรผูกขาดเป็นประเด็นร้อน ดังนั้นอุตสาหกรรมยาจึงทุ่มการสนับสนุน จอร์จ ดับเบิลยู บุช ด้วยเงินจำนวนที่ไม่เคยมากเท่านี้มาก่อน เกือบ 70 % ของ 24.4 ล้านดอลลาร์จ่ายให้แก่ บุช และ สมาชิกพรรครีพับลิกันคนอื่นๆ 


 


และตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี บุชได้แต่งตั้งที่ปรึกษาหลายคนที่มีความใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมยา นั่นคือ นายโดนัลด์ รัมส์เฟลด์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม อดีตซีอีโอของบริษัท G.D. Searle & Co. ซึ่งเป็นบริษัทยาที่มีสาขาทั่วโลก  


 


อีกคนก็คือ นายมิทช์ ดาเนียล เป็นผู้อำนวยการการจัดการและงานงบประมาณ ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบในการเตรียมโครงร่างงบประมาณให้แก่ประธานาธิบดี เพื่อเสนอต่อสภาคองเกรส ก็เคยเป็นรองประธานอาวุโส ของบริษัทยา Eli Lilly


 


โลกาภิวัตน์ของการฟันกำไร


แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นสวรรค์ของการทำกำไรสำหรับอุตสาหกรรมยา แต่อย่างที่รู้กัน "ถึงรวยแล้วก็ไม่หยุดโกย"


 


อุตสาหกรรมยาได้จับมือกับพันธมิตรที่แนบแน่นที่สุด นั่นคือ รัฐบาลอเมริกา ออกไปโกยกำไรนอกประเทศ โดยใช้การเจรจาทั้งพหุภาคีใน WTO และทวิภาคีแบบ FTA ขยายระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อประกันกำไรสูงสุดของพวกเขา


 


โดยสุดยอดของความฝัน คือกลับไปเพิ่มมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาให้เข้มงวดและยาวนานออกไปอีก ดังจะเห็นได้จากการทำข้อตกลงแบบ US+ เพราะถึงที่สุดแล้ว สหรัฐ คือดินแดนที่ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำที่สุด


 


จากข้อตกลงที่มีผลแล้ว ทั้ง เอฟทีเอที่สหรัฐทำกับชิลี สิงคโปร์และโมร็อคโค อุตสาหกรรมยาล้วนหน้าชื่นตาบานกับพิมพ์เขียวที่ประเทศเหล่านี้ทำตามกฎหมายสหรัฐ นั่นคือ ห้ามควบคุมราคายา การยืดอายุสิทธิบัตรด้วยวิธีการสารพัด และให้รับรองสิทธิบัตรแบบเดียวกับที่สหรัฐรับรอง


 


เอฟทีเอสหรัฐ-ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลียมีระบบการควบคุมยาของประเทศที่ถือว่าดีติดอันดับโลก เนื่องจากเป็นระบบที่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า ยาที่จำเป็นต่างๆจะต้องมีพร้อมสำหรับทุกคนที่จำเป็นต้องใช้ ในราคาที่ทั้งบุคคล และ ชุมชนนั้นๆ สามารถรับภาระได้


 


โดยมีกระบวนการคัดเลือกรายการยาเข้าสู่บัญชียาจำเป็นและการกำหนดราคายาที่รัฐจะจ่ายคืนให้ ระบบดังกล่าวทำให้ยามีราคาถูก ถือเป็น "ยาขม" สำหรับอุตสาหกรรมยาระดับโลกมานานแล้ว การเจรจาเอฟทีเอ สหรัฐ-ออสเตรเลีย ระบบการคัดเลือกยาจึงถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญ


 


เมื่อถูกถามถึงจริยธรรมและมนุษยธรรม เหตุใดจึงไปทำลายระบบยาราคาถูกที่มีอยู่แล้ว ตัวแทนอุตสาหกรรมยาบอกกับสื่อมวลชนอเมริกันว่า ต้องทำให้ราคายาในประเทศอื่นๆ แพงขึ้น เพื่อที่จะได้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าวิจัยและพัฒนา ซึ่งขณะนี้คนอเมริกันรับภาระอยู่ฝ่ายเดียว ว่าเข้าไปนั่น


 


แม้ในที่สุด ออสเตรเลียจะรักษาโครงการสิทธิประโยชน์ด้านยา (Pharmaceutical Benefits Scheme หรือ PBS) ที่เป็นกลไกสำคัญที่สุดของการควบคุมราคายาเอาไว้ได้ แต่ก็ยังคงถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อรองรับสิทธิบัตรแบบอเมริกันอยู่ดี


 


สำหรับประเทศไทย อีกหนึ่งประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐอย่างเร่งรีบและรวบรัด การเอาตัวรอดจากเงื้อมมืออุตสาหกรรมยาที่แฝงมาในการเจรจาเอฟทีเอดูจะริบหรี่เต็มที


 


จากการสัมมนา "ระบบทรัพย์สินทางปัญญาในเวทีเจรจาการค้าเสรีระดับทวิภาคี" ซึ่งจัดโดย UNTAC และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตัวแทนการเจรจาฝ่ายไทย ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า ยังไม่ทราบเนื้อหาการเจรจา เพราะฝ่ายสหรัฐจะส่งให้ประมาณ 1-2 วันก่อนหน้าการเจรจาเท่านั้น


 


            ...ไม่มีพื้นที่ใดในโลกที่พ้นเงื้อมมือมาร...


 


จะเห็นได้ว่า การแสวงหากำไรของอุตสาหกรรมยาเป็นทุนโลกาภิวัตน์โดยแท้ ไม่มีสัญชาติ ไม่มีคุณธรรม มีทั้งกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศมารับรองความชอบธรรม มีกำลังเสริมกำลังหนุนจากนายทุนชนชั้นนำระดับชาติและระดับโลก ทุกกลยุทธ์ ทุกยุทธวิธี ล้วนสามารถปรับใช้ได้เพื่อกำไรสูงสุด


 


เอาเป็นว่า งานนี้ตัวใครตัวมัน หรือ หากใครคิดจะเตรียมการเอาไว้ก่อน ขอแนะนำ ...


 


อย่าเจ็บป่วย ถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา เลือกตายไปเลยดีกว่า ไม่เช่นนั้นอาจถูก "คนที่คุณก็รู้ว่าเขาคือใคร" ด่าเข้าให้ ว่า "โง่ จน แล้วก็ต้องเจ็บเป็นธรรมดา"


 


 




























































































ตารางที่ 2   อุตสาหกรรมยาจากการจัดอันดับจาก 500 อันดับใน Fortune  (ผลตอบแทนในด้านรายได้)1


 


อันดับของ


อุตสาหกรรมยา


% ผลตอบแทน


อุตสาหกรรมที่ถูกจัดเป็นอันดับ 2


% ผลตอบแทน


ค่ามัธยฐาน (Median)


ของ % ผลตอบแทน


ใน Fortune 500 2


2534


1


12.8


เครื่องดื่ม


5.5


3.2


2535


1


11.5


ของเล่น, สินค้าการกีฬา


6.5


2.4


2536


1


12.5


การพิมพ์, สิ่งพิมพ์


6.4


2.9


2537


1


16.1


ธนาคารพานิชย์


13.5


4.6


2538


1


14.4


ธนาคารพานิชย์


13.3


4.8


2539


1


17.1


ธนาคารพานิชย์


13.9


5.0


2540


1


16.1


ธนาคารพานิชย์


13.6


4.9


2541


1


18.5


ธนาคารพานิชย์


13.2


4.4


2542


1


18.6


ธนาคารพานิชย์


15.8


5


2543


1


18.6


ธนาคารพานิชย์


14.1


4.5


2544


1


18.5


ธนาคารพานิชย์


13.5


3.3


1. ก่อนปี 2536, ผลตอบแทนในด้านยอดขาย


2. ค่าตัวกลางรายได้ของบริษัทต่างๆทั้งหมด 500 บริษัทในนิตยสาร Fortune 


ที่มา : การจัดอันดับประจำปีของอุตสาหกรรมต่างๆในนิตยสาร Fortune, ปี 2535-2545 (อ้างอิงใน FUSA 2545)


 


 


*งานชิ้นนี้ปรับปรุงขึ้นจาก "To Cure or To Kill? หวานเป็นลม ขมเป็นลวง" ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร a day weekly ฉบับที่ 30, 10-16 ธันวาคม 2547


 


 


 


อ้างอิงจาก


-           การศึกษาผลกระทบของข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างออสเตรเลีย-อเมริกาต่อระบบยาในออสเตรเลีย แปลและเรียบเรียง โดย ภก.สรชัย จำเนียรดำรงการ  และ ดร.ภญ.อุไรวรรณ พรทวีวุฒิ, ข้อตกลงเขตการค้าเสรี: ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย, พฤศจิกายน 2547


-           A Bitter Pill, หนังสือพิมพ์ St. Louis Post-Dispatch, 26 พฤศจิกายน 2546


-           Health Care Advocates, Providers and FDA Debate FDA Safety Issues after Senate Hearing, หนังสือพิมพ์ Kaiser Daily Health Policy Report, 22 พฤศจิกายน 2547


-           Intellectual Property Rights and the Canadian Pharmaceutical Marketplace: Where do we go from here? โดย  Joel Lexchin จาก International Journal of Health Services Volume 35, Number 2 / 2005


-           The Medical Drug War: An Army of Nearly 1,000 lobbyists Pushes a Medical Law that Puts Drug Company and HMO Profit Ahead of Patients and Taxpayers โดย Public Citizen, มิถุนายน 2547


-           The $200Billion Colossus โดย Marcia Angell, 13 สิงหาคม 2547 http://www.alternet.org/story/19540


-           The Truth About the Drug Companies: How They Deceive Us and What to Do About It โดย Marcia Angell, กันยายน 2547


-           BBC


-           http://www.ftawatch.org


 


 ---------------------------------------------------------------------


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท