โวยยงยุทธ-กฟผ.ลวงหลอกไร้สัจจะ ยื้อไม่ให้คนแม่เมาะอพยพหมู่บ้าน

 

ประชาไท—21 ม.ค. 2549  "สิ่งที่นายยงยุทธ ได้รับปากกับชาวบ้านเอาไว้ว่า จะเร่งทำการอพยพชาวบ้านไปอยู่ในพื้นที่รองรับให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนั้น  เป็นการหลอกให้ชาวบ้านหมุนวนไปมาอยู่อย่างเดิม อีกทั้งทาง กฟผ.ก็พยายามปัดความรับผิดชอบ ทั้งที่ปัญหาทั้งหมด กฟผ.นั้นเป็นผู้ก่อทั้งสิ้น"  นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขานุการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะกล่าวพร้อมให้ข้อมูลต่อไปว่า นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างว่า การอพยพชาวบ้านทั้งหมดต้องใช้เงินงบประมาณสูงถึง 662 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่สูง ทางครม.จึงมีมติไม่ให้ผ่าน  แต่นายยงยุทธกลับส่งนายอัครเดช  สุขลักษณ์ ตัวแทนคนใกล้ชิดลงมาหลอกชาวบ้านให้เซ็นชื่อเข้าร่วมประชุม โดยบอกว่าถ้ามิฉะนั้นก็จะไม่ได้ย้าย ชาวบ้านต้องจำใจเซ็น ซึ่งทำให้ชาวบ้านเริ่มสับสนและไม่รู้ว่าจะได้ย้ายจริงหรือไม่

 

"รู้ข่าวจากสื่อมวลชนทีหลังว่า นายอัครเดช คนใกล้ชิดของนายยงยุทธ ได้รับมอบหมายให้เข้ามาเพื่อทำการสลายมวลชนชาวบ้านแม่เมาะที่เรียกร้องให้มีการอพยพ ก็ยิ่งทำให้ไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใครอีกแล้ว  เพราะถือว่าไม่มีสัจจะ หลอกให้ชาวบ้านมีความหวังไปวันๆ เท่านั้น" นางมะลิวรรณสะท้อนความรู้สึกและเล่าว่าตัวเธอได้ข้อมูลจากชาวบ้านได้ว่าชาวบ้านได้ถูกเตือนไม่ให้รวมกลุ่มกันเรียกร้องกับเธอ เพราะเธอเป็นเอ็นจีโอซึ่งจะทำให้ชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือช้าลงไปอีก

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา นางมะลิวรรณได้ไปชี้แจงถึงปัญหาดังกล่าวให้กับทางกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่บางกรวย ว่าเหตุใดปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งที่ผ่านมติ ครม.มาตั้งแต่ปีที่แล้ว  อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก็ได้ย้ำกำชับล่าสุดเมื่อครั้งประชุม ครม.สัญจร ที่สุโขทัย   แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด 

 

 

 มะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาฯเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ

 

"เมื่อฉันได้เรียกร้องให้เร่งดำเนินการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย  โดยเฉพาะขอให้นำผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะออกจากพื้นที่ก่อนเป็นกลุ่มแรก แต่นายพายัพ พงษ์พิโรดม ผู้จัดการใหญ่เชื้อเพลิงแห่งแม่เมาะ กลับพูดออกมาว่า ถ้าอพยพชาวบ้านออกมา ทางกฟผ.กลัวว่าจะส่งผลทำให้ กฟผ.จะแพ้คดีศาลปกครองที่ชาวบ้านกำลังฟ้องร้องอยู่  ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่ได้เห็นใจชีวิตคนที่กำลังป่วยใกล้ตายกันเลย มองข้ามในเรื่องของมนุษยธรรม  มีแต่ห่วงผลประโยชน์ของตนเอง ทั้งที่ปัญหาทั้งหมด กฟผ.เป็นคนก่อ" นางมะลิวรรณกล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้รับคำอธิบายว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางกรรมการสิทธิฯ ได้ขอให้นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธานคณะกรรมการบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) จัดประชุมเพื่อพบกับตัวแทนชาวบ้านแม่เมาะเพื่อร่วมกันถกประเด็นในเรื่องปัญหาที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ  เนื่องจากว่า การดำเนินการใดๆ ทั้งหมด นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ด กฟผ. ซึ่งในที่ประชุมมีหลายประเ็ด็นที่พูดคุยกันในวันนั้น  โดยเฉพาะประเ็ด็นการอพยพย้ายหมู่บ้าน ซึ่งทางกรรมการสิทธิฯ กำลังรวบรวมเอกสารข้อมูลที่ได้ประชุมเพื่อจะได้นำข้อเสนอทั้งหมดไปให้หนุ่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

สำหรับปัญหาเรื่องการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่เหมืองแม่เมาะนั้น ชาวบ้านได้เรียกร้องโดยมีการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหลายครั้ง จนมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 ให้ความเห็นชอบในหลักการให้ความช่วยเหลือราษฎรบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ 8 บ้านหัวฝาย หมู่ 1 ต.บ้านดง บ้านห้วยเป็ด หมู่ 1 และบ้านห้วยคิง หมู่ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2548 ได้สรุปเสนอถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมติของคณะกรรมการระดับจังหวัดให้ความเห็นชอบการอพยพราษฎร 480-500 ครอบครัว ใช้งบประมาณ 662 ล้านบาท ในการดำเนินการอพยพพร้อมสาธารณูปโภค โดยงบประมาณที่จะต้องใช้ดำเนินการนั้นให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เป็นผู้รับผิดชอบ

โดยเมื่อครั้งมีการจัดประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เข้าร้องเรียนต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และนายกรัฐมนตรีแสดงอาการฉุนเฉียวที่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข จนถึงกับพูดออกมาว่าจะสั่งปลดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหากยังไม่เร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว และได้มอบหมายให้ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ติดตามให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปดูความล่าช้าว่าเกิดจากกฎระเบียบต่างหรือไม่ แต่จนถึงบัดนี้ ปัญหาดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท