Skip to main content
sharethis


ภาพจาก  www.thaiembdc.org/fta


 


"ประชาไท" ถ่ายทอดการสัมมนา "การเปิดเสรีการลงทุนในเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ: สิ่งที่คนไทยต้องรู้ทัน" ที่มีขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2549 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี อ.อมรา พงศาพิศ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬา เป็นผู้กล่าวเปิดเวที


 


 


อ.อมรา พงศาพิศ


คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬา


สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เจอการเปิดเสรีกับสิงคโปร์ที่เงินไหลเข้าออก มีคนได้ประโยชน์มาก แต่ก็มีคนได้เสียประโยชน์แต่บางคนก็ยังไม่รู้ตัว


 


ความรู้ที่ไม่เท่าทัน เราต้องพยายามขจัดให้หมดไป พยายามที่ต้องเท่าทันคนที่ฉลาด ฉลาดหาประโยชน์ใส่ตัว ไม่มีสำนึกส่วนรวม ไม่มีสำนึกผิดถูกด้วยซ้ำไป ไม่รู้จะทำยังไงได้ ตัวเองก็หมดแรง ไม่รู้ว่าคนตัวเล็กๆอย่างเราจะหาทางไล่ทันคนที่รอบรู้มากเรื่องการค้า แต่เพื่อไม่ให้พวกเราหมดกำลังใจ ขอเชียร์ให้ช่วยกันทำต่อไป หวังว่า เวทีวันนี้ จะให้เราได้ความรู้บางอย่างขึ้นมา แม้จะไล่ไม่ทันคนที่มีเส้นสาย แต่ก็คงไม่โง่ดักดานซะทีเดียว


 


0 0 0


 


รศ.ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล


ผู้อำนวยการสถาบันศึกษากฎหมาย เศรษฐกิจ และธุรกิจระหว่างประเทศ


           


คานธีเคยกล่าวไว้ว่า "โลกมีเพียงพอสำหรับทุกคน แต่ไม่เพียงสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว"


 


เอฟทีเอ มีพื้นฐานความคิดมาจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ต้องการให้โลกทั้งโลกไม่มีพรมแดนทางเศรษฐกิจ ตลาดทำโดยกลไกตลาดไม่มีรัฐเข้ามาแทรกแซง ต้องไม่มีอุปสรรคการค้าและการลงทุน ฉะนั้นในโลกแบบนี้ บรรษัทจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ไหนมีความได้เปรียบทางการแข่งขันก็จะแห่ไป


 


กลไกของตลาดมีทุนผลักดัน ถ้ามากไปก็ทุนก็จะเอารัดเอาเปรียบ ชาติรัฐก็จะปกป้อง ถ้าปกป้องมากก็จะไม่มีใครมาลงทุน ทำอย่างไรจะให้มีความสมดุล


 


จุดอ่อนของการทำเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ


1.ถ้าทำตามที่สหรัฐต้องการต้องถือว่าขาดวิสัยทัศน์ และผิดพลาดเชิงนโยบายอย่างยิ่ง FTA policy is a mess เพราะเอฟทีเอแบบสหรัฐ หยิบจับแต่ละจุดที่คิดว่าตัวเองจะได้เปรียบ


 


2. ประเทศไทยจะมีอำนาจต่อรองที่ดีกว่าในพหุภาคี จะมีกรอบมีระเบียบ มีระบบป้องกันผลเสีย อย่างน้อยการรวมเศรษฐกิจอาเซียนก็น่าจะเปิดเสรีอย่างมีระบบมากกว่า


 


3. จะยิ่งสร้างหายนะให้กับประเทศมากขึ้น


 


4. สหรัฐฯจะไม่เจรจาในสิ่งที่ตัวเองได้น้อย จะเจรจาในสิ่งที่ตัวเองได้มากกว่าการเจรจาที่อื่นๆ ทั้ง WTO+ ASEAN+ สหรัฐจะได้ทุกสิ่งที่เราให้ สิ่งที่ไทยต้องทำคือการตั้งข้อสงวนว่า การทำข้อตกลงอื่นๆ จะไม่นับรวม ไทยเสนอไปแล้ว แต่ไม่มีทีท่าว่าสหรัฐจะยอม


 


5. รีบเร่ง ใช้เวลาน้อยที่สุด น่าเศร้าใจมาก ผลงานวิจัยเชิงบวกศึกษาจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้ศึกษาจากของจริง และศึกษาบนกฎเกณฑ์เก่า


 


6. ไม่มียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ดี เช่นที่ สหภาพยุโรปทำ เช่น เศรษฐกิจต้องเข้มแข็ง ที่น่ากลัวคือ การลงทุนระยะสั้น ถ้าเราทำตาม แก้กฎหมาย 300-400 ฉบับ มากกว่าที่เราเคยทำมา ทั้งที่อียูทำ มีการรองรับทุกอย่างทุกภาคส่วน ทั้งการเงิน ทุน แรงงาน เอฟทีเอนี้จะไม่มีผลทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเลย


 


7. เอฟทีเอ เหมือนสึนามิ เพราะการเปิดบางส่วน มีรัฐควบคุมบ้างจะทำอย่างยั่งยืน แต่ถ้าเปิดเช่นนี้ จะไม่มีการปกป้องอะไรเลย


 


8. ไม่มีการกำหนดทิศทางเชิงนโยบาย เจรจาบนความต้องการของสหรัฐฯเท่านั้น ขาดการมีส่วนร่วมของสภา ประชาชน และองค์กรต่างๆ


 


9. การยอมแลกกับการเข้าสู่ตลาดสหรัฐเพียงเล็กน้อย เทียบไม่ได้กับสิ่งที่ต้องสูญเสีย ไม่ว่าจะเข้าสู่ตลาดทั้งสินค้า ร้ายอาหาร สปา หมอนวด เพราะเหล่านี้ทำอยู่แล้ว สหรัฐจะปิดตลาดไม่ได้ แต่สหรัฐต้องการเข้าถึงทรัพยากร และการลงทุนเพื่อการส่งออกในบ้านเรา


 


10. การเข้าสู่ตลาดไทยของสหรัฐมากกว่าที่เคย เช่น สินค้าจีเอ็มโอ สินค้าไทยที่เคยผลิตได้เองจะถูกแทนที่ด้วยสินค้านำเข้า ไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทย


 


11. a negative list เปิดสินค้าบริการและการลงทุนทุกภาคส่วนโดยสิ้นเชิง จะทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ stand still and roll back ต้องถูกขจัดให้หมดไป


 


12. เปลี่ยนแปลงกฎหมายการลงทุน มาตรการการลงทุน ตลาดเงิน ยกเลิกกลไกในการควบคุม เช่น การควบคุมเงินไหลเข้าออกในระยะสั้น (short term capital control) ที่เคยทำให้ไทยเกิดวิกฤต การกระตุ้นการลงทุน (Investment incentive) ถ้าเปิดเสรีแล้ว การกระตุ้นการลงทุนไม่ได้ถูกยกเลิก จะกลายเป็นส้มหล่นสองเท่ากับนักลงทุน แผ่นดินไทยจะไม่เหลืออะไรเลย


 


13. มีประเด็นมากมายที่ประเทศไทยยืนอยู่เพื่อการเสียเท่านั้น คือ ระบบทรัพย์สินทางปัญญา IPR การขยายสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางการทดลอง การจำกัดการบังคับใช้สิทธิ ลิขสิทธิ์ ทั้งที่จริงปรัชญาเริ่มต้น คนที่จะได้รับเอกสิทธิต้องไม่เอาเปรียบสังคม แต่ปัจจุบันปรัชญานี้ถูกบิดเบือนให้แสวงหากำไรอย่างเต็มที่ 


 


14. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แรงงาน สิ่งแวดล้อม ข้อเรียกร้องเหล่านี้ถ้าไทยยอมตา เราต้องยกเครื่องกฎหมายไทยทั้งระบบ


 


15. การเจรจาไม่ได้ให้ความสนใจกับสิ่งที่ไทยควรจะได้ประโยชน์ เช่น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี กฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ไทยเสียเปรียบ การกีดกันตลาด ปัญหาการอุดหนุนทางการเกษตรของสหรัฐ การไม่เปิดตลาดแรงงานให้กับคนไทยเข้าไปทำงานในสหรัฐ มาตรการฝ่ายเดียวของสหรัฐ เช่น ม.301, 601 ที่ห้ามการนำเข้าสินค้า ไม่ได้ช่วยให้เข้าถึงตลาดมากนัก ต้องไปแข่งกับสินค้าจีน ฉะนั้น สหรัฐจะเป็นฝ่ายได้เท่านั้น


 


ภาคส่วนที่น่าเป็นห่วง


1.ฐานทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กรณีเหมืองแร่ ขุดเจาะน้ำมัน ฯลฯ ประเทศจะได้ประโยชน์น้อยมาก เหลือแต่มลพิษติดแผ่นดิน ฉะนั้นไม่ควรเปิดการลงทุนในฐานทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจริงๆต้องเป็นการแบ่งประโยชน์ดังที่รัสเซียทำในโครงการขุดเจาะน้ำมัน


 


2.ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา


 


3.ภาคเกษตร ตลาดถูกตีโดยสินค้านำเข้า การเกษตรอุตสาหกรรม โจรสลัดชีวภาพ


 


4.การท่องเที่ยว โรงแรม การขนส่ง การท่องเที่ยวถ้าให้ต่างชาติมาทำจะไม่ต้องลงทุนเลย ไม่มีทางที่คนไทยจะตั้งตัวทันเพื่อแข่งขัน เปิดตลาดทั้งที่ยังร่างกายยังป้อแป้


 


5.วิชาชีพทั้งหลาย เดิมทีการเปิดเสรีสินค้าบริการยังสามารถตั้งข้อสงวนบ้าง เช่น ข้อจำกัดเรื่องสัญชาติ


 


6.ปัญหาการแปรรูป อุตสาหกรรมหลัก บริการสาธารณูปโภค จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ถูกถือครองโดยต่างชาติ กิจการบางกิจการเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา พลังงาน ถ้ากฎหมายการแข่งขันของเราไม่มีประสิทธิภาพ การแข่งขันน้อยก็ไม่มีผลดีต่อผู้บริโภค แต่รัฐวิสาหกิจบ้านเราเดิมเป็นเรื่องของการอนุเคราะห์บริการสาธารณะมากกว่า แสวงหากำไรสูงสุด


 


การเตรียมพร้อมเพื่อการเปิดเสรีอย่างเป็นระบบ


1.ปฏิรูปกรอบของกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งปัจจุบันยังเป็นปัญหาอยู่มาก


 


2.เปิดบริการบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับประเทศ เช่น โทรคมนาคม


 


3.ปฏิรูปกฎหมายการค้า เช่น ระบบภาษี ไม่เช่นนั้นจะมีผู้แสวงประโยชน์จากการหลบเลี่ยงภาษี การบริหารจัดการ จัดซื้อจัดจ้าง กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค นโยบายการแข่งขันที่เป็นธรรม จัดการกับระบบคอรัปชั่น สถาบันการค้าที่โปร่งใสตรวจสอบ ต้องใช้เวลาและเทคนิค ผู้ชำนาญการต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจและสังคมมาแก้ปัญหา


 


ข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายไทย


1.ต้องกำหนดนโยบายที่ดี ไม่ใช่ฉาบฉวยไม่มีวิสัยทัศน์


 


2.ต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจชาติโดยรวม


 


3.ต้องหันมาทบทวนนโยบายเอฟทีเออย่างจริงจัง ต้องปฏิรูปภายในอย่างเป็นระบบ พัฒนาตลาดทุน ตลาดเงิน กฎหมาย ทรัพยากรมนุษย์ ประโยชน์ข้อเดียวที่เอฟทีเอมี คือ ทำให้เราหันมาใส่ใจกับประเทศชาติ ให้เรารู้จักคิดที่จะยืนอยู่บนขาของตัวเอง


 


4.ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของการเจรจา ต้องหันมาอิงนโยบายการพัฒนาประเทศระยะยาว ฉะนั้น นโยบายต้องมาก่อน เราจะเป็นเสรีนิยมใหม่ อนุรักษ์ใหม่ หรือเศรษฐกิจที่ยืนอยู่บนขาของตัวเอง และใช้ผู้ชำนาญการมากขึ้น ฝ่ายสหรัฐฯใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างมาก ไม่ใช่แค่ข้าราชการ


 


5.ต้องขยายการเจรจาให้ยาวออกไป เพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆอย่างรอบคอบ และทำวิจัยศึกษาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาฉาบฉวยมาก 3 เดือน - 1 ปี ก็เสร็จแล้ว ที่เอาอนาคตประเทศชาติไปผูกพันกับงานวิจัยเช่นนี้ และการวิจัยที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของฉบับร่าง หรือ บทใดบทหนึ่งจะไม่ทำให้เห็นผลที่แท้จริง ฉะนั้นต้องเป็นการให้สัตยาบัน


 


6.ต้องปรับปรุงเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ไม่อย่างนั้นไทยจะไม่ได้ประโยชน์เลย


 


7.ระยะยาวไทยควรหันไปพัฒนากรอบระเบียบภายใต้ WTO และร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆจะดีกว่า


 


8.ไทยควรพัฒนากฎหมายและนโยบายการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อป้องกันการใช้การมีอำนาจเหนือตลาดของบรรษัทข้ามชาติ และการผูกขาดตลาด ตลอดจนทำลายองค์กรธุรกิจไทย


 


9.การเปิดต้องเปิดแบบ Unilateral จะปลอดภัยกว่าการเปิดแบบสุดโต่งทุกเรื่องเช่นนี้


 


10.ไทยไม่ควรตกลง ให้สนธิสัญญามีผลจากการลงนามทันที แต่ต้องได้รับการให้สัตยาบันจึงจะมีผล เพื่อมีโอกาสทบทวนก่อนผูกพัน ไม่ใช่กระโจนลงไป ต้องมีกฎหมายอนุวรรตตาม


 


ปัญหาทางด้านกฎหมาย


1.การยุติข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ที่ต้องฝากประเทศชาติไว้กับการตัดสินใจของคน 3 คน แล้วยังระบุว่า ข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนเป็นข้อพิพาททางการค้า


 


แม้การบังคับจะมี 2 กรณี คือ ให้ศาลในประเทศทบทวนใหม่ได้ กับ เป็นแค่การยืมศาลให้รับรองเท่านั้น ซึ่งในเอฟทีเอ ต้องการให้เป็นแบบประการหลัง


 


2.ปัญหากระบวนการทำสนธิสัญญา โดยเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติม แก้ไขปรับปรุง


 


3.ปัญหาอธิปไตยของชาติ ทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จะต้องบังคับใช้ตามกฎหมายสหรัฐ


 


4.ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับประเด็นการเวนคืนยึดทรัพย์ เช่น ถ้าการลงทุนของสหรัฐทำให้คนไทยเดือดร้อน แล้วเกิดลุกฮือทำลายโรงงาน รัฐบาลไทยต้องจ่ายค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จริงๆ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าเกิดจราจล รัฐได้พยายามปกป้องแล้ว รัฐไม่ต้องรับผิดชอบ กรณีเอฟทีเอนี้ รัฐต้องรับผิดชอบ


 


ถาม - นิยามการลงทุนคืออะไร


ตอบ - กรอบของกฎหมาย สิ่งที่เป็นอุปสรรคการลงทุน


 


1.สัดส่วนการถือครองหุ้น (Equity Ratio) ทุกประเทศจะมีอัตราส่วนตรงนี้ เพื่อให้มีคนชาติเป็นเจ้าของมากกว่า ตรงนี้จะถูกเปิด ให้คนต่างชาติถือ 100% เปิดไปบ้างในวิกฤต และในบีโอไอ แต่เป็นระยะสั้น เป็นกรณีกรณีไป และสามารถยกเลิกได้ แต่สหรัฐต้องการถาวร ถ้ายกเลิกสามารถฟ้องได้


 


2.ผู้บริหารจัดการเป็นคนต่างชาติได้หมด แสดงว่าองค์กรเหล่านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนไทยเลย


 


3.ที่ดิน ทุนแรงงาน การจัดการ ภาคใต้บีโอไอก็มี แต่ถือไม่เกิน 1 ไร่กรณีที่อยู่อาศัย มีเงื่อนไขมาก สามารถนำแรงงานเข้ามาได้ทุกระดับ แต่สหรัฐจะเข้ามากับการลงทุน ฉะนั้นก็ไม่ต้อถ่ายทอดเทคโนโลยี ทุกอย่างเบ็ดเสร็จ ประเทศไทยจะไม่ได้รับการพัฒนา ไม่สามารถมี performance requirement ใน TRIMs ห้ามบ้าง แต่เอฟทีเอ ห้ามทั้งหมด มีไม่ได้เลย


 


ถ้าเห็นภาพรวมจะเห็นผลกระทบทั้งหมด


 


ถาม - กฟผ. แปรรูปเข้าตลาด โดยรับปากจะขายแค่ 25%


ตอบ - ถ้ายอมรับแบบเอฟทีเอ ก็ไม่สามารถจำกัดได้เลย ถ้าการลงทุนเปิดเสรี เขาก็สามารถเข้ามาได้ทั้งหมด สิ่งที่เราต้องดูคือ negative list ที่ยกไว้เลย exception หรือว่าอีกหน่อยก็ต้องเปิด


 


กรณีของออสเตรเลีย ถ้ารวมสาธารณูปโภคด้วย ต้องดู text ว่าเปิดมากน้อยแค่ไหน


 


ได้คุยกับ ดร.วีรชัย พลาศรัย รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเจรจาด้านการบริการและการลงทุน ว่าควรให้เอฟทีเอไทย-สหรัฐ ต้องผ่านการให้สัตยาบันจึงจะมีผลบังคับใช้ ไม่ใช่ลงนามแล้วมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี


 


เท่าที่คุยกับ ผู้เจรจาหลายคน เขาก็รู้สึกบาป บางคนนอนไม่หลับ เพราะถูกกดดันจากหลายฝ่าย ดังนั้น การผ่านการให้สัตยาบันจะเป็นช่วงเวลาที่ได้ทบทวนแก้ไข เช่นที่ สหรัฐอเมริกาใช้เวลาถึง 42 ปีในการให้สัตยาบัน ILO สหรัฐก็เคยทำมาแล้ว


 


เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ ที่ก่อนหน้านี้ นักเจรจาฝ่ายไทย ไม่เคยตระหนักในเรื่องนี้มาก่อนเลย แม้แต่ตัวอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


 


ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังมาร่วมกันพิจารณาเรื่องนี้ เช่น นักวิชาการต่างๆ และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ทำในฐานเจ้าหน้าที่รัฐ อ.วสันต์ พาณิช กรรมการสิทธิมนุษยชนก็กำลังดูช่องทางฟ้องเพื่อให้เปิดข้อเจรจาต่างๆ


 


ถาม - ทรัพย์สินทางปัญญาก็ถือเป็นการลงทุนหรือไม่ แล้วมีประสบการณ์ในนาฟต้าที่ถูกฟ้องหรือไมา การบังคับใช้สิทธิตาม WTO จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเหมือนการยึดทรัพย์หรือไม่


 


ตอบ - ทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้คนตกอยู่ในอาณานิคมทรัพย์สินทางปัญญา รัฐต้องให้ความคุ้มครอง ในเอฟทีเอ เมื่อไรที่นักลงทุนมองว่า สูญเสีย สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ทันที   รัฐต้องจ่ายทันที


 


0 0 0


 


Lydia Laza


รองคณบดีคณะนิติศาสตร์และนโยบาย


สถาบันเทคโนโลยีอิลินอย สหรัฐอเมริกา


 


ประเทศไทยเปิดการลงทุนมานาน การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ คำถามก็คือ นับจากนี้ไปในอนาคต กฎอะไรที่จะเข้ามาจัดการ


 


รัฐมีหน้าที่กำกับการลงทุนเหล่านี้ เช่น กำแพงภาษี และอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อปกป้องอธิปไตย


 


ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เห็นปัญหาเวลาที่เข้าไปแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศ เพราะกฎหมายจะค่อนข้างเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการภายในมากกว่า


 


ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการจัดตั้งองค์กรโลกบาลขึ้นมาสนับสนุนการค้าการลงทุนข้ามชาติ มีการทำสนธิสัญญาการลงทุนระดับทวิภาคี ตอนนี้ 2,000 กว่าฉบับ ภาษาที่ใช้ในข้อตกลงนี้ มีทั้งในประเด็นภาษีและไม่ภาษี เปิดเสรีแต่ละภาค การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง เพื่อไม่ให้มีการลำเอียงเข้าข้างผู้ประกอบการภายในประเทศ


 


และในสัญญานี้จะค่อนข้างกลัวการยึดทรัพย์หรือเวนคืนของเอกชนไปเป็นของรัฐ ถ้าจะทำต้องมีการจ่ายค่าชดเชย


 


ในเอฟทีเอสิ่งที่น่ากลัวคือ การยึดทรัพย์หรือเวนคืนทางอ้อม หรือ เสมือนว่ายึดทรัพย์ ซึ่งต้องระวังว่า การออกกฎหมายภายในจะต้องไม่ถูกตีความว่าเป็นการยึดทรัพย์แบบนี้


 


บรรษัทข้ามชาติ ได้เครื่องมือที่ใช้ในการตอบโต้หากรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม แล้วพวกนี้ก็จะมีฐานคิดว่า ศาลภายในจะเข้าของผู้ประกอบการภายใน ฉะนั้น ต้องมาเล่นกันที่พื้นที่อื่นที่ไม่ใช่กฎหมายภายใน


 


ทีนี้พอบรรษัทข้ามชาติมีสัญญา (contract) กับรัฐบาล ก็จะสามารถนำรัฐบาลไปฟ้องได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเอฟทีเอจะต่างออกไปมาก ต่างจากสิทธิที่เคยได้มา


 


1.ไม่ได้มาจากสัญญาทำงานที่บรรษัททำกับรัฐเหมือนในอดีต


 


2.แล้วยังให้สิทธิที่จะประเมินความเสียหายที่เกิดจากกฎหมายไทยเอารัฐบาลไทยไปฟ้งได้เลย โดยที่ไม่ต้องมีรัฐบาลอเมริกันเข้ามาเกี่ยวข้อง หมายความว่าให้สิทธิเอกชนเท่ากับรัฐชาติ


 


จากสองประเด็นนี้ มันเป็นปัญหาอย่างรุนแรงต่ออธิปไตยของประเทศ สหรัฐฯพยายามผลักดันสิทธิใหม่เหล่านี้ ในเอฟทีเอ และความตกลงด้านเปิดเสรีการลงทุนไปทั่วโลก เพื่อขจัดอุปสรรคทั้งหมดของการลงทุนที่มีอยู่


 


อย่างที่บอกว่า การระงับข้อพิพาทรัฐและเอกชนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เดิมมันต้องตั้งอยู่กับสัญญาที่ทำกันขึ้นมา ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ฟ้องได้เช่นนี้


 


เพราะที่ผ่านมา เราไม่ต้องการปฏิบัติต่อบรรษัทเท่าเทียมกับรัฐชาติ เพราะไม่เท่ากัน ถ้าเรายอมให้เอกชนฟ้องรัฐได้ เราก็จะได้ผลแบบนาฟต้า


 


นาฟต้า เป็นประเด็นร้อนในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ช่วงต้นไม่มีใครรู้ มี ส.ส.อเมริกันหลายคนบอกว่า ถ้ารู้แต่แรกว่ามีบทที่ว่าเช่นนี้จะไม่ยอมโหวตให้ผ่าน ตอนนี้ถูกฟ้องกันไปแล้ว 61 คดี คดีที่เป็นตัวอย่างเช่น สิ่งแวดล้อม, กฎหมาย การแปรรูป, ที่ดิน


 


 ประเด็นที่ฟ้อง เช่น การปฏิบัติที่เท่าเทียมและเป็นธรรม การไม่เลือกปฏิบัติ การยึดทรัพย์ และคำนิยามและขอบเขตของข้อตกลง


 


ที่ทำให้ฟ้องได้มากขนาดนี้ เพราะว่า คำนิยามการลงทุนที่กว้าง


 


ตัวอนุญาโตตุลาการ เป็น แค่องค์กรเฉพาะการ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะสร้างระบบกฎหมายหรือการยุติธรรมที่ดีได้ ตอนนี้ก็หลักอยู่ในการระงับข้อพิพาททางการค้า เช่น ICSID ทุกครั้งที่มีคดี ก็จะมีอนุญาโตตุลาการที่ต่างออกไป ไม่ได้ทำงานอยู่ในกรอบกฎหมายใดๆ แล้วแต่ว่าอยากจะอ้างอิงคำพิพากษาเก่าหรือไม่ ฉะนั้น จะคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะตัดสินอยู่บนหลักการใด ส่วนใหญ่จะมีปัญหาความขัดแย้งกับนโยบายสาธารณะ


 


แม้ว่า ในปัจจุบัน อนุญาโตตุลาการ จะโปร่งใสมากขึ้น แต่ไม่มีหลักประกันว่าจะเป็นแบบนี้ทุกครั้ง เพราะไม่ได้ถูกบังคับโดยอะไรเลย


 


ฉะนั้น ใครจะเป็นคนเขียนกฎหมายระหว่างประเทศ ก็คือ คนที่ได้ประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรี คือพวกที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ ไม่มีการเมืองระดับโลกที่มาดูเรื่องพวกนี้ ซึ่งนี่จะทำให้กรอบกฎหมายจารีตประเพณีซึ่งใช้ในกฎหมายระหว่างประเทศเปลี่ยนทิศทางไป นี่คือสิ่งที่เราต้องการหรือ แน่นอนเราไม่อยากได้อย่างนั้น


 


บทเรียนที่ไทยควรเรียนรู้คือ


จีน เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมาก แม้ว่าจะต่างกันหลายส่วน แต่จีนได้ผ่านหนทางที่ยากลำบากมายาวนาน ช่วง 1840 หลังสงครามฝิ่น คนต่างชาติอยู่เหนือคนจีน อยู่เหนือกฎหมายจีน


 


ต่อมาช่วงศตวรรษที่ 20 จีนพยายามที่จะแก้ ไม่ให้สิทธิเยี่ยงคนชาติแก่คนต่างชาติ แต่ยังคุ้มครองอยู่บ้าง


 


หลังสงครามโลกที่ 2 สนธิสัญญาใหม่ๆ เริ่มมีการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ แต่ไม่ให้ทั้งหมด ให้สิทธิการฟ้องศาลได้ แต่จีนทำให้คนต่างชาติไม่สามารถเดาได้ ถึงการปฏิบัติของระบบราชการ


 


เมื่อเปิดเสรีมากขึ้น มีการให้หลักความเท่าเทียม แต่ก็มีข้อสงวนมากมาย


 


ตอนนี้จีนเซ็นไปแล้วมากกว่า 110 ฉบับ มีการระบุเรื่องการเวนคืน ไม่ยอมให้เอกชนฟ้องรัฐ ยอมให้มีการเจรจา ค่าชดเชยก็ต่อเมื่อรัฐบาลจีนยอมรับว่าเป็นการยึดทรัพย์ และมีขนาดพอที่จะเป็นการยึดทรัพย์ และยังต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมายกว่าจะถึงขั้นเจรจาค่าเสียหาย ถึงกระนั้นจีนก็ยังเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศมากในอันดับต้นๆ ของโลก


 


บทเรียนสำหรับไทย


1.เราเปิดการลงทุนให้กับคนต่างชาติมานานแล้ว ไม่ใช่ว่าต้องรีบเปิดเพื่อต้อนนักลงทุนเข้ามาฉะนั้น ขึ้นอยู่กับคนไทยที่ต้องตัดสินใจว่าเราอยากจะพัฒนาแบบไหน เป็นกระบวนการภายใน รัฐชาติมีสิทธิที่จะตัดสินใจ ว่าเราต้องการให้สิทธิเท่าเทียมกับคนต่างชาติไหม เพื่อให้เข้ากับความต้องการของประชาชน มากกว่าป้อนให้ตรงกับความต้องการของบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการเข้ามาแสวงหากำไรอย่างเดียว


 


2.ประเทศไทยต้องระวังคำศัพท์ที่พยายามจะทำให้คำต่างๆชัดเจน อะไรให้ได้ อะไรให้ไม่ได้


 


3.ต้องให้กฎหมายสิ่งแวดล้อม และกฏหมายแรงงานได้รับการปฏิบัติ


 


4.ไทยต้องตัดสินใจว่า เราจะให้สิทธิคนต่างชาติเท่าคนไทยจริงๆ หรือ หรือจะเอาอย่างจีนที่เลิกให้บางอย่างเท่านั้น เราเป็นประเทศอธิปไตย ต้องจำใส่ใจทุกครั้งที่เจรจา ไม่มีเหตุผลที่ต้องไปทำตามการกำหนดเวลาของคนอื่น ยิ่งเขาให้เราเร่ง เราต้องยิ่งคิดว่าเราจะเร็วตามประโยชน์ของเขาหรือไม่

เอกสารประกอบ

Investor- Sovereign Dispute Resolution in the Global Trading System Lessons for Thailand by Lydia La

Legal Aspect of Free Trade Area by Ajarn Lawan

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net