Skip to main content
sharethis


 


วันแห่งความรักใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว... @...คาดว่าวาเลนไทน์ปีนี้คนรักเพศเดียวกันในสหราชอาณาจักรจะสดชื่นรื่นเริงกว่าชาติใดในโลก... @ … นั่นเพราะอานิสงส์แห่งกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่อนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกันได้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้อานุภาพแห่งความรัก (ที่เคยเป็นความลับ) เปล่งประกาย


 


คู่ฮอตที่สุดก็คงไม่พ้นคู่ของเซอร์เอลตัน จอห์น นักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดังชาวอังกฤษ วัย 58 ปีกับเดวิด เฟอร์นิช แฟนหนุ่มนักสร้างภาพยนตร์ชาวแคนาดาวัย 43 ปี เฮ้อ...คบกันมา 12 ปี ในที่สุดก็ได้ฤกษ์กับเขาเสียที ดีใจด้วย


 


พูดอย่างนี้ บางคนอาจนึกอิจฉาเขาและเธอเหล่านั้น แต่อยากเล่าให้ฟังว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ไม่ง่ายเลยจริงๆ


 


แต่ก่อนโน้นนักวิทยาศาสตร์เขาส่องกล้องพบแค่ว่าโครโมโซมน่ะจับคู่กันได้ 2 แบบ ออกมาเป็นเพศหญิงกับเพศชาย เพศอื่นนอกเหนือจากนี้ถูกฟันธงว่า "ผิดปกติ" ...@...กว่าจะรู้ว่าจริงๆ แล้วคนรักเพศเดียวกันน่ะเขา born to be เพราะโครโมโซมจับกันได้ถึง 17 แบบก็เมื่อเร็วๆ นี้เอง


 


เกย์เมื่อ 800-900 ปีก่อนสุดแสนจะลำบาก เพราะถ้าถูกพบว่ามีอะไรกันล่ะก็มีหวังถูกจับไปแขวนคอ ไม่ก็เผาทั้งเป็นเลยเชียว...@...เมื่อเวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน กฎก็เปลี่ยน (บ้าง) เช่นกัน แม้ว่าคนรักเพศเดียวกันจะถูกตัดสินว่า "ผิด" แต่โทษก็เริ่มเบาลง


 


ถ้าเปรียบโลกคือละคร ฉากที่ยากจะลืมเลือนสำหรับชาวเกย์และเลสเบี้ยนทั้งหลาย (จริงๆ ก็รวมถึงคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย) คงหนีไม่พ้น "เหตุการณ์สังหารหมู่นาซีปี ค.ศ. 1933"…@... ชาวยิวเอย เกย์เอยถูกพรรคนาซีจับมาขังไว้ในค่ายกักกันเพราะถูกมองว่า "ด้อยกว่า"…@... แม้จะไม่ได้อยากลดความอ้วน แต่บรรดาคนรักเพศเดียวกันก็ถูกแกล้งให้อดข้าว ใช้แรงงานอย่างหนัก บางคนกลายเป็นหนูทดลองยา บ้างก็ถูกประหารซะงั้น


 


หลังจากเสียงระเบิดในสงครามโลกครั้งที่สองเงียบลง ก็ไม่มีเกย์หรือเลสเบี้ยนคนไหนได้รับชดเชยค่าเสียหาย ....@... ยังดีว่า ธนาคารสวิสและเยอรมนีได้รวมเกย์เข้าไว้ในโปรแกรมชดเชยค่าเสียหายด้วยเมื่อปี ค.ศ.2001 พวกเขาและเธอจึงได้รับการช่วยเหลือ (หากยังมีชีวิตอยู่ -_-!)


 


อีกเหตุการณ์สำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ เหตุการณ์จลาจล ที่ชื่อ "สโตนวอลล์"ที่แม้เหตุจะเกิดในสหรัฐฯ แต่ก็จุดประกายให้เกย์และเลสเบี้ยนชาติอื่นๆ กล้าเปิดเผยตัวออกมารวมพลังและเรียกร้องสิทธิกันมากขึ้น


 


เรื่องของเรื่องก็มาจากตำรวจจอมหาเรื่องที่ชอบจ้องจับ ปรับและซ้อมนักเที่ยวบาร์เกย์อยู่เป็นนิจ (มาเป็นแพคเกจเลยแฮะ) ...@...สารพัดข้อหาพิสดาร เป็นต้นว่า ห้ามจูบ ห้ามจับมือกัน และห้ามใส่เสื้อผ้าที่แสดงถึงเพศตรงข้าม ...@... เมื่อสถานการณ์สุกงอมได้ที่ คืนวันที่ 27 มิถุนายน 1969 ณ บาร์เกย์ชื่อ สโตนวอลล์ ในนิวยอร์ก แม้ไม่รู้ว่าระหว่างตำรวจกับเหล่าคนรักเพศเดียวกันใครเป็นฝ่ายเริ่มก่อน แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่มีใครห้ามพลังมวลชนเอาไว้ได้  


 


อะแฮ่ม...กลับมาที่สหราชอาณาจักรกันต่อ การที่คนรักเพศเดียวกันเริ่มเป็นที่ยอมรับในสังคมคงต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้เซอร์จอห์น วอล์ฟเฟนเดน ...@...บุคคลที่นิตยสารเกย์ พิงค์เปเปอร์ (Pink Paper) ฉบับกันยายน1997 จัดให้เป็นฮีโร่ของชาวเกย์และเลสเบี้ยนอันดับที่ 45 จาก 500 อันดับ...@...เขาเสนอไว้ในรายงานว่า "พฤติกรรมระหว่างคนรักเพศเดียวกันซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่อายุผ่านความเห็นชอบแล้ว (เช่น 21 ปีขึ้นไป) ในที่ส่วนบุคคลไม่ควรเป็นความผิดอาญา" ...@... "กฎหมายมีหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในที่สาธารณะ ปกป้องพลเมืองจากอันตราย...ไม่ใช่มีหน้าที่ไปก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวของพลเมืองหรือบังคับว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไร"


 


นั่นล่ะคนรักเพศเดียวกันจึงได้รับอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กันได้เมื่ออายุน้อยลง ...@... จนมาในปี ค.ศ. 2004 เพศสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันก็กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แถมคนรักเพศเดียวกันยังได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นคู่รักกันได้เช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ


 


อย่างไรก็ตาม ชาวเกย์และเลสเบี้ยนในไทยคงต้องร้องเพลงรอไปก่อน เพราะยังไม่มีกฎหมายแบบนี้ออกมา...@..."การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว ...." กฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้น


 


มันทนา อดิสัยเทพกุล เวบมาสเตอร์ของเวบไซต์เลสล่าดอทคอม (www.lesla.com) บอกว่า หากจดทะเบียนก็จะได้การคุ้มครองเรื่องสิทธิสำคัญๆ 3 เรื่อง คือ มรดก สวัสดิการการทำงาน และการหักภาษีรายได้ของคู่สมรส ซึ่งทำให้รู้สึกเท่าเทียมกับคู่ชายหญิง


 


"ทอมบางคู่อยู่ด้วยกันมานาน สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตแทนที่อีกคนจะได้สมบัติกลับตกเป็นของคนอื่น บางคนบอกให้ทำพินัยกรรมหรือประกันชีวิตไว้ แต่มีคำถามว่าแล้วถ้ายังไม่ทันได้ทำพินัยกรรม หรือประกันเกิดหมดอายุขึ้นมาจะทำอย่างไร"


 


เธอให้เหตุผลว่า คนเราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันก็อยากได้ประโยชน์ร่วมกัน ในเมื่อเสียภาษีเท่ากับคนอื่น ก็อยากได้สิทธิเหมือนเขา


 


ปัญหาอยู่ที่ไหนก็ต้องแก้ที่ตรงนั้น...มันทนาศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายมาได้ระยะหนึ่งแล้ว...@... "อย่างเร็วที่สุดน่าจะใช้เวลา 10 ปี เพราะการจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายต้องเข้าชื่อกัน 50,000 คน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เพื่อผลักดันให้คนรักเพศเดียวกันจดทะเบียนกันได้ นอกจากนี้ต้องมีหน่วยงานที่ศึกษาว่าต้องแก้ตรงไหนอย่างไรแล้วส่งเรื่องไปสภา ซึ่งคงกินเวลาในการแก้ไขด้วย" ...@...เธอมองว่า สิทธิ์ของคนรักเพศเดียวกันในเมืองไทยทางกฎหมายยังเหมือนเดิม แต่สิทธิ์ทางสังคมดีขึ้น ...@... "สังคมยอมรับเพศเดียวกันมากขึ้น ถูกกีดกันน้อยลง ต้องรอให้คนเปิดใจยอมรับ ถ้ายอมรับได้ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น สังคมไทยจะแรงไม่ได้ อยากได้อะไรต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ ศึกษากันไป"


 


คล้ายๆ กับดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่วนกลางสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย...@...เขามองว่า การที่จะเรียกร้องให้มีกฎหมายแต่งงานเหมือนอังกฤษเลยนั้นเร็วเกินไป เพราะขณะที่อังกฤษต่อสู้เรียกร้องมานานแล้ว แต่ของเรายังไม่ได้เริ่ม...@..."ถ้าคู่ชายหญิงมีกฎหมายแต่งงาน คนรักเพศเดียวกันก็ควรมีเช่นกัน เพื่อเป็นเครื่องหมายยืนยันว่าไม่มีทัศนคติเหยียดเพศในกฎหมาย" ...@...สวัสดิการต่างๆ ที่คน 2 คนควรได้รับยึดโยงอยู่กับทะเบียนสมรส เช่น สวัสดิการสำหรับคู่สมรสในบริษัทหรือสายการบิน การกู้ยืมเงินไปซื้อบ้านหรือรถ ถ้าไม่มีทะเบียนสมรสก็จะไม่ได้สิทธิ์เหล่านี้...@...ดนัยเห็นว่า ไม่ยุติธรรม "ชายรักชายคู่หนึ่งอยู่ด้วยกันเป็นสิบๆ ปีนานกว่าคู่ชายหญิงบางคู่แต่ก็ไม่สามารถกู้เงินได้เพราะไม่ได้จดทะเบียนกัน"


           


ดนัยเสนอให้ต่อสู้เรื่องข้อจำกัดทางเพศไปพร้อมกันด้วย เพราะ "ยังมีกฎหมายหลายตัวที่กดขี่ทางเพศ ...@...เป็นต้นว่า ชายใดกระทำชำเราหญิงที่ไม่ใช่ภรรยาเป็นการข่มขืน เท่ากับว่าผู้ชายข่มขืนภรรยาตัวเองได้ ...@...กระนั้นก็ตาม เขาบอกว่า สถานการณ์ของคนรักเพศเดียวกันในตอนนี้นับว่าดีขึ้นจากแต่ก่อน เพราะมีแนวร่วม มีคนทำงานมากขึ้น ...@ … ลักษณะการต่อสู้เรียกร้องของไทยกับต่างประเทศที่ต่างกันก็มีส่วน ในต่างประเทศนั้นอาจชนตรงๆ แต่ของเราขอกันดีๆ ได้โดยใช้วิธีคุยกันและชี้แจงเหตุผล


           


มาดูทางด้านส.ว.กันบ้าง...@...ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ส.ว.ขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ว่า การที่คน 2 คนรักกัน ใช้ชีวิต ทำงานสร้างตัวด้วยกันมา เมื่อใครสักคนตายไป ทรัพย์สมบัติที่ช่วยกันหามาต้องตกเป็นของพ่อแม่อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ถูกต้อง ควรให้เขาได้ร่วมกันทั้งสุขและทุกข์...@...แต่ส.ว.ขอนแก่นบอกว่า คงใช้เวลานานกว่าไทยจะมีกฎหมายแบบนี้...@... "เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่นิยมรักต่างเพศ ถ้าเพศรักเดียวกันรักกันมักกลายเป็นเรื่องผิด ทั้งที่จริงๆ แล้วเพศไหนก็รักกันได้ ยังไงก็เป็นคนเหมือนกัน"


           


"เพศที่สามยังถูกมองในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยาม"...@...ระเบียบรัตน์เชื่อว่า มีคนรักเพศเดียวกันอีกเยอะที่ไม่กล้าแสดงตัว เพราะสังคมยังไม่ยอมรับ ...@...ส.ว.ขอนแก่นเสนอให้แก้ที่ทัศนคติก่อน ต้องมองคนที่คุณค่าความเป็นคน ที่ความสามารถของเขา เขาจะได้กล้าเปิดตัวเองออกมา


 


ก่อนจาก ระเบียบรัตน์ทิ้งท้ายว่า "จะให้คนรักเพศเดียวกันได้รับการยอมรับเท่าเทียมกับหญิงหรือชายยังต้องรออีกเยอะ เอาแค่สิทธิของหญิงกับชายตอนนี้ ยังไม่เท่าเทียมกันเลย"


 










หลังจดทะเบียน คู่รักเพศเดียวกันจะมีสิทธิตามกฎหมายเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ ได้แก่ ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ สวัสดิการการทำงาน สามารถขอจดทะเบียนรับลูกของคู่รักเป็นบุตรบุญธรรม ได้ประโยชน์ด้านการอพยพเข้าเมือง สิทธิเข้าเยี่ยมคู่รักในโรงพยาบาลต่อจากญาติและตัดสินใจแทนเมื่ออีกฝ่ายป่วยหนัก ได้รับชดเชยค่าเสียหายในกรณีที่คู่รักประสบอุบัติเหตุ ตลอดจนสิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม ทั้งนี้ หากทั้งสองต้องการ "แยกทางกัน" ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการหย่าของคู่ต่างเพศ โดยมีการแบ่งสินสมรส และสามารถเรียกร้องค่าเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net