Skip to main content
sharethis



 


           
            


(1) เอลเลน จอห์นสัน-เซอร์ลีฟ     (2) แองเจลา เมอร์เคล     (3) มิเชล บาเชเล็ต


            





                 


             (4) ปอร์เชีย ซิมป์สัน มิลเลอร์   (5) เฮเลน คลาร์ก      (6) กลอเรีย อาร์โรโย


 



ในฐานะที่วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสตรีสากล (IWD: International Women"s Day) และเป็นวันที่มีไว้เพื่อระลึกถึงความเคลื่อนไหวของขบวนการสตรีที่ออกมาแสดงพลังด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่วันสตรีสากลปีนี้ออกจะดูคึกคักเป็นพิเศษ เพราะกระแสความเป็นผู้หญิงกับสถานะ "ผู้นำทางการเมือง" สามารถเชื่อมโยงถึงกันอย่างเห็นได้ชัด


 


แม้ผู้นำที่เป็นผู้หญิงจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร แต่ถ้าการดำรงอยู่ของผู้หญิงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้นมาได้ ก็คงต้องถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญอย่างหนึ่ง และอาจมีส่วนถึงขั้นที่จะสามารถกำหนดทิศทางใหม่ๆ ในระดับโลกด้วยก็เป็นได้


 


ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวของนักสิทธิสตรีทั้งหลายจะแผ่วปลายลงไปมากในระยะหลังๆ และปรากฏการณ์ "ผู้หญิงครองเมือง" อาจถูกมองว่าเป็นเพียงกระแสที่วูบผ่านมาเท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าความเคลื่อนไหวในแวดวงสตรีสากลจะซบเซาลงไป เพราะนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ ผู้หญิงทั่วโลกต่างพากันตบเท้าเข้ารับตำแหน่งผู้นำทางการเมืองกันอย่างคึกคัก จนต้องตามไปทำความรู้จักเป็นรายบุคคลเลยทีเดียว


 


หญิงเหล็กคนแรกแห่งกาฬทวีป


แต่ไหนแต่ไรมา ผู้หญิงแห่งทวีปแอฟริกามักไม่ค่อยมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองสักเท่าไหร่ เมื่อ  "หญิงเหล็ก" แห่งไลบีเรีย หรือ เอลเลน จอห์นสัน-เซอร์ลีฟ (Ellen John-Sirleaf) สามารถชนะคะแนนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 ไปได้ด้วยคะแนนสูงถึงร้อยละ 91 ของชาวไลบีเรียทั้งหมด ต่อจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงหลายๆ ประการก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด


 


เอลเลน จอห์นสัน-เซอร์ลีฟ ถือเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของทวีปแอฟริกา และยังเป็นผู้นำหญิงที่เคยถูกตัดสินจำคุกถึงสองครั้งสองคราด้วยข้อหาทางการเมือง ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอมองว่าประเด็นทางมนุษยธรรมและความมั่นคงของประชาชนคือสิ่งที่ชาวไลบีเรียต้องแก้ไขโดยด่วน และปัญหาที่รองลงมาคือเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ


 


การประกาศว่าจะรื้อฟื้นการสืบสวนคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเกิดขึ้นตลอด 14 ปีที่สงครามกลางเมืองกินเวลายืดเยื้อยาวนานในไลบีเรีย ทำให้ประธานาธิบดีคนใหม่ได้รับเสียงปรบมือต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาชนทั่วโลก และจอห์นสัน-เซอร์ลีฟก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าที่คิดจะจัดการ "ผ่าตัด" ปัญหาความรุนแรงที่สุมอยู่ภายในประเทศด้วยการเผชิญหน้าและยอมรับความจริง


 


ถึงแม้การรื้อฟื้นคดีจะไม่มีผลในการลงโทษ เพราะเกินกำหนดอายุความไปแล้วก็ตามที แต่ความมุ่งมั่นในการเปิดเผยเรื่องทุกอย่างให้กระจ่างก็ถือเป็นการบำบัดความเจ็บปวดของชาวไลบีเรียที่ต้องทุนทุกข์ทรมานอยู่กับสงครามกลางเมืองมาเป็นเวลานาน


 


การดำรงอยู่ในตำแหน่งของจอห์นสัน-เซอร์ลีฟสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้แก่ผู้หญิงแอฟริกันจำนวนไม่น้อย เพราะเธอเป็นเสมือนตัวแทนที่คอยเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนที่ถูกหลงลืม และการเป็นผู้นำหญิงคนแรกก็ช่วยให้ทัศนคติการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยความรุนแรงลดลงไปได้บ้าง เพราะผู้นำคนใหม่ของไลบีเรียนิยมใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบสันติวิธีมากกว่า แต่ขณะเดียวกันก็มีความมุ่งมั่นมากพอที่จะต่อสู้และทำงานอย่างหนัก ซึ่งก็คือที่มาของฉายา "หญิงเหล็ก" ที่เธอถูกขนานนามนั่นเอง


 


นายกฯ หญิงยอดนิยมแดนอินทรีเหล็ก


ความสำเร็จของ แองเจลา เมอร์เคล ตัวแทนจากพรรคซียูดี (CDU: Christian Democratic Union) ที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนีเมื่อเดือนกันยายน 2548 ถือเป็นชัยชนะของม้ามืดก็ว่าได้ เพราะเธอเอาชนะคู่แข่งที่เป็นตัวเก็งคนสำคัญอย่างแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ ซึ่งเคยเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อนได้ แม้เมอร์เคลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดบารมีในการปกครองผู้คนในสังกัด แต่เมื่อผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการประกาศออกมา ปรากฏว่าเธอสามารถเอาชนะอดีตผู้นำอย่างชโรเดอร์ไปได้ด้วยมติและคะแนนที่เป็นเอกฉันท์


 


เหตุผลที่ทำให้เมอร์เคลสามารถกลับลำมาเอาชนะได้ น่าจะเป็นเพราะความมุ่งมั่นในการนำเสนอนโยบายใหม่ๆ เช่น การประกาศนโยบายการคลังที่สั่งให้เพิ่มอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 19 และให้เพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายได้ขั้นสูงสุด จากร้อยละ 43 ให้เป็นร้อยละ 46 หรือที่เรียกอีกอย่างว่า "ภาษีคนรวย" น่าจะเป็นที่ถูกอกถูกใจคนว่างงานในเยอรมันเป็นอันมาก


 


นอกจากนี้ เมอร์เคลยังมีนโยบายปฏิรูปแรงงาน นโยบายปฏิรูปการประกันสุขภาพ และนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเน้นด้านความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฝรั่งเศส และโปแลนด์ รวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และการสนับสนุน NATO ด้วย


 


แม้ความกล้าที่จะแตกต่างของเมอร์เคลอาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ได้มาจากการหนุนหลังของพรรคซีดียู แต่ความรู้จักประนีประนอมและรู้จักที่จะต่อรองในกรณีระหว่างประเทศก็ถือเป็นจุดเด่นของเมอร์เคล และเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา โพลของเยอรมนีฟันธงว่าเมอร์เคลคือนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมมากสุดเป็นประวัติการณ์* เพราะอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 100 วันที่เธอดำรงตำแหน่งผู้นำ


 


ผู้นำรัฐบาลแห่งความเสมอภาคของชิลี


ผู้หญิงคนล่าสุดที่จะกล่าวคำปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของชิลีในวันที่ 11 มีนาคม 2549  มีชื่อว่า มิเชล บาเชเล็ต อดีตนักโทษการเมืองที่ถูกส่งเข้าคุกเพราะต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหาร ระหว่าง พ.ศ.2516 - 2533 และเป็นแกนนำคนสำคัญของฝ่ายซ้ายกลางของชิลี


 


ว่าที่ประธานาธิบดีบาเชเล็ตเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมาตลอด และเป็นผู้ส่งเสริมความเท่าเทียมกัน ของประชาชนในชิลี เธอประกาศว่าถ้าหากได้รับเลือกเป็นผู้นำรัฐบาลเมื่อไหร่ จะจัดให้มีคณะรัฐมนตรีที่ประกอบ ด้วยผู้ชายและผู้หญิงอย่างละครึ่ง ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีของบาเชเล็ตจึงถูกขนานนามว่าเป็นตัวอย่างของรัฐบาลที่มีความเท่าเทียมและสมดุลที่สุดในกลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกา


 


ถึงแม้ว่าบาเชเล็ตจะเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศในแถบละตินอเมริกา แต่แนวคิดที่จะปฏิรูปการเมืองของเธอได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากมาย


 


และในฐานะที่เธอเคยเป็นแพทย์มาก่อน บาเชเล็ตถือว่าการกระจายโอกาสทางสาธารณสุขไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ


 


ขวัญใจชนชั้นรากหญ้าแห่งจาไมกา


เมื่อเดือนมกราคม 2549 ที่ผ่านมา ประเทศเล็กๆ แห่งหนึ่งในหมู่เกาะแถบทะเลแคริบเบียนอย่างจาไมกา ได้ผู้นำคนใหม่คือ ปอร์เชีย ซิมป์สัน มิลเลอร์ ซึ่งเธอคือผู้หญิงพื้นเมืองที่ต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวเองมาตลอด เธอเริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นปากเสียงเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ชนชั้นล่างของจาไมกา และจะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาลทันทีที่ พี.เจ.แพทเทอร์สัน อดีตนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายน 2549


 


ชัยชนะของซิมป์สัน มิลเลอร์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายที่เธอใช้เรียกความสนใจจากประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะความนิยมที่ประชาชนมีให้เธอนั้นมากมายกว่าความศรัทธาในตัว นายกฯ แพทเทอร์สัน ซึ่งนับวันมีแต่จะลดน้อยถอยลง เพราะแพทเทอร์สันล้มเหลวด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาการคอรัปชั่น และไม่มีมาตรการใดๆ มาจัดการเรื่องอาชญากรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศได้เลย ทั้งที่ปกครองประเทศมาแล้วถึง 14 ปี


 


ในขณะเดียวกัน ซิมป์สัน มิลเลอร์ ได้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงวัฒนธรรมมาแล้วหลายสมัย และสร้างผลงานที่โดดเด่นน่าพอใจในหมู่ชนชั้นแรงงาน ทำให้เธอได้รับชัยชนะไปในที่สุด แม้ว่าจะมีรัฐมนตรีที่สนับสนุนนายกฯ แพทเทอร์สันอยู่บ้าง และนักวิเคราะห์บางคนมองว่าซิมป์สัน มิลเลอร์ ยังไม่มีบารมีมากพอที่จะขึ้นเป็นผู้นำของประเทศ แต่คะแนนความนิยมในตัวเธอก็มีมากพอที่จะกลบเสียงวิจารณ์ทั้งหลายจนแทบจะไม่ได้ยินไปเลย


 


เมื่ออำนาจอยู่ในมือ "ผู้หญิง"


ความสำเร็จของผู้นำหญิงที่กล่าวมาทั้งหมดสร้างความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ให้กับทิศทางทางการเมืองของโลก ทั้งในส่วนที่เป็นการปฏิรูปการเมืองการปกครอง และในส่วนของการสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ เพราะมีคนเชื่อกันมากว่าการมองโลกและระบบคิดแบบผู้หญิงจะแตกต่างจากวิธีคิดและการปกครองโดยผู้นำที่เป็นชาย แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นไปเสียหมด


 


แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีความเท่าเทียมกันมากที่สุด และมีขบวนการเฟมินิสต์เต็มไปหมด ก็ยังไม่มีข้อยกเว้น เพราะในหนังสือชื่อ Women Who Make the World Worse ของ เคท โอ" เบิร์น ซึ่งเป็นนักเขียนสายอนุรักษ์นิยมได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ผู้หญิงแถวหน้าอย่างเช่น ฮิลลารี รอดแดม คลินตัน และ คอนโดลีซซา ไรซ์ ไว้อย่างเผ็ดร้อน


 


โอ" เบิร์นกล่าวว่าทั้งฮิลลารี คลินตัน และ "คอนดี" ไรซ์ ต่างก็ใช้อิทธิพลทางการเมืองของตนครอบงำความคิดขององค์กรและสถาบันต่างๆ อย่างไม่คำนึงถึงโครงสร้างของสังคมอเมริกันแบบดั้งเดิมซึ่งเน้นการรักษาสิทธิในแนวทางอนุรักษ์นิยม ซึ่งสมาชิกของสถาบันต่างทำหน้าที่ของตนไปตามบทบาทที่ได้รับ


 


เมื่อฮิลลารี คลินตัน และไรซ์แสดงจุดยืนของตนด้วยการเรียกร้องให้ผู้หญิงออกมาปฏิบัติหน้าที่นอกบ้านมากขึ้นในขณะที่สวัสดิการต่างๆ ยังไม่ครอบคลุมพอที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงทำงานทั้งหลายได้ เช่น ศูนย์ดูแลรับฝากเด็กอ่อน หรือโรงเรียนของรัฐแต่ละแห่งมีคุณภาพสูงต่ำเหลื่อมล้ำกันไปตามแต่ย่านของชุมชน ทำให้ผู้หญิงที่ต้องออกมาทำงานนอกบ้านตามค่านิยมแบบพึ่งพาตัวเองต้องเสี่ยงกับปัญหาเรื่องความปลอดภัยของลูกหลาน ทำให้ความมั่นคงของสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาด้อยประสิทธิภาพลง


 


เช่นเดียวกับ เฮเลน คลาร์ก นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ก็ถูกขนานนามว่าเป็นผู้นำที่ยึดแนวทาง เสรีนิยม เกินไป และการปกครองที่อาศัยระบบคิดเช่นนี้มีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด


 


ในกรณีของนิวซีแลนด์ นายกฯ คลาร์กผลักดันให้เกิดการลงนามในสัญญาเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์ ผลก็คือชนเผ่าดั้งเดิมหรือชาวอะบอริจินซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอยู่ก่อนแล้ว ก็ยิ่งถูกซ้ำเติมอย่างหนักเข้าไปอีกด้วยกระแสทุนนิยมที่โถมกระหน่ำเข้าไปในนิวซีแลนด์ และพัดพาที่ทางของชาวอะบอริจินและผู้อพยพทั้งหลายจนหายไปหมด


 


นอกจากนี้ การมองโลกแบบ อำนาจนิยม ยังคงเป็นแนวคิดหลักที่ผู้นำทั้งหญิงและชายมักจะนำมาใช้ในการปกครองประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือกรณีของ ประธานาธิบดี กลอเรีย แมคคาปากัล อาร์โรโย ที่ได้รับเลือกตั้งให้กลับมาปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่งในปีที่ผ่านมา แต่การบริหารประเทศของฟิลิปปินส์ก็ยังคงดำเนินไปตามรอยทางเดิมๆ ที่เต็มไปด้วยการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือประชาชนและสื่อต่างๆ และทิศทางการบริหารประเทศก็ยังคงย่ำซ้ำอยู่ที่เก่า


 


ระบบคิดแบบอํานาจนิยมหรือเสรีนิยมที่ว่ามา ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นแนวคิดของผู้นำเพศใดเพศหนึ่ง เท่านั้น แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือระบบคิดทั้งสองแบบ สามารถเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในสังคมอย่างซึมลึกและแนบเนียนเสียจนแยกไม่ออก


 


การคาดหวังหรือมองที่ตัวตนของผู้นำเพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่ดีเลย ไม่ว่าจะผู้นำจะเป็นหญิงหรือชายก็ตามแต่


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net