"กระโปรงบาน - ขาสั้น" ออกจากรั้ว ร่วมต้านทักษิณ


ภาพจาก www.manager.co.th

 

 

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กลุ่มนักเรียนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วยตัวแทนนักเรียนจากสถานศึกษาประมาณ 30 สถาบัน นำโดยนายยศ ตันสกุล นักเรียนชั้น ม. 6 ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ในฐานะประธานผู้ก่อตั้งกลุ่มนักเรียนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันแถลงข่าวแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการบริหารประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

 

โดยนายยศกล่าวว่า การออกมาแถลงการณ์ครั้งนี้ ทำในนามส่วนบุคคลไม่เกี่ยวกับสถาบันการศึกษา เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หมดความสง่างามไม่สมควรที่จะบริหารประเทศต่อไป โดยให้เหตุผล 14 ข้อคือ

 

1.นโยบายประชานิยม ทำให้ประชาชนต้องพึ่งพารัฐมากเกินไป แทนที่จะยืนอยู่บนขาของตนเอง และนโยบายประชานิยมควรต่อยอดนำไปสู่รูปแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

 

2.การปฏิรูปการศึกษาล่าช้า ไม่มีความคืบหน้า ไม่ก่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เพียงแค่มีการปรับหลักสูตรแต่เนื้อหายังไม่ทำให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ หรือเปลี่ยนแปลงจากวิธีการเรียนแบบท่องจำในอดีต

 

"ในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดความมัวหมองในระบบเอนทรานซ์ แม้จะมีการสรุปผลว่าข้อสอบเอนทรานซ์ไม่รั่ว แต่ก็เกิดความมัวหมองขึ้นกับระบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่สำคัญเกิดขึ้นในขณะที่ท่านเป็นรัฐบาลและเกิดขึ้นในปีที่บุตรสาวของท่านสอบเอนทรานซ์ด้วย"

 

3.ไม่เป็นแบบอย่างที่แข็งแกร่งในการส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สะท้อนจากคำพูดของนายกฯที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย โดยมีการจำกัดเวทีในการแสดงความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกับรัฐบาล

 

4.ไม่ให้เกียรติระบบรัฐสภา ไม่เชื่อถือในกระบวนการตรวจสอบจากองค์กรอิสระ และพยายามส่งคนของตนเข้าไปครอบครององค์กรอิสระ นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่เคยไปร่วมตอบกระทู้ในสภาแม้แต่ครั้งเดียว

 

5.ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความประหยัด มัธยัสถ์ และสร้างค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับสังคม เห็นได้จากการส่งเสริมให้คนเป็นหนี้ ใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ยังพยายามผลักดันให้มีบ่อนการพนันที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนการนำหวยใต้ดินเข้ามาสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งไม่ใช่ค่านิยมที่ดี

 

6.ไม่มีภาพของผู้นำทางศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม จากกรณีการขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ให้นายสุวรรณ วลัยเสถียร ทนายความออกมาแถลงข่าว โดยระบุว่าไม่ได้รับมอบหมายให้มาตอบเรื่องงจริยธรรม แสดงให้เห็นว่านายกฯไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญทางจริยธรรม

 

7.เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงมาก จนไม่สนใจฟังเสียงของผู้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามทั้งที่การเป็นผู้นำประเทศจำเป็นจะต้องรับฟังความเห็นที่หลากหลายเพื่อนำไปแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกควร แต่ที่ผ่านมาเมื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มักจะตอบโต้ด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม

 

8.เป็นผู้นำเผด็จการ อำนาจนิยม นิยมใช้อำนาจและความรุนแรงในการแก้ปัญหา เช่น การแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นายกฯออกมาพูดว่า โจรกระจอก เป็นต้น

 

9.มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของชาติและประชาชน

 

10.ความจนไม่หมดไป แต่ช่องว่างระหว่างชนชั้นกลับสูงขึ้น

 

11.เป็นเผด็จการทางรัฐสภา ด้วยการครองเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ ส่งผลต่อการพิจารณา กฎหมายต่าง ๆ และทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้

 

12.ไม่รักษาสัญญาที่จะเดินหน้าปราบปรามทุจริต คอร์รัปชั่น โดยไม่จำเป็นต้องมีใบเสร็จ แต่ที่ผ่านมานายกฯใช้วิธีการปรับ ครม.เพื่อลดกระแส เห็นได้จากกรณี ซีทีเอ็กซ์ มีการปรับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แต่เป็นเพียงปรับเปลี่ยนตำแหน่งมิใช่ปรับออก รัฐบาลชุดนี้จึงเหมือนรัฐบาลเก้าอี้ดนตรี ที่ผลัดกันมาชื่นชมตำแหน่งเท่านั้น

 

13.ไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การแก้ปัญหากรณีตากใบ หรือการฆ่าตัดตอน เพื่อปราบปรามยาเสพติด จนสหประชาชาติรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยว่าอยู่ในสภาวะน่าหวาดระแวง และ

 

14.สร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยแบบชี้นำ โดยยึดเอาสภาไปอยู่ในกำมือของตน เพื่อให้ออกกฎหมายให้เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น การแก้กฎหมายให้ต่างชาติ เข้าถือครองหุ้นเพียง 2 วันก่อนที่จะเทขายหุ้นให้เทมาเส็ก เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังได้มอบฉายาให้กับทักษิณว่า "ซาตานในคราบนักบุญ" และเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง แต่ปฏิเสธเข้าร่วมการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 26 ก.พ. ดดยให้เหตุผลว่า ต้องเรียนหนังสือและตรงกับวันสอบแอดมิสชั่น แต่หากนักเรียนคนใดจะเข้าร่วมการชุมนุมก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล และเรียกร้องให้การชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นไปอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ และไม่นองเลือด นอกจากนี้ได้เรียกร้องให้นักเรียนร่วมกันออกมาแสดงความคิดเห็น และแสดงจุดยืนทางการเมือง เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวและในอนาคตทุกคนก็จะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่

 

ด้าน ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา นายสมชาย ภู่สุโข รอง ผอ.ฝ่ายปกครอง พร้อมด้วยนายอุดม จรรยาธรรม รองผู้อำนวยการฯ และนางกัญญา เกิดโพธิ์ทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ได้เปิดแถลงข่าวถึงกรณีที่นักเรียนในสังกัดออกแถลงในนาม "กลุ่มนักเรียนเพื่อประชาธิปไตย" ว่าเป็นการดำเนินกิจกรรมในนามส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับสถาบัน และโรงเรียนก็ไม่ได้ให้การสนับสนุน

 

ทั้งนี้ ทางโรงเรียนคงจะไม่ไปห้ามเด็กในการร่วมกิจกรรมใดๆ เพราะเชื่อว่าเด็กคิดเป็น ส่วนจะมีการลงโทษเด็กหรือไม่นั้น ขอให้ผู้อำนวยการ ซึ่งขณะนี้ติดราชการอยู่ในต่างประเทศเป็นผู้ให้คำตอบ

 

อ.จุฬาฯ - อมธ.หนุน

ด้านนายธนาชัย สุนทรอนันตชัย นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) แสดงความเห็นว่า การที่น้องๆ นักเรียนมัธยมออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นสิ่งที่ดี แสดงให้เห็นถึงความสนใจทางการเมืองและคงเห็นว่าเกิดปัญหาขึ้นในบ้านเมือง จึงต้องมาช่วยแก้ไข   ซึ่งเป็นสิทธิ เสรีภาพที่ทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย

         

เช่นเดียวกับ นายไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า การที่นักเรียนมัธยมรวมตัวกันประมาณ 30 แห่งออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจอย่างมาก  ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย แสดงให้เห็นว่านักเรียนมัธยมให้ความสนใจทางการเมืองสูงมาก  ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยไปในทางที่ดีขึ้น   ทำให้ประเทศไทยน่าอยู่และอนาคตประเทศไทยอยู่รอดแน่ เพราะเด็กๆ ให้ความสนใจการเมืองและออกมาเคลื่อนไหว  มีจิตสำนึกที่ดีต้องสังคม เมื่อเห็นว่าบ้านเมืองเกิดปัญหา

 

"สันติอโศก" 9 ทัพบุกกรุง

ด้านการเคลื่อนไหวการชุมนุมในวันที่ 26 ก.พ. หลังจากพล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม ประกาศนำสมาชิกกองทัพธรรมมูลนิธิ สังกัดสันติอโศก เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งนั้น นายแซมดิน เลิศบุตร ตัวแทนเครือข่ายสันติอโศก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สมาชิกสันติอโศกได้ประชุมหารือกันว่า ปัญหาของบ้านเมืองขณะนี้เป็นปัญหาทางศีลธรรมและจริยธรรม ดังนั้น จึงนิ่งเฉยไม่ได้ต้องออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว นายแซมดิน กล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวของสันติอโศกวันที่ 26 ก.พ.นี้ จะมาทั้งหมด 9 เครือข่าย คือ ศรีษะอโศก จ.ศรีษะเกษ - ราชธานีอโศกจ.อุบลราชธานี - สารีอโศก จ.นครสวรรค์ - ภูผาฟ้าน้ำ จ.เชียงใหม่ - ทักษิณอโศก จ.ตรัง - ปฐมอโศก จ.นครปฐม - หินผาฟ้าน้ำ จ.ชัยภูมิ -และสันติอโศก กรุงเทพ ทั้งหมดเป็นแม่ข่าย ซึ่งคาดว่าจะมีสมาชิกแต่ละแห่งๆ ละ 1 พันคนเข้าร่วมชุมนุมโดยยังไม่นับลูกข่ายที่จะมาสมทบเพิ่มอีกในบ่ายโมงของวันที่ 26 ก.พ.

 

รัฐบาลเปิดสภาอภิปราย 7 วัน

ทางซีกฝ่ายรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้ ครม.พิจารณาเรื่องการขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ที่ระบุกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ ครม.เห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไป ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีนี้จะลงมติไม่ได้

 

น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ครม.ได้ให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี และจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาเพื่อให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อฟังความเห็นดังกล่าวในโอกาสแรกเมื่อมีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ คือวันที่ 4 มีนาคมนี้ ซึ่งการประชุมร่วมกันของรัฐสภา อาจจะเป็นวันที่ 6 มีนาคม เป็นต้นไป

 

สำหรับเวลาการอภิปรายนั้น เนื่องจากมีประเด็นที่หลากหลายและมีรายละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ครม.จะเสนอให้รัฐสภาสามารถอภิปรายได้ โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขเวลาของ ครม.

"หมายความว่า ถ้าจะอภิปราย 5 วัน 5 คืน หรือ 7 วัน 7 คืน ทาง ครม.ก็ยินดีที่จะรับฟังความเห็นของรัฐสภา ไม่ว่าจะกี่วันกี่คืนก็ตาม และจะให้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ด้วย" น.พ.สุรพงษ์ กล่าว

 

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จะมีกรอบการอภิปราย ตามมาตรา 213 อยู่ 4 เรื่องคือ 1.ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น และการบังคับใช้กฎหมาย โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานของรัฐ 2.การปฏิรูปการเมืองรอบสอง 3.ปัญหาเรื่องการทุจริตในวงราชการ และ 4.การทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

 

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า การเปิดประชุมร่วมกันไม่ใช่ว่าจะไม่อนุญาตให้ถามเรื่องต่างๆ รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กำหนดให้รัฐบาลต้องเป็นคนขอปรึกษา เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น ส่วนเรื่องจริยธรรมของนายกรัฐมนตรีก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ถ้ารัฐบาลตั้งโจทย์ถามเรื่องต่างๆ ก็สามารถนำเรื่องที่เกี่ยวข้องมาแทรกได้

 

……………………….

เรียบเรียงจาก : เวบไซต์กรุงเทพธุรกิจ และ คมชัดลึก 21 ก.พ. 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท