Skip to main content
sharethis


ภาพจาก www.thairat.co.th


 


พัทยา-11 ก.พ.49   ที่โรงแรมรอยัลคลิฟฟ์ บีช รีสอร์ต กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงานสื่อมวลชนสัมพันธ์"49 ขึ้น เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการในกระทรวงกับสื่อมวลชนประจำกระทรวงผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยในช่วงบ่ายมีการจัดเวทีให้ข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ประเทศไทยทำกับหลายประเทศด้วย


 


ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงานว่าตลอดเวลา 5 ปีที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลได้สร้างผลงานในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตฟองสบู่ให้กลับมาแข็งแกร่งยิ่งกว่าตอนก่อนเกิดวิกฤตเสียอีก โดยหนึ่งในกระบวนการสร้างความเชื่อมันให้กลับคืนมาอีกครั้ง คือ การประกาศจะปฏิรูปประเทศในทุกด้านเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต


 


ในการปฏิรูปประเทศดังกล่าว ดร.สมคิด ซึ่งเคยมีประสบการณ์งานหลายกระทรวงอธิบายว่า แบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ ภายในประเทศ (Localize) ได้แก่ โครงการต่างๆ ของรัฐบาลซึ่งท้ายที่สุดจะไปรวมอยู่ในโครงการ SML ซึ่งเป็นการฝึกให้หมู่บ้านบริหารตัวเอง รวมทั้งพัฒนาภาคเอกชนให้มีความสามารถในการแข่งขัน


 


อีกระดับหนึ่งคือ ในเวทีโลก (Globalize) ซึ่งกระแสการค้าเสรีกำลังมาแรงที่สุด องค์การการค้าโลกเองก็ประกาศชัดว่าจะไม่ให้มีการกีดกันทางมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษีในปี 2010 ทำให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยต้องเร่งเปิดเสรีระดับทวิภาคี หรือทำเอฟทีเอ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ อีกทั้งอาเซียนก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดหมายกันว่าใน 10-20 ปีข้างหน้า อาเซียนจะควบคุมจีดีพีกว่าครึ่งหนึ่งของโลก 


 


ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเทศกว่า 300 คู่ที่ทำเอฟทีเอ (ระดับทวิภาคี) และในระดับภูมิภาคหรืออาร์ทีเอ (RTA/ Regional Trade Agreement)


 


ดร.สมคิด กล่าวด้วยว่า นอกจากประเทศไทยจะทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ แล้วยังมีการดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศ (EPA:Economic Partnership Agreement)  เช่น กำลังจะมีการพูดคุยกับฝรั่งเศสในสัปดาห์หน้า ถัดจากนั้นจะเป็นเยอรมนี สเปน ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น


 


"พวกนี้ล้วนนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยหลีกเลี่ยงคำว่า เอฟทีเอ ซึ่งในอนาคตจะไม่ใช่แค่เรื่องส่งออกนำเข้า แต่เป็นการลงทุนที่จะทำให้เกิดการส่งออกนำเข้าต่อเนื่องมาด้วย" ดร.สมคิดกล่าว


 


รมว.พาณิชย์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา 20 ปี การลงทุนเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ดังนั้นจึงต้องวางแผนในเชิงยุทธศาสตร์ให้ EPA เป็นตัวนำ เพื่อดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย โดยให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนต่อเชื่อมกับทั้งภูมิภาค (HUB) ดังนั้น เวลาพิจารณาเอฟทีเอ จึงไม่สามารถดูเฉพาะดุลการนำเข้าส่งออกกับแต่ละประเทศในระยะสั้น แต่ต้องมองระยะยาวและต่อเชื่อมกับโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ อย่างเป็นโครงข่ายด้วย


 


"เราเซ็นกันสองประเทศ แต่มันเกี่ยวกับประเทศที่สาม ที่สี่ ที่ห้าตลอด อย่างญี่ปุ่นนั้นเตรียมปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในอินเดีย เพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว แล้วคาดว่าจะส่งจากเราเข้าไปในอินเดียแทน โดยอาศัยเอฟทีเอระหว่างไทย-อินเดีย เพื่อเจาะเข้าตลาดอินเดีย" ดร.สมคิดกล่าว   


 


ส่วนเอฟทีเอไทย-สหรัฐนั้น ดร.สมคิดระบุว่า ไม่สามารถปฏิเสธการเจรจากับมหาอำนาจได้ เพราะการเจรจาไม่ใช่มีผลต่อการค้าอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวพันกับด้านอื่นๆ ด้วย สิ่งที่จะทำได้คือจะเจรจาอย่างไร ให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุด โดยไม่ให้มีต้นทุนทางสังคมเพื่อแลกกับผลประโยชนทางการค้า


 


ด้านนายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเพิ่งได้รับให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐคนใหม่แทนนายนิตย์ พิบูลสงครามที่ลาออกไปกล่าวว่า การทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ มีความยากง่ายแตกต่างกัน ซึ่งยอมรับว่ากับสหรัฐเจรจาลำบากมาก เพราะเข้ามาด้วยท่าทีแข็งกร้าวและทุกอย่างเป็นธุรกิจ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องเจรจากับคนไทยด้วยกัน เพราะเอฟทีเอไทย-สหรัฐได้รับความสนใจมาก ซึ่งเป็นเรื่องดี องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ก็มีข้อมูล ข้อแนะนำที่ดี แต่บางครั้งอาจจินตนาการมากจนทำให้กลัวมากเกินไป


 


"ยอมรับว่าผลดีผลเสียในการเจรจากับสหรัฐมีทั้งกว้างทั้งลึก ต่ออนาคตประเทศไทยทุกด้าน ผลกระทบจะมีมาก โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงเรื่องยาด้วย จะมีผลต่ออนาคตค่อนข้างไกล" นายการุณกล่าว


 


เมื่อถามถึงเอกสารของสหรัฐเรื่องสิทธิบัตรยาที่มีข้อเรียกร้องสูงกว่าที่เคยทำกับประเทศอื่น และได้รับการเปิดเผยไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ หัวหน้ากลุ่มเจรจาทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า สหรัฐมีข้อเรียกร้องสูงเช่นนั้นจริง แต่เราไม่สามารถจะเปรียบเทียบข้อตกลงที่สหรัฐทำกับประเทศอื่นเสร็จสิ้นแล้ว กับข้อเรียกร้องระหว่างการเจรจาที่ยื่นกับไทย เพราะยังไม่เป็นที่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม จะยังต้องมีการต่อรองอีกเยอะ


 


นายการุณ กล่าวเสริมว่า การยื่นข้อเรียกร้องเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถต่อรองให้เกิดความสมดุลระหว่างกัน เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องคุยกันมากโดยเฉพาะปรัชญาที่แตกต่างกัน เนื่องจากเรื่องสิทธิบัตรยาเกี่ยวข้องกับการผูกขาดและผลประโยชน์สาธารณะ  


 


"ตอนนี้สหรัฐเข้ามาพร้อมหนังสือหนึ่งเล่ม แล้วบอกว่าต้องได้อย่างนั้นๆ บีบจนเราหลังชนฝา จนนาทีสุดท้าย เราต้องยืนแข็งเอาไว้ แต่ผมเป็นคนมีความอดทนสูงมาก ให้เจรจากันอีก 10 รอบก็ได้ ผมไม่รีบ" นายการุณตอบคำถามถึงกรอบเวลาที่จะต้องให้การเจรจาเสร็จสิ้น ส่วนการเจราจารอบที่ 7 นั้นยังไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอน


 

สำหรับเรื่องการชี้แจงการทำเอฟทีเอกับรัฐสภานั้น นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการต่างๆ ของรัฐสภามาโดยตลอด รวมทั้งการให้ข้อมูลผ่านการประชุมสัมมนาต่างๆ ที่จัดขึ้นด้วย ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จึงกำลังหารือกันอยู่ว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องไปชี้แจงอีก อย่างไรก็ตาม หากวุฒิสภาต้องการก็ไม่ขัดข้อง  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net