Skip to main content
sharethis





 


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้บรรยายเรื่อง "หลักสูตรเรียนรู้มลายูศึกษาเพื่อความสมานฉันท์" ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ในตอนหนึ่งได้วิเคราะห์ถึงขบวนการต่อต้านรัฐไทยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ว่า เหตุใดขบวนการต่อต้านรัฐไทยจึงอ่อนกำลังลง และไม่ประสบผลสำเร็จ "ประชาไท" ขอเรียบเรียงมาเสนอ ณ ที่นี้


 


0 0 0


 


เราจะพบว่าการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐไทยนี้ จะนำโดยบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือ อาจเป็นหรืออาจไม่เป็นผู้นำทางศาสนาก็ได้ ในขณะเดียวกันปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ไปเรียนจากที่อื่นๆ เริ่มเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐไทยมากขึ้น


 


กลุ่มแรกที่มีความสำคัญและควรจะพูดถึง คือกลุ่มที่เรียกว่า B.R.N หรือ "แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ" ตั้งขึ้นประมาณปี 1960 เป็นกลุ่มแรกที่มีเป้าหมายทางการเมืองแบบสมัยใหม่ คือไม่ได้คิดจะไปฟื้นฟูรัฐปัตตานี ต่อต้านกับไทยเฉยๆ แต่คิดถึงการเมืองสมัยใหม่ เป็นต้นว่า เขาประกาศความเป็นกลาง คืออย่าลืมว่า ในช่วงปี 1960 คือช่วงยุคสงครามเย็น


 


ทำไมถึงประกาศความเป็นกลาง ก็เพราะในช่วงปี 1960 นี้ สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองขั้วมหาอำนาจนี้ มันก่อให้เกิดกลุ่มประกาศตัวเป็นกลาง เช่นกรณีมีการประชุมที่บันดุง มีชาติเอเชีย อัฟริกา เข้าร่วมเป็น 100 ชาติเลย ก็หวังจะได้รับความร่วมมือจากกลุ่มนี้ เพราะคุณก็มองเห็นแล้วว่า ตรงนี้มันไม่เอาคุณ อเมริกามันไม่เอาคุณแน่ ฉะนั้นคุณก็ประกาศความเป็นกลาง หวังจะได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มที่ประกาศตัวเป็นกลางนั่นเอง


 


เป้าหมาย บี อาร์ เอน ก็คือ เอกราชของปัตตานี แล้วถือว่าความเป็นเอกราชของปัตตานีนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำให้เกิดการรวมชาติมลายูในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นขั้นต้นที่จะไปรวมชาติมลายู พวกเขาคิดว่า อยากจะสถาปนาสังคมนิยมอิสลาม


 


บี อาร์ เอน จะก้าวหน้ามากๆ คือเมื่อเปรียบเทียบกับการต่อต้านในระยะหลัง จะพบว่ากลุ่มต่อต้านระยะหลัง มันจะไม่มีนโยบายเกี่ยวกับรัฐ และไม่มีนโยบายเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองวางให้เราเห็นข้างหน้า ว่าถ้าหากเกิดต่อสู้จนชนะ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป แต่ บี อาร์ เอน นั้นมีเป้าหมาย เขาบอกเลยว่า อยากจะเป็นสังคมนิยมอิสลาม คือเขาจะต่อต้านลัทธิอาณานิคม เขาจะต่อต้านจักรวรรดินิยม จะต่อต้านระบบทุนนิยม


 


เขาทำตามที่ นาฟเตอร์ เขาเชื่อที่ประธานาธิบดีนาฟเตอร์ แห่งอียิปต์พูดถึงเอาไว้ ก็คือ เขาไม่ต้องการเอารูปแบบของโซเวียต คือไม่ต้องการคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เอารูปแบบของตะวันตกเหมือนกัน เพราะมันคือรูปแบบต้นกำเนิดของการล่าอาณานิคมนั่นเอง อย่าลืมนะว่า สำหรับ บี อาร์ เอ็น นั้น มองไทยเป็นเจ้าอาณานิคม เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่ต้องการแบบตะวันตกเหมือนกัน


 


มีการกล่าวกันไว้ซึ่งจริงหรือเท็จไม่รู้ว่า บี อาร์ เอน ต้องการที่จะสร้างแนวร่วมกับทุกฝ่าย ใครก็ได้ที่ต่อต้านไทย ก็เลยทำให้เขาถูกกล่าวหาว่า ค่อนข้างจะสนิทสนมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อันนี้อาจเป็นข่าวที่ทางกองทัพไทยสร้างขึ้นก็ได้ เพื่อจะทำให้เรารังเกียจ บี อาร์ เอน ซึ่งจริงไม่จริงก็ไม่รู้


 


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะต่อต้านรัฐไทย แต่เขาก็ประณามลักษณะที่เป็นศักดินาของสังคมมลายูด้วย คือไม่ได้คิดที่จะฟื้นฟูเป็นรัฐปัตตานีแบบสุลต่าน หรือให้กลับมาเป็นแบบศักดินาแบบเดิม เขาก็ไม่เอาด้วย ในขณะเดียวกัน บี อาร์ เอน ก็ตัดสินใจใช้การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในการต่อต้านกับรัฐไทย ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนพอสมควร เพราะในช่วงปี 1960 ไทยค่อนข้างจะเอียงเข้าหาอเมริกามาก และยิ่งสงครามเวียดนามก็ยิ่งทำให้ไทยเอียงเข้าหามากขึ้น ทำให้กลุ่มต่อต้านอเมริกา แอบให้การสนับสนุน บี อาร์ เอ็น บ้างเหมือนกัน


 


อย่างไรก็ตาม นโยบายรวมชาติมลายูซึ่งไม่ว่าจะเป็น Gampar หรือ B.R.N มันก็มีปัญหา เพราะเมื่อตอนประเทศมลายูประกาศเอกราชเป็นประเทศมาเลเซีย ซูการ์โน ไม่ยอมรับ และวางนโยบายเผชิญหน้ากับมาเลเซีย มีการส่งกำลังทหารมาขึ้นบกที่มาเลเซีย รบราฆ่าฟันกัน ทำให้นโยบาย Pan Malayism กลายเป็นเรื่องตลกไป เพราะตัวซูการ์โน กลับเป็นฝ่ายเข้ามารบราฆ่าฟันกันเอง


 


ในขณะที่ผู้นำกลุ่ม B.R.N ก็ถูกกล่าวหาว่า เอียงข้างไปทาง ซูการ์โน มากเกินไป ผลเลยทำให้เกิดความแตกต่างแยกในกลุ่มนำของ BRN ทั้งๆ ที่เพิ่งก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาไม่นาน ในขณะเดียวกันกลุ่ม BRN ก็ถูกทางทหารไทยส่งสายเข้าไปแทรกลงในกลุ่มได้สำเร็จ


 


ฉะนั้น แผนการที่จะลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐไทยพร้อมๆ กัน ก็ประสบความล้มเหลว เพราะว่า ในปี 1961 ถูกทางฝ่ายไทยเข้าไปจับกุม และก็ยึดอาวุธไปได้จำนวนมาก


 


ต่อจากนั้น จะมี "กลุ่มต่อต้านที่ปฏิบัติการแบบกองโจร" ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านที่ไม่มีแผนการเศรษฐกิจ การเมือง สังคมอะไรทั้งสิ้น แต่ว่าต่อต้านรัฐไทยอย่างเดียว แล้วปฏิบัติการแบบกองโจร ซุ่มโจมตีกองกำลังทหาร ตำรวจ แต่ก็ทำงานไม่ได้มากเหมือนกัน เพราะกลุ่มที่เราเรียกว่า "โจรก่อการร้าย" ที่ภาษาราชการไทยเรียก ก็จะกระจายเยอะแยะไปหมด แต่ทำงานไม่ได้ผล เพราะพวกเขาเองก็ขัดแย้งกันไปด้วย จึงเป็นกลุ่มเล็กๆ ตลอดมา ไม่สามารถรวมเป็นกลุ่มใหญ่ได้


 


ในขณะเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า จำเป็นต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กันกับการปราบปราม ฉะนั้นจึงเริ่มลงทุนไปในพื้นที่ 3-4จังหวัดภาคใต้มากขึ้น ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี สฤษดิ์สามารถเปิดโรงเรียนประถมได้ถึง 78 แห่งใน 4 จังหวัดภาคใต้ และสร้างโรงเรียนฝึกเตรียมข้าราชการพลเรือน เป็นโรงเรียนนายอำเภอหรืออะไรสักอย่างขึ้นที่ยะลา เพื่อจะสอนให้รู้จักพื้นฐานศาสนาอิสลาม ภาษามลายู เตรียมข้าราชการที่จะออกไปทำงานในเขต 4 จังหวัดภาคใต้ มีการส่งเสริมการทำสวนยาง สวนปาล์ม เป็นต้น


 


แต่ทั้งหมดที่จอมพลสฤษดิ์ ทำนี้ ไม่ค่อยได้ผลแก่ประชาชนชาวมลายูเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เช่น เปิดโรงงานปาล์ม เปิดพื้นที่ทำนิคมสร้างตนเองใน 4 จังหวัดภาคใต้ ประมาณ 50-60 แห่ง แต่คนที่เข้าไปอยู่ส่วนใหญ่กลับกลายเป็นคนอีสาน เพราะว่าเขาไม่มีที่ดิน เขาต้องการที่ดินอยู่แล้ว และในขณะเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ก็มีนโยบายอยู่แล้ว ที่จะให้คนอีสานไปท่วมทับคนมลายูนั้นให้ได้ เป็นต้น


 


ในช่วงระหว่างตั้งแต่ปี 1968 - 1975 มีการก่อเหตุมากที่สุด ตัวเลขของทางการไทย ระบุว่า มีการสังหารขบถไปจำนวน 300 กว่าคน แต่คนมลายูบอกว่าไม่ใช่ 300 กว่า แต่มันมีการสังหารคนมลายูใน 3-4 จังหวัดภาคใต้เป็นพันคนเลย


 


พอหลังสงครามเวียดนาม เมื่อสงครามเย็นใกล้จะยุติลง สถานการณ์ของโลกทำให้เห็นว่า สงครามประชาชน ซึ่งจะดึงเอาความช่วยเหลือจากต่างชาติเข้ามาจนได้รับเอกราชในเร็ววันนั้น มันเป็นความคิดที่ไม่มีใครเชื่ออีกแล้ว สงครามประชาชนกลายเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครศรัทธาอีกต่อไป


 


นับตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา การนำของ B.R.N. หรือกลุ่ม"แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ" ที่เป็นกลุ่มก้าวหน้าที่สุด เริ่มอ่อนกำลังลง มีกลุ่มอื่นเข้ามาแทนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน B.R.N. ก็แตกแยกกันมากขึ้น กลายเป็นกลุ่มเล็กๆ ต้องมีการ รีกรุ๊ป มีการรวมตัวขึ้นใหม่อยู่เรื่อยๆ เป็นต้น


 


ในช่วงนี้เอง ก็เกิดกลุ่มใหม่อีกกลุ่มที่มีความสำคัญ กลุ่มพูโล (PULO) ชื่อเต็มคือ Pattani United Liberation Organization หรือสหองค์กรปลดปล่อยปัตตานีไทย


 


เมื่อเอ่ยชื่อ PULO เราจะนึกอะไร สังเกตได้ว่า หนึ่ง เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษทั้งหมด ไม่ใช่มาจากภาษามลายู สอง คำว่า POLO ทำให้นึกถึงอะไร ถ้าตัดตัว O ตัวแรกออกไป ก็จะกลายเป็น PLO ทันที


 


เพราะว่า พูโล เป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจาก PLO หรือกลุ่มปาเลสไตน์ค่อนข้างสูงมาก คนก่อตั้งกลุ่มนี้เป็นชาวมลายู แต่ไปใช้ชีวิตอยู่ในอินเดีย ไม่ใช่ปากีสถาน ซึ่งชี้ให้เห็นสายสัมพันธ์ภายนอกสูงมาก คือมีสายสัมพันธ์ภายในน้อย แต่สายสัมพันธ์ภายนอกจะมีสูง ซึ่งอิทธิพลอาหรับจากประเทศตะวันออกกลาง ทั้ง ปาเลสไตน์ ซาอุดิอาระเบีย และอื่นๆ เข้ามาที่กลุ่มนี้เยอะมาก


 


ขอให้ข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้คุณจะไม่ค่อยพบอิทธิพลอาหรับ แต่ตั้งแต่ พูโล เป็นต้นมา คุณจะพบอิทธิพลอาหรับสูงมาก และเป้าหมายของกลุ่มนี้ก็แน่นอนที่สุด คือ "ปลดแอกปัตตานี" ซึ่งชัดเจนอยู่แล้ว


โดยมีวิธีการคือ จะปลุกเร้าประชาชน ปลุกระดมประชาชนให้ขึ้นมาสู้เลย ไม่เสนอนโยบายเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอะไรทั้งสิ้น แล้วทางการไทยเชื่อว่า น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากกัดดาฟี แห่งลิเบีย  ทั้งหมดก็คือจะชี้ว่า มันเอนไปทางตะวันออกกลาง ซึ่งพูโลกลุ่มนี้ คิดอะไรรอบคอบพอสมควร คือจะรู้เลยว่า มันไม่ใช่เพียงแค่การลุกฮือขึ้นมาแบบ BRN มีอำนาจ แล้วประกาศเป็นเอกราช ซึ่งทำไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก แต่หนทางนั้นคดเคี้ยวยาวไกล ต้องกินเวลายาวนานมากที่จะต่อสู้กับรัฐไทย


 


ฉะนั้น สิ่งที่เขาเรียกร้อง คือต้องเร่งการศึกษาของเยาวชนมลายูให้ได้ เพราะถ้าจะมีรัฐเอกราช จะต้องสร้างการศึกษาขึ้นมาให้ได้ก่อน เพื่อที่ว่าจะได้เตรียมคนไปเป็นคนทำงานในรัฐเอกราชปัตตานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในภายหน้านี้ได้


 


จึงเห็นได้ว่า พูโลจะพยายามโฆษณาการกระทำของตัวเอง การดำเนินงานของตนเองในโลกมุสลิม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ โลกมุสลิมของตะวันออกกลาง บวกกับปากีสถาน คือพยายามจะให้โลกมุสลิมยอมรับการดำเนินงานของตนเอง แล้วก็เลิกพูดถึงเรื่องของ Pan Malayism หมายถึงเรื่องการรวมชาติมลายูในความหมายกว้าง คือไม่เอาแล้ว เพราะว่าไม่มีใครเขาเอาด้วยอยู่แล้ว


 


อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญ ก็คือ BNPP แนวร่วมแห่งชาติเพื่อการปลดปล่อยปัตตานี กลุ่มนี้อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นกลุ่มพวกขวาของขบวนการต่อต้านรัฐไทย เกิดขึ้นในปี 1971 ซึ่งเกิดขึ้นในกลันตัน โดยกลุ่มนำกลุ่มนี้ มักจะเป็นนักเรียนไทยจาก 3-4 จังหวัดภาคใต้ ไปเรียนที่ปากีสถาน อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นกลุ่มคอนเซอร์เวทีฟของการเคลื่อนไหว


 


การโฆษณาของกลุ่ม BNPP จะเน้นไปที่การฟื้นฟูปัตตานีในอดีต ปัตตานีตามอุดมคติในอดีต และตีความศาสนาอิสลามในแบบอนุรักษ์นิยมค่อนข้างมาก ไม่ว่าในเรื่องการแต่งกายหรืออะไรก็แล้วแต่ กลุ่มนี้ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก และพวกนี้ไม่อาจจะรับ BRN ได้ เพราะไม่อาจจะรับเอาระบอบสังคมนิยม แต่อยากจะรักษาจารีตประเพณีอิสลามนั้นไว้


 


นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกมาก แต่ไม่ค่อยมีความโดดเด่นเท่าไร ซึ่งทางการไทยได้นับกลุ่มที่เคลื่อนไหวเอาไว้ในปี 1979 ได้ทั้งหมด 84 กลุ่ม หลังจากนั้นก็จะมีกลุ่มเล็กๆ ที่ต่อต้านเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก ซึ่งกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า คือเรื่องที่มันน่าจะนำไปเจรจากันบนโต๊ะ มันกลับกลายเป็นเรื่องเละไปหมด การเป็นเรื่องการต่อต้าน เพียงแค่ใครมีมีดมีพร้าก็ออกมาต่อต้านกันไป และที่เป็นโจรก็มี เป็นโจรกระจอกอย่างที่ว่านั้น ก็ยอมรับว่ามันมีจริงๆ แต่ทำไมมันถึงมีโจรกระจอกเกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะว่ามันอาจมีคนปกครองที่กระจอกกว่าก็ได้


 


ในปี 1981 พวกพูโล นั้นแตกแยกกัน พอถึงปี 1984 กลุ่ม BRN ที่ขัดแย้งกันเองก็แยกกันออกเป็น 3 กลุ่ม ยิ่งนับวันก็แตกแยกกันเอง จนกลายเป็นหลายๆ กลุ่ม


 


พอถึงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ หนึ่ง อุดมการณ์ที่ต้องการปลดปล่อยชาตินั้นไม่เหลือพลังเท่าไรอีกแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่ประธานเหมา เจ๋อ ตุง เสียชีวิตลง แทบจะไม่เหลือพลังอะไรอีกเลย แม้กระทั่งโจรจีนที่อยู่ในมาเลเซีย ประเทศจีนก็ยังไม่ช่วยเหลือเลย จนต้องกลายเป็นโจรกระจอกไป ต้องยอมมาเจรจากับ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มาอยู่ที่เบตง กลายเป็นกองกำลังที่ไร้ความสำคัญไปเลย


 


ในขณะเดียวกัน ไทยก็เริ่มใช้นโยบาย 66/23 ซึ่งก็ได้นำมาใช้กับกลุ่มมลายูที่ต่อต้านรัฐไทยเช่นกัน เพราะทางการไทยพยายามจะโยงว่า คนมุสลิมนั้นเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกับคอมมิวนิสต์ ก็เลยคิดว่าคนมุสลิมเป็นคอมมิวนิสต์ ก็ได้ผลเหมือนกัน มีตัวเลขจากทางการบอกว่า มีคนเข้ามามอบตัวจำนวน 400 กว่าคน


 


เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทั้งกลุ่มพูโล กลุ่ม BRN มันเริ่มอ่อนกำลังลง จนกลายเป็นกลุ่มที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ไปเสียแล้ว ผู้นำทางศาสนาของ BRN ออกจากป่าเข้าเมือง แล้วประกาศยุติการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ จะใช้การต่อสู้ทางการเมือง จุดมุ่งหมายแทนที่จะเป็นเรื่องของเอกราชปัตตานี กลับกลายเป็นเรื่องของการปกป้องศาสนาอิสลาม ก็เป็นอันว่า กลุ่มเหล่านี้ก็ไม่ค่อยมีความหมาย


 


จากช่วงนี้นี่เอง ทำให้เกิดกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา มีกลุ่มที่น่าสนใจโดยมีข้อมูลจากทางการซึ่งไม่ขอยืนยัน เพราะเป็นข้อมูลที่มาจากฝ่ายทหาร ให้ข้อมูลมา ว่ากันว่า ในปี 1995 มีกลุ่มที่ชื่อ GMIP (GMIP : GERAKAN MUJAHIDIN PATTANI)


 


G มาจากคำว่า GERAKAN แปลว่า การเคลื่อนไหว


M มาจากคำว่า Mujahiddin แปลว่า นักรบ


I มาจากคำว่า Islam


P มาจากคำว่า Pattani


กาลักกัน มูจาฮีดีน อิสลาม ก็หมายถึง กลุ่มเคลื่อนไหวของเหล่านักรบอิสลามเพื่อปัตตานี


 


G.M.I.P.มาจากภาษามลายู ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ถ้าชื่อกลุ่มมาจากภาษามลายู ก็หมายความว่า เป็นกลุ่มที่มีรากฐานมาจากข้างใน หากชื่อกลุ่มมาจากภาษาอังกฤษ ก็หมายถึงว่า กลุ่มนั้นมีการเชื่อมโยงจากข้างนอก


 


จากข้อมูลทางทหารบอกว่า กลุ่ม GMIP นี้ ตั้งขึ้นเมื่อปี 1995 โดยคนๆ หนึ่ง ชื่อ Nasori Saeseng ที่น่าสนใจก็คือ คนๆ นี้มีประสบการณ์ในการรบมาก่อน โดยเคยเข้าไปรบในอัฟกานิสถาน เป็นมูจาฮีดีนที่ไปช่วยรบกับโซเวียต ซึ่งในตอนแรก กลุ่ม GMIP ยังไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวอะไรมาก จะค่อนข้างรอบคอบ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวอะไร แล้วก็เริ่มปฏิบัติการคือ การบุกเข้าปล้นปืนทหาร เมื่อปี 2004 เป็นการเปิดฉากรุกใหญ่เลย และก็รุกมาถึงทุกวันนี้


 


ที่น่าสังเกตก็คือ คนกลุ่มนี้ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอะไร หรืออาจจะมีแต่ไม่ยอมเสนอ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปมองมูจาฮีดีนที่รบกันที่อัฟกานิสถาน ก็มีการรบกันโดยไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอะไร แต่จะเป็นการรบเพื่อขับไล่เอาพวกกาฟีออกไปจากที่ของตน แม้แต่ชื่อ มูจาฮีดีน ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ แปลว่า นักรบเพื่ออิสลาม เป็นนักรบเพื่อศาสนา ฉะนั้น กลุ่มนี้จะเน้นในเรื่องศาสนามาก แต่ไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีแผนการทางการเมือง ทางสังคมแต่อย่างใด


 


กล่าวกันว่า กลุ่มนี้แหละที่สืบกันมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งต้องฟังหูไว้หูนะครับ สรุปก็คือ คุณจะพบได้เลยว่า ประชาธิปไตยไทยที่เบ่งบานมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2540 เล็กน้อย มาจนถึงวันนี้ร่วม 8 ปี ในแง่หนึ่งคนไทยก็ผิดหวัง คนไทยที่อยู่นอก 3 - 4 จังหวัดภาคใต้ก็ผิดหวัง คือมันไม่ได้เป็นคำตอบให้แก่พวกเขา และถามว่าที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงทุกวันนี้ ถามว่ามันมีผลกระทบที่จะเปลี่ยนต่อการเคลื่อนไหวใน 3-4 จังหวัดภาคใต้หรือไม่ คำตอบคือศูนย์ ไม่มีเลย เพราะว่า ประชาธิปไตยที่เราค่อนข้างจะพอใจนี้ มันไม่มีคำตอบที่น่าพอใจกับชาวมลายูเลย เพราะ 8 ปีผ่านมา มันไม่ได้เกิดผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของพวกเขาเลย


 


มีข้อที่น่าสังเกตที่อยากจะพูดไว้ กับการต่อสู้เคลื่อนไหวในระยะที่สามนี้


 


1. การต่อสู้ที่ไปผูกอยู่กับการรวมชาติมลายูนั้น เป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะว่ามันเป็นมลายูในความหมายกว้าง และไม่ค่อยมีความหมายกับประชาชนในแถบนี้โดยสิ้นเชิง ไม่มีใครชูนโยบาย Pan Malayism กันอีกแล้ว ทุกคนอยากแยกดินแดนออกไปจากประเทศไทย ถามว่าหากแยกไปอยู่ที่ไหน ไม่มีคำตอบ กลุ่ม GMIP ก็ไม่ได้บอกให้คนรู้ว่า จะให้รัฐปัตตานีเป็นเอกราช หรือที่เรียกกันว่า ปัตตานีดารุสราม หรือปัตตานีดินแดนแห่งความสงบ และถามว่า จะเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียหรือเอกราช ไม่มีใครรู้แผนการเหล่านี้ ซึ่งไม่มีใครคิดอีกแล้วว่าจะไปรวมกับอินโดนีเซียที่กว้างใหญ่ไพศาลเหมือนอย่างที่เป็นมาในสมัยก่อน


 


2. กลุ่มต่อต้านรัฐไทยใน 3-4 จังหวัดภาคใต้ หวังความช่วยเหลือจากต่างประเทศมากเกินไป ซึ่งตนเห็นว่ามันเหมือนที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พ.ค.ท.ไปหวังพึ่งพาจากต่างประเทศมากเกินไป ซึ่งตนไม่ค่อยศรัทธาเท่าไรที่ไปฝากความหวัง ความช่วยเหลือจากต่างประเทศมากเกินไป


 


ในสถานการณ์สงครามเย็น การหวังของความช่วยเหลือจากต่างประเทศนั้น อาจจะช่วยได้ เช่น จีนให้เงินแก่ พ.ค.ท.เพื่อให้ พ.ค.ท.บั่นทอนกำลังของศัตรูของจีน แต่ไม่ได้สนใจว่าประชาชนไทยจะได้ถูกปลดปล่อยหรือไม่ถูกปลดปล่อย มันไม่เกี่ยว แต่ต้องการอย่างเดียวคือทำอย่างไรให้ศัตรูอ่อนแอลงไป


 


พอสถานการณ์มันพลิกผันเร็วมาก แม้ในตอนสงครามเย็น จึงไม่มีประโยชน์ ยิ่งหลังสงครามเย็นก็ยิ่งไม่มีประโยชน์ จะพบเลยว่า ไอ้กลุ่มเหล่านี้ทำอะไรให้ประชาชนน้อยมากๆ เลย ไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใน


 


เท่าที่ตนได้ศึกษาการเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ของชาวปัตตานี นราธิวาส ยะลา ไม่ว่าเรื่องของเขื่อนสายบุรีก็ตาม เรื่องของการประท้วง การฆ่าที่สะพานกอตอ.ก็ตาม ตนคิดและเข้าใจว่า ไม่ได้มีกลุ่มพวกนี้อยู่เบื้องหลัง สงสัยว่า แม้กระทั่งการเคลื่อนไหวที่ตากใบ ตนก็สงสัยว่า พวกนี้ไม่เกี่ยว หรือเกี่ยวก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเกี่ยว


 


ฉะนั้น พวกเขาไม่ได้สนใจเลยในเรื่องของการเคลื่อนไหวในทางการเมืองภายใน ถ้าลองเปรียบเทียบคนกลุ่มนี้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จะเห็นว่า กลุ่มพวกนี้ไม่ได้สนใจสื่อเลย หรือสนใจน้อยมาก ไม่มีสถานีวิทยุมลายูประจำประเทศไทย ซึ่งเปรียบเทียบกับ พ.ค.ท.เป็นสิ่งที่สำคัญมากของ พ.ค.ท.ที่จำเป็นต้องมีสถานีวิทยุเป็นของตัวเอง ซึ่งหากพวกเขาต้องการมีสถานีวิทยุขึ้นมา ตนว่าซูการ์โนช่วยเหลือได้ ไปตั้งไว้ที่เกาะสุมาตรา หรืออาเจะห์ หลบๆ ซ่อนๆ แล้วก็ปฏิเสธกับรัฐบาลไทย แล้วรัฐบาลไทยจะว่ายังไงได้ แต่จะเห็นว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีความสนใจ ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยเลย


 


นอกจากนั้น เชื่อเลยว่า การจัดตั้งไม่มีการรัดกุมเพียงพอ จึงแตกแยกกันง่ายมาก จึงปล่อยให้มีการแตกแยกภายในอยู่บ่อยๆ ทำให้สงสัยว่า ถ้าสมมุติว่า กลุ่ม GMIP เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำอยู่ในขณะนี้ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา จนถึงที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ รวมไปถึงกรณีการปล้นปืนทหาร ไม่แน่ใจว่า เขาคุมทุกอย่างได้จริงหรือเปล่า หรือว่ามันมีองค์กรภายในที่แตกแยกจนทำให้คุมไม่อยู่แล้ว


 


นอกจากนี้ มันยังไม่เป็นผลดีต่อการปฏิบัติอีกมากในรอบปี 2004 อย่างกรณีการปล้นปืนทหาร ถ้าสมมติว่าคุณไปปล้นปืนทหารแล้วเอาไปขายเอง เป็นการปล้นเอง ถือว่าเป็นการกระทำที่ผมคิดว่าเป็นความฉลาดมากที่ทำเพื่อชาวมลายู โอเค ดี ใช้ได้เลย เพราะมันกดขี่ข่มเหงกู กูจึงปล้นปืนเพื่อจะเอาไปยิงมันนั่นแหละ แต่ว่าการไปยิงคนขายไอติม มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย คุณไปยิงเด็ก พระ ชาวบ้านร้อยแปดพันประการ ซึ่งถือว่า การปฏิบัติการเหล่านี้ ไม่ได้มีการวางแผนที่ดีพอ แสดงถึงการวางแผนที่ใช้ไม่ได้ เพราะถึงแม้จะใช้ความรุนแรงขนาดไหนก็ตามแต่ คุณไม่สามารถที่จะทำให้รัฐไทยแตกทำลายได้


 


อย่าลืมว่า เราอยู่กับเขามากว่าสองร้อยปี การที่จะทำให้รัฐไทยแตกทำลายได้ ไม่ใช่แค่คุณไปไล่เที่ยวยิงนายอำเภอ ยิงผู้พิพากษา ไอ้นี่ไม่สำคัญ คุณยิงเขาตาย เขาก็ตั้งคนใหม่มาแทน มันไม่มีปัญหา แต่คุณให้หยุดขายของวันศุกร์นี่ ถือว่าคุณแน่ เพราะวันศุกร์ไม่ใช่วันหยุดราชการ คุณสั่งให้มันหยุดได้ นี่คือเบรค ไทย สเตรท ทำให้รัฐไทยแตกได้ แต่คุณก็ทำไม่จริง เพราะไม่กี่อาทิตย์คุณก็เลิก


 


เพราะฉะนั้น ความรุนแรงจึงไม่ได้นำไปสู่เป้าหมาย จุดประสงค์สำคัญคือคุณจะต้องทำลายรัฐไทยให้ได้ ทั้งๆ ที่เป็นรัฐเฮงซวยเป็นบ้า คุณก็ทำไม่ได้


 


ประเด็นต่อมาที่อยากตั้งข้อสังเกตก็คือ คำตอบของความเดือดร้อนแสนสาหัสที่ประชาชนชาวมลายูประสบอยู่ภายใต้รัฐไทย ไปตีความอิสลามให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ก็ไม่ช่วยอะไร เพราะอิสลามก็เหมือนศาสนาอื่นๆ ในโลกนี้ที่ผ่านความเปลี่ยนแปลงอะไรมามาก แม้แต่ในภาคใต้ของไทย ซึ่งก็ไม่ได้เป็นนักศึกษาศาสนาอิสลามที่เก่งมากนัก คุณจะพบความเห็นที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่แตกต่างกันเยอะแยะมากเลย เมื่อไม่นานมานี้ มีการประชุมกันที่ศูนย์สตรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีนักวิชาการมลายูมาพูดกัน ก็เถียงกันเอง มีความเห็นกันมาก


 


ศาสนาอิสลาม ถ้าคุณไปตีความให้มันหยุดตายนิ่งอยู่กับที่ ให้เป็นเรื่องเก่าแก่โบราณ ไม่ใช่คำตอบที่คุณจะไปเผชิญกับรัฐไทยได้ ไม่ใช่คำตอบที่คุณจะไปเผชิญกับโลกสมัยใหม่ได้ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีตีความของกลุ่มต่อต้านที่เป็นชาวมลายู ที่นับถือศาสนาอิสลามมีเยอะแยะมาก ที่ตีความแบบนี้ เป็นต้น


 


จริงๆ แล้ว การตีความแบบนี้ เป็นการตีความแบบนักปราชญ์ของตะวันออกกลาง ของกลุ่มที่หันกลับไปยึดพื้นฐานของศาสนาที่อยู่ในตะวันออกกลาง และอย่าลืมว่า ศาสนาอิสลามที่นับถือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่ศาสนาอิสลามของตะวันออกกลาง มันถูกปรับเปลี่ยนโดยพวกซูฟี พวกโบโม๊ะ เป็นต้น จนกลายเป็นศาสนาอิสลามแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 


ตกลงคุณไปหยุดศาสนาอิสลาม แล้วกลายเป็นศาสนาใหม่ของประชาชน สังเกตดูคนมุสลิมที่แต่งตัวดำปึ้ดไปทั้งหมด ปิดคลุมทั้งหมด และเปิดให้เห็นเพียงลูกตา ซึ่งผมคิดว่า คนมุสลิมที่ภาคใต้ก็ตกใจที่เห็นคนที่แต่งกายเช่นนี้เหมือนกัน พอๆ กับที่พวกเราตกใจ ก็เพราะว่าเขาไม่เคยเห็น เพราะการแต่งกายแบบนั้น มันอยู่ในลิเบีย ปาเลสไตน์ ไม่ใช่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการตีความศาสนาแบบนี้ ไปหยุดศาสนาอิสลามแบบนี้ ไม่ได้เป็นผลดีอะไรเลย ในทรรศนะของผม เพราะมันเป็นคนละเงื่อนไขกันเลย


 


ประเด็นสุดท้ายก็คือ จริงๆ แล้ว ความอ่อนแอของกลุ่มต่อต้านรัฐไทยนี้มีเยอะแยะมากๆ และก็น่าเห็นใจที่เห็นเขาอ่อนแอแบบนี้ เพราะว่าเขาพยายามจะใช้อะไรมากมาย แต่ถูกทำลาย ถูกอุ้ม ถูกฆ่าอะไรร้อยแปด ซึ่งจริงๆ แล้วคุณสามารถแย่งชิงประชาชนมุสลิมกลับคืนมาจากรัฐไทยนั้นง่ายแสนง่าย แต่คุณโชคร้ายที่คุณอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ใช้ปัญญาน้อยมากๆ เหมือนกัน ผลก็คือว่า มันทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งตำรวจ ทหาร ทั้งชาวบ้าน ต้องตายโดยไม่จำเป็นเยอะมากซึ่งกำลังเกิดขึ้นในขณะนี้


 


เพราะฉะนั้น ถ้าคุณจะโกรธเคือง ไม่ใช่แค่คุณจะโกรธเคืองคนที่ยิงตำรวจอย่างเดียว คุณต้องโกรธเคืองไอ้คนโง่ที่มันใช้ตำรวจ ทหารให้ไปตายโดยไม่จำเป็นด้วย มันถึงจะเป็นธรรม


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net