กรุณาละเลียดอ่าน "พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์" : ไม่เลือกทักษิณ หรือจะเลือกทุนนิยมล้าหลัง?

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนแรกๆ ที่ฟันธงว่า เบื้องลึกที่สุดของม็อบต่อต้านทักษิณ ก็คือ การไม่เลือกข้างทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ "ทักษิณ" ดำเนินไปอย่างขันแข็ง แต่เขาเชื่อในทุนนิยมโลกาภิวัตน์ และเชื่อมั่นว่า "ทักษิณ" ซึ่งมาตามกติกาประชาธิปไตยจะนำพาประเทศไปได้ดีบนทางสายนี้ หากแต่ขบวนการต่อต้านนี้เองที่จะทำให้การเมืองไทยถอยหลังไปถึงสมัยพล.อ.สุจินดา หรือหลัง 14 ตุลา หรือกระทั่ง 2476 นั่นเลย
 

0 0 0

อาจารย์เคยเขียนในบทความในที่ต่างๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นเวลานี้ คือจุดเปลี่ยนที่สังคมไทยต้องเลือกว่าจะก้าวไปสู่ทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว หรือทุนนิยมล้าหลัง
ใช่ การต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นอยู่ เป็นการต่อสู้ของ 2 ค่ายว่า แนวทางการพัฒนาสังคมจะเป็นไปตามโลกาภิวัตน์หรือไม่ อนาคตเราจะเป็นยังไง นี่คือเบื้องหลังที่สู้กัน แต่ข้างหน้าก็ชูธง ขายชาติๆ ชูธงเรื่องไม่โปร่งใส่ คอร์รัปชั่น จริยธรรม อะไรต่างๆ แต่ทีเป็นเบื้องหลังจริงๆ ก็คือ จะเอาโลกาภิวัตน์หรือไม่

"ระบอบทักษิณ" จะนำเศรษฐกิจไทยไปสู่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้จริงหรือ
งั้นถามก่อนว่า ไอ้ระบอบทักษิณที่เขาว่ากันนี่ มันคืออะไร ผมไม่เห็นใครนิยามมันได้ชัดๆ

คนที่ออกมาพูดก็พูดเหมือนกันเลย ไม่เอาระบอบทักษิณ โค่นล้มระบอบทักษิณ มันหมายถึงอะไร อย่างตอนนี้บอกว่าโค่นระบอบทักษิณคือแก้รัฐธรรมนูญ เอารัฐบาลฯ พระราชทานลงมา งั้นโค่นระบอบทักษิณตรงนี้ก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เพราะตามรัฐธรรมนูญนี้มันทำไม่ได้

คือมีปัญหาใหญ่อยู่ 2-3 ประการ คือพอเป็นธุรกิจการเมืองที่เข้มแข็ง ก็เข้าไปทำลายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลทางการเมืองหมดเลย หรือแม้แต่การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างก้าวหน้าก็มีปัญหาความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน
เรื่องธุรกิจการเมืองมันมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยชวน บรรหาร ชาติชาย หรือกระทั่งยุค พล.อ.เปรม ด้วย แม้ว่าตอนนั้นท่านจะไม่มีผลประโยชน์อะไร ไม่ใช่เฉพาะตอนทักษิณ อันนี้ต้องยอมรับก่อนเป็นประเด็นแรก เพียงแต่จำนวนเม็ดเงินมันแตกต่างกัน วิธีการก็เหมือนกัน คือเอานักการเมืองท้องถิ่นเข้ามา เอาเงินเลี้ยง มีหัวหน้าก๊วน หัวหน้ามุ้งเล็กๆ รวมเป็นมุ้งใหญ่ รวมกันเป็นพรรคการเมือง แล้วแต่ละพรรคก็โยงใยกันขึ้นมาอยู่ในระบบสภา

ในกรณีพรรคไทยรักไทยมันแตกต่างตรงที่ว่า มุ้งที่ใหญ่ที่สุดเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด แล้วมันเปิดช่องให้พรรคมีขนาดใหญ่ มีปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าเป็นพรรคเล็กไม่มีปาร์ตี้ลิสต์ เสร็จแล้วพอพรรคมันใหญ่ เม็ดเงินมันก็ใหญ่ตามไป กลุ่มของนายกฯ ทักษิณก็เป็นมุ้งหนึ่งในพรรคไทยรักไทย แต่เป็นมุ้งใหญ่ที่สุด และถ้าคุณทักษิณวางมือทางการเมืองจริงๆ ทั้งหน้าฉากหลังฉาก มันก็แตกมุ้งกันอีก แล้วก็ไปฟอร์มกันเป็นพรรคใหม่อีก อาจจะเป็นพรรค "ไทยรักชาติ" อะไรขึ้นมาก็ได้ หัวหน้าพรรคก็เปลี่ยนตัวเป็นนักธุรกิจการเมืองคนใหม่
 

ยังไงก็ตาม มันสร้างปัญหาใหญ่คือแทรกแซงองค์อิสระจนทำงานไม่ได้
การแทรกแซงมันมีจริง อันนี้เรารู้อยู่แล้ว ไม่มีใครปฏิเสธหรอก เป็นเรื่องที่เราต้องวิพากษ์วิธีการ เหตุนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร มันต้องย้อนหลัง มีภาพรวมทั้งอดีตและปัจจุบัน และภาพรวมในปัจจุบันมันต้องมีทั้งมิติเศรษฐกิจ และการเมือง ไม่ใช่มีแต่เพียงว่า ขายหุ้นได้กำไรแล้วไม่จ่ายภาษีอย่างนี้ มันชั่ว เรื่องมันไม่ใช่แค่นั้น หรือ ขายหุ้นชินคอร์ปซึ่งมีดาวเทียมและมือถือให้สิงคโปร์ไปแล้ว อย่างนี้มันขายชาติ

องค์กรอิสระเกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มันไม่มีองค์กรตรวจสอบ  รัฐบาล ส.ส. นักการเมือง ไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ทำอะไรก็ได้ องค์กรที่จะตรวจสอบก็คือ ป.ป.ป. ในสมัยนั้น แต่ ป.ป.ป. ก็เป็นหน่วยงานในสำนักนายกฯ พอมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เลยตั้งองค์กรอิสระบานเลย สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมม กกต. อะไรเต็มไปหมด มีหน้าที่ต่างๆ กันไป

ปัญหาที่มันเกิดขึ้นก็คือ ถ้าเราไปดูในรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นว่ามันกำหนดที่มาขององค์กรอิสระไว้ค่อนข้างดีพอควร ถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศในอเมริกา ยุโรป ที่เจริญแล้ว ของเราก็ค่อนข้างใกล้เคียง คือผ่านมาทางด้านสมาชิกวุฒิสภา ในกรณีของไทยก็เสนอโปรดเกล้าฯ ด้วย

แต่ในทางปฏิบัติ ฝ่ายบริหารเข้าไปแทรกแซง วิธีการแทรกแซงไม่มีอะไรมาก คุณยึดกุมวุฒิสภาได้ ก็คุมได้หมดแล้ว เพราะวุฒิสภาเป็นผู้ที่ตั้งองค์กรอิสระทั้งหลาย ฉะนั้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่วุฒิสภา ไม่ใช่อยู่ที่องค์กรอิสระว่ามันไม่ดี

แต่ต้องเข้าใจก่อนนะว่า ความคิดที่จะให้วุฒิสภาปลอดจากการเมือง ปลอดจากการแทรกแซงของพรรคการเมืองเป็นไปไม่ได้ แล้วเป็นความคิดที่ผิดด้วย สมาชิกวุฒิสภาอเมริกาก็สังกัดพรรคการเมือง ชัดเจนว่ารีพลับลิกัน เดโมแครต แต่ว่าระบบการเมืองเขาพัฒนามาเป็นร้อยปีแล้ว ถึงจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาฝ่ายเดียวกับประธานาธิบดีบุช มีเรื่องมีราวอะไรก็ยังด่ากันได้ ตรวจสอบกันได้ แต่อาจมีแนวโน้มว่า ถ้าเป็นพรรคเดียวกับบุชก็จะเสียงอ่อนหน่อย ถ้าไม่ร้ายแรงจริงๆ ก็อาจไม่ออกมา
 

แล้วองค์กรอิสระของเขาเป็นยังไง
ในอเมริกาเอง การตั้งองค์กรอิสระผ่านสมาชิกวุฒิสภาก็ทะเลาะกันเละเหมือนกัน จะเอาคนของตัวเข้ามาเหมือนกัน มันไม่ได้ต่าง การเมืองมันเข้าไปแทรกตลอด

มีการพูดตลอดว่า กรรมการชุดนี้มีแนวโน้มเป็นรีพลับริกัน กรรมการชุดนี้มีแนวโน้มเป็นเดโมแครต แม้กระทั่งศาลสูงสุด ประธานาธิบดีก็เป็นคนเสนอชื่อต่อสภาคองเกรสให้ตั้งนะ ก็ต่อรองกันน่าดูว่า จะเอาประธานคนไหนขึ้นมานั่ง ก็จะรู้กันในวงการแล้วว่า ผู้พิพากษาคนนี้หัวอนุรักษ์นิยม คนนี้หัวเสรีนิยม

ในเมืองไทย ถ้าจะไปบอกว่า องค์กรอิสระ หรือสมาชิกวุฒิสภาไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงเลย มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องเกิดขึ้นแน่ เพียงแต่ว่าช่วงที่ผ่านมา การเข้าไปกุมวุฒิสภาของฝ่ายการเมืองค่อนข้างจะเบ็ดเสร็จ พอเบ็ดเสร็จแล้วมันเลยไม่ function

แต่อีกส่วนหนึ่งเราก็ต้องโทษสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่กำหนดการได้มาซึ่งวุฒิสภาว่า จะไม่ให้วุฒิสภามีสังกัด องค์กรอิสระมีการเมืองแทรกแซง ต้องอิสระอย่างแท้จริง เพื่อจะตรวจสอบฝ่ายการเมือง โดย 1.ห้ามหาเสียงเลือกตั้ง 2.ห้ามสังกัดพรรคการเมือง แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ 3.ห้ามสมัครติดต่อกัน 2 สมัย 4.สมาชิกวุฒิสภา ถ้าหมดสมัยก็หมดพร้อมกันเลยทั้งเซ็ต ทั้งที่ความจริงสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่จะมีอายุ 6 ปี แล้วค่อยๆ ทยอยออกทุกๆ 2 ปี ฉะนั้นในช่วงเวลาหนึ่งก็จะเป็น 2 ใน 3 ของวุฒิสภาที่จะเป็นสมาชิกเก่าที่มีประสบการณ์ แต่โละทั้งแผง ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่จากศูนย์
 

มันจะแก้ปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นอยู่นี้ได้ยังไง
ก็ตรงนี้ไง ให้มันชัดขึ้นมาว่า สมาชิกวุฒิสภา ใครเป็นไทยรักไทย ใครเป็นฝ่ายค้าน ให้มันเห็นๆ กันเลย แล้วเวลาโหวตก็รู้เลย ใครอยู่กับใคร หรือใครอิสระ ไม่ได้บอกให้ต้องอยู่กับพรรคการเมือง แต่อย่าไปห้ามเขาสังกัดพรรค ฉะนั้นคนปกติทั่วไปก็ลงได้ ถ้าอยากจะลง คือการเมืองมันมีแน่ แต่ทำให้การเมืองมันเห็น

 

ถ้าการเมืองในสภาชัดเจนขึ้นมันจะช่วยอะไร
มันจะได้รู้ว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน แล้วการแทรกแซงก็จะเห็นชัดขึ้น คุณก็ด่ากันง่ายขึ้น ประชาชนจะได้ตรวจสอบ เพราะวุฒิสภาใครจะไปตรวจสอบเขาได้ แต่ทุกวันนี้มันไม่รู้เลย ใครเป็นใคร ใครรับเงินรัฐบาลบ้าง หรือมันอาจพอรู้ แต่มันเอ่ยชื่อได้ไหม

ฉะนั้น เรื่องการแทรกแซงองค์กรอิสระมันมีมานาน แล้วรัฐธรรมนูญก็ไม่ถูก จะบอกไม่ให้มีเลย มันเป็นไปไม่ได้ แต่ทำยังไงให้มันโปร่งใส ให้มันชัด และพอการเมืองมันผ่านไปเรื่อยๆ นานๆ เข้า ความเป็นวุฒิสภา การสั่งสมประสบการณ์ มันก็จะทำให้ทำงานของมันเอง เหมือนในอเมริกา ถึงแม้จะอยู่พรรคเดียวกันก็ตรวจสอบกันได้

แต่การแทรกแซงที่ว่าแทรกแซงวุฒิสภามากมาย ก็ไม่ได้ 100% ที่ผ่านมากฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร เข้าวุฒิสภาก็ติดขัดหลายฉบับ ถูกตีกลับหลายฉบับ
 

อย่างนั้นแล้ว อาจารย์เห็นด้วยกับวาระเร่งด่วนในการปฏิรูปการเมืองรอบ 2 หรือเปล่า
มันยังไม่เคลียร์ว่า เขาจะปฏิรูปอะไร แต่ที่เขาชูๆ กันมา มันมีแนวโน้มจะไปสู่ยุคก่อนปฏิรูปการเมืองเสียอีก มันจะถอยหลัง เช่น ถ้าคุณไปปลดล็อก 90 วันให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้ อย่างนี้คุณก็จะได้พรรคเล็ก แล้วก็ต้องเป็นรัฐบาลผสมอย่างสมัยก่อน ซึ่งนายกฯ ไม่มีอำนาจ แต่กลุ่มก๊วนการเมืองมีอำนาจ

ก็ดูสิว่าสมัยชวน สมัยบรรหาร การเมืองเป็นยังไง เละตุ้มเป๊ะรึป่าว ที่คุณทักษิณพูดก็ถูกว่า ถ้าจะย้อนหลังไปก็เป็นระบบ "เกี้ยเซียะ" ก็คือ อยากได้อะไรก็เคาะประตูห้องนายกฯ ถ้าไม่ให้ก็ไปป่วนในสภา แล้วรัฐบาลก็จะล้ม อยู่ได้ไม่ครบ 4 ปี ก่อนปฏิรูปการเมืองมีรัฐบาลไหนอยู่ครบ 4 ปีบ้าง ไม่มี

แต่ล็อก 90 วันก็มีปัญหา ทำให้ส.ส.ไม่อิสระ ต้องอยู่ใต้อำนาจพรรค
ก็ไม่อิสระที่จะย้ายพรรคไง ไม่อิสระที่จะต่อรองเอาผลประโยชน์จากหัวหน้าพรรค แต่ถ้าให้ย้ายพรรคได้ มันถอยหลังชัดเจน ให้นักการเมืองใหญ่กว่าพรรค เฉพาะตรงนี้ก็แย่แล้ว

แล้วนักการเมืองที่มาจากก๊วนเล็กก๊วนน้อย เป็นกลุ่มผลประโยชน์ ทำงานไม่เป็น คนที่ได้ประโยชน์คือข้าราชการเทคโนแครต พวกปลัดกระทรวง อธิบดี นักการเมืองจะต้องถามข้าราชการว่า จะต้องทำอะไรบ้าง อะไรก็ตามที่ข้าราชการไม่เห็นด้วยรัฐมนตรีก็ไม่กล้าทำ เพราะไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด มันก็กลับไปสู่ระบบการเมืองที่อ่อนแล้วทุกคนก็ได้ประโยชน์

แล้วโดยรวมข้อเสนอก็ไม่ชัดเจน ฟังๆ ดูแล้วเหมือนจะถอยหลังลงคลอง แต่ถ้าการปฏิรูปการเมืองเจาะจงเฉพาะการปรับปรุงเรื่องสมาชิกวุฒิสภา และกระบวนการคัดสรรองค์กรอิสระ อันนั้นน่าจะดีขึ้น แต่ว่าถ้ามันแก้แล้วก็จะถูกผนวกไปหมดทุกเรื่องรวมมิตร จะแก้บางจุดไม่แก้บางจุดคนที่ไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่ยอมอีก

พูดกันแต่จะปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการเมือง ถามว่าแล้วคุณควบคุมได้ไหมว่า จะปฏิรูปเฉพาะส่วนที่จะทำให้ดีขึ้น ไอ้ที่ปฏิรูปแล้วเลวลงจะกันมันออกได้รึปล่าว มีการันตีไหม

แต่กระบวนการมันต้องมีส่วนร่วมจากหลายๆ ฝ่าย ช่วยกันพิจารณา
ก็หลายฝ่ายนั่นแหละ แต่คนที่ยกมือรับไม่รับคือใคร ส.ส. กับ ส.ว.

อาจารย์คิดว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่บีบเข้ามาเรื่อยๆ ตอนนี้ถึงทางตันที่ต้องนำไปสู่นายกฯ พระราชทานแล้วหรือยัง
มันตันแล้ว ซึ่งนายกฯ พระราชทานจะลงมายังไง ถ้าคุณไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ
 

ปัญหาของนายกฯ พระราชทานคืออะไร แล้วมีทางออกอะไรหรือไม่ที่จะไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ
นายกฯ พระราชทาน มีปัญหาเพราะว่า 1. กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่มีช่องให้ จะตั้งนายกฯ ต้องมีสภา สภาไม่มีจะตั้งนายกฯ ได้ยังไง

มันมีช่องอยู่นิดเดียว คือ นายกฯ รักษาการพระราชทาน ซึ่งเป็นข้อเสนอของอธิการบดีธรรมศาสตร์ คือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งนายกฯรักษาการด้วยตัวเอง แล้วก็ตีความทางกฎหมายว่า เกิดช่องโหว่ทางการเมือง ก็ให้ตั้งรักษาการนายกฯ พระราชทาน แต่อันนั้นก็หมิ่นเหม่ว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญ ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือ ถ้านายกฯ ทักษิณลาออก รองนายกฯ คนอื่นๆ ก็ขึ้นมารักษาการแทน

นี่คือตามตัวหนังสือ แต่ถ้าคุณจะเล่นแบบศรีธนญชัย ใช้มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ .... ก็เอา ถ้าคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความหมาย จะเล่นยังไงก็ได้ แต่ในความเห็นของผม นายกฯ พระราชทาน หรือรักษาการนายกฯ พระราชทาน มันขัดรัฐธรรมนูญ ต่อให้อ้างมาตรา 7 ก็ไม่ได้ แล้วถ้าคุณจะเอาตรงนี้มันต้องฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ฉีกมันก็ฉีกได้หลายวิธี เอาทหารออกมา แล้วประกาศยกเลิกเลยก็ได้ แล้วมีธรรมนูญการปกครองแทน เหมือนสมัย พล.อ.สุจินดา (คราประยูร) มี 19-20 มาตรา โอเคจบ นายกฯ จะเป็นใครก็ได้ เป็นทหารหรือเบื้องบนจะส่งลงมาก็แล้วแต่ จากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับไปเลย ใช้เวลาอีก 1-2 ปีแล้วก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ อันนี้ก็ย้อนยุคไปสมัยสุจินดา ทำมา 14 ปียังเหมือนเดิม ถ้าตอนนั้นผมมีลูก ลูกอยู่มัธยมแล้วประเทศไทยยังเหมือนเดิม ซึ่งมันก็จะเป็น Pattern เดียวกับหลัง 14 ตุลาเหมือนกัน 20-30 ปีก็ยังเหมือนเดิม ร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่นั่นแหละ รัฐธรรมนูญดีแต่ได้นายกฯ ไม่เป็นที่พอใจก็ฉีกมันทิ้งเลย

แล้วทางออกควรจะเป็นยังไง
ผมก็ไม่รู้ ไม่มีทางออก แต่ดูแล้วนายกฯ ทักษิณคงอยู่ยาก ถ้าท่านไม่ยอมออกเกาะเก้าอี้แน่น ยอมตายคาเก้าอี้ ก็อาจจะมีเลือกตั้ง แต่เลือกตั้งมาแล้วสภามีพรรคเดียว มันก็คงถูกมองว่าเป็นสภาโจ๊ก แล้วจะถูกด่า ถูกต่อต้านไปอีกยาว ปกครองยาก ทำงานไม่ได้

แต่จริงๆ มันมี 2 step คือ stepแรก จะถึงวันที่ 2 เมษารึเปล่า ระหว่างนี้จะถูกยึดอำนาจ หรือนายกฯ ทักษิณถูกเรียกเข้าไปข้างในแล้วบอกให้ลาออกรึเปล่า 19 ล้านเสียงไม่มีความหมายหรอกถ้า 1 เสียงบอกให้ไปเถอะ แล้วก็มีนายกฯ รักษาการ ถ้าไม่ล้มกระดานก็อาจใช้วิธีเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก 30 วัน แล้วพรรคฝ่ายค้านกลับมาลงเลือกตั้ง มันก็จะไปได้

แต่ผมดูแล้วมีแนวโน้มจะล้มกระดานสูง เพราะตอนนี้ทุกคนจะเอานายกฯ พระราชทานหมดแล้วนี่ ทุกคนเรียกร้องให้ฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว แม้กระทั่งหมอเสม (พริ้งพวงแก้ว) หมอประเวศ (วะสี) ระพี สาคริก พวกที่เคยบอกว่ารักประชาธิปไตย พวกที่เคยเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ม็อบก็ใช่ สนธิก็ใช่ จำลองก็ใช่ เรียกร้องจะเอานายกฯ พระราชทาน ตอนนี้คนที่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอยู่คนเดียวคือ คุณทักษิณ

คงฉีกรัฐธรรมนูญแน่ ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง อาจจะไม่ใช่ทหารปฏิวัติ แต่เป็นงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อันนี้ก็จะย้อนหลังไปปี 2476 เลย ถ้าอ่านประวัติศาสตร์จะเห็น นายกรัฐมนตรีคนแรก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา มีปัญหากับสภา สั่งปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและไม่บอกมาตราไหนด้วย ปกครองแบบนั้นอยู่เป็นปี จนเกิดปฏิวัติขึ้นมาโดยพระยาพหลฯ แล้วพระยามโนปกรณ์ฯ ต้องหนีไปอยู่มาเลเซีย

พวกนี้เกลียดทักษิณ จะเอาออกให้ได้ โดยไม่ดูว่า กติกามันมีรึเปล่า ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งก็ได้ เอานายกฯ พระราชทานก็ได้ แต่ขอโทษที ต้องรบกวนเบื้องสูงอยู่เรื่อย ไม่อายกันบ้างรึไง พัฒนาการเมืองมาตั้ง 40-50 ปี แก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ทุกที ประชาชนไทยเหมือนเด็ก 3 ขวบ ทะเลาะกัน ชกกัน แล้วแก้ไม่ได้ ร้องไห้บอกพ่อลงมาช่วยห้ามมวยด้วย ร้องหาพ่อทุกที กฎกติกามีก็ไม่ทำตาม พ่อก็ต้องลงมาช่วยทุกที

อาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ก็พูดประเด็นนี้ว่า ถึงที่สุดแล้วในการต่อต้านทักษิณนี้มันจะทำลายระบบ และไปสู่นายกฯ พระราชาทาน ซึ่งก็มีบางส่วนของสังคม หรือแม้แต่บางส่วนของกลุ่มพันธมิตรเองก็ตามที่ไม่อยากไปสู่จุดนั้น แต่มันไม่มีทางออก ช่องทางมันปิดหมด ขณะที่สถานการณ์ก็ไปไกลเกินกว่าจะถอย
ก็คุณเล่นเกมยังไง เล่นจนจะพัง ถ้าฉีกรัฐธรรมนูญ หรืองดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราก็ต้องอยู่ในสภาพนี้อย่างน้อยปีหนึ่ง แล้วแก้รัฐธรรมนูญออกมาแล้วก็ไม่รู้จะเลวลงหรือเปล่า

 

มองในแง่ดีกระบวนการภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวได้สร้างความตื่นตัวทางการเมืองครั้งใหญ่ให้สังคมอีกครั้ง มันอาจจะช่วยให้การเมืองไทยพัฒนาไปอีกขั้น?
ผมว่ามันกำลังทำลายแล้วฉีกรัฐธรรมนูญอย่างนี้ จะเอารัฐบาลพระราชทาน ถึงขนาดให้มีทหารออกมา ใช่ไหม หรือคุณจะเถียงอีก ไอ้พวกนี้อยากให้ทหารปฏิวัติยึดอำนาจ แล้วเอารัฐบาลพระราชทาน

แต่มันมีหลายสายภายใต้กลุ่มเดียว ไม่เป็นเอกภาพ
ก็นั่นแหละ แล้วมันจะรวมกันอยู่ได้ยังไง แล้วถ้าใครจะเอาทหารออกมาปฏิวัติ เป็นเผด็จการ คุณก็ต้องไล่มันออก จะไปร่วมกับมันทำไม
 

ก่อนที่ทุกอย่างจะถึงจุดนี้ ตอนที่คัดค้านกันแรกๆ ก็เพียงเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เพราะประเด็นปัญหา "จริยธรรม" แต่นายกฯ ก็ไม่ออก อาจารย์มองประเด็นจริยธรรมยังไง
มันเป็นแค่เกมการเมือง ย้อนถามว่าไอ้พวกที่พูดมันมีจริยธรรมสักแค่ไหน

อาจารย์มองว่ามันคือเกมการเมือง
เกมการเมืองเท่านั้นเอง เล่นตรงนี้เพราะเห็นตรงนี้เป็นจุดอ่อน คุณหมายถึงพรรคฝ่ายค้านใช่ไหม หรือฝ่ายต่อต้าน
 

หมายถึงทั้งหมดทุกฝ่ายที่ชูประเด็นจริยธรรม กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ตัดสินจริยธรรมผู้นำ ผู้นำจำเป็นต้องมีจริยธรรมไม่ใช่หรือ
ไม่มีจริยธรรมยังไง ไม่เสียภาษีใช่ไหม ก็กฎหมายมันเปิดช่อง ก็ไปแก้กฎหมายสิว่า ต่อไปนี้ซื้อขายหุ้นโดยส่วนบุคคลมีกำไรต้องเสียภาษี อันที่จริงกฎหมายนี้ผมก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ที่ขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี ค้านไปตั้งแต่แรกแล้ว มันดันออกมา แต่นี่เป็นกฎหมายที่ปล่อยกันมาตั้งนานแล้ว และคนอื่นเขาซื้อขายกันมาตั้งเยอะโดยที่ไม่เสียภาษีเลย มากกว่านี้ด้วยซ้ำ มือถือที่ถูกซื้อไปแล้วก็คือ ดีแทค โดยบริษัทเทเลนอร์ของนอร์เวย์ วิธีการเหมือนกันเลย ทำไมไม่เห็นต่อต้าน นั่นก็สัมปทานขององค์การสื่อสารของประเทศไทย แต่คราวนี้ทำไมต่อต้านกันจัง กลัวทุนสิงคโปร์ไม่กลัวทุนนอร์เวย์เหรอ

ฝ่ายต่อต้าน ม็อบลองไปดูบางคนขายหุ้นก็ไม่ได้เสียภาษี หนังสือพิมพ์มติชน บางกอกโพสต์ เดอะเนชั่น อยู่ในตลาดหุ้น คนที่ถือหุ้นพวกนี้ขายหุ้นได้กำไรก็ไม่ได้เสียภาษีเหมือนกัน นี่คือช่องโหว่ของกฎหมาย

แต่นายกฯ ไปใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเลี่ยงการจ่ายภาษี ซึ่งมันก็แย่ ผมรู้สึกว่ามันแย่ มันก็เป็นจุดพลาดของแก ผมว่าแกก็แย่ จริงๆ ไม่มีความจำเป็นต้องไปหลบเลี่ยงภาษีเลย ให้ตายเถอะ ถึงหักภาษีแล้วก็ยังรวยเละ แกไม่น่าทำ ไม่น่าเลี่ยงภาษีอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งด่าตรงนี้ มันโอเค

แล้วการแก้กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม คนที่ตั้งเรื่องแก้ก็คือรัฐบาลชวน คนเสนอให้แก้ก็คือ บริษัทเอกชน 4-5 แห่งที่เขาต้องการเพิ่มทุน แล้วมันก็ยืดเยื้อมาจนรัฐบาลนี้
 

แก้สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติจาก 25% เป็น 49% น่ะหรือ
ใช่

แสดงว่าอาจารย์ไม่ได้มองเหมือนคนอื่นๆ มองว่ามันเป็นการแก้กระชั้นชิดเพื่อรองรับธุรกรรมของนายกฯ
คนที่ต่อต้านมันก็จับแพะชนแกะ แล้วก็ออกมาในรูปนี้ คุณต้องมองภาพทั้งหมด ต้องรู้ประวัติแล้วก็จะรู้เองว่าเหตุการณ์ที่ออกมาเป็นการเอาเหตุการณ์ต่างๆ มาปะติดปะต่อเป็นเรื่องขึ้นมา แต่ถ้าเอาข้อมูลมายันกันนะ มันก็ตกเกือบหมด

แต่ประเด็นเรื่องแทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงวุฒิสภา อันนี้ต้องด่ามากๆ ต้องช่วยกันด่า เพื่ออะไร เพื่อให้มันพัฒนา ให้รู้ว่าวุฒิสภาควรเป็นอิสระจากการเมืองระดับหนึ่ง เพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหาร ตรวจสอบสภาผู้แทนราษฎรไปในตัวด้วย แต่จะบอกว่าคุณแทรกแซงแล้วต้องออกไปเลย มันไม่ได้ เหตุผลมันไม่พอ

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน เป็นประชาธิปัตย์ ผมก็เชื่อว่าเขาจะแทรกแซงวุฒิสภา เพราะมันเป็นการเมือง

ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่เอื้อ
ด้วยธรรมชาติของนักการเมือง เพราะมันไม่อยากให้ใครเอาไฟมาส่อง เพราะส่องแล้วกินข้าวไม่สะดวก เพราะฉะนั้นต่อให้ไม่ใช่รัฐบาลทักษิณมันก็ต้องแทรกแซง

ถ้าอย่างนั้นขอข้ามไปประเด็นเศรษฐกิจ อาจารย์ช่วยวิเคราะห์การดำเนินนโยบายของรัฐบาลทักษิณหน่อยว่าที่ผ่านมามันเป็นยังไง
รัฐบาลคุณทักษิณก็มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า จะให้ประเทศไทยเจริญไปในระดับเดียวกับสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน แล้ววิธีการที่เขาจะทำก็คือ การเปิดเสรีการค้า การลงทุน ผ่าน WTO, FTA  แล้วก็ปรับโครงสร้างต่างๆ เปิดตลาดให้การแข่งขันจากต่างประเทศเข้ามา แล้วการแข่งขันจะบีบให้ผู้ประกอบการไทยต้องถีบตัวเอง

ในแง่นี้พอเปลี่ยนมันก็จะค้าขายได้มากขึ้น ส่งออกได้มากขึ้น มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วคุณทักษิณก็ โฟกัสอยู่ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นตัวตัดสินว่าประเทศไทยเจริญหรือไม่

อย่างนี้ก็เข้ากับ concept ของอาจารย์ว่ามันคือทุนนิยมที่พัฒนาแล้วหรือเปล่า
ทุนนิยมที่เจริญแล้วมันต้องมีอย่างอื่นด้วย มันไม่ใช่มีจีดีพีเยอะๆ อย่างเดียว มันต้องมีกระบวนการเสริมอื่นๆ ด้วย ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ คือ เมกะโปรเจกต์ที่จะทำอยู่ ต้องยกเครื่องใหม่หมด ระบบรถไฟฟ้า ถนนหนทาง สนามบิน ท่าเรือ มันจะเจริญไม่ได้ถ้าไม่มีของพวกนี้ ระบบกฎหมาย ระบบภาษี ภาษีนำเข้าสูงมากก็ต้องทยอยลด การส่งออกที่มันติดกฎเกณฑ์สารพัดอย่าง การลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามา การจ่ายใต้โต๊ะต้องมีน้อยหรือไม่มี แล้วกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยกระดับขึ้น ที่มีมูลค่าต่ำก็ต้องขยายไปสู่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น

ถ้าวิชั่นทางเศรษฐกิจชัดเจนแบบนี้ แต่ระบบการบริหาร การเมืองมีปัญหาผูกขาดอย่างที่เห็น มันจะไปกันได้ไหม มันจะผลักดันไปสู่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่พัฒนาแล้วอย่างที่อาจารย์ว่าได้หรือ
การเมืองที่ยังมีปัญหาอยู่ขณะนี้ คือมีวุฒิสภาที่ยังไม่สมประกอบ องค์กรอิสระยังไม่ทำงานเต็มที่อย่างที่บอก  และที่สำคัญคือ คนยังไม่เข้าใจยุทธศาสตร์พวกนี้ 

แต่โครงสร้างทางการเมืองกับเหตุการณ์ทางการเมืองคนละอันกันนะ โครงสร้างทางการเมืองในภาพรวมตามรัฐธรรมนูญนี้ ผมว่า 90% โอเคนะ หมายถึง โครงสร้าง วิธีการปฏิบัติ หลักกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ตั้งแต่การเลือก ขึ้นไปถึงศาล ถึงสภา ผมว่าโอเคแล้วกับการพัฒนาทุนนิยม  มันติดปัญหาอยู่ 5-10% ก็มาแก้กันที่องค์กรอิสระ ที่วุฒิสภา

แต่การเล่นหรือการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโลกาภิวัตน์อย่างแน่นอน
 

แสดงว่าอาจารย์มองว่า การจะไปสู่โลกาภิวัตน์หรือไม่นี้ขึ้นอยู่ที่ตัวทักษิณเลยหรือ
เอาอย่างนี้ ถ้าคุณเอาทักษิณออกจะมีใครทำอีก หรือต่อให้มีคนใหม่ขึ้นมา ใครจะกล้าทำอย่างนี้อีก ถ้าทำแล้วถูกต่อต้าน เปิดเอฟทีเอ ดับเบิลยูทีโอ เพิ่มสัดส่วนให้ต่างชาติถือหุ้นได้ ถูกด่าว่าขายชาติหมด ใครจะกล้าทำอีก

อาจารย์มองว่ามันเป็นไม่ได้ที่จะไม่เอาเรื่องเหล่านี้
ก็ต้องถามคนที่ต่อต้านว่า คุณเชื่อว่ามันเป็นไปได้หรือเปล่าล่ะ แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็อาจจะได้นะ คุณจะอยู่อย่างนี้ก็ได้ แต่คุณก็เป็นฟิลิปปินส์ เป็นพม่า มันไม่มีใครที่ไม่เอาโลกาภิวัตน์แล้วจะอดตาย มันไม่ถึงขนาดนั้น แต่คุณก็จะอยู่อย่างด้อยพัฒนา แล้วตอนนี้มันมีคำพูดในหมู่คนต่างชาติที่ผมรู้จักกันแล้วว่า TPI

ประเทศไทย TPI ไม่ใช่ TPI ของคุณประชัย (เลี่ยวไพรัตน์) นะ แต่เวลาพูดถึงเอเชีย พูดถึงอาเซียนจะมี 3 ประเทศ TPI คือ Thailand Philippines Indonesia เขาจัดประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้

นั่นคือทิศทางสังคมไทยจะเอาหรือไม่เอาโลกาภิวัตน์

แต่ถ้าพูดถึงพลังทางการเมืองของสังคมที่กำลังสู้กันอยู่  มันเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นล่าง คนในชนบทฝ่ายหนึ่ง กับพวกชนชั้นนำในเมืองทั้งหมดอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่พวกจารีตนิยม พวกนายทุนเก่า ชนชั้นกลางที่มีการศึกษา นักศึกษา นักวิชาการ ประเด็นคือ เอาหรือไม่เอาทักษิณ

สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะ 3-5 ปีก็คืออันนี้ ชนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากสูญเสียสถานภาพ สูญเสียอำนาจมาโดยตลอด พวกจารีตนิยมก็ถูกลดความสำคัญลง กลุ่มทุนเก่าผูกขาดก็เสียผลประโยชน์จากการเปิดเสรี FTA กลุ่มนักวิชาการ เทคโนแครต ก็เสียสถานภาพ ถูกกด จากเมื่อก่อนนี้สมัยประชาธิปัตย์ รัฐบาลตัวจริงคือ เทคโนแครต นักการเมืองก็ต้องถามท่านปลัดมีเรื่องอะไรให้ทำมั่ง คนบริหารประเทศคือ ปลัดกระทรวงกับอธิบดี มาถึงสมัยนี้ พวกนี้ถูกทำลายอำนาจไปหมด ถ้าไม่ทำตามปลดออก ย้ายออก ย้ายข้ามกระทรวงยังได้ เมื่อก่อนย้ายข้ามกระทรวงต้องฆ่ากันตาย นักวิชาการก็กลายเป็นแค่คนสอนหนังสือ ไม่มีราคาเลย จากที่เคยเป็นที่ยอมรับของนักการเมือง กลุ่มมุ้งการเมืองรุ่นเก่า สมัยก่อนมีอำนาจมาก เพราะพรรคการเมืองเล็ก มีหลายพรรค ฉะนั้น ที่ทักษิณทำมาตลอด 5 ปีคนในเมืองเสียทั้งนั้น

กลุ่มเหล่านี้เสียประโยชน์จากการเมืองใหม่ที่เปิดช่องให้ประชาชนระดับล่างได้เลือกนายกฯ โดยตรงผ่านปาร์ตี้ลิสต์ คุณดูพรรคการเมือง ดูปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 คือใคร ก็เท่ากับเลือกนายกฯ แล้วใบเลือกตั้งปาร์ตี้ลิสต์กับ ส.ส.เขตก็กาแยกกัน ฉะนั้น นายกฯ คนนี้จึงเป็นคนที่มาจากเสียงของคนข้างมากทั่วประเทศ แล้วนายกฯ คนนี้เขาเข้ามาก็เอาประโยชน์ไปให้คนชั้นล่าง แต่ประโยชน์จะยืนยาวหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งโครงการเอื้ออาทร กองทุนหมู่บ้าน เงินกู้ ต่างๆ คนชั้นล่างได้ประโยชน์เป็นครั้งแรก แต่เขาจะหายจนหรือเปล่า มันอีกเรื่อง

แล้วอาจารย์มองยังไง
คนอาจจะมองในแง่ของคนในเมืองก็ได้ เฮ้ย มันเป็นการติดสินบนซื้อใจ หลอกชาวบ้านให้มาเลือก แต่ถ้าคุณมองจากมุมชาวบ้าน พวกอยู่ในชนบท ชนชั้นล่างในเมือง ไม่เคยมีอำนาจอะไรเลย ถูกตำรวจรังแกตลอด ถูกคนรวย คนชั้นกลางกดหัวมาตลอด ไปสถานที่ราชการก็ถูกกดหัวมาตลอด พรรคการเมืองมาให้ประโยชน์ก็ตอนเลือกตั้ง แจกเงิน จะเอาลูกเข้าโรงเรียน ไม่มีเงินก็ต้องไปขอ ส.ส. ชีวิตแทบจะไม่มีอะไรเลย

ระยะเวลา 30 40 ปี 60 ปี ที่ผ่านมาชาวบ้านอยู่อย่างนี้ ไม่เคยได้อะไร แต่อยู่ๆ ปุ๊บก็มีกองทุนหมู่บ้านเข้ามาแล้ว มี 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ก่อนนี้เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลรัฐ รอตั้งแต่เช้าถึงเย็น ค่ายาทุกบาทคุณต้องออกเอง ร้อย สองร้อย ห้าร้อย คนชั้นกลางอย่างเรา มันไม่ใช้หรอก  โหย มันแย่ มันห่วย เราไม่จำเป็นต้องใช้เราก็เลยไม่เห็นความสำคัญ

คนในเมืองมันไม่เคยเข้าใจคนชั้นล่าง ที่ชีวิตมัน ขอโทษนะ "โคตรทุกข์" ชาวบ้านข้างล่าง ไม่มีอะไรประกันเลย เจ็บป่วย การศึกษา ทำมาหากินอะไรก็ไม่ได้ แต่แล้วมาวันนี้ 5 ปีมานี้ ทักษิณก็ให้เขา 30 บาทรักษาทุกโรค พักชำระหนี้ ให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย บ้านเอื้ออาทร เป็นครั้งแรกที่เขาได้
 

แต่มีความกังวลไม่น้อยเลยว่า เขาบอกว่าในระยะยาวการเปิดเสรี หรือการผลักดันประเทศไปสู่โลกาภิวัตน์ สุดท้ายแล้วมันจะย้อนกลับมาทำร้ายคนรากหญ้า
นี่คือความเข้าใจผิด อันนี้เป็นสิ่งที่กลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์อ้างมาตลอดว่า โลกาภิวัตน์ทำร้ายคนจน

จริงๆ ไม่ใช่
มันจะทำร้ายหรือไม่ทำร้าย ขึ้นอยู่กับการบริหารของรัฐบาล ไม่ใช่การค้าเสรีอย่างเดียว ตัวทุนนิยมเอง capitalism หรือโลกาภิวัตน์ มันไม่เห็นแก่หน้าคนจนหรือคนรวย นี่คือสิ่งที่คนไม่เข้าใจธาตุแท้ของทุนนิยม ไม่ได้ไปอ่านเศรษฐศาสตร์การเมืองจริงๆ

แต่ว่าคนรวยมีอำนาจ มีโอกาสในการเข้าถึงทุกอย่างมากกว่า
มันไม่เกี่ยวหรอก คุณกำลังพูดถึงทุนนิยมโลกาภิวัตน์สิครับ ไม่ใช่ทุนนิยมผูกขาด ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันกันนี่นะ คนที่จะอยู่ได้ คนที่จะรวยได้มันต้องเก่ง มันต้องลดต้นทุน ผลิตสินค้ามีคุณภาพ มันถึงจะครองตลาดได้ ถ้าใครมาทำได้มันก็ได้ไป ดังนั้น ต่อให้คุณเป็นทุนใหญ่ ต้นทุนคุณแพง สินค้าคุณห่วย แล้วรัฐบาลไม่คุ้มครองนะมันเจ๊ง เดี๋ยวรายใหม่ก็เข้ามา

ธาตุแท้ของทุนนิยมมันไม่เห็นแก่หน้าใคร เพราะเหตุนี้มันจึงมีการเพิ่มการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพสินค้า ประเทศที่มันเจริญแล้วมันจึงรวยขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันมีการแข่งขัน รายเก่าไป รายใหม่มา 20-30 ปีที่แล้วบริษัทคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดคือ ไอบีเอ็ม แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะมันมีการแข่งขัน

ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ว่า พอมีการพัฒนามีการแข่งขัน นายทุนคนชนะก็รวย คนแพ้มันก็เจ๊ง ทีนี้รวยแล้วทำยังไง รวยแล้วก็ต้องกระจายความรวยให้คนอื่น นี่คือหน้าที่ของการเมือง

โลกาภิวัตน์ และระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ไม่มีหน้าที่ และมันไม่ต้องการที่จะกระจายความรวย มันมีหน้าที่สร้างความรวย แต่คนที่จะเอาความรวยนี้ไปกระจายให้คนอื่นคือรัฐบาล รัฐบาลต้องจัดเก็บภาษี ต้องจัดระบบต่างๆ ที่ทำให้คนรวยนั้นแบ่งมาให้คนอื่นอย่างถูกกฎหมาย

ประเทศอื่นเขาไปกับโลกาภิวัตน์แล้ว ทำไมเขาไม่เห็นต้องกลัวว่าคนจนประเทศเขาจะต้องซวย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายก็คือ เมื่อเปิดตลาดโลกาภิวัตน์ขึ้นมาแล้ว มีทุนนิยมขึ้นมาแล้ว รัฐบาลมันห่วย ถูกครอบงำด้วยคนไม่กี่ตระกูล ก็ไม่กระจายความรวย คนก็ต้องไปด่ามัน ไปด่ารัฐบาล ด่านักการเมือง ไม่ใช่ไปด่าโลกาภิวัตน์

ถ้าคุณไม่เอาโลกาภิวัตน์ ไม่เอาการค้า ไม่เอาต่างชาติ คุณไม่มีทรัพย์สินจะเอามาแจก คุณไม่มีความรวยไปแจก คุณต้องสร้างความรวยก่อน แล้วเอาไปแจก นี่คุณเล่นไม่ทำอะไรเลย

ระบบสังคมนิยมมันเจ๊งเพราะอะไรรู้ไหม มันไม่ได้ผลิตอะไร พอไม่ได้ผลิตอะไร มันไม่มีรายได้ พอไม่มีรายได้ทุกคนก็จนเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นคุณต้องสร้างมันขึ้นมาก่อน แล้วหาวิธีการที่จะกระจาย ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ทำไมไม่ออกวะประเทศไทย เราไม่กล้าออกเพราะมันกระทบคนรวย

 

....................................................................................

สัมภาษณ์ รศ.ดร. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
9,10 มีนาคม 2549

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท