Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 ม.ค.49      เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 210 อาคารสำนักงานรองอธิการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ เปิดเวทีสนทนาประสา มอ. ในหัวข้อ "หยุดขาย กฟผ. ทางออกอยู่ที่ไหนดี" โดยมีนักวิชาการ นักศึกษา ประชาชนทั่วไป เข้าร่วม ประมาณ 30 คน


 


นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยให้บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) กำหนดแผนและคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตเอง และมีการคาดการณ์ที่เกินจริงหลายเท่า ทำให้ประชาชนต้องมีแบกรับภาระค่าพร้อมจ่ายที่มาจากการสำรองกระแสไฟฟ้าเกินความจำเป็น ซึ่งจากการคำนวณการใช้ไฟฟ้าในปี 2549 - 2558 ประเทศไทยจะมีกระแสไฟฟ้าเกินความจำเป็นมากถึง 6,000 เมกะวัตต์ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงถึง 488,263 ล้านบาท ดังนั้นการที่ชาวบ้านต่อสู้ให้หยุดการสร้างเขื่อน เลิกสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเป็นเรื่องที่ถูกต้อง


 


นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า สำหรับทางออกในเรื่องนี้ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถตรวจสอบการทำงานได้ ซึ่งตนอยากเห็นการบริหารกิจการไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพแทนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าใหม่ เพราะปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าและระบบสายส่งยังคงผูกขาดอยู่กับ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ส่วนการจำหน่าย - ค้าปลีกผูกขาดอยู่กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดังนั้น จึงมีข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกดังนี้


 


1. ตั้งองค์กรอิสระดูแลแทนรัฐ โดยผู้ที่เป็นคณะกรรมการต้องไม่เกี่ยวข้องกับรัฐและบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) คล้ายๆ กับการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นต้น


 


2.แยกฝ่ายผลิตออกจากระบบสายส่ง เพราะระบบสายส่งเป็นอำนาจที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ และไม่ควรนำระบบสายส่งไปดำเนินการในเชิงธุรกิจ


 


3.ในกรณีที่ระบบต้องการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ก็อาจเสนอซื้อความพร้อมจ่ายจากผู้ใช้ได้ โดยให้ราคาที่จูงใจก็สามารถบริหารความต้องการใช้ไฟสูงสุด หรือ peak ลงได้โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดยไม่จำเป็น


 


4.ข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้เกิดการไหลของภาระและความเสี่ยงจากผู้ผลิตไปยังผู้ใช้รายใหญ่ ขณะเดียวกันผู้ใช้ไฟรายใหญ่ก็เป็นผู้กำหนดความต้องการว่าควรจะมีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่หรือไม่ นอกจานั้นผู้ใช้ไฟรายใหญ่จะมีการตรวจสอบระบบ อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในหน่วยงานอย่างจริงจัง


 


5.ระบบจะเกิดการปรับตัวให้มีประสิทธิภาพและมีสำรองไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น เพราะไม่สามารถผลักภาระที่เกิดจากความบกพร่องของตนเองให้ผู้ใช้ ผู้ใช้ไฟรายย่อยจะเสียค่าไฟเฉพาะค่าพลังงานไม่ต้องรับภาระค่าความพร้อมจ่าย


 


นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ปัญหาการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยไม่ได้มาจากการผลิตที่ไม่เพียงพอ แต่เป็นปัญหาทางโครงสร้าง ซึ่งการแปรรูปเพื่อให้เกิดการลงทุนไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องแต่ควรปฏิรูปให้มีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อถ่วงดุลและลดการสร้างโรงไฟฟ้า - ซื้อไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น


 


นายประสาท มีแต้ม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เหตุผลของการแปรรูปกิจการไฟฟ้า มักพูดถึงปัญหาในเรื่องขาดเงินทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเป็นหลัก โดยอ้างว่าเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งที่กำไรของ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ไม่ได้กล่าวถึงผลปัญหาในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ผลกระทบจากการก่อสร้างและการผลิตไฟฟ้า และปิดกั้นเรื่องพลังงานที่ทุกคนควรรู้ ทำให้คนไทยทุกคนเป็นทาสแบกรับภาระที่ไม่จำเป็น


 


นายประสาท กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับธรรมชาติได้ และไม่เกิดการผูกขาด ทั้งจากพลังงานลม ชีวมวลจากมูลสุกร ซึ่งนานาประเทศได้เริ่มใช้พลังงานเหล่านี้ทดแทน ขณะที่ประเทศไทยถูกทำให้เชื่อว่ามันเป็นเรื่องยาก จึงต้องให้บุคคลกลุ่มหนึ่งบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้า จนเกิดการผูกขาดและแสวงหาผลประโยชน์เข้าตนเอง ดังนั้น หากอยากจะแก้จนให้ชาวบ้าน ต้องให้ชาวบ้านผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เอง และยกเลิกการแปรูปดังกล่าว


 


นางสาวรสนา โตสิตระกูล แกนนำองค์กรเอกชน 30 องค์กรที่ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดกรณีการแปรรูการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีประกาศว่าประเทศไทยปลดหนี้ไอเอ็มเอฟได้แล้ว แล้วมีความจำเป็นอะไรที่ต้องขาย กฟผ.ที่ทำรายได้ปีละ 3 หมื่นล้านบาทให้รัฐ เหมือนประเทศกำลังถังแตกจึงได้เอาสมบัติที่มีค่าที่สุดชาติไปขาย แต่ตั้งราคาต่ำสุดที่ราคาหุ้นละ 25 บาท และสูงสุดหุ้นละ 28 บาท อย่างมากก็ได้ 2 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น โปรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ยังประเมินราคาหุ้นสูงกว่านี้ในราคาหุ้นละ 40 บาท ถึงได้สนใจอยากจะจองหุ้น


 


นอกจากนี้นางสาวรสนากล่าวต่อว่า การแสวงหาผลประโยชน์นั้น ในอดีตนั้นประเทศมหาอำนาจ ดังเช่นสหรัฐอเมริกาจะโดยใช้อำนาจและความได้เปรียบจากกำลังอาวุธกับประเทศที่ด้อยกว่า แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ใช้การแทรกแซง ทั้งในรูปแบบการจัดระเบียบโลกใหม่ด้วยการใช้กฎหมาย ผลักดันให้เกิดการแปรรูป การตกลง FTA ซึ่งในประเทศไทยนั้นรัฐบาลที่บริหารโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำ พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากบริหารประเทศ ได้ประกาศหาเสียงด้วยการยกเลิกกฎหมายขายชาติจำนวน 11 ฉบับ แต่ภายหลังรับหน้าที่บริหารประเทศกลับนำกฎหมายเหล่านั้นมาใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์


 


"สมัยก่อนการต่อสู้และเรียกร้องเพื่อความยุติธรรมจะพบเห็นในกลุ่มคนระดับรากหญ้า แต่ 4 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนชนชั้นกลางเริ่มมีการตระหนักในเรื่องรักษาความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีการทุบรถยนต์ที่ไร้คุณภาพ ทำให้มีการแก้ไขกระบวนการ ประชาชนตื่นตัวเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค" นางสาวรสนา กล่าว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net