Skip to main content
sharethis

โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ผมได้เสนอว่า ในระยะ 10 ปีเศษ ที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรากฏตัวขึ้นของ กลุ่มปัญญาชน ซึ่งผลิตงานทางภูมิปัญญา-วัฒนธรรมในรูปต่างๆ ที่แชร์ประเด็นทางภูมิปัญญา ชุดหนึ่งร่วมกัน อย่างน่าสังเกต

ผมเรียกปัญญาชนกลุ่มนี้ว่า "ปัญญาชน 14 ตุลา" คือผู้ที่เกิดระหว่าง ต้นทศวรรษ 2480/1940 ถึงปลายทศวรรษ 2490/1950 เพราะพวกเขาผ่านประสบการณ์ทางการเมืองสังคมร่วมกันที่สำคัญ ที่มีผลต่อความคิดของพวกเขาอย่างลึกซึ้ง ในช่วง "14 ตุลา" (ประมาณ 2515-2525 คือช่วงที่พวกเขาอายุระหว่าง ต้น-กลาง 30 ถึง กลาง 20)

ผมเสนอต่อไปว่า แม้ว่าปัญญาชนกลุ่มนี้ จะเริ่มต้นอย่างมีความหลากหลายอย่างยิ่ง คือ ตั้งแต่จุดยืน ความคิดทางเมือง จาก "ขวาสุด" ถึง "ซ้ายสุด" แต่สิ่งที่น่าสังเกตและน่าสนใจ คือ ในระยะ 10 ปีเศษ ที่ผ่านมา พวกเขาได้ค่อยๆหันมาแชร์ประเด็นสำคัญทางความคิดการเมือง-สังคมร่วมกัน จนกลายเป็นระดับที่เรียกได้ว่า "ฉันทามติ" (consensus) โดยที่ "ฉันทามติ" นี้ ตั้งอยู่บนประเด็น (themes) ใหญ่ 3 ประเด็น คือ

(1) การคืนดีกับสถาบันกษัตริย์ (reconciliation with the monarchy)
(2) การปฏิเสธ การเมืองแบบเลือกตั้ง (electoral politics หรือในคำของเกษียร เตชะพีระ "เลือกตั้งธิปไตย" "นักเลือกตั้ง")
(3) "ชาตินิยม", "ท้องถิ่นนิยม", "ชาวบ้านนิยม" (nationalism-populism) คือ ไอเดียเกี่ยวกับ "ภูมิปัญญาชาวบ้าน", "ภาคประชาชน"


ทั้ง 3 ประเด็น (themes) นี้ อธิบายซึ่งกันและกัน, สนับสนุนซึ่งกันและกัน และเป็นเงื่อนไขให้กันและกัน จนเกิดเป็นภูมิปัญญา หรือ "จิตวิญญาณร่วมสมัย" (zeit geist) ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง

งานเขียนและการแสดงออกของปัญญาชนชั้นนำ จากนิธิ เอียวศรีวงศ์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ถึง ธีรยุทธ บุญมี เกษียร เตชะพีระ ฯลฯ ไม่ว่าจะมีความหลากหลายในเรื่องรูปธรรมอย่างไร ได้ตอกย้ำถึง "ประเด็น" และ ภูมิปัญญา ชุดนี้

จนตลอด 10 กว่าปีนี้ ได้สะสมกันเป็น "กองทุนทางภูมิปัญญา" (intellectual funds) ที่ใหญ่โต มหาศาล

การชุมนุมรณรงค์ต่อต้านทักษิณครั้งนี้ ในแง่ภูมิปัญญา เกิดขึ้น และดำเนินไป โดยอาศัยการ "ถอน" หรือ "ยืม" จาก "กองทุนทางภูมิปัญญา" นี้ และนำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ ในลักษณะเป็น "สามัญสำนึก" (COMMON sense) เป็นข้อโจมตีรัฐบาล, ข้อเรียกร้อง, การโฆษณา ฯลฯ แต่ทั้งหมด จะเห็นว่า วนเวียนอยู่กับ "ประเด็น" (themes) เหล่านี้ทั้งสิ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net