Skip to main content
sharethis



 


วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2006 17:32น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


สังคมไทยฝากความหวังในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไว้กับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ไว้สูง เวลาร่วม 1 ปีที่ กอส.เริ่มศึกษาแนวทางข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา กระทั่งเพิ่งเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในร่างข้อเสนอฉบับแรกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างฉบับที่สอง ซึ่งปรากฏแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช้ข้อยุติที่จะนำเสนอเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อรัฐบาล ยังต้องผ่านกระบวนการหารือในคณะกรรมการอีกหลายครั้ง


 


หลังการประชุมพิจารณาร่างข้อเสนอฉบับที่สอง ที่ จ.นราธิวาส นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส. ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าวอิศราฯ ถึงแนวทางดำเนินงานต่อไปของ กอส. จนกระทั่งเสนอรายงานการแก้ปัญหาต่อรัฐบาล


 


ร่างข้อเสนอฉบับที่สองของ กอส.มีแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนอยู่หลายประเด็น


สัปดาห์หน้าร่างที่สามจะไปประชุมกันที่ชะอำ มีการปรับปรุงทุกครั้ง มีการแบ่งออกเป็น 2 ภาค ทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นคือการเกิดความไม่สงบในพื้นที่ซึ่งมีความรุนแรงติดต่อกันมาสองปีครึ่ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่รัฐไม่สามารถให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนทั้งไทยพุทธและมุสลิม การปฏิบัติที่รุนแรง การปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นธรรม ความอ่อนแอของสังคมในเรื่องจิตวิญญาณในการยึดถือศาสนาที่ถูกต้อง ธุรกิจผิดกฎหมาย การปราบปรามยาเสพติดในอดีต มีปัญหามากจนเกิดอาการขึ้นมา คนมีความหวาดกลัว แค้นเกลียด ไม่ไว้ใจ เกิดอคติต่างๆ จนประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็นปัจจัยประกอบในการเกิดความไม่สงบ


 


 10 เดือนที่ผ่านมา กอส.เคยเสนอมาตรการแก้ปัญหาต่างๆ แต่หน้าที่ของเราจริงๆ คือการหาสาเหตุที่แท้จริง ส่วนปัญหาระยะสั้นเป็นอาการเท่านั้น ซึ่งแก้ที่อาการไม่พอ แต่ต้องดูถึงสาเหตุว่าไข้เกิดจากอะไร ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต การไม่ได้รับการยอมรับในอัตลักษณ์ เรื่องความยุติธรรม ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการสอบสวนจับกุม เราพยายามเสนอนโยบายมาตรการ ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ


 


การออกกฎหมายนิรโทษกรรม น่าจะเป็นประเด็นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า


นี่เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงแต่ก็เป็นเรื่องฉาบฉวย เรายังไม่ถึงจุดนั้น การนิรโทษกรรมพูดง่าย แต่จะนิรโทษกรรมในบริบทอะไร ที่สำคัญไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง ต้องแก้ที่ต้นเหตุ 100 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่อาการไม่ดี อย่างปี 2518 เกิดเหตุการณ์ประท้วง (กรณีทหารนาวิกโยธินฆ่าชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ที่สะพานกอตอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้ประชาชนรวมตัวประท้วงกันที่หน้ามัสยิดกลางจ.ปัตตานี) ก็แก้ลดไข้ได้เหตุการณ์เรียบร้อยมาอีก 15 ปี 20 ปี แล้วเกิดเหตุการณ์รุนแรงเมื่อสองปีครึ่งที่ผ่านมา การลดไข้นั้นต้องทำ แต่หากไม่แก้ที่สาเหตุที่แท้จริงก็เป็นไปได้ว่าหากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นสงบลงไป แต่ในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ก็อาจเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นอีก ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กอส.ที่จะเสนอ แต่ความรับผิดชอบคือรัฐบาลต้องพิจารณาข้อเสนอของเราด้วยการเปิดใจกว้างไม่มีอคติกับ กอส. กับประชาชน แล้วนำไปปฏิบัติ ซึ่งเมื่อไปปฏิบัติแล้วก็ไม่มีสิ่งประกันว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย แต่เราเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างความสงบสุขและสันติ


 


การที่ กอส.เสนอให้มีการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมสันติสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นหลักประกันให้มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องหรือไม่


นี่ก็เป็นประเด็นหนึ่ง แต่ผมไม่อยากให้จับเฉพาะประเด็น การอ่านร่างข้อเสนอของ กอส. ต้องเห็นภาพรวม การนิรโทษกรรม หรือการออกกฎหมายมิใช่จะอยู่โดยตัวเองได้ แต่มันมีความเกี่ยวโยงกันทั้งหมด ต้องเห็นว่าโครงสร้างของการสร้างสมานฉันท์จะมีอะไร มันเป็นการเริ่มต้นเดินสู่อนาคตที่จะมีสันติสุข การเริ่มต้นกระบวนการในบางด้านเดินเร็วได้ บางด้านต้องเดินช้าหน่อย แต่จะต้องเริ่มเดินทุกด้าน ส่วนจะจบเมื่อไหร่ต้องใช้เวลา เพราะสิ่งสำคัญที่สุดเกิดจาความเข้าใจผิดหรือทัศนคติ การปรับความเข้าใจผิดอาจจะง่ายกว่า แต่หากมีทัศนคติที่เกิดจากการไม่แสวงหาความจริง หรือทัศนคติที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังความ ความปวดร้าว หรือความไม่ต้องการทราบความจริงต้องใช้เวลา ต้องใช้เวลาปรับอคติกันมาก เพราะหากมีอคติก็ไม่มีสติ อย่าไปคิดว่ามีข้อเสนอ 100 ข้อแล้วต้องทำพรึ่บทีเดียว หลายสิ่งต้องใช้เวลา


 


จะอธิบายกระบวนการในการก้าวว่าจะเดินไปอย่างไร


ต้องเริ่มพร้อมกันไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ ยอมรับ เคารพอัตลักษณ์คนในพื้นที่ การปรับกระบวนการยุติธรรม การจับกุม สอบสวน การนำคดีขึ้นสู่ศาล ต้องปรับปรุงการศึกษา เปิดโอกาสส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบการศึกษาของทั้งรัฐและเอกชน ต้องมีใจกว้างที่จะส่งเสริมให้มีการเรียนภาษา การพัฒนาต้องยึดถือเศรษฐกิจพอเพียง เพราะวิถีชีวิตเขาจะยึดการอยู่บนลำขาของตัวเอง สิ่งเหล่านี้อยู่ในรายงานของเราทั้งหมด


 


จากสิ่งที่ กอส.เคยเสนอมาแล้วหลายประเด็น รัฐบาลแสดงท่าทียอมรับข้อเสนอเหล่านี้บ้างหรือไม่


กอส.เองก็มีทั้งคุณชิดชัย (พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี) คุณจาตุรนต์ (นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) คุณพงษ์เทพ (นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม) คนในรัฐบาลก็นั่งอยู่กับเรา คุณจาตุรนต์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็พัฒนาก็ได้ทำอะไรไปมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับที่เราคุยกัน พรรคการเมืองต่างๆ ภาคราชการ บุคคลที่อยู่ในหน้าที่ด้านความมั่นคงก็อยู่กับเรา เราทำงานแบบไม่มีอคติกับใคร ไม่มองว่านี่เป็นพวกภาคประชาชน พวกการเมือง พวกราชการ เมื่อนั่งด้วยกันเราไม่มองว่าแต่งตัวสีอะไรมา เชื้อชาติ ศาสนาใด เมื่อเข้ามาเรามองอย่างเดียวคือเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาของสังคม


 


ในร่างข้อเสนอฉบับนี้ มีหลายประเด็นซึ่งเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้หลักการในศาสนาอิสลามบริหารจัดการ เช่นแนวทางพัฒนาตามหลักศาสนาอิสลาม ศาลชารีอะห์ องค์กรดูแลจัดการศาสนบริจาค ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการกระจายอำนาจแบบพิเศษ โดยไม่จำเป็นต้องให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ


เขตปกครองพิเศษไม่ได้มาจากเรา ผมเองก็อึดอัดใจ เรื่องที่ว่ามาผมไม่อยากนำร่างมาพูดกัน การเขียนร่างมีองค์ประกอบสามประการ หนึ่งร่างประกอบด้วยประเด็นต่างๆ ที่พูดกันในที่ประชุม สองประกอบด้วยประเด็นต่างๆ ที่มีการยกขึ้นมาในข้อศึกษาที่คณะอนุกรรมการต่างๆ ไปจัดทำมา ส่วนใหญ่ทำโดยสถาบันอุดมศึกษา และองค์กรต่างๆ ประเด็นที่สามคือประเด็นที่ยังไม่ได้มีการพูดกันเลย เพราะเราต้องทำให้ครบสมบูรณ์ ก็เข้ามาสู่ร่าง เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าสิ่งที่อยู่ในร่างจะเป็นข้อเสนอของเรา เพียงแต่เราทำให้ครบสมบูรณ์จะละทิ้งไม่พูดถึงไม่ได้ แต่บางเรื่องพิจารณากันแล้วก็มีความเห็นว่าไม่เอา ฉะนั้นการมาพูดถึงเรื่องประเด็นต่างๆ ในร่างนั้นไม่ถูก ขอให้ดูในฉบับสุดท้าย


 


จะมีกระบวนการให้ภาคประชาชนมีส่วนในการวิพากษ์ข้อเสนอหรือไม่


ผมไม่ขัดข้องกับการวิจารณ์ เราไม่ปิดบังปิดกั้นการที่ใครจะมีข้อสังเกต ข้อวิจารณ์ แต่ที่ผมชี้แจงก็คือผมไม่อยากชี้แจงประเด็นในร่าง ซึ่งยังไม่ใช่ข้อเสนอของ กอส.


 


จากข้อเสนอที่ผ่านมาของ กอส. ดูเหมือนจะมีสองกรอบคือข้อเสนอสำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และข้อเสนอสำหรับสังคมไทย จริงๆ แล้ว กอส.จะให้น้ำหนักในกรอบไหน


ประเด็นหลังเป็นผลพลอยได้ อย่าไปคิดว่าสิ่งที่เราเจาะจงเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หากสำเร็จ จะเป็นแบบฉบับไปแก้ปัญหาในภาคอื่น แต่หลักการคงคล้ายคลึงกันคือหลักการมีส่วนร่วม การมีสิทธิเสรีภาพ การเคารพสิทธิมนุษยชน การเคารพยอมรับอัตลักษณ์ แต่มาตรการคงมีการปรับปรุง


 


เราไม่ถือว่านี่จะเป็นแบบฉบับ แต่เป็นการเปิดเวทีว่าสามจังหวัดภาคใต้มีปัญหาพิเศษ ในการแก้ปัญหามีมาตรการระยะสั้นเร่งด่วน ปัญหาระยะยาว จะมีวิธีการอย่างไร แต่จากการทำงานของเรา มันมีความเป็นไปได้ว่าหากเกิดปัญหาประเภทนี้ ไม่เฉพาะปัญหาของภาคใต้ก็อาจนำหลักการบางอย่างที่เราเสนอไปใช้ได้ แต่เราไม่ได้เจาะจงว่าจะสร้างแบบฉบับการแก้ปัญหาทั่วประเทศ หน้าที่เราคือการแก้ปัญหาสามจังหวัด


 


การประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่การเสนอประเด็นอะไรเพิ่มเติมบ้าง


ยังมีอีกสองสามประเด็นที่ยังตกค้างอยู่ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์จะมีการประชุมกันอีกครั้ง ต้นเดือนมีนาคมจะประชุมใหญ่อีกครั้งใช้เวลาสองวันสองคืน เพื่อพิจารณาร่างฉบับที่สาม เสร็จวันที่ 4-5 มีนาคมก็จะเขียนร่างที่สี่ ซึ่งจะพิจารณากันอีกครั้งให้แน่ใจ


 


ให้คะแนนการทำงานของ กอส.สักเท่าไหร่


ผมไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ ไม่สนใจเรื่องตัวเอง เราทำงานคืบหน้าไปเรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้ทางอ้อมอย่างผมเองได้มีโอกาสเรียนรู้มาก สองปีก่อนผมไม่มีความรู้เรื่องภาคใต้เลย แต่เมื่อมาทำงานจำเป็นต้องอ่านหนังสือ พูดคุยกันคนที่มีความรู้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับพวกผมโดยตรง ผมเองก็อยากให้สังคมไทยยอมรับข้อนี้ว่า เราไม่รู้หรอก เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้อย่ามีอคติ ต้องเรียนรู้ก่อนแล้วค่อยพูดกัน ซึ่งความเห็นแตกต่างกันได้


 


ผมมานั่งประเมินตัวเองไม่ได้ คนอื่นต้องประเมินผม การประเมินต้องอยู่บนพื้นฐานความจริง เช่นหากมีคนคิดว่าเราลำเอียงเข้าข้างมุสลิมมากเกินไป ผมก็ต้องชี้แจงว่าเหตุผล ข้อเท็จจริงคือปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาของไทยมุสลิม เราก็ต้องเพ่งเล็งปัญหาของเขามาก หรือมีคนบอกว่าเราไปก้าวก่ายหน้าที่ของราชการ ในคณะกรรมการของเรามีข้าราชการและอดีตราชการอยู่เต็มไปหมด เราเองก็ไม่คิดว่าราชการจะเป็นผู้ผิดแต่ฝ่ายเดียว การประเมินของใครก็ตามมาจากข้อเท็จจริงที่เขาคิด เราก็ต้องชี้แจงข้อเท็จจริง


 


หากเสนอรายงานต่อรัฐบาลแล้ว ไม่มีการนำไปปฏิบัติ จะมีช่องทางผลักดันต่อสังคมอย่างไรบ้าง


เราจะพิมพ์รายงานข้อเสนอเป็นหมื่นเล่ม เปิดเผยในทันที ส่งไปยังสถาบัน องค์กร หน่วยงานต่างๆ ให้พิจารณาว่าเห็นคุณค่ารายงานฉบับนี้แค่ไหน เป็นหน้าที่ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นสื่อ นักวิชาการ ข้าราชการ นักการเมือง


 


มองถึงการที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมเสรีภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้(กอยส.)อย่างไร


ที่เราเสนอไปรัฐบาลรับไปทำแต่ไปเปลี่ยนองค์ประกอบ ซึ่งผิดประเด็นไปหน่อย ที่เราเสนอเน้นเรื่องการปรับกระบวนการยุติธรรมให้มีความเป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net