ทีดีอาร์ไอชี้ "30 บาท" เงินไม่พอ เสนอทางเลือกเพิ่ม VAT

 

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ นักวิจัยโครงการระบบประกันสุขภาพ 30 บาทสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เริ่มมาตั้งพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลนั้น พบทั้งความสำเร็จและปัญหาอุปสรรค โดยประเด็นที่เป็นความสำเร็จ คือ 1.เรื่องการรับรองสิทธิในการเข้ารับการบริการด้านสุขภาพของคนไทย โดยการที่รัฐบาลออกบัตรมองให้ 2.ส่งผลให้ประชาชนสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนลงได้ 3.ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้บริการในระบบมากขึ้น เป็นการปฏิรูปกลไกการเงิน การคลังของระบบสาธารณสุข ถือเป็นการนำภาษีมาใช้ จากเดิมที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบกันเอง ทำให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพในระดับปฐมภูมิ

      

นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อว่า แต่ในความสำเร็จก็ยังพบปัญหามากมาย เนื่องจากการจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาล ทั้งงบประมาณ อุปกรณ์ไม่สมดุลกัน เงินงบประมาณที่โครงการ 30 บาทมีไม่เพียงพอต่อภาระที่ต้องรับผิดชอบ จากการคำนวณเงินงบประมาณประเมินความต้องการ พบว่าจะต้องใช้เงิน 2,000 บาท/คน/ปี จึงจะพอ ขณะที่ปัจจุบันได้รับจัดสรรงบอยู่ที่ 1,659 บาท/คน/ปี เท่านั้น อีกทั้งยังพบปัญหาในเรื่องของการจัดการระบบบัญชีในโรงพยาบาล ที่มีปัญหาด้านความถูกต้องของข้อมูล เช่น มีหนี้สินบางรายการที่ถูกซ่อนไว้ ไม่ได้แสดงออกมา ทำให้ดูเหมือนว่าโรงพยาบาลไม่ติดลบ

      

"จากการที่โรงพยาบาลต้องรับภาระทางการเงินมาก ส่งผลต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลที่เป็นปัญหาร้องเรียนมา ทั้งนี้ เนื่องจากระบบนี้มุ่งการควบคุมค่าใช้จ่ายเคร่งครัด แต่ไม่มีการควบคุมขอบเขตสิทธิประโยชน์ให้สมดุลกับเงินที่มีอยู่ แต่เป็นการให้ตามคำสัญญาของนักการเมือง หลังเกิดโครงการ 30 บาทภาระงานของสถานพยาบาล แพทย์ มีมากขึ้น และประชาชนมีความคาดหวังในการรักษาพยาบาล ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทาการแพทย์ที่เป็นปัญหาเรื้อรังก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้"

      

นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า ขณะนี้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่การแก้ไขปัญหาก็ทำแบบเฉพาะหน้า เช่น กล่าวโทษแพทย์ แต่ไม่ได้วิเคราะห์สาเหตุเบื้องหลังของปัญหาว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ส่งผลให้ปัญหานี้ยังอยู่ต่อไป และไทยสูญเสียแพทย์ในระบบสาธารณะ จึงควรแก้ไขปัญหานี้ทั้งระบบ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางสาธารณสุขด้วย

      

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง หัวหน้าโครงการติดตามประเมินผลการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) จากการวิจัยพบว่า ปัญหาหลักของ 30 บาทคือ งบประมาณไม่พอ ถ้าจะให้พอต้องเพิ่มอีก 20,000-30,000 ล้านบาท/ปี ดังนั้น ขอเสนอทางเลือกให้กับรัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ไม่ได้เสนอแนะว่ารัฐบาลควรทำอะไร แต่ต้องการเสนอแนวทางที่รัฐบาลสามารถทำได้ ทางเลือกที่ 1 คือ โยกย้ายสมาชิกครอบครัวของผู้มีสิทธิประกันสังคมเข้าไปอยู่ในความดูแลของกองทุนประกันสังคม จะช่วยลดจำนวนผู้มีสิทธิในโครงการ 30 บาทลงประมาณ 6 ล้านคน และลดภาระงบประมาณลงประมาณปีละ 12,000 ล้านบาท ทางเลือกที่ 2 คือ ให้กองทุนประกันสังคมขยายความครอบคลุมด้านสุขภาพให้ผู้ที่เกษียณจากโครงการประกันสังคมไปแล้ว ทางเลือกที่ 3 คือ ปรับรื้อระบบการประกันอุบัติเหตุบุคคลที่ 3 จากเดิมที่ซื้อประกันผ่านบริษัทเอกชน เป็นรัฐบาลจัดเก็บเบี้ยประกันเอง เช่น เก็บพร้อมกับการต่อทะเบียนรถและนำรายรับทั้งหมดเข้ากองทุนสุขภาพ ซึ่งตะสามารถเพื่อรายได้ 2,000-3,000 ล้านบาท/ปี

      

"ทางเลือกที่ 4 คือ ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของรัฐบาล ซึ่งเงิน 20,000-30,000 ล้านบาทที่ต้องการเพิ่มนั้น คิดเป็นร้อยละ 1-2 ของงบประมาณประจำปี ซึ่งปกติรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ฉะนั้น รัฐบาลน่าจะจัดงบและค่าใช้จ่ายด้านอื่นลงได้ ทางเลือกอื่นๆคือ รัฐบาลสามารถหารายได้เพิ่มขึ้นจากการขึ้นภาษี โดยเฉพาะภาษีที่คนหนียาก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม จากเดิม 7% เป็น 8% ภาษีน้ำมัน แต่จะทำให้น้ำมันราคาแพงขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องหาทางเลือกที่ดีที่สุดมาดำเนินการ" ดร.วิโรจน์ กล่าวในที่สุด

 

………………………………….

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 26 มกราคม 2549

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท