Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


มิเชล แบชเชเลต์                เอโว โมราเลส


 


 


(ชื่อเดิม) อีกก้าวนอกกรอบ : โฉมหน้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของชิลีและโบลิเวีย


โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ / 14 กุมภาพันธ์ 2549


 


การหันเหทิศทางเลี้ยวซ้ายของรัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ไม่ได้สร้างมิติใหม่ในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังฉีกกรอบค่านิยม วัฒนธรรมและความเคยชินเดิมๆ ลงอย่างสิ้นเชิง การทดลองครั้งนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม แต่มันแสดงให้เห็นว่า ประชาชนในภูมิภาคนี้พร้อมแล้วที่จะบุกเบิกเส้นทางใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาซ้ำซากที่หมักหมมมานานเหลือเกิน


 


ชิลี: พลังของผู้หญิง


ครั้งหนึ่ง มีคนเคยตั้งคำถามกับการ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลอมเบียว่า มนุษยชาติควรทำอย่างไรเพื่ออยู่รอดในศตวรรษที่ 21 มาร์เกซตอบว่า หนทางเดียวที่จะรักษามนุษยชาติให้รอดพ้นได้ในศตวรรษใหม่ก็คือ ต้องให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทจัดการโลก เขากล่าวย้ำด้วยว่า "ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องความเป็นความตายทีเดียว"


 


ราวกับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในชิลีจะตระหนักถึงเรื่องนี้ มิเชล แบชเชเลต์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศชิลี แม้ว่าเธอจะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนที่สามของละตินอเมริกา แต่เธอเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในภูมิภาคนี้ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยตัวเอง โดยไม่ได้มีสามีที่เป็นประธานาธิบดีหรือนักการเมืองมาก่อน ในรัฐบาลชุดที่แล้ว แบชเชเลต์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เป็นผู้หญิงคนแรกเช่นกัน


 


การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของแบชเชเลต์นั้น ความเป็นผู้หญิงยังไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่สุด สังคมชิลีเป็นสังคมหัวโบราณ ผู้ชายเป็นใหญ่ เคร่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างมาก ถึงขนาดที่กฎหมายการหย่าร้างเพิ่งออกมาใช้เมื่อปีที่แล้วนี้เอง ตัวมิเชล แบชเชเลต์นั้นจัดว่าฉีกกรอบค่านิยมในชิลีอย่างกระจุยกระจาย นอกจากเธอเป็นผู้หญิง เธอยังเป็นนักสังคมนิยมที่ประกาศชัดเจนว่าไม่ได้นับถือศาสนา มิหนำซ้ำ เธอยังเป็นแม่ของลูก 3 คน ที่เกิดจากสามี 2 คนที่ไม่ได้แต่งงานกันตามประเพณี และปัจจุบันเธอมีสถานภาพโสด


 


แบชเชเลต์เป็นเหยื่อคนหนึ่งของระบอบเผด็จการภัยสยองในยุคนายพลปิโนเชต์ บิดาของเธอเป็นทหารอากาศที่ต่อต้านการรัฐประหารที่ล้มล้างประธานาธิบดีอัลเยนเด เขาจึงถูกจับและเสียชีวิตในคุก แบชเชเลต์ในวัย 22 และมารดาถูกจับ ถูกทรมาน และต้องลี้ภัยไปอยู่ในออสเตรเลียและเยอรมันตะวันออก


 


เมื่อกลับมาชิลีและก้าวเข้าสู้เส้นทางการเมือง เธอได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเพื่อประสานรอยร้าวระหว่างกองทัพและภาคประชาสังคม เธอทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี


 


แม้ว่าแบชเชเลต์ประกาศจะดำเนินตามนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมเช่นเดียวกับรัฐบาลก่อน แต่นโยบายที่เธอหาเสียงไว้ก็มีน้ำหนักทางด้านสวัสดิการสังคมเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เธอสัญญาไว้ในการหาเสียงด้วยว่า จะจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีผู้หญิงกับผู้ชายดำรงตำแหน่งครึ่งต่อครึ่ง และเธอก็ทำตามที่สัญญาไว้


 


แบชเชเลต์ประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้หญิง 10 คนและผู้ชาย 10 คน ตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญที่ผู้หญิงจะได้เข้ามากุมนโยบายก็คือ กระทรวงกลาโหม, เสนาธิการเหล่าทัพ, กระทรวงเศรษฐกิจ, กระทรวงวางแผนและนโยบาย และกระทรวงสาธารณสุข


 


แบชเชเลต์พยายามแต่งตั้งรัฐมนตรีที่เฉลี่ยกันไปในพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อสร้างความสมดุล โดยยังรักษาแนวทางซ้ายกลางเอาไว้ เธอกล่าวว่า "รัฐมนตรีชุดนี้เป็นตัวแทนของก้าวย่างครั้งประวัติศาสตร์ที่มุ่งสู่ความเท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง" ประธานาธิบดีแบชเชเลต์และคณะรัฐมนตรีจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 11 มีนาคม


 


โบลิเวีย: พลังของชนพื้นเมืองและองค์กรรากหญ้า


เอโว โมราเลส ชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองเผ่าไอมารา ผู้นำกลุ่มเกษตรกรปลูกโคคา สร้างประวัติศาสตร์การเป็นชาวพื้นเมืองคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของโบลิเวีย เขาได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ


 


การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของโมราเลสสร้างความวิตกไม่น้อยแก่ประเทศทุนนิยมในตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สื่อมวลชนประโคมข่าววิจารณ์ความเป็น "ซ้ายจัด" ของโมราเลส รวมทั้งวิจารณ์ไปถึงเรื่องที่โมราเลสมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการเป็นผู้นำ เพราะชาวพื้นเมืองผู้นี้ไม่เคยแม้แต่เข้าโรงเรียนไฮสกูล ขาดประสบการณ์ในการบริหาร และพอเขาประกาศคณะรัฐมนตรีออกมา นิตยสาร The Economist ก็ออกมาวิจารณ์ทันที


 


คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของโมราเลสประกอบด้วยชาวพื้นเมืองเป็นส่วนใหญ่ บุคคลที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาจากแวดวงที่ไม่ใช่นักการเมืองโดยสิ้นเชิง แต่เฟ้นหามาจากนักวิชาการ กลุ่มองค์กรและขบวนการรากหญ้าที่ต่อสู้เพื่อนำโบลิเวียไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และโมราเลสเองก็ขนานนามคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ว่า "คณะรัฐมนตรีแห่งการเปลี่ยนแปลง" ด้วย


 


บุคคลที่มาดำรงตำแหน่งสำคัญ มีอาทิเช่น อันเดรส โซลิส ราดา นักกฎหมายและนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งต่อสู้เพื่อโอนกิจการด้านพลังงานกลับมาเป็นของชาติมายาวนาน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ วอลเตอร์ วีญาโรเอล ผู้นำสหกรณ์คนงานเหมืองแร่ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่ นีลา เอเรเดีย นักกิจกรรมด้านสังคมและสาธารณสุข เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข อาเบล มามานี ผู้นำการต่อสู้เพื่อคัดค้านการแปรรูปน้ำในเมืองลาปาซ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงน้ำ


 


แต่ที่สร้างสีสันและความฮือฮามากที่สุด คงเป็นคาสซิมิรา โรดิเกซ เธอสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในชุดพื้นเมือง ไว้ผมเปียที่ยาวถึงหลัง เป็นรูปลักษณ์ที่ไม่แตกต่างจากผู้หญิงชาวพื้นเมืองทั่วไปในโบลิเวีย


 


ประสบการณ์ในชีวิตของโรดิเกซก็ไม่แตกต่างจากผู้หญิงชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่ เธอเป็นชาวอินเดียนแดงเผ่าเกชัว ตอนอายุ 13 เธอถูกพาจากหมู่บ้านในชนบทมาอยู่เมืองโคชาบัมบา เพราะคล้อยไปกับคำสัญญาว่า เธอจะทำงานแลกกับการได้เรียนหนังสือ แต่สิ่งที่เธอประสบคือการถูกบังคับให้ทำงานบ้านเหมือนทาสโดยไม่ได้ค่าแรงและถูกนายจ้างทำร้ายเป็นประจำ จนกระทั่งหนีออกมาได้ในอีกสองปีต่อมา


 


การกดขี่ทางเศรษฐกิจและเชื้อชาติ ทำให้ผู้หญิงเผ่าเกชัวและไอมาราส่วนใหญ่ต้องอพยพจากชนบทเข้ามาทำงานเป็นคนรับใช้ตามบ้านในเมือง โรดิเกซกลายเป็นนักกิจกรรมสังคมจนได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการสหพันธ์แรงงานบ้านสตรีแห่งละตินอเมริกาและแคริบเบียน เธอต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานรับใช้ในบ้าน ซึ่งมีอยู่มากกว่า 132,000 คน ทั่วโบลิเวีย ด้วยวัยเพียง 39 ปี เธอเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อถูกถามว่า เธอมีความรู้พอที่จะทำงานนี้ได้ดีหรือไม่ โรดิเกซอธิบายอย่างเรียบง่ายว่า "ในการผดุงความยุติธรรมนั้น คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมายหรอก"


 


โมราเลสกล่าวในวันปฏิญาณตนว่า "นี่คือคณะรัฐมนตรีแห่งการเปลี่ยนแปลงชุดแรก เลือกสรรขึ้นมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยและต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและสังคมในประเทศนี้"


 


แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการศึกษาและขาดประสบการณ์ แต่เอโว โมราเลสก็ทำสิ่งที่น่าสนใจมากตั้งแต่รู้ว่าได้รับเลือกตั้งแน่นอน เขาใช้ชัยชนะของตนอย่างชาญฉลาดไม่น้อย ตั้งแต่ก่อนเข้าสาบานตนด้วยซ้ำ โมราเลสก็ออกเดินทางไปถึง 4 ทวีปเพื่อสร้างข้อตกลงในระดับนานาชาติ เขาขอความช่วยเหลือในการยกเลิกหนี้สินจากสเปน ขอโครงการด้านการอ่านออกเขียนได้จากคิวบา (คิวบาช่วยเหลือเวเนซุเอลาสำเร็จมาแล้วในเรื่องนี้) ทำข้อตกลงด้านการค้ากับจีน ขอความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการพัฒนาน้ำมันและก๊าซจากบราซิล และทำข้อตกลงแลกถั่วเหลืองกับน้ำมันดีเซลจากเวเนซุเอลา


 


ดังนั้น ตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โมราเลสก็ลงมือหาทางแก้ปัญหาด้านการเงิน การศึกษา การค้า เทคโนโลยีและพลังงาน ไม่น่าแปลกใจที่คะแนนนิยมหลังเลือกตั้งของเขาพุ่งสูงขึ้นถึง 74%


 


แน่นอน หนทางข้างหน้าของชาวพื้นเมืองโบลิเวียย่อมไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ มันยังเต็มไปด้วยขวากหนามอีกมาก ก้าวครั้งนี้แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ ของชาวโบลิเวีย แต่มันก็เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่มากของชาวพื้นเมืองและองค์กรรากหญ้า


 


ไม่ใช่แค่เลี้ยวซ้าย


ภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ไม่ใช่แค่เลี้ยวซ้าย แต่ผู้คนในภูมิภาคนี้ยังเต็มใจทดลองในสิ่งใหม่ๆ ที่ต่างไปจากความเคยชินเดิมๆ แม้กระทั่งในชิลีที่ไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ชาวชิลีที่เคยหัวโบราณก็ยังพร้อมที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ ละตินอเมริกาที่เคยเป็นสนามทดลองลัทธิเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว หลายประเทศที่มหาเศรษฐีนักธุรกิจเคยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำบนความคาดหวังของประชาชนว่า นายทุนเหล่านี้จะนำพาชาติสู่ความรุ่งเรืองทางวัตถุ บัดนี้ดูเหมือนประชาชนในภูมิภาคแทบจะพร้อมใจกันหันไปหาทางเลือกใหม่ ประเทศแล้วประเทศเล่าที่นายทุนนักการเมืองในชุดสูทหรูหราต้องพ่ายแพ้แก่สามัญชนคนพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นชิลี โบลิเวีย เวเนซุเอลา บราซิล อุรุกวัย และที่กำลังจะตามมาคือเปรูและเม็กซิโก


 


การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเปรูที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 เมษายน เป็นที่คาดหมายกันว่า โอญันตา อูมาลา นายทหารชาวพื้นเมืองที่เคยพยายามทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายฟูจิโมริเมื่อปี ค.ศ. 2000 น่าจะได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก


 


ส่วนการเลือกตั้งในเม็กซิโกที่จะมีขึ้นในปีนี้เช่นกัน คาดว่านายอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ แห่งพรรค PRD ที่ถือเป็นพรรคฝ่ายซ้ายจะได้รับการเลือกตั้ง ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเม็กซิโกน่าสนใจอย่างยิ่ง รองผู้บัญชาการมาร์กอสและขบวนการซาปาติสตาวิจารณ์ว่า โอบราดอร์ไม่ใช่ฝ่ายซ้ายที่แท้จริงและไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ตอนนี้ซาปาติสตากำลังรณรงค์การเมืองในแนวทางใหม่ในชื่อว่า "The Other Campaign" เพื่อสร้างการเมืองทางเลือกคู่ขนานขึ้นมาคานกับการเมืองกระแสหลัก โดยรองผู้บัญชาการมาร์กอสใช้ฉายานามใหม่ชั่วคราวว่า "ผู้แทนหมายเลขศูนย์" (Delegate Zero) และออกเดินทางไปทั่วประเทศเม็กซิโกเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อพบปะกับประชาชนและองค์กรรากหญ้า เป็นการปฏิบัติการเมืองแนวใหม่ที่เรียกว่า "การเมืองของการรับฟัง" (Politics of Listening) เพราะแค่โวหารทางการเมืองฝ่ายซ้ายนั้นย่อมไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่แท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net