Skip to main content
sharethis

ถึงศิษย์เก่า


16 กุมภาพันธ์ 2549



จดหมายเปิดผนึก (ฉบับที่ 3)
คณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานและนักศึกษา
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
16 กุมภาพันธ์ 2549

เรียน ศิษย์เก่าสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ตามที่กลุ่มคณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานและนักศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,500 คน ได้ลงนามร่วมกันในการออกแถลงการณ์ เพื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีใหม่ ตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง ขอให้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างระบบการเมืองการปกครองที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรอิสระนั้น

การออกแถลงการณ์เรียกร้องดังกล่าว เนื่องจากได้มีการวิเคราะห์การบริหารราชการแผ่นดินของ รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ได้ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญ 5 ประการคือ


1. มีการละเมิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในเรื่อง หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล โดยปรากฏหลักฐานในหลายกรณีที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารได้เข้าไปแทรกแซงและครอบงำการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งองค์กรอิสระต่างๆ ส่งผลทำให้กลไกการตรวจสอบและ ถ่วงดุลไม่สามารถดำเนินการได้เลย มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่า มีการออกกฎหมายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง มีการแทรกแซงกระบวนการสรรหาบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น คตง. และ ปปช. เป็นต้น
2. เปิดโอกาสให้มีการคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางในหมู่พรรคพวกและญาติพี่น้อง โดยไม่สนใจในการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
3. ปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการริดรอนสิทธิและเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
4. ประเมินสถานการณ์ เพื่อแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ผิดพลาด จนทำให้ปัญหาบานปลายเรื้อรังมากกว่า 2 ปี ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจและพลเรือน ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต้องบาดเจ็บและล้มตายลงเป็นจำนวนมาก
5. นายกรัฐมนตรีมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ทางด้านจริยธรรม ในฐานะที่เป็นผู้นำของประเทศ ในหลายๆ กรณี เช่น กรณีการขายหุ้นชินคอร์ป ด้วยวิธีการที่ยอกย้อนซ่อนเงื่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี โดยพยายามชี้แจงว่า ดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่พยายามหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงประเด็นปัญหาด้านจริยธรรมในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

ภายหลังจากการออกแถลงการณ์เรียกร้องดังกล่าวแล้ว พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ให้สัมภาษณ์ ยืนยันต่อสาธารณะว่า จะไม่ลาออกและจะไม่ยุบสภา แต่มีท่าทียอมรับเรื่อง การแก้ไข รัฐธรรมนูญ โดยการเสนอให้มีการลงประชาพิจารณา (เป็นวิธีการที่ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร คิดใหม่ขึ้นเอง โดยไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามเบี่ยงเบนประเด็น สร้างความ สับสนให้กับประชาชนทั่วไป

จากการวิเคราะห์ของกลุ่มคณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานและนักศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในประเด็นปัญหา "วิกฤตจริยธรรมของผู้นำประเทศ" ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม ยังถูกปิดกั้นไม่ให้มีโอกาสได้รับรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความ สับสนและเกิดความขัดแย้งโดยทั่วไปในสังคม

ดังนั้น เพื่อช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้มีส่วนร่วมในการคลี่คลายสถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน คณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานและนักศึกษา สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ จึงมีความเห็นร่วมกันว่า มีความจำเป็นต้องช่วยกันดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ทุกรูปแบบ ทุกวิธีการ เพื่อแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง ไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ให้มากที่สุด โดยการจัดสัมมนา เสวนา ให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งการใช้เครือข่ายนิด้า ซึ่งกระจายครอบคลุมอยู่ ทั่วประเทศในการให้ความรู้แก่ประชาชน

ตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่ผ่านมา คณาจารย์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ร่วมกันผลิตมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมเป็นจำนวนมากกว่า 40,000 คน ทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ในหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์การไม่แสวงหากำไร มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของสถาบันฯ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มี "ความรู้ คู่คุณธรรม" ทำงานอยู่ใน หลายวงวิชาชีพ มีทั้งที่เป็นนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการพลเรือน ทหารและตำรวจ ทั้งในระดับสูงและระดับกลาง

คณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานและนักศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตระหนักดีว่า ศิษย์เก่าของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ทุกท่าน เป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ และมีอิสระเพียงพอที่จะสามารถใช้ข้อมูล หลักเหตุผล และดุลพินิจในการกำหนดจุดยืนที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ด้วยตนเอง จึงขอเสนอแนะความคิดเห็นมายังศิษย์เก่าในเครือข่ายนิด้าทุกท่าน 2 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ขอให้ศิษย์เก่าทุกท่านใช้พื้นฐานความรู้ที่ได้ร่ำเรียนไปจากสถาบันฯ ที่ทรงเกียรตินี้ ไปใน แนวทางที่ถูกต้องสอดคล้องกับมาตรฐานจริยธรรมที่ดีงาม ต้องเป็นผู้ที่กล้าแสดงความคิดเห็นคัดค้านการกระทำต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงาม ต้องเป็นผู้ที่กล้ายืนหยัด ไม่ทำตามการสั่งการใดๆ ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนของผู้บังคับบัญชา
2. ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้รับทราบอย่างทั่วถึง อย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ารัฐบาล ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขาดความชอบธรรมอย่างไร จึงไม่สมควรอยู่บริหารประเทศต่อไป ซึ่งเมื่อประชาชนมีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วจะได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวไปสู่รูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลย์ระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม การที่ศิษย์เก่าในเครือข่ายนิด้าแต่ละท่านจะทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ ประชาชนได้ ศิษย์เก่าจะต้องศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจของตนเองเป็นเบื้องต้นก่อน จึงจะสามารถทำหน้าที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นศิษย์เก่าในเครือข่ายนิด้าจึงควรทราบแหล่งข้อมูลและจุดยืนหรือท่าทีของแหล่งข้อมูลแต่ละแหล่งที่มีต่อปรากฏการณ์ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งคณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานและนักศึกษาได้รวบรวมจำแนกแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไว้ให้ศิษย์เก่าในเครือข่ายนิด้าพิจารณาใช้ประโยชน์ ตาม รายการซึ่งระบุไว้ท้ายจดหมายเปิดผนึกนี้แล้ว


ถ้าศิษย์เก่าในเครือข่ายนิด้าทุกท่าน ได้สละเวลาเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ดังกล่าว โดยรู้เท่าทัน จุดยืนของแต่ละแหล่งข่าว ท่านจะมีความรู้ความเข้าใจในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บนพื้นฐานของหลักเหตุและผล และสามารถใช้ดุลพินิจของตัวท่านเองในการกำหนดจุดยืนต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องอาศัยการฟังจากคำบอกเล่าของผู้อื่น ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงได้

คณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานและนักศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คาดหวังว่า ศิษย์เก่าทุกท่านในเครือข่ายนิด้า จะได้สละเวลาในการศึกษาและติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง จนมีความรู้และความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง จนสามารถช่วยกันเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจ ดังกล่าวให้กับประชาชนทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนทางการเมือง เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิผล

จึงเรียนเสนอแนะความคิดเห็นมายังศิษย์เก่าในเครือข่ายนิด้า และหวังว่า จะได้รับความร่วมมือร่วมใจจากศิษย์เก่าทุกท่าน เป็นอย่างดี

กลุ่มคณาจารย์ ข้าราชการ พนักงานและนักศึกษา
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ดังรายนามต่อไปนี้

1. รศ.ดร.ปฐม มณีโรจน์ 2. ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
3. รศ.ดร.อุดม ทุมโฆสิต 4. อ.ดร.เลอสรรค์ โบสุวรรณ
5. รศ.ดร. ราเชนทร์ ชินทยารังสรรค์ 6. รศ.ดร. พาชิตชนัต ศิริพานิช
7. ผศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน 8. อ.ดร.สุจิตรา ธนานันท์
9. อ.ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค 10. ผศ.ดร. ธวัชชัย ศุภดิษฐ์
11. ผศ.ดร. ชัยพร พิบูลศิริ 12. ผศ.ดร. สมพจน์ กรรณนุช
13. ศ.ดร. กฤษ เพิ่มทันจิตต์ 14. ศ.ดร.พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ
15. รศ.ดร. จิรวรรณ ภักดีบุตร 16. รศ.ดร. จิราวัลย์ จิตรถเวช
17. รศ.ดร. เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์ 18. รศ.ดร. ผลิน ภู่จรูญ
19. รศ.ดร. ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ 20. รศ.ดร.นิสดารก์ เวชยานนท์
21. รศ.ดร.พลภัทร บุราคม 22. รศ.ดร. สุรพงค์ เอื้อวัฒนามงคล
23. รศ.ดร. สุจิตรา บุณยรัตพันธุ์ 24. รศ.ดร.อัญชนา ณ ระนอง
25. ผศ.ดร. กัลยาณี คูณมี 26. ผศ. เจริญ คุวินทร์พันธุ์
27. ผศ.ดร. จิรประภา อัครบวร 28. ผศ. นวลนดา สงวนวงษ์ทอง
29. ผศ.ดร. บุญอนันต์ พินัยทรัพย์ 30. ผศ.ปกรณ์ ปรียากร
31. ผศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต 32. ผศ. ศักดิ์สิทธิ์ แสงบุญ
33. อ.ดร. เกศกานดา จตุรงคโชค 34. อ.ดร. จุฑามาศ แก้วพิจิตร
35. อ.ดร.จันทรานุช มหากาญจนะ 36. อ.ดร. ปราโมทย์ กั่วเจริญ
37. อ.ดร.ไพโรจน์ ภัทรนรากุล 38. อ.ดร. วีระวัฒน์ ปันนิตามัย
39. อ. ดร. สาวิตรี คทวณิช 40. ผศ. ดร. จักรินทร์ ศุขหมอก
41. อ. ชญณา พูลทรัพย์ 42. อ.ดร. นิธินันท์ ธรรมากรนนท์
43. อ. ดร. ปิยวดี โขวิฑูรกิจ 44. ผศ. ดร. พัชราภรณ์ เนียมมณี
45. ผศ. ดร. ระวีวรรณ เอื้อพันธ์วิริยะกุล 46. อ.ดร. รัฐกร พูลทรัพย์
47. รศ. ดร. วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล 48. อ. ดร. วัชรีภรณ์ ไชยมงคล
49. อ.ดร. ศิวิกา ดุษฎีโหนด 50. ผศ. ดร. สุกัญญา สุรเนาวรัตน์
51. รศ. ดร. จำลอง โพธิ์บุญ 52. อ. ดร.จิระพร บูรณสิน
53. อ. นราทิพย์ ทับเที่ยง 54. - 1,500 ฯลฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net