Skip to main content
sharethis



ภาพจาก www.thairath.co.th


 


"มหาจำลอง" ประกาศร่วมทัพกับกลุ่มพันธมิตรไล่ "แม้ว" หลังแถลงขอร้อง ทักษิณ ลาออก ด้านสมณะโพธิรักษ์ไฟเขียวเครือข่ายสันติอโศกทั่วประเทศ หนุนการชุมชนุม 26 ก.พ. ส่งผลให้กลุ่มพันธมิตรคึกคัก ไม่วายตีกันจำลอง "อย่านำเดี่ยว"


 


เมื่อวันที่ 19 ก.พ. เวลา 10.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในฐานะประธานกองทัพธรรมมูลนิธิ ได้แถลงข่าวขอร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลาออก โดยระบุว่า การขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์เปอเรชั่น จำกัด ของครอบครัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกิจการที่ได้สัมปทานจากประเทศไทยให้ต่างชาติ โดยเฉพาะกรณีที่จงใจแก้กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม


 


ด้วยมูลเหตุดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้คณาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา ต่างๆ ออกมารวมพลังกันเป็นปึกแผ่นชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และสถานการณ์ยังตึงเครียดขึ้นไปอีกเมื่อผู้จัดรายการสถานีโทรทัศน์ และวิทยุ ซึ่งเป็นสถานีของราชการ และเคยเป็นปากเสียงของนายกฯ มาโดยตลอด ได้ออกมาจาบจ้วง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้เป็นที่เคารพรักของทหาร 3 เหล่าทัพ เพื่อปกป้องนายกรัฐมนตรี ประชาชนจึงสงสัยว่ามีการรู้เห็นเป็นใจกันหรือเปล่า ระหว่างรัฐบาลกับผู้จัดรายการคนดังกล่าว


 


"ผมได้คุยกับทหารหลายคน ซึ่งหลายคนใช้ถ้อยคำรุนแรงไม่พอใจอย่างมาก" พล.ต.จำลอง ระบุ และยังกล่าวต่อไปด้วยว่า


 


"ผมตกอยู่ใน 2 ฐานะ ฐานะหนึ่งผมเป็นคนไปเชิญท่านนายกรัฐมนตรีมาสู่วงการเมือง อีกฐานะหนึ่งผมเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นเลขาธิการของท่านองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้ที่รู้จักมักคุ้นกับผม รวมทั้งพี่ๆ น้องๆ นายทหาร 3 เหล่าทัพ หลายคนได้สอบถามผมว่า นอกจากเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว ผมจะไม่คิดไม่ทำอะไรเลยหรือ ผมจึงตัดสินใจขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออก เพื่อให้ความสามัคคีของคนในชาติกลับคืนมา และเหตุการณ์ต่างๆ จะได้คลี่คลายลง"


 


ทั้งนี้ พล.ต.จำลอง ยังได้ประกาศว่า วันที่ 26 ก.พ.นี้ จำนำมวลหมู่สมาชิกกองทัพธรรมมูลนิธิ พร้อมกับประชาชนจากจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศที่ห่วงใยบ้านเมืองไปร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวง


 


อดีตผู้นำการชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ยังได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ด้วยว่า "ได้ทราบข่าวมามากมาย ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ สื่อมวลชนคงทราบดีว่าตนเป็นทหารเก่าและรู้จักคนในหลายวงการ จึงเชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ซ้ำรอยกับเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม และในการชุมนุมครั้งนี้จะไม่เกิดความรุนแรงอย่างแน่นอน"


 


"ถ้าเกิดความรุนแรง ใครคือผู้รับผิดชอบครับ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แล้วใครเป็นคนที่ทำให้เรื่องเกิดปัญหา ไม่ใช่ประชาชนที่ออกไปคัดค้านนะครับ อยู่ดีๆ ใครจะออกมาคัดค้าน รัฐบาลเขาพร้อมแล้ว เตรียมแล้วที่จะแก้ไขปัญหา นอกจากจะออกคำขู่มาภายใน 7 วัน ก่อนการประชุมนุมว่า อย่าออกมา แล้วเขาไม่ทำอะไรหรอก เชื่อเถอะ ผมทราบดี เพราะเป็นทหารเก่า ขออย่าเอาเหตุการณ์หนึ่งไปเทียบกับอีกเหตุการณ์ เพราะทุกอย่างต่างกัน ปัจจัยก็ต่างกัน การเข้ามาร่วมชุมนุมของผมและกองทัพธรรม เป็นการเข้าไปเพิ่มเติมกลุ่มพันธมิตรที่มีอยู่ จึงต้องฟังเสียงส่วนรวมว่าจะเห็นอย่างไร" พล.ต.จำลอง กล่าว


 


สมณะโพธิรักษ์ไฟเขียว  "สันติอโศก" หนุน


ด้านสมณะโพธิรักษ์ พระลูกวัดพุทธสถานสันติอโศก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรณีดังกล่าวทางสำนักสันติอโศกซึ่งเป็นสำนักกลางมีเครือข่ายอยู่หลายแห่งทั่วประเทศไทย ได้มีการปรึกษาหารือกับทาง พล.ต.จำลอง มานานแล้วหลายครั้ง อีกทั้งยังมีการหาข้อมูลในเรื่องดังกล่าวประกอบ และมีความเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับ พล.ต.จำลอง ทางสำนักฯมีความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้มีการบีบบังคับสมาชิกให้ไปร่วมงานชุมนุม ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีสมาชิกไปร่วมงานกี่คน ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ใครอยากไปก็ไป ใครไม่อยากไปก็ไม่ต้องไป หรือใครไปฟังการปราศรัยในวันนั้นแล้วไม่ชอบใจไม่อยากไปอีกก็ไม่เป็นไร เราให้สิทธิ์ในความคิดของคนทุกๆคน


 


"ในวันชุมนุมนัดกันว่าต่างคนต่างไปเจอกันที่ท้องสนามหลวงแต่หากใครไปไม่ถูกต้องการจะไปร่วมงานด้วยก็สามารถนัดเจอกันได้ที่สันติอโศกและเดินทางไปพร้อมๆ กัน" สมณะโพธิ์รักษ์กล่าว


 


หมอ "เลี้ยบ" ยันชุมนุมสงบสันติ รัฐจะปกป้องดูแล


ด้าน น.พ.สุรพงษ์ กล่าวถึงการเข้าร่วมการชุมนุมวันที่ 26 ก.พ.ที่สนามหลวงของ พล.ต.จำลองว่า เป็นสิทธิของพล.ต.จำลองที่จะไปร่วมชุมนุม แต่รัฐบาลขอวิงวอนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมว่า ขอให้ชุมนุมแสดงความคิดเห็นกันอย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ และมีมาตรการในการป้องกันที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงใดๆ เพราะมีกรณีตัวอย่างที่จะเรียนรู้จากเหตุการณ์เดือน พ.ค.2535 มาแล้ว ขอให้เป็นเอกภาพของผู้นำในการชุมนุมที่จะต้องคุมกลุ่มผู้ชุมนุมให้ได้ เพราะถ้าผู้นำขาดเอกภาพในการดูแลการชุมนุมอาจเกิดความสับสนของผู้ชุมนุม ทำให้เกิดปัญหาบานปลายได้ รัฐบาลขอวิงวอนให้ผู้นำการชุมนุมครั้งนี้ดำเนินการชุมนุมอย่างสงบ เคารพกติกาประชาธิปไตย ในส่วนของรัฐบาลจะกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ อดทน อดกลั้น เพื่อมิให้เกิดความรุนแรง


 


พันธมิตรฯคึกคักหลัง "จำลอง" ร่วม ตีกันห้ามนำเดี่ยว


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป.และผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงการที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม ประกาศจะร่วมการชุมนุมวันที่ 26 กุมภาพันธ์ว่า ในฐานะที่ พล.ต.จำลอง เป็นบุคคลสนันสนุนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เติบโตทางการเมืองต่อเนื่อง มาตั้งแต่สมัยพรรคพลังธรรม และช่วงที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกของสันติอโศกก็มีส่วนสำคัญในการเข้าชื่อสนับสนุน กดดันให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่มีความผิดในคดีซุกหุ้น


 


"การประกาศจุดยืนเช่นนี้ของพล.ต.จำลอง จึงเป็นการตอกย้ำว่า 19 ล้านเสียงของไทยรักไทยไม่เป็นจริงอีกต่อไป เพราะอย่างน้อยๆ ฐานกำลังสำคัญจากสันติอโศก ซึ่งมีมวลชนเป็นจำนวนมาก ก็ไม่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ อีกต่อไป หากมองเป็นปรากฏการณ์ก็ถือว่าวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ แม้แต่คนใกล้ตัวก็เห็นว่าหมดความชอบธรรมแล้ว"นายสุริยะใส กล่าวและว่า


 


กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกคนยินดีที่พล.ต.จำลอง ประกาศเข้าร่วมชุมนุม แต่ พล.ต.จำลอง ก็ต้องพร้อมยอมรับรูปแบบการชุมนุมที่ต้องผ่านการปรึกษาหารือเป็นหมู่คณะ เพราะการทำงานของกลุ่มพันธมิตรฯยึดหลักร่วมคิด ร่วมทำ ไม่นำเดี่ยว เน้นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากกรรมการที่มาจากเครือข่ายต่างๆ และที่สำคัญยึดหลักสันติวิธี ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้กลุ่มพันธมิตรจะมีการแถลงท่าทีร่วมกันอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง


 


ภาคประชาชนเชียงใหม่เปิดเวที 26 ก.พ. ร่วม


ส่วนความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนวันนี้ ที่เชียงใหม่ นายสุริยัน ทองหนูเอียด เลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า ความพยายามเป็นเจ้าภาพแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายกรัฐมนตรี โดยให้อธิการบดีทำวิจัย 137 เล่ม เพื่อปฏิรูปการเมืองเป็นเพียงการซื้อเวลา เพราะที่ผ่านมานายกฯไม่เคยสนใจนักวิชาการ เช่น ไม่สนใจข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ เพิกเฉยข้อเสนอแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่การวิจัยเกี่ยวกับปัญหาเอฟทีเอ ที่ควรทำกลับไม่ทำ จึงเห็นว่าเป็นเพียงการซื้อเวลา


 


ทั้งนี้เขากล่าวด้วยว่า นอกจากการเร่งรณรงค์ตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลในทุกระดับพื้นที่แล้ว วันที่ 26 ก.พ.นี้ จะเปิดเวทีใหญ่ถ่ายทอดคู่ขนานการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยยังไม่กำหนดสถานที่ และเป็นเวทีแสดงประชามติสนับสนุนการล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งแม้เชียงใหม่จะเป็นพื้นที่บ้านเกิดนายกฯ แต่ก็มีผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลมากมายเช่นกัน ส่วนข้อกังวลการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้สนับสนุน ยืนยันว่าไม่ใช่การเผชิญหน้า เพราะเป็นการเคลื่อนไหวตามกรอบของกฎหมาย และหากจะเกิดการสร้างสถานการณ์ ยืนยันว่าไม่ใช่เกิดจากเครือข่ายฯ แน่นอน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net