ศาลจำลองพิจารณานัดแรก ประชาชนพิพากษา ทักษิณ ออกไป

ประชาไท—5 มี.ค. 2549 ศูนย์นิติศาสตร์จัดศาลจำลองไต่สวนมูลฟ้องครั้งที่ 1 "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผิดอะไรในการขายหุ้นชินคอร์ป" เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ท่ามกลางคนฟังแน่นหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบการไต่สวนครั้งแรก ประชาชนชิงพิพากษา "ทักษิณ ออกไป"

 

นายบรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนายการศูนย์นิติศาสตร์ กล่าวเปิดเวทีว่าเหตุที่ศูนย์นิติศาสตร์ต้องจัดศาลจำลองขึ้นก็เนื่องจาก วันนี้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมายเพราะว่ากระบวนการตรวจสอบ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทุกกระบวนการถูกปิดตายหมด จึงมีเสียงเรียกร้องมาที่ศูนย์นิติศาสตร์ ศูนย์นิติศาสตร์จึงจัดศาลจำลองไต่สวนมูลฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ

 

ประการแรกคือ เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนเรียนรู้ประเด็นในทางกฎหมาย ที่มีความซับซ้อนเกี่ยวผู้นำประเทศอันก่อให้เกิดปัญหาวิกฤติทางจริยธรรมของผู้นำประเทศ

 

ประการที่ 2 เพื่อเป็นการประมวลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่สังคมมีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจว่าการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบผู้นำมิได้เป็นการกลั่นแกล้งผู้นำแต่อย่างใด

 

ประการที่ 3 เพื่อเป็นการตรวจสอบประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่มีถูกกล่าวอ้างนั้นเป็นการกล่าวอ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

 

และประการสุดท้าย หากการตรวจสอบในเบื้องต้นไม่พบความผิดพลาดบกพร่องก็จะทำให้สังคมคลายความสงสัยต่อผู้ถูกร้อง แต่หากพบว่ามีความผิดพลาดบกพร่องและมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ ก็สมควรที่จะต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

 

โดยผู้เบิกความคือนายวิรุฬห์ จินตนกุล ผู้แทนกลุ่มนักศึกษารักประชาชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ ว่ามีความผิดตามมาตรา 209 ห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นเกิน 5% หากถือไว้ก่อนแล้วให้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายใน 30 วัน ทั้งนี้หากประสงค์จะถือครองหุ้นไว้ก็ให้โอนหุ้นให้นิติบุคคลรับจัดการทรัพย์สิน ชี้เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้รัฐมนตรีเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน และการขายหุ้นชิน คอร์ป ของตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ให้เทมาเส็ก ของสิงคโปร์ กระทั่งถูกวิจารณ์ว่าถูกต้องตามกฎหมายและมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศหรือไม่

โดยนายวิรุฬห์กล่าวว่าเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2542 พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งบริษัท แอมเพิล ริช โดยถือหุ้น 100% ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ขายหุ้นทั้งหมดให้นายพานทองแท้ เพื่อหลบเลี่ยงรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการตัดความสัมพันธ์ของรัฐมนตรีกับธุรกิจ แม้ว่าต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ทางการเมืองในการโอนหุ้น แต่ก็ยังเป็นประเด็นให้สงสัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีอำนาจบริหาร จัดการบริษัท ชิน คอร์ป หรือไม่ แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจน

 

อีกประเด็นหนึ่งคือ การบริหารประเทศในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมานั้น มีการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้หรือไม่ เช่น ข้อกำหนดของบีโอไอ ให้ยกเว้นภาษี 8 ปีให้บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ มูลค่าถึง 16,459 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ การตั้งแอมเพิล ริช บนเกาะบริติช เวอร์จิน และการลงทุนทำสายการบิน แอร์เอเชีย ร่วมทุนกับมาเลเซีย โดยจดทะเบียนที่เกาะลาบวน ซึ่งทั้ง 2 แห่ง เป็นเกาะปลอดภาษีแหล่งฟอกเงิน จึงน่าสงสัยต้องการหลีกเลี่ยงภาษี

 

และประเด็นสุดท้ายคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ต้องทราบดีว่า สถานีดาวเทียม และผังสถานี เป็นความลับทางทหาร และเศรษฐกิจของชาติ แต่กลับขายหุ้นชินคอร์ปซึ่งเป็นเจ้าของดาวเทียมไทยคม 1, 2 และ 3ให้สิงคโปร์ อาจเข้าข่ายความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 124 ฐานเปิดเผยความลับในหน่วยราชการให้ต่างประเทศ และผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองความลับทางราชการ มาตรา 3

 

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ได้ขึ้นให้การเป็นพยานปากแรก โดยระบุว่าผู้ที่มีรายชื่อถือหุ้นชินคอร์ปก่อนที่จะขายให้แก่เทมาเสกนั้นไม่ใช่ผู้ถือหุ้นที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นนายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือนายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ เพราะที่สุดแล้ว ผู้มีอำนาจจัดการหุ้นทั้งหมดก็คือ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากผู้ทำธุรกรรมในการขายหุ้นทั้งหมดคือเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน

 

ด้านนายพิภพ อุดร ได้แจงรายละเอียดของการตั้งบริษัทแอมเพิลริช ที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ซึ่งมีเงินจดทะเบียนเพียง 1 เหรียญสหรัฐ แต่สามารถทำธุรกรรมโดยซื้อหุ้นจากบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวน 32.9 ล้านหุ้น ในราคา 329 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทที่มีเงินจดทะเบียนเพียง 1 เหรียญสหรัฐ เหตุใดจึงสามารถเอาซื้อหุ้นจำนวน 329 ล้านบาทได้

 

นายพิภพยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คำอธิบายของนายสุวรรณ วลัยเสถียร โฆษกของตระกูลชินวัตรที่ว่า นายพานทองแท้และน.ส. พิณทองทา "ติ๊กผิด" ในเอกสารของกลต. ว่าซื้อขายหุ้นระหว่างบ. แอมเพิลริช กับนายพานทองแม้ และน.ส. พิณทองทานั้นเป็นการขายในตลาดหุ้น ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นการขายนอกตลาดหุ้น

 

โดยนานพิภพกล่าวว่า การซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์และในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีเงื่อนไขต่างกันชัดเจน ไม่มีทางที่จะ "ติ๊กผิด" เด็ดขาด

 

นายพิภพกล่าวด้วยว่า การอธิบายว่า "ติ๊กผิด" นั้นถ้าจะตีความตามกฎหมายจริง ๆ แล้วก็คือการ "แจ้งเท็จ" ต่อ กลต. ซึ่งนายพิภพได้ตั้งข้อสังเกตต่อศาลว่าการแจ้งเท็จต่อ กลต.นั้นอาจถือเป็นความผิดได้หรือไม่

 

ทั้งนี้ นายพิภพ ได้กล่าวในช่วงท้ายของการไต่สวนว่า การที่พ.ต.ท.ทักษิณ พูดว่าทำถูกกฎหมายทุกอย่างนั้น ต้องทำความเข้าใจว่า กฎหมายนั้นเป็นเพียงกติกาขั้นต่ำที่สุดที่จะทำให้มนุษย์อยู่ด้วยกันอย่างสงบ แต่ในฐานะผู้นำนั้น ต้องใช้กติกาที่สูงกว่านั้น ก็คือจริยธรรม จะอ้างเพียงว่าทำถูกกฎหมายไม่ได้

 

พยานคนสุดท้ายคือ นายชัยรัตน์ แสงอรุณ ได้เบิกความในฐานะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ได้กล่าวต่อศาลว่า จะขอส่งมอบวัตถุพยานเป็นอากาศ เนื่องจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำมาหากินกับอากาศที่ประชาชนหายใจเข้าไป นั่นคือทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ธุรกิจดาวเทียม ธุรกิจโทรทัศน์ และธุรกิจสายการบิน ในฐานะประชาชนถือว่าได้รับผลกระทบจากธุรกิจของพ.ต.ท. ทักษิณ เพราประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ และรับฟังข้อมูลข่าวสาร

 

ผู้ทำหน้าที่ผู้พิพากษาในศาลวันนี้ได้แก่ นายขวัญชัย โชติพันธุ์ รองประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความ และนายศุภกิจ หล่อพัฒนางกูร สภาทนายความ และทนายความโจทก์คือ นายดนัย อนันติโต อุปนายฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความ

 

ภายหลังจากไต่สวนนัดแรกแล้ว ศาลได้นัดไต่สวนนัดที่ 2 ในวันที่ 6 มี.ค. เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป

 

สำหรับบรรยากาศการไต่สวนในช่วงต้นซึ่งเป็นการเบิกความของนายประสงค์ เลิศรัตวิสุทธิ์ นั้นเป็นไปอย่างเคร่งเครียดจริงจัง และผู้เข้าฟังการไต่สวนต่างนิ่งเงียบ เนื่องจากศูนย์นิติศาสตร์ได้จำลองบรรยากาศของศาลไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นบัลลังก์ผู้พิพากษา หรือคอกพยาน รวมทั้งผู้รับบทบาทผู้พิพากษาและทนายต่างแต่งกายเต็มยศด้วยชุดว่าความซึ่งต้องสวมเสื้อครุย รวมทั้งมีการดำเนินการตามกระบวนการในการพิจารณาคดีเกือบทุกอย่าง เช่น การยืนทำความเคารพศาล การเบิกความ การเบิกพยาน รวมทั้งการซักพยานโดยทนายซึ่งเป็นทนายความจริง ๆ

 

จนกระทั่ง นายอภิชาติ ดำดี พิธีกรของงาน ต้องออกมาขั้นจังหวะว่า นี่คือศาลจำลองเท่านั้น ขอให้ผู้ฟังทำตัวตามสบาย สามารถหัวเราะและปรบมือได้ จากนั้นบรรยากาศการไต่สวนจึงดำเนินต่อไปด้วยความสนุกสนาน ครื้นเครง

 

เมื่อการไต่สวนนัดแรกสิ้นสุดลง ผู้เข้าฟังการไต่สวนได้ตะโกนขึ้นว่า "ทักษิณ ออกไป" จนกระทั่งนายอภิชาติ พิธีกรของงานต้องปรามว่า ใจเย็น ๆ เดี๋ยววันที่ 5 มี.ค. ได้ตะโกนแน่











นายวิรุฬห์ จินตนกุล นักศึกษามธ. โจทก์



นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มติชน พยานปากแรก



นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มติชน พยานปากแรก



นายพิภพ อุดร อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. พยานปากที่ 2



นายพิภพ อุดร อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. พยานปากที่ 2



นายชัยรัตน์ แสงอรุณ กรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ พยานปากที่ 3



นายอภิชาติ ดำดี พิธีกรของงาน



การไต่สวนศาลจำลองท่ามกลางผู้ฟังเต็มหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



 บรรยากาศภายผู้ฟังการไต่สวนศาลจำลอง



บรรยากาศภายผู้ฟังการไต่สวนศาลจำลอง



บรรยากาศภายผู้ฟังการไต่สวนศาลจำลอง



 บรรยากาศภายผู้ฟังการไต่สวนศาลจำลอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท