Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 16 ก.พ. 49   5 คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ย้ำจุดยืนให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลาออก พร้อมจี้ให้มีการปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง ในเวทีสาธารณะ "เสรีภาพลมหายใจประชาธิปไตย" ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่ามกลางผู้สนใจมาร่วมฟังเกือบ 300 คน วันนี้ (15 ก.พ.)


 


ผู้เสวนาในเวทีสาธารณะดังกล่าว ได้แก่ ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล คณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ จากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดำเนินรายการ


 


เวทีดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการถามถึงข้อกังขาของสังคมว่าทำไมนักวิชาการจึงไม่สอนหนังสือ แต่กลับออกมาเคลื่อนไหวให้เกิดความวุ่นวาย


 


ศ.ดร.อมรา ตอบคำถามดังกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นทั้งหน้าที่และเสรีภาพ เหตุการณ์ที่ทำให้ต้องออกมาเคลื่อนไหวเป็นเรื่องที่มีการสั่งสมมานาน แต่จุดแตกหักอยู่ที่วันที่ 23 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่มีการประกาศขายหุ้นชินคอร์ป


 


"หลังจากฟังข่าวแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ ได้ติดตามข่าวทั้งอาทิตย์ อ่านหนังสือพิมพ์ทุกคอลัมน์ จนเห็นประเด็นทางรัฐศาสตร์ชัดอย่างเป็นปรากฏการณ์ ซึ่งเป็นบทเรียนที่นักศึกษารัฐศาสตร์และสังคมต้องเข้าใจ เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องจริยธรรม คุณธรรม ซึ่งเป็นเผด็จการทั้งที่แสนจะดูเป็นประชาธิปไตยมากเลย"


 


ศ.ดร.อมรา ยังกล่าวต่อว่า รัฐศาสตร์ต้องทำประเด็นนี้สู่สาธารณะเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ในสังคมทุนนิยมแม้ศาสนาจะลดบทบาทลง แต่จริยธรรมต้องมี ในการตัดสินใจทำอะไรได้ลงไปผ่านการพูดคุยกันมาแล้วในวงการรัฐศาสตร์ มีการดำเนินการอย่างรอบคอบกว่า 1 สัปดาห์ โดยใช้จุดยืนส่วนตัวในฐานะนักรัฐศาสตร์ รวมทั้งผู้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ก็เช่นกัน เพียงแต่มีหมวกที่เป็นอัตลักษณ์ในคณะรัฐศาสตร์เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้


 


รศ.ดร.นครินทร์ กล่าวในเวทีเดียวกันว่า ระบอบการเมืองต้องอยู่คู่กับผู้นำที่มีคุณธรรมและจริยธรรม ส่วนประเด็นคำถามว่า ทำไมอาจารย์รัฐศาสตร์จึงไม่สอนหนังสือนั้น คิดว่าสนามการเรียนรู้ไม่ควรอยู่แค่ในห้องเรียน แต่อยู่ที่การเมืองการปกครองของประเทศ


 


คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า สังคมไทยกำลังก้าวสู่ระบบประชาธิปไตยที่ไม่เคยประสบมาก่อน ที่ผ่านมาในอดีตแทบไม่มีรัฐบาลใดที่มีเสถียรภาพ จึงได้พยายามหาระบบทำให้ผู้นำประเทศมีความเข้มแข็ง แต่ก็ทำให้มาเจอปัญหาอีกอย่าง คล้ายๆ กับกินยาลดความอ้วนแต่มีไซค์เอฟเฟ็ค


 


นอกจากนี้ สังคมไทยยังคิดว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่กำลังใช้อยู่มีความมั่นคงแต่ความจริงแล้วเปราะบางมาก ในประเทศตะวันตกนักวิชาการก็ชี้ว่ามีปัญหา โดยเฉพาะถ้าระบบการเลือกตั้งไม่ยุติธรรม และต้องให้ความสำคัญกับระบบการตรวจสอบด้วย ซึ่งถ้าไม่มีระบบประชาธิปไตย ตัวแทนก็เปราะ


 


ขณะนี้ความคลุมเครือของรัฐบาลคือปัญหา สิ่งที่สื่อ นักวิชาการ สังคมตั้งคำถามกลับไม่ตอบ แต่กลับตอบสิ่งที่ไม่ได้ถาม ในประชาธิปไตยสมัยใหม่แท้ๆ แบบที่เป็นอยู่นี้ ฟันธงได้เลยว่าสังคมไทยไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางการตรวจสอบ


 


รศ.ดร.นครินทร์ ชี้อีกว่า ควรทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกปกติ แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครสนใจรักษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีการระบุชัดเจนว่า เมื่อครบ 5 ปีแล้วต้องมีการชำระแก้ไข เนื่องจาก สสร.เองก็รู้ว่ารัฐธรรมนูญยังไม่สมบูรณ์ แต่ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 9 ปี ยังไม่เคยมีการสะสาง ทั้งๆ ที่ควรเริ่มตั้งแต่หลายปีก่อน


 


ระบบควรรักษาตั้งแต่ต้น การกลับมาเริ่มที่ประชาชนต้องการอะไร มันจึงอาจสายเกินไป ทั้งๆที่สามารถทำได้ผ่านระบบการเมืองปกติ โดยเสียงส่วนมากในรัฐสภาเป็นผู้เริ่ม การเปิดสภาเพื่อพูดคุยในช่วงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ถือว่าเป็นกระบวนการปกติ แต่ทำไม่ต้องไปตั้งวงคุยกันที่อื่น รัฐสภาน่ารังเกียจตรงไหน


 


ส่วนในกรณีการยื่นคำร้องของ 28 ส.ว. ก็อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา เพราะเป็นกระบวนการปกติเช่นกัน แต่จะตัดสินอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


 


ด้าน ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องเสรีภาพในประเทศไทยยังมีความล้าหลังอยู่มาก คือยังอยู่ในช่วงประมาณศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งยังต้องการการทดสอบต่อไปอีกหลายยุคสมัย การแสดงออกในต่างประเทศที่สังคมพัฒนาแล้วบางประเทศนั้น สามารถทำได้ตั้งแต่การนั่งเฉยๆ ไปจนถึงการแก้ผ้า เป็นเรื่องปกติ


 


นอกจากนี้ ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นคำถามอีกข้อหนึ่งของเวทีว่า เป็นเรื่องน่าอายที่สังคมไทยต้องกลับมาพูดเรื่องนี้อีกครั้ง ประการแรกคนพูดว่า การฉ้อฉลในสมัยนี้มีมาก แต่ก็ไม่ดำเนินการอะไร เมื่อคนหันมาหวังในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ระบบตรวจสอบกลับไม่สามารถทำได้ และเมื่อพูดถึงการแก้ไขก็จะกลายเป็นเรื่องการเมืองทันที


 


ในส่วนตัวนั้นคิดว่า รัฐธรรมนูญมีส่วนที่ควรแก้ แต่ต้องระวังการกลายเป็นเรื่องการเมือง เพราะจะมีการพยายามรักษากติกาบางอย่างไว้เพื่อตัวเอง โจทย์สำคัญที่ยากมากก็คือ เรื่องที่มาขององค์กรอิสระเพื่อทำการตรวจสอบ


 


ส่วนในประเด็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้นั้น เป็นการสะท้อนอะไรบางอย่างที่น่ากลัวสำหรับผู้มีอำนาจ ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นเรื่องปัญหาของนายสนธิ ลิ้มทองกุล เพียงคนเดียว อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าบ้านเมืองกำลังจะก้าวไปในจุดไหน ซึ่งในประวัติศาสตร์นั้น ความขัดแย้งระหว่างผู้นำที่มีอำนาจกับประชาชนนั้น มักมีการนองเลือดในหลายประเทศ การจัดการตรงนี้คือการจัดการระหว่างการเป็นมหาบุรุษกับไม่ใช่ ทุกฝ่ายต้องมีสติอย่าหลอกตัวเองทั้งฝ่ายนายสนธิ ว่าจะล้มอำนาจได้โดยทันที และผู้อำนาจก็ต้องมีสติเช่นกัน


 


ผศ.ทวี คิดว่ารัฐบาลคงไม่ยอมให้ฝ่ายอื่นมานำการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะตามทฤษฎีรัฐธรรมนูญคือผู้ใดร่าง ผู้นั้นก็มีอำนาจ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นความจริงใจของรัฐบาล และหลังจากการที่รัฐบาลเสนอให้มีการลงประชามติเพื่อตัดสินว่า ควรแก้รัฐธรรมนูญแท้งไป ก็เสนอวาทกรรมใหม่ "ประชาพิจารณา" แทน ตรงนี้เป็นเพียงการระบายลมจากลูกโป่งไม่ให้อึดอัดเท่านั้น


 


ระหว่างการเสวนาดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง ผศ.ปิยะ ได้เดินทางมาร่วมการเสวนาด้วยโดยระบุว่ามาเป็นตัวแทน เครือข่ายรัฐศาสตร์ในภาคใต้


 


ผศ.ปิยะ ระบุว่า เครือข่ายทางภาคใต้ต้องการเห็นกลไกการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญทำได้เต็มที่และหากผู้นำทำผิดก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ที่ผ่านมาในกรณีเหตุการณ์เดือนตุลา หรือพฤษภาก็ไม่เป็นจริง ควรทำเพื่อเป็นผลดีของทุกคนอย่างเท่าเทียม


 


ทุกวันนี้มีหลายประเด็นที่ต้องทบทวนกันในรัฐธรรมนูญ คิดในสามจังหวัดภาคใต้เข้าใจลึกซึ้งในปัญหาอำนาจทางการเมือง เพียงแต่บางส่วนเลือกไม่ต่อสู้ตามกติกา การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการบังคับใช้ให้รัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์ ทรงพลัง อาจเข้าไปแก้ปัญหาในภาคใต้ได้ด้วย


 


เมื่อมีคำถามจากสื่อมวลชนว่า การพูดคุยในวันนี้ เป็นการลดเป้ามาที่การแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีแถลงการณ์จากคณาจารย์สายรัฐศาสตร์ระบุชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีต้องลาออกด้วยเพราะหมดความชอบธรรม


 


ผศ.ปิยะกล่าวเป็นคนแรกว่า เครือข่ายรัฐศาสตร์ทางภาคใต้ เรียกร้องชัดเจนว่าให้นายกฯลาออก โดยขอให้ใช้กลไกทั้งในและนอกรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและให้ความรู้กับสังคม รวมทั้งได้เรียกร้องประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปพร้อมกันด้วย


 


"ในภาคใต้มีเงื่อนไขในการให้นายกฯลาออก ซึ่งรุนแรงกว่าปรากฏการณ์สนธิ คือการใช้ความรุนแรงปะทะ ซึ่งผู้สูญเสียคือประชาชนกับเจ้าหน้าที่เอง ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นทางออก ในกรณีปรากฏการณ์สนธิในเมืองก็คล้ายกัน คือโดนปิดกั้นความจริง มีการกดดันต่างๆ  จนเกิดเป็นคำถามถึงความชอบธรรมของผู้ปกครอง ในระยะสั้นคือต้องลาออกเพราะผู้บริหารประเทศขาดความชอบธรรม"


 

ส่วนคณาจารย์รัฐศาสตร์ท่านอื่นๆ โดยร่วมแล้วเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และระบุว่าข้อเสนอต่างๆ ในแถลงการณ์ก็ชัดเจน คือมีทั้งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตัวเองลาออก และให้มีการปรับแก้กลไกองค์กรการตรวจสอบ แต่ก็ยอมรับว่า การที่จะนายกฯลาออกยังเป็นเรื่องยาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net