Skip to main content
sharethis

7 กุมภาพันธ์ 2549


แถลงการณ์ - เรียกร้อง"ทักษิณ"ลาออก
สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอาศัยหลักการที่สำคัญ 2 ประการ กล่าวคือ หลักการแรกรัฐบาลผู้บริหารประเทศต้องมาจากเจตจำนงของประชาชน ซึ่งแสดงออกในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และหลักการประการที่สอง รัฐบาลจะต้องใช้อำนาจบริหารเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม และเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลใช้อำนาจบิดเบือนเพื่อประโยชน์ของตนเอง ครอบครัวและพวกพ้อง จึงกำหนดให้รัฐบาลต้องใช้อำนาจภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย


โดยหลักการของกฎหมายที่แท้จริง อันไม่ใช่หลักกฎหมายที่ถูกบิดเบือนแล้ว รากฐานของระบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายก็คือหลักการของคุณธรรม ศีลธรรม หรือความถูกต้องชอบธรรม ซึ่งประชาชนทุกคนในฐานะที่เป็นมนุษย์สามารถรู้สึกสำนึกได้ ว่าการกระทำอย่างไรเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ นี่คือแก่นความเป็นกฎหมายที่แท้จริง มิใช่ตัวอักษรที่เขียนขึ้นโดยอำนาจสั่งการของผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารบ้านเมือง


กล่าวโดยเฉพาะรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การได้รับเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากจากประชาชน ตามที่นายกฯใช้กล่าวอ้างเป็นความชอบธรรมอยู่เสมอนั้น ความจริงแล้วเป็นเพียงหลักการประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นเอง


แต่การที่นายกฯจะมีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต่อไปนั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาด้วยว่าท่านใช้อำนาจอยู่ในกรอบของระบบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่มีศีลธรรมและคุณธรรมเป็นรากฐานหรือไม่


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในการบริหารประเทศ ของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ ได้ใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญใช้กลวิธีบิดเบือนกฎหมาย ใช้อำนาจเผด็จการทางรัฐสภาโดยใช้เสียงข้างมากที่สั่งการได้ ผ่านกฎหมายมารองรับการดำเนินการต่างๆ ที่ตัวเอง ครอบครัว และพวกพ้องมีส่วนได้เสียทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จนกลายเป็นสิ่งที่กล่าวถึงกันในสังคมว่าเป็นการคอร์รัปชั่นในเชิงนโยบาย หรือนัยหนึ่ง คือการคอร์รัปชั่นภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ถูกบิดเบือนนั้นเอง


การกล่าวอ้างความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินการต่างๆ ที่ตนมีประโยชน์ได้เสีย โดยใช้นักกฎหมายศรีธนญชัย มาเป็นกระบอกเสียงให้เกิดความชอบธรรมตามระบบกฎหมายที่ถูกบิดเบือนได้สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมายอย่างร้ายแรง และทำให้ระบบกฎหมายและคุณธรรมถูกเหยียบย่ำทำลายอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้นายกฯจึงไม่อาจอ้างความชอบธรรมตามระบบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้ตนดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ หรือนัยหนึ่งไม่อาจอ้างระบบกฎหมายที่ถูกบิดเบือนมารองรับความฉ้อฉลที่ผิดกฎหมายได้


การขายหุ้นชินคอร์ปของนายกฯและครอบครัวที่มีปัญหาความไม่โปร่งใสหรือมัวหมองนั้น เป็นปัญหาเคลือบแคลงสงสัยของสาธารณชนมาตั้งแต่ตอนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกแล้ว และมาปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์ถึงความไม่ชอบมาพากลในการซื้อขายหุ้นที่มีมูลค่า 70,000 ล้านบาทเศษ โดยใช้อุบายเพื่อเลี่ยงภาษี รวมทั้งความยอกย้อนไม่โปร่งใสในการใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปรู้สึกและเข้าใจได้ว่าเป็นกลวิธียอกย้อนที่ปั้นแต่งขึ้นอย่างฉ้อฉล มิใช่เหตุผลที่สอดคล้องกับหลักการของคุณธรรมและศีลธรรม ข้ออ้างของนักกฎหมายผู้ชำนาญการเลี่ยงกฎหมายอย่างศรีธนญชัยล้วนแต่เป็นเพียงการให้เหตุผลอย่างปลิ้นปล้อนทั้งสิ้น


เมื่อระบบกฎหมายถูกบิดเบือนเพื่อใช้เป็นฐานรองรับความฉ้อฉลแล้ว นักกฎหมายที่ดีจึงมิอาจเห็นด้วยและคล้อยตามความถูกต้องตามกฎหมายที่ถูกบิดเบือนนั้นได้ ความไม่ถูกต้องที่เกิดจากการใช้อำนาจบิดเบือนนี้ ถ้าระบบการตรวจสอบตามระบบกฎหมายไม่พิการผู้ใช้อำนาจปลิ้นปล้อนย่อมถูกทำโทษ แต่เมื่อถูกบิดเบือนไปแล้ว ทำให้ผู้มีอำนาจนั้นอยู่ในฐานะเหนือกฎหมาย การเรียกร้องให้ตรวจสอบในระบบกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้


ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีทางอื่นนอกจากประชาชนจะต้องเรียกร้องให้นายกฯลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะการใช้อำนาจบริหารประเทศของท่านมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการให้ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ การใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายมาจากประชาชนเพื่อประโยชน์ของครอบครัวและพวกพ้อง จึงเป็นการกระทำที่ผิดข้อตกลงของกฎเกณฑ์พื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ท่านจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทยเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอีกต่อไป


เราจึงเรียกร้องให้ท่านลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อประชาชน และสามัญสำนึกในศีลธรรมและคุณธรรมอันเป็นรากฐานของระบบกฎหมาย


ในขณะเดียวกัน เราขอเรียกร้องต่อสมาชิกรัฐสภาที่ยังสำนึกต่อหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยริเริ่มให้มีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูประบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกบิดเบือนจนเปลี่ยนสภาพเป็น ระบบเผด็จการทางรัฐสภา


การเปลี่ยนตัวบุคคลโดยไม่มีการแก้ในระบบที่เปิดช่องให้มีการบิดเบือนการใช้อำนาจได้นั้น เราเชื่อว่าจะทำให้เกิดทรราชกลุ่มใหม่ผลัดเปลี่ยนเข้ามาใช้อำนาจแทนอันนำไปสู่ความผิดพลาดที่ซ้ำรอยเดิมไม่มีที่สิ้นสุด จึงมิใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่แท้จริง


เราจึงเรียกร้องสมาชิกรัฐสภาริเริ่มให้มีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำพาไปสู่การปฏิรูประบบการเมืองและระบบกฎหมายอย่างแท้จริง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเขียนหมกเม็ดปิดโอกาสมิให้ประชาชนสามารถริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ด้วยตัวของประชาชนเอง


รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นเพียงรัฐธรรมนูญ ฉบับมายาประชาธิปไตย มิใช่รัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงแต่อย่างใด ดังนั้น จึงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง



รศ.สมยศ เชื้อไทย
นายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net