Skip to main content
sharethis

 



ภาพจาก www.dmr.go.th


 


ประชาไท - 20 ..49      ก่อนที่ตัวแทนจากกลุ่มประเทศในเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซียแปซิฟิก หรือ เอเปก 21 ประเทศ จะมาประชุมกันที่จังหวัดลำปาง เรื่อง "ถ่านหินสะอาด: การกระจาย และสร้างความมั่นคงแห่งอนาคตพลังงานของประเทศไทย" ในวันที่ 22-25 ..นี้ เพื่อวางวางยุทธศาสตร์การใช้พลังงานถ่านหินในแต่ละประเทศ องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ ก็ได้ออกมาแถลงข่าวประณามการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ว่าเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มอุตสาหกรรมถ่านหิน


 


ธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การประชุมของคณะทำงานด้านพลังงานของเอเปกที่จะมีขึ้นที่ลำปางแสดงให้เห็นว่า รัฐบาล และบริษัทกฟฝ.จำกัด มหาชน กำลังผลักดันให้ใช้ถ่านหินเพิ่มมากขึ้นในยุทธศาสตร์พลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยไม่สนใจใยดีกับข้อเรียกร้อง และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ โครงการเหมืองเวียงแหงที่จังหวัดเชียงใหม่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีที่จังหวัดระยอง โดยการประชุมครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากการประชุมถ่านหินโลก ซึ่งจัดขึ้น ณ สถานที่เดียวกันในช่วงปีที่ผ่านมา เพียงแต่ครั้งนี้ใช้ถ่านหินสะอาด เป็นกลยุทธ์การโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งที่เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดนั้นประสบความล้มเหลวและใช้เงินลงทุนมหาศาล


 


ธารา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมเอเปกจำเป็นต้องยุติการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคซึ่งกำลังหันมาเสพติดถ่านหิน และส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและประสิทธิภาพของพลังงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแล้ว ก็ยังนำไปสู่การปกป้องสภาพภูมิอากาศอีกด้วย


 


ทั้งนี้ ข้อมูลของกรีนพีซ ระบุว่า เอเปกเป็นกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก โดยบริโภคพลังงานมากกว่าครึ่งของการใช้พลังงานทั้งหมดทั่วโลก ในปี 2543 และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานออกมารวมกันมากกว่า 3.9 พันล้านตัน หรือราวร้อยละ 61 ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก


 


การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในกลุ่มเอเปกมาจากการเจรจาและเห็นพ้องจากการประชุมแต่ละครั้งโดยส่วนใหญ่เป็นแบบทวิภาคี ปิดลับ หลายครั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายระดับประเทศ มีตัวอย่างจากหลายประเทศที่การเจรจานำไปสู่การผูกขาดตลาดพลังงานโดยการครอบงำของบริษัทข้ามชาติ ที่สำคัญ เอเปกกำลังเตรียมประชุมสุดยอดในปี 2550 โดยหยิบยกประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานเป็นวาระสำคัญและโยงกับกลุ่มความร่วมมือเอเชียแปซิฟิก ว่าด้วยการพัฒนาที่สะอาดและภูมิอากาศ หรือ ข้อตกลงลับของถ่านหิน(Coal Pact) ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนพันธะสัญญาการลดก๊าซเรือนกระจกของชุมชนโลกภายใต้พิธีสารเกียวโต เมื่อพิจารณาแล้ว ความพยายามของเอเปกดังกล่าวก็คืออาชญากรรมต่อสภาพภูมิอากาศ


 


ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการอิสระจากแผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HPP-HIA) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ในแผนพัฒนาพลังไฟฟ้าทางเลือกของประเทศไทย (PDP Alternative) เราไม่จำเป็นต้องใช้ถ่านหินซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าไปให้ถึงเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของรัฐบาลเอง การทำเช่นนี้ยังสามารถพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปได้ โดยลดการพึ่งพาจากภายนอก มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นและเกิดความยั่งยืนทางสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net