Skip to main content
sharethis


ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์


 


"เพียงมะนา" (Pyinmana) เป็นเมืองซึ่งอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปราวๆ 244 ไมล์ มีภูมิประเทศติดกับภูเขาและผืนป่าขนาดใหญ่ และมีข่าวว่ารัฐบาลพม่าจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่นั่น ทำให้นานาประเทศพากันจับตามองว่าการย้ายที่ตั้งเมืองหลวงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนพม่าและประเทศเพื่อนบ้านอย่างไรบ้าง


 


วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการสัมมนาเรื่องเมืองหลวงใหม่ของพม่าขึ้น ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ เพื่อพูดถึงความเป็นไปได้ที่พม่าจะย้ายเมืองหลวง และพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย รวมถึงแนวทางในการรับมือต่อกรณีดังกล่าว


 


การย้ายเมืองหลวงของพม่าเป็นการเตรียมการในระยะยาว แต่การลงไปปฏิบัติการเชิงก่อสร้างภายในพื้นที่ของเพียงมะนาเป็นผลงานที่เห็นได้ชัดเจนในระยะหลังๆ ซึ่งการสร้างเมืองใหม่ถือเป็นการลงทุนที่สูงมาก มีทั้งการขยายถนน ปรับพื้นที่ ขยายสนามบิน มีการพัฒนาและจัดการเรื่องพลังน้ำและพลังงานไฟฟ้า จึงอาจตัดสินได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเพียงกระแสข่าวในช่วงที่มีการเปลี่ยนตัวผู้นำเท่านั้น และ มิใช่นโยบายของกลุ่มหรือปีกใดปีกหนึ่ง แต่เป็นนโยบายของรัฐ ส่วนการตัดสินใจของรัฐบาลพม่าในครั้งนี้จะมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ จะต้องพิจารณาปัจจัยด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ประกอบด้วย


 


ทั้งนี้ ด็อกเตอร์ สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้ร่วมสัมมนากล่าวว่าพม่ามีปัญหาเรื่องการรักษาความเป็นเอกภาพภายในประเทศ และมีการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยมาโดยตลอด การย้ายเมือง หรือ "การเบิกยุคใหม่" จึงมีความหมายสำคัญในด้านการย้ายศูนย์อำนาจด้วย


 


นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์การย้ายเมืองเป็นเรื่องปกติซึ่งพบได้ในหลายที่ แม้แต่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกามีการแยกเมืองสำคัญออกจากวอชิงตันดีซีซึ่งเป็นเมืองหลวง ส่วนในอังกฤษก็เคยมีการตั้งให้เมืองมิลตันเคนส์เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่แทนลอนดอน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประชาชนไม่ยอมย้ายไปอยู่ที่นั่น หรือแม้แต่มาเลเซียก็ยังมีการสร้างเมืองสำคัญแห่งใหม่ห่างออกไปจากกรุงกัวลาร์ลัมเปอร์ และประเทศไทยก็เคยมีโครงการ "นครนายกนิวทาวน์" ซึ่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาให้ข่าวอยู่ช่วงหนึ่ง


 


เหตุผลในการ "เบิกยุคใหม่" ของพม่า


 


การตั้งเมืองใหม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ ได้แก่ ปัจจัยด้านบริหารจัดการ และปัจจัยด้านความมั่นคง แต่สาเหตุที่ทำให้เพียงมะนาเป็นตัวเลือกสำคัญของรัฐบาลพม่ามีเหตุผลประกอบ 2 ประการ คือ ภูมิประเทศที่เหมาะสม และความเชื่อว่าเพียงมะนาคือพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์


 


บริเวณที่รัฐบาลพม่าจะเข้าไปสร้างเมืองใหม่อยู่ห่างจากศูนย์กลางของเพียงมะนาไปประมาณ 7 ไมล์ และค่อนไปทางทิศตะวันตก พื้นที่ส่วนนี้ถูกเรียกว่า "ไจ้เพีย" มีถนนสายยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองตัดผ่าน และเส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อไปยังเบอร์มาโรดซึ่งทอดยาวเข้าสู่ตอนใต้ของประเทศจีน ชัยภูมิของเพียงมะนาจึงเอื้อต่อการเข้าไปควบคุมและปราบปรามชนกลุ่มน้อยได้ดีกว่ากรุงย่างกุ้ง นอกจากนี้ภูมิประเทศในบริเวณนั้นยังอยู่ติดดับภูเขา ทำให้เหมาะกับการตั้งฐานกำลังและกองบัญชาการอย่างยิ่ง


 


ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือกรุงย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยประเทศอังกฤษ แต่ถ้าย้อนกลับไปดูพม่าในสมัยที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์จะเห็นว่าไม่เคยมีกษัตริย์คนใดนับว่าย่างกุ้งเป็นเมืองหลวง ในขณะที่ไจ้เพียเคยเป็นฐานที่มั่นของนายพลอองซานในสมัยที่พม่าต้องต่อสู้กับอังกฤษเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช จนกลายมาเป็นประเทศพม่าในปัจจุบัน จึงกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าไจ้เพียและเพียงมะนามีความหมายทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และประวัติศาสตร์ต่อชาวพม่ามากกว่าเมืองย่างกุ้งเสียอีก และคงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดหากรัฐบาลพม่าจะตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เพียงมะนาจริงๆ


 


ย้ายเมืองใหม่ ใครได้-ใครเสีย


นอกเหนือจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีเหตุผลอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานของนายพลจอซอ อดีตสหายสามสิบ (30 Comrades) ที่เคยเป็นแนวร่วมของนายพลอองซาน และด็อกเตอร์สุเนตรได้หยิบยกมากล่าวถึงในการสัมมนาด้วย เหตุผลที่ว่าก็คือการที่รัฐบาลพม่าหวั่นเกรงว่าอาจเกิดความไม่สงบขึ้นในกรุงย่างกุ้ง ดังเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเดือนสิงหาคม ปี 1988 (เหตุการณ์888) ซึ่งนักศึกษาและประชาชนพม่าลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลทหาร


 


ในช่วงเวลานั้น ประเทศพม่าประสบปัญหาเศรษฐกิจขั้นรุนแรง ค่าครองชีพก็ถีบตัวสูงขึ้น และประสบกับภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงด้วย รัฐบาลจึงต้องปราบปรามทั้งพลังประชาชนและกองกำลังของชนกลุ่มน้อยในเวลาเดียวกัน


 


อย่างไรก็ตาม นายพลจอซอกล่าวว่ารัฐบาลสามารถซื้อเวลาจากประชาชนได้ด้วยการผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ ทว่า เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก เช่น การแทรกแซงจากสหรัฐอเมริกา หรือปัจจัยภายในซึ่งเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของอองซาน ซูจี ซึ่งเป็นแกนนำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญในพม่า


 


แม้ว่าความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาจะเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้น้อยมาก เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าเกาหลีเหนือน่าจะเป็นประเทศที่สหรัฐอเมริกาจ้องจะเข้าไปจัดการกิจการภายในมากกว่า แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารัฐบาลพม่าย่อมไม่อยากเสี่ยงกับการเกิดจลาจลในเมืองสำคัญต่างๆ ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้


 


ด้วยเหตุนี้ การย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเป็นเพียงมะนาจึงมีเหตุผลรองรับทางด้านความมั่นคงมากกว่าจะเป็นความจำเป็นทางด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ และการตั้งเมืองหลวงใหม่ให้อยู่ห่างจากเมืองสำคัญเดิมจะช่วยให้รัฐบาลควบคุมสถานการณ์ต่างๆ โดยไม่ต้องเสี่ยงภัยมากนัก


 


ขณะเดียวกัน ด็อกเตอร์สุเนตรได้กล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไทยอาจต้องเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของพม่าด้วย


 


"ปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างไทยและพม่า ส่วนใหญ่เกิดจากการจัดการปัญหาภายในระหว่างไทยและพม่ามากกว่า เช่นการปราบปรามชนกลุ่มน้อยของพม่า ทำให้ชนกลุ่มน้อยทะลักเข้ามาในประเทศไทย เกิดเป็นปัญหายาเสพติด และเป็นผลชักนำให้เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นจ นกลายเป็นการกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องของผลพวงจากการจัดการปัญหาของพม่า"


 


"สิ่งที่เราควรคิดต่อไปก็คือว่าเราจะต้องย้ายยุทธศาสตร์สำคัญของเราอย่างไร เดิมทีเราอาจจะมองว่ายุทธศาสตร์ของพม่าอยู่ที่ย่างกุ้ง ศูนย์บัญชาการหลักและทุกอย่างมุ่งสู่ย่างกุ้ง แต่ปัจจุบันเงื่อนไขทั้งหลายไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว ย่างกุ้งไม่เป็นเซ็นเตอร์อีกแล้ว ตัวที่เป็นเซ็นเตอร์น่าจะย้ายไปอยู่ที่เพียงมะนาแทน ซึ่งจะมีชัยภูมิซึ่งมีเงื่อนไข ซึ่งมีสภาพการณ์ต่างๆ ที่เราอาจจะไม่จัดเจน เราอาจจะไม่รู้ เราอาจจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล จุดนี้ถือเป็นจุดที่มีสภาพซ่อนเร้นพอสมควร แต่ถ้าเรามีเทคโนโลยีสมัยใหม่จริงๆ ก็อาจจะตามความเคลื่อนไหวหรืออะไรต่างๆ ที่อยู่ในป่าในเขาได้ แต่การที่เราจะรู้สภาพการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนก็คงจะยากขึ้น และคงไม่เหมือนที่เราเคยได้ข้อมูลจากย่างกุ้ง"


 


"เมื่อกรณีการปราบปรามภายในพม่าเกิดการกระทบกระทั่งกับเรา ความคิดในเชิงยุทธศาสตร์ของเราอาจจะต้องเปลี่ยนด้วย เพราะศูนย์กลางการบัญชาการมันเปลี่ยนพื้นที่ เปลี่ยนตำแหน่ง และเปลี่ยนเงื่อนไขไปแล้ว ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเตรียมรบกับพม่า แต่เราต้องเตรียมตัวในภาวะปกติที่กองทัพจะต้องมีการเตรียมความพร้อม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net