Skip to main content
sharethis




 


ประชาไท—22 ก.พ. 2549 เครือข่ายกระเหรี่ยงยื่นหนังสือประณามคนพื้นราบและพระสงฆ์ที่เขียนหนังสือพาดพิงกล่าวหาผู้หญิงกะเหรี่ยง ว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่เอาไหน สกปรกมีกลิ่นตัว ชี้เป็นการมองชนเผ่าแบบเหยียดหยาม ดูแคลน จี้รับผิดชอบก่อนจะขัดแย้งรุนแรงเหมือนกรณีชายแดนใต้ หรือกรณีมุสลิมทั่วโลกประท้วงรูปล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด


 


เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ องค์กรพันธมิตรเครือข่ายกะเหรี่ยง 17 องค์กรทั่วประเทศ ประมาณ 30 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประณาม นายอำนวย กลำพัด นักจัดรายการวิทยุชื่อดังของ จ.เชียงใหม่ ที่ได้เขียนหนังสือ "คำคมแห่งล้านนา"เมื่อปี 2529 และพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2535 ที่จาบจ้วงดูหมิ่นศักดิ์ศรีของชนเผ่ากะเหรี่ยงอย่างรุนแรง


 


โดยข้อความตอนหนึ่งมีใจความว่า "แม่ยาง หรือผู้หญิงยาง หรือชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เป็นผู้หญิงที่ไม่เอาไหน เป็นผู้ที่ไม่สนใจต่องานบ้านงานครัว ชอบความสกปรกมักง่าย ที่นอนหมอนมุ้งไม่เคยเก็บบ้านเรือนก็ไม่เช็ดถูทำความสะอาด ปล่อยบ้านเรือนให้รกรุงรังด้วยหยักใย่ใบตอง แม้ตนเองก็ไม่สนใจที่จะทำความสะอาด ปล่อยร่างกายให้เหม็นสาบสางผมเผ้ายุ่งเป็นกระเซิง กลิ่นตัวเหม็นเปรี้ยวเหม็นบูด เดินทางไปไหนแมลงวันบินตอมหึ่งทีเดียว จัดพวกผู้หญิงประเภทนี้นี้ไว้ในพวก แม่ยาง (ยาง คือชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มียางอีกเผ่าหนึ่งที่ไม่นิยมอาบน้ำ มีกลิ่นตัวสาบสาง ยางพวกนี้ เรียกว่า ยางกะเลอ)"


 


นายไวยิ่ง ทองบือ ตัวแทนเครือข่ายกระเหรี่ยงฯ 17 องค์กรทั่วประเทศ และเป็นสมาชิกที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) กล่าวว่า บทความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้เขียนมองชนเผ่าในแง่ลบต่อชนเผ่า และถือว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่นดูแคลน เจตนาให้ชาวกะเหรี่ยงได้รับความอับอาย ขายหน้า คำนิยามดังกล่าวตั้งอยู่บนอคติ ซึ่งได้ทำลายความเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงโดยตรง ทำให้บุตรหลานชาวกะเหรี่ยงที่มาใช้ชีวิตในเมืองถูกเพื่อนล้อเลี่ยนจากเพื่อนๆ บางคนไม่กล้าแสดงตัวว่าเป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งบทความในหนังสือ "คำคมแห่งล้านนา" ได้มีคนบางกลุ่มนำไปอ้างอิงเป็นข้อมูล และมีการนำออกอากาศในรายการวิทยุและตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความรู้สึกที่ไม่ดีมากขึ้น ซึ่งได้สร้างความแตกแยกในสังคมมากขึ้นทุกที


 


 


"ดังนั้น พวกเราไม่อาจนิ่งเฉยอีกต่อไป จึงขอลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของชาวกะเหรี่ยงให้เท่าเทียมในสังคมนี้ โดยขอประณามผู้เขียนว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่มีจรรยาบรรณในการเสนอข่าวสารข้อมูล และขอให้นายอำนวย กลำพัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ออกมารับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำไป โดยขอให้ยุติการกระทำดังกล่าวไม่ว่าด้วยวาจา หรือการตีพิมพ์ซ้ำข้อความเดิม ซึ่งนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อพี่น้องชาวกะเหรี่ยง และขอให้มีการทำหนังสือขอโทษต่อชาวกะเหรี่ยง ผ่านหนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ และเวบไซต์ หากไม่ดำเนินการ ทางองค์กรพันธมิตรเครือข่ายกะเหรี่ยง จะดำเนินการขั้นต่อไป" นายไวยิ่ง กล่าว


 



 


นายไวยิ่ง ยังหยิบหนังสือออกมาชี้ให้ดูอีกว่า นอกจากนั้น ยังมีพระมหาสกุล มหาวีโร พระประจำวัดชัยศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และเป็นอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยมกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา วัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ พระครูสิทธิปัญญาภรณ์ วัดสันก้างปลา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้ตีพิมพ์หนังสือธรรมมะ ชื่อ "ธรรมะกู้ใจ" ออกมาเล่มหนึ่ง โดยในตอนหนึ่ง ได้นำบทความของนายอำนวย กลำพัด ที่เขียนพาดพิงผู้หญิงกะเหรี่ยง มาตีพิมพ์ด้วยนั้น ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจต่อพี่น้องชนเผ่ากระเหรี่ยงเป็นอย่างมาก


 


ด้าน นางอรนี จันทรยุทธ ผู้หญิงกะเหรี่ยง จากบ้านห้วยน้ำขาว ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวด้วยสีหน้าไม่พอใจว่า ทำไมถึงเขียนพาดพิงผู้หญิงกะเหรี่ยงอย่างนี้ ซึ่งทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด เพราะเป็นการดูถูกเหยียดหยาม พวกคุณรู้จักพวกเราดีแค่ไหน ถึงไปเขียนเช่นนั้น ดังนั้น เราจึงไม่เห็นด้วย และขอให้มีการแก้ไข และขอโทษพวกเราด้วย


 


นางมุกดา วารีขจร ผู้หญิงกะเหรี่ยง จาก อ.แม่สรวย จ.เชียงราย กล่าวด้วยสีหน้าเครียดว่า ข้อความทั้งหมดนั้น ดูถูกกันมากเกินไป ถึงแม้พวกคุณจะแบ่งชนชั้น แต่ก็ไม่ควรจะมาเขียนพาดพิงโดยตรง เพราะฉะนั้น ขอให้รับผิดชอบในสิ่งที่ได้กระทำลงไปโดยเร็ว เพราะมันกระทบจิตใจของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงอย่างรุนแรง


 


ในขณะที่ นายสุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชนเผ่าปวาเก่อญอ หรือกะเหรี่ยง เปิดเผยว่า ที่เข้าร่วมยื่นหนังสือในครั้งนี้ ก็เพราะว่า บทความในหนังสือดังกล่าว เป็นต้นเหตุทำให้พี่น้องคนพื้นราบเข้าใจผิดเกี่ยวกับชนเผ่ากะเหรี่ยง และทำให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยงได้รับความเจ็บช้ำมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน อีกทั้ง ยังเห็นว่า ผู้เขียนยังมีการนำบทความดังกล่าวมาตีพิมพ์เป็นครั้งที่สอง เมื่อปี 2535 อีก ดังนั้น หากเราไม่ออกมาเคลื่อนไหว ก็อาจจะมีการนำบทความที่บิดเบือนความจริงมาตีพิมพ์ซ้ำอีกเรื่อยๆ ซึ่งดูได้จากกรณีที่มีพระสงฆ์นำไปตีพิมพ์ในหนังสือธรรมมะ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า แม้กระทั่งพระก็ยังมีอคติทางชาติพันธุ์ ไม่ได้มองเรื่องศักดิ์ศรีหรือความเท่าเทียมของมนุษย์ ซึ่งเรารับไม่ได้


 


"ที่เรามาเรียกร้อง ไม่ได้มาเพื่อความขัดแย้ง แต่เรามาเพื่อต้องการสันติ ทุกคนที่มาล้วนเป็นปัญญาชนของชนเผ่าทั้งนั้น เราอยากให้มองปัญหาตรงนี้ไม่ให้เกิดขึ้นในระยะยาว เพราะถือว่าเป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรม เป็นปัญหาที่เปราะบาง อาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงในอนาคต ซึ่งหากยังคิดว่าเป็นไร้สาระ เชื่อว่า ต่อไปอาจจะเป็นเหมือนกรณีที่คนมุสลิมทั่วโลกที่ออกมาประท้วงอย่างรุนแรง กรณีที่มีการเขียนรูปล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด หรืออาจเกิดปัญหาฉะนั้น จึงขอเรียกร้องให้ผู้เขียน ผู้พิมพ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องออกมาชี้แจงขอโทษและรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำลงไปให้สื่อสาธารณะได้เข้าใจ มิเช่นนั้น เรื่องคงไม่จบเพียงแค่นี้ และอาจลุกลามเหมือนกรณีมุสลิมชายแดนภาคใต้ได้" นายสุวิชาน กล่าว


 


ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวติดต่อสอบถามไปยัง นายอำนวย กลำพัด นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง จ.เชียงใหม่ ผู้ถูกกล่าวหาได้ออกมายอมรับว่า บทความดังกล่าว ได้เขียนขึ้นจริง โดยได้นำมาจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าขานกันมาเป็นคำค่าวคำวรรณกรรม และตนก็เขียนมานานตั้งแต่ปี 2529 มาแล้ว ซึ่งเมื่อมาถึงตอนนี้ เราก็ยกย่องชนเผ่ากันแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net