Skip to main content
sharethis


 


โดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)


 


มีเหตุผลอยู่ร้อยแปดพันประการที่จะทำให้เรากลายเป็น "คนไม่ดี" โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญของการก้าวย่างเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งนับเป็นช่วงที่ยากที่สุดในการเป็นมนุษย์  


 


เด็กต้องเผชิญทั้งปัญหาทางกายภาพ ในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย สภาวะจิตใจที่แปรปรวน ความคึกคะนองของช่วงวัย การอยากรู้อยากลอง ไปจนกระทั่งถึงสภาพสังคมเศรษฐกิจที่รายรอบตัวก็มีแต่ภาพของการแข่งขันกันอย่างหนักหน่วง ตกอยู่ภายใต้ลัทธิบูชาเงินเป็นใหญ่ สถานบันเทิงเริงรมย์-แหล่งอบายมุขผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด การใช้ความรุนแรงในครอบครัวสะท้อนอยู่กลาดเกลื่อนบนหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน ฯลฯ แต่สังคมกลับมีกลไกมาตรการอยู่น้อยกว่าน้อยในการที่จะจัดการปัญหาหรือแก้ไข "ความไม่ดี" เหล่านี้


 


จริงอยู่ที่เราไม่สามารถโยนความผิดให้เป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกายได้ทั้งหมด หรือเอะอะอะไรก็ให้สังคมต้องกลายเป็นแพะรับบาปในทุกกรณี หากวิธีการที่เราใช้ในการจัดการปัญหาซึ่งไม่เคยหนีพ้นไปจาก "การลงโทษ" "ก่นประณาม" หรือสำแดงอำนาจในการกักกันสิทธิเสรีภาพด้วยความเชื่อฝังหัวว่า นี่คือหนทางเดียวที่จะดัดนิสัยให้เด็กที่ออกนอกลู่ทางไปกลับมาสู่ความเป็น "ปรกติ" ก็ไม่เคยแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงเช่นเดียวกัน  


 


ปัจจุบัน เรามีสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนอยู่แล้วเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสถานกักกันคุมขังเด็กเพิ่มขึ้นอีกมากมายเท่าไหร่ จึงจะเพียงพอในการรองรับประชากรเหลือขอเหล่านี้ ที่เราต่างหวาดหวั่นกันเหลือเกินว่า เขาอาจจะเติบโตขึ้นมาเป็น "อาชญากร" ที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายในอนาคต (เราจึงต้องขังเขาเอาไว้เพื่อเป็นการป้องกัน?) มากไปกว่าจะมีฐานะเป็น "เหยื่อ" ซึ่งสังคมควรต้องปกป้องดูแลและรับผิดชอบ


 


พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า จะสุดโต่งขนาดให้ลุกขึ้นมาทุบสถานพินิจทิ้งในวันนี้-พรุ่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่เราน่าจะได้หันกลับมาพิจารณากันบ้างว่า นอกจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกปีเป็นปรกติแล้ว ยังมีปัจจัยอะไรอื่นอีกบ้างที่เป็นเงื่อนไขของความน่าแปลกประหลาดนี้


 


ทำไมนับวันจึงมีจำนวนเด็กที่ "ก้าวพลาด" เข้ามาในสถานที่อันไม่อภิรมย์ (ไม่ว่ากับใครก็ตาม) ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความสามารถของสถานพินิจในการผลักดันเด็กเหล่านี้ให้ "กลับคืน" สู่สังคม ถึงจะมีจำนวนอยู่ไม่น้อย แต่ก็เป็นตัวเลขที่เทียบกันไม่ได้เลย ซ้ำยังไม่นับว่า เด็กที่กลับออกไปนั้น เป็นการกลับคืนสู่สังคมในระยะยาวเพียงใด และจำนวนเท่าไหร่ที่กลับไปกระทำความผิดซ้ำซาก หรือก่อคดีที่มีความร้ายแรงมากขึ้นกว่าเดิม


 


คำถามที่ว่าจะทำให้เด็กทุกคนเป็น "คนดี" ได้อย่างไรคงเป็นปัญหาที่ใหญ่โตเกินไป แต่ในจุดเริ่มต้นเราน่าจะได้ขบคิดกันอย่างจริงจังก่อนว่า เมื่อเด็กได้กลายเป็น "คนไม่ดี" ของสังคมเสียแล้ว "กระบวนการหล่อหลอมเด็ก" ของสถานพินิจ ตลอดระยะเวลาที่พวกเขาถูกตัดสินให้รับโทษนั้น เอาเข้าจริง มันเป็นกระบวนการที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เด็กกลับมาเป็นคนดีที่มีประโยชน์ต่อสังคมได้แน่แท้หรือไม่ หรือท้ายที่สุด จะกลับกลายเป็นการหล่อหลอมพฤติกรรมให้เด็กก้าวไปสู่เส้นทางของความผิดพลาดที่หนักหนาขึ้น ดังเช่นคำบอกเล่าที่เรามักได้ยินกันอยู่เสมอว่า นี่คือเส้นทางของการก้าวไปเป็นอาชญากรอย่างเต็มตัว


 


ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น-เพราะพฤติกรรมของเด็กเหล่านี้ยากเกินเยียวยาอย่างนั้นหรือ...หรือกระบวนการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กกันแน่ที่เป็นปัญหา?


 


พูดให้นุ่มนวลขึ้นก็คือ กระบวนการที่ทำกันอยู่นั้น แท้แล้วกลับไม่ได้เป็นการเปิด "โอกาส" ให้กับเด็กในการพัฒนาตัวเอง หรือแม้แต่โอกาสที่จะได้รับการให้อภัย


 


ความไม่เชื่อใจ ไม่ไว้ใจ ที่แสดงออกมาด้วยพฤติกรรมการบังคับ-ลงโทษเด็กด้วยวิธีการต่างๆ นานา ด้วยความคิดที่ว่า ถ้าไม่ใช้ความรุนแรงข่มทับเอาไว้ก็จะต้องถูกต่อต้าน ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ให้โอกาสว่าเด็กเหล่านี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้


 


และถึงแม้การใช้อำนาจจะทำให้เด็กยอมจำนนในคราวหนึ่ง แต่นั่นก็ไม่อาจจะระงับปัญหาในระยะยาว ซ้ำร้าย ด้วยวิธีคิดแบบนี้ยังเป็นการบีบรัดไม่ให้มองเห็นถึงกลไกหรือวิธีการอื่น ที่จะไม่เป็นการไปบ่มเพาะความเกลียดชัง ซึ่งจะยิ่งทำให้เด็กมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างที่สังคมวาดหวัง


 


การจะสร้างกลไกการแก้ปัญหาที่พ้นไปจากการใช้อำนาจและความรุนแรงได้ จำเป็นจะต้องเริ่มต้นจากการ "เปิดใจ" ให้กับเด็กที่ก้าวพลาดไปก่อนเป็นเบื้องแรก


 


เพราะความผิดพลาดนั้นอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกคนล้วนต้องการโอกาสในการกลับตัว


 


แม้การพูดแบบนี้จะฟังดูให้ความเห็นใจ "เด็กไม่ดี" ในสายตาสังคมมากไปเสียหน่อย แต่มันก็คงขึ้นอยู่กับว่า เราอยากจะเข่นฆ่าให้เด็กเหล่านี้ตายตกไปตามกัน หรืออยากให้พวกเขาได้กลับคืนมาเป็นคนดีของสังคมอย่างแท้จริง


 


ซึ่งนั่นก็คงต้องยอมรับกันก่อนว่า ยังไงเสียเด็กเหล่านี้ก็คงไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นคนดีคนเดิมที่ไม่เคยกระทำความผิดได้อีก สิ่งสำคัญกว่าก็คือ เราจะทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างภาคภูมิต่างหาก


 


และในขั้นแรกก็คงหนีไม่พ้นการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการหล่อหลอมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กในสถานพินิจ ทั้งวิธีคิดและวิธีการที่จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเอง และเชื่อมั่นจริงๆ ว่าพวกเขาสามารถเป็นคนดีได้


 


หรือเราอยากจะปล่อยให้เด็กที่ก้าวพลาดเหล่านี้ต้องอยู่ในภาวะที่หันหลังกลับก็ไม่ได้ จะเดินต่อก็ไปไม่ถึง...อยู่เช่นนี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net