Skip to main content
sharethis


 



"นายสุวัจน์ จันทรธิวงศ์ (หัวหน้าสถานีวิจัยป่าต้นน้ำทะเลสาบสงขลา")


 


ประชาไท—24 ม.ค. 2549 หัวหน้าสถานีวิจัยป่าต้นน้ำทะเลสาบสงขลา เผยปี 2548 เหลือป่าสมบูรณ์เพียงร้อยละ 11.10 ชี้หากทำลายอีกหมดสิทธิต้านภัยน้ำท่วม ภัยแล้งและดินถล่ม แนะทำเกษตรแบบป่าในที่สูง เลิกใช้ยาฆ่าหญ้า - ปลูกพืชคลุมดิน


 


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 มกราคม 2549 ที่อาคารละหมาดบาลาเซาะห์บ้านคลองลำแชง หมู่ที่ 6 ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา มีการจัดเสวนาเรื่อง "ประสบการณ์จัดการดิน น้ำ ป่า คนกับป่าหากินอย่างยั่งยืน" มีผู้เข้าร่วม 100 คน ประกอบด้วย เครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำเขาพระ นักเรียน นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่า


 


นายสุวัจน์ จันทรธิวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยป่าต้นน้ำทะเลสาบสงขลา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยในวงเสวนาว่า จากการศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าต้นน้ำภาคใต้ร่วมกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าในปี 2548 มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ในเขตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเหลือเพียงร้อยละ 11.10 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับป่าไม่ ตนเห็นว่าหากพื้นที่ใดมีป่าสมบูรณ์เหลืออยู่ร้อยละ 50 พื้นที่นั้นจะไม่ค่อยมีภัยพิบัติ ถ้ามีป่าสมบูรณ์ร้อยละ 10 - 20 จะเห็นสภาพความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่ชัดเจนขึ้น แต่ถ้าต่ำกว่าร้อยละ 10 จะเข้าขั้นเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ไม่สามารถป้องกันได้ทั้ง ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้งและดินถล่ม


 


นายสุวัจน์ กล่าวว่า ส่วนปัญหาเรื่องน้ำนั้นเป็นผลมาจากป่า โดยป่าสมบูรณ์ จะมีน้ำไหลออกจากพื้นที่เฉลี่ยปีละ 110,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อตารางกิโลเมตร แต่ถ้าเป็นพื้นที่เกษตรจะมีน้ำไหลออกจากพื้นที่ 2 - 300,000 ลูกบาศก์เมตรต่อตางรากิโลเมตร ซึ่งปริมาณน้ำจำนวนมากไหลออกจากพื้นที่เกษตรในช่วงฤดูฝน แสดงให้เห็นว่าดินไม่สามารถอุ้มน้ำได้ดีกว่าพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ในขณะที่หน้าแล้งจะมีสภาพความแห้งแล้งจะรุนแรงกว่าด้วย


 


ปัญหาที่ตามมาคือ พื้นดินในพื้นที่เกษตรจะถูกชะล้างพังทลายสูง เนื่องจากไม่มีพืชคลุมดิน โดยพื้นที่ป่าสมบูรณ์จะมีอัตราการชะล้างหน้าดินประมาณ 0.5 ตันต่อปีต่อตารางกิโลเมตร ขณะที่พื้นที่เกษตรจะมีการชะล้างสูงถึง 6 ตันต่อปีต่อตารางกิโลเมตร ส่งผลให้ทะเลสาบสงขลาตื้นเขิน สาเหตุมาจากประชากรเพิ่มขึ้นและการขยายตัวของชุมชนทำให้มีความต้องการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้น จึงมีการบุกรุกทำลายป่ามากขึ้น


 


"เราจะเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างไร เราจะทำเกษตรแบบป่าหรือเพิ่มพื้นที่ป่าในพื้นที่เกษตรได้หรือไม่ ซึ่งตนอยากเห็นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ถึงร้อยละ 20 เพราะจะลดความรุนแรงของภัยพิบัติดังกล่าวได้ โดยให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ด้วย มิใช่เพียงการปลูกป่าริมทางหลวงเท่านั้น"นายสุวัจน์ตั้งคำถามและเสนอต่อไปว่า ทางแก้ปัญหาคือ การลดจำนวนประชากรลงจะทำให้แก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าประชากรยังมีจำนวนมากอยู่ ก็ต้องสร้างจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนให้มาก ซึ่งเชื่อว่าจะแก้ปัญหาในระยะยาวได้ ส่วนการแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว ขอเสนอให้สร้างฝายต้นน้ำ หรือฝายแม้ว เพื่อเก็บกักน้ำไว้ส่วนหนึ่ง และดักตะกอนด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเหมาะที่สุดในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


 


นายสุวัจน์ ได้ยกตัวอย่างพื้นที่อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลาซึ่งมีหมอดินคนหนึ่งมาถามหาซื้อที่ดินที่อยู่ใกล้ป่าสมบูรณ์จากตน โดยให้เหตุผลว่า ที่ดินที่มีอยู่ได้ปลูกยางพารามา 4 รุ่นแล้ว ทำให้ดินมีความเสื่อมโทรมมากไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีก แสดงให้เห็นว่า จะมีดินที่เสื่อมโทรมเนื่องจากปลูกยางพาราหลายรุ่นเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้มีหลายแห่งขณะที่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวบ้านมีการลงแขกกันตัดวัชพืช และออกฎห้ามฉีดยาฆ่าหญ้า เพราะจะทำให้สัตว์ที่อยู่ในดิน ซึ่งช่วยทำให้ดินร่วนซุยพลอยตายไปด้วย


 


"ขณะนี้เราอยู่ในพื้นที่วิกฤติทั้งเรื่องดิน น้ำ และ ป่า ซึ่งจะสัมพันธ์กับภัยธรรมชาติ ทั้ง น้ำท่วม ภัยแล้งและดินถล่ม เพราะฉะนั้นจึงของเสนอให้มีการตั้งระบบเตือนภัยด้วย"นายสุวัจน์ กล่าว


 


นายไข่ นวลแก้ว เครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำเขาพระ กล่าวว่า ตนทำงานด้านการอรุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำเขาพระมานาน ไม่ได้ไปจับกุมผู้ที่บุกรุกป่า แต่ได้รณรงค์ให้ชาวบ้านช่วยอนุรักษ์ป่า ลดการใช้สารเคมี แต่ก็เกิดความขัดแยงอยู่ จนถึงขั้นมีการชกต่อยกัน แต่ตนก็ไม่ท้อถอย จะร่วมกันทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำต่อไป


 


นายสินธุ แก้วสินธุ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้ กล่าวว่า การจัดการป่าจะแยกไม่ออกจากวิถีชีวิตได้ เนื่องจากในสวนอาจมีป่า หรือ ในป่าอาจมีสวน โดยการจัดการป่าต้องเป็นไปในแบบกระจายอำนาจให้กับชุมชนด้วย และต้องมีความเป็นธรรม โดยไม่ละเมิดส่วนใดส่วนหนึ่งของชุมชนด้วย


 


นายสุวัจน์ เปิดเผยกับ "ประชาไท" หลังการเสวนาว่า ข้อมูลพื้นที่ป่าสมบูรณ์ดังกล่าว ได้มาจากการสำรวจในพื้นที่จริงและจากภาพถ่ายดาวเทียม ในโครงการชุมชนกับการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่ป่าต้นน้ำภาคใต้ มีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2546 - 2550 โดยตนจะรับผิดชอบเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยพื้นที่ป่าสมบูรณ์ร้อยละ 11.10 ดังกล่าว มีพื้นที่เท่ากับ 782.57 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่ทั้งหมด 1029.12 ตารางกิโลเมตร ของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แต่ยังเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ต้องรอสรุปขั้นสุดท้ายอีกครั้ง


 


จากการสำรวจยังพบว่า มีพื้นที่ต้นน้ำแต่ไม่ได้เป็นป่าสมบูรณ์ อยู่ถึงร้อยละ 6.67 หรือ ประมาณ 467.23 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เกษตร ได้แก่ยางพาราและสวนผลไม้ แต่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบเปิดโล่งซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีพืชคลุมดิน มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าหญ้า ทั้งที่จริงน่าจะทำเป็นพื้นที่เกษตรแบบป่า เช่นการทำป่ายางในอดีต จึงสามารถทดแทนป่าได้ส่วนหนึ่ง และช่วยลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติได้ ส่วนในภาพรวมของภาคใต้ มีป่าสมบูรณ์เหลืออยู่ประมาณร้อยละ 12 เท่านั้น


นายสุวัจน์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการบุกรุกป่ามีน้อยมาก เนื่องจากประชาชนให้ความสำคัญกับป่ามากขึ้น และเจ้าหน้าของรัฐได้เข้มงวดกับผู้บุกรุกป่ามากขึ้น เพราะฉะนั้นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรงในช่วงปี 2520 - 2540 แต่หากยังมีการบุกรุกป่าอยู่อีก ก็คงหลีกเลี่ยงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นไม่ได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net