Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 29 มี.ค.2549  ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย  (ทีดีอาร์ไอ) ได้นำเสนอการประเมิน "ผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายทักษิณ" ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นการส่วนตัวโดยคณะนักวิจัย ได้แก่ อัมมาร สยามวาลา, สมชัย จิตสุชน, สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์, ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์, จิราภรณ์ แผลงประพันธ์


 


"ขอย้ำ 500 ทีว่างานนี้เป็นงานที่  5-6 คนที่เดินชนกันที่ทีดีอาร์ไอกุเรื่องขึ้นมา คือ เป็นอุบัติเหตุทางชีวิตการงานของเรา ไม่เกี่ยวกับสถาบัน และการวิเคราะห์นี้ประเมินผลกระทบเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่นับรวมถึงประเด็นสังคม การเมือง" ดร.อัมมารกล่าว


 


ดร.สมชัย จิตสุชน กล่าวว่า งานวิเคราะห์นี้ไม่ต้องการจะบอกว่ารัฐบาลทำผิด หากแต่ต้องการตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเด่นของนโยบายทักษิณในด้านเศรษฐกิที่คนส่วนใหญ่ "รู้สึก" ว่าประสบความสำเร็จนั้นจริงหรือไม่ โดยแบ่งเป็น 5 ประเด็น


 


ในประเด็นแรกเรื่องการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเคลื่อนไหวของดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ ดร.สมชัย ระบุว่า การที่ประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤตปี 2540 นั้น นอกจากเป็นเพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณแล้ว ต้องยกประโยชน์ให้กับความมีเสถียรภาพก่อนหน้าที่รัฐบาลทักษิณจะเข้ามาบริหารด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน นับว่าประเทศไทยถือว่าฟื้นตัวได้ช้ารองจากอันดับสุดท้าย คือ อินโดนีเซีย


 


คำถามต่อมาคือ หลังจากหลุดพ้นวิกฤตแล้ว รัฐบาลบริหารประเทศจนเศรษฐกิจรุ่งเรืองกว่าในอดีต หรือเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ ในส่วนนี้ดร.สมชัยระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าการบริหารของรัฐบาลนี้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวกว่าปกติ โดย 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านเพียง 0.5-1% และส่วนใหญ่จะเติบโตดีในช่วง 3 ปีแรกเท่านั้น ขณะที่ทั้งเรื่องไข้หวัดนกและสึนามิสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียง 0.35% ของจีดีพี ไม่ได้มากอย่างที่หลายฝ่ายคาด


 


"การกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากการฟื้นตัวโดยธรรมชาติ รัฐบาลชวนก็ทำได้ แต่เขาเคลมเครดิตไม่ได้ ขณะที่รัฐบาลทักษิณทำได้ดีมาก ส่วนนิทานเรื่อง Dual Track (นโยบายเศรษฐกิจทวิวิถี) นั้นเป็นมิติใหม่ เขาเลือกที่จะอัดฉีดเงินในส่วนที่มีผลต่อคะแนนเสียงได้มากที่สุด" ดร.อัมมาร กล่าวเสริม


 


ดร.สมชัย กล่าวต่อถึงทฤษฎี Dual Track ที่รัฐบาลประกาศตั้งแต่แรกว่า เป็นวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับทั้งการเติบโตภายในประเทศ (การบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ) และปัจจัยภายนอก (การส่งออก) แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลกลับไม่ได้ดำเนินการในนโยบายนี้อย่างจริงจัง ทำให้ในช่วงก่อนหน้ากับช่วงที่รัฐบาลทักษิณประกาศใช้นโยบายนี้ไม่ได้สร้างผลแตกต่างกันเลย


 


"ประเด็นสำคัญของ Dual Track คือ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และขจัดการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์" ดร.สมชัยกล่าว


 


อย่างไรก็ตาม ดร.อัมมารตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า เหตุที่การวิเคราะห์ข้อมูลของนโยบาย Dual Track ไม่มีการเปรียบเทียบระหว่างรากหญ้ากับภาคธุรกิจนั้นเพราะข้อมูลระดับบน ที่รัฐให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนรวยนั้นขาดความโปร่งใส และไม่ค่อยเปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้ทำการวิจัยในรายละเอียดได้ยาก


 


ในขณะที่ผลงานด้านตลาดหลักทรัพย์นั้น ดร.สมชัย ระบุว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยดีเด่นกว่าประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่ตกต่ำกว่าประเทศอื่นในวิกฤตปี 2540 ถึง 30% จากนั้นสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นจนทดแทนได้หมดสิ้น


 


ประเด็นที่สองเรื่องความโปร่งใสในการบริหารเศรษฐกิจ:กรณีศึกษาหุ้นกลุ่มชิน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นำเสนอว่า รัฐบาลมีนโยบาบและมาตราการหลายอย่างที่ให้ประโยชน์เฉพาะเจาะจงต่อธุรกิจที่ใกล้ชิดผู้นำ ซึ่งทำให้หลักทรัพย์ของชินคอร์ฯ ซึ่งถือครองโดยกลุ่มชินวัตรและดามาพงศ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยรวม 41,258 ล้านบาท จนสามารถขายให้แก่นักลงทุนต่างชาติได้ในราคา 73,000 ล้านบาทในปีนี้ ตัวอย่างนโยบายเหล่านั้นได้แก่ การออก พรก.ภาษีสรรพสามิตลดค่าสัมปทานแก่เอไอเอสและกลุ่มธุรกิจเดียวกัน, การส่งเสริมการลงทุนโดยยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีให้แก่ชินแซท, การไม่เปิดเสรีโทรคมนาคมในการเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ)


 


ประเด็นที่สามประชานิยมกรณี 30 บาทรักษาทุกโรค ดร.อัมมาร กล่าวว่า ต้องชื่นชมที่อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลที่ก็ได้ทำให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่สามามรถปฏิเสธเรื่องนี้ได้ หากแต่รัฐบาลทักษิณเตรียมงานค่อนข้างจำกัด และเจียดงบประมาณมาให้โครงการนี้น้อยมากไม่เพียงต่อความต้องการของประชาชน เป็นการผลักภาระและปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับหน่วยราชการ โดยปีแรกให้เงินเพิ่มจากงบประมาณปี 2544 (ก่อนเริ่มโครงการ) เพียง 7.8% เท่านั้นและไม่ได้เพิ่มงบให้ตามสัญญามาหลายปีแล้ว ดังนั้น คำถามคือ ทำไมรัฐบาลปล่อยให้นโยบายซึ่งคนส่วนใหญ่ชื่นชมนี้เป็นเหมือนลูกกำพร้าไม่ได้รับการเอาใจใส่


 


"ผมสันนิษฐานว่า มันเป็นเพราะรัฐบาลได้ประโยชน์จากคะแนนนิยมไปแล้วในช่วง 1-2 ปีแรก การเติมเงินเข้าใจในส่วนที่ขาดอยู่อย่างมาก จะไม่ได้คะแนนเสียงเพิ่มมากเท่ากับการมีของเล่นใหม่ๆ โครงการใหม่ๆ" ดร.อัมมารกล่าว


 


ประเด็นที่สี่ ประชานิยมกรณีกองทุนหมู่บ้านและจดทะเบียนคนจน ดร.สมชัย กล่าวว่า การศึกษานี้ใช้ข้อมูลใหม่ที่เก็บตัวอย่างรายรับรายจ่ายครัวเรือนอย่างละเอียด พบว่า นโยบายนี้ประสบความสำเร็จพอสมควรในการเข้าถึงกลุ่มผู้มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์เงินกู้กองทุน แต่ยังมีปัญหาการกู้ยืมซ้ำซ้อน และไม่ทั่วถึง ทำให้ไม่เกิดสภาพกองทุนหมุนเวียน ขณะที่การประเมินรายได้และการลดรายจ่ายดอกเบี้ยของประชาชนนั้น พบว่ามิได้มีผลทำให้รายได้ของผู้กู้เพิ่มสูงกว่าผู้มิได้กู้เงินจากกองทุนอย่างมีนัยสำคัญ


 


"ที่สำคัญ ข้อมูลการจดทะเบียนคนจนมีปัญหาเรื่องความสมบูรณ์และแม่นยำ เพราะมีคนจนกว่าร้อยละ 70 ที่มิได้จดทะเบียน และผู้จดทะเบียนร้อยละ 85 ไม่ใช่คนจน ตรงนี้อาจทำให้เกิดปัญหาการละเลยคนจนที่แท้จริง" ดร.สมชัยกล่าว


 


 ประเด็นสุดท้าย ประชานิยมกรณีการพักชำระหนี้ 3 ปี ดร.อัมมารกล่าวว่า ในส่วนนี้เป็นการรวบรวมงานวิจัยต่างๆ ที่มีผู้ทำมาในเวลาต่อเนื่อง ได้ข้อสรุปว่า การพักชำระหนี้ไม่มีผลตามที่คาดไว้ว่าจะกระตุ้นให้เกษตรกรใช้จ่ายเพื่อการบริโภคหรือการลงทุนมากขึ้น ทำให้ไม่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเป้าหมายการลดภาระหนี้เกษตรกรที่เชื่อกันว่ามีมากเกินไปนั้น นโยบายพักชำระหนี้ไม่มีผลแต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการเลื่อนเวลาชำระคืนเท่านั้น นอกจากนี้รัฐบาลยังขยายหนี้ให้กับประชาชนด้วย เพราะขณะที่พักชำระหนี้ ธกส. รัฐบาลกลับแจกสินเชื่อในโครงการอื่นๆ อีกมากมาย


 


ดร.อัมมาร สรุปสุดท้ายเกี่ยวกับประชานิยมว่า "โมเมนตัมที่มีอยู่มันหมดแล้ว ใน 2 ปีสุดท้ายจึงเกิดปัญหาหลายอย่าง แต่ต้องยอมรับว่าช่วงแรกเขาเก่งมากที่กะการณ์ได้ถูกว่าประเทศโดยรวมมีกำลังการผลิต และเงินเหลือมาก เขายอมใช้จ่ายเงินจำนวนมากได้ และไม่เป็นภาระต่องบประมาณเท่าไร ส่วนภาระหนี้ต่างๆ ก็ไปซุกที่จุดอื่น หน่วยงานอื่น"


 


ส่วนดร.สมชัย ระบุว่า นโยบายประชานิยมนั้นโดยตัวมันเองจะมีระยะเวลาจำกัด ไม่สามารถไปได้ไกล ไม่เช่นนั้นทุกประเทศในโลกนี้คงใช้นโยบายนี้กันหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มองว่าประชานิยมจะเลวร้ายเสียทั้งหมด หากเปลี่ยนรูปแบบนิดหน่อยก็อาจจะดีขึ้น เช่น ในละตินอเมริการบางประเทศ ใช้เงินน้อยลง และเพิ่มเงื่อนไขการได้เงินของรัฐให้มากขึ้นพร้อมกับมีระบบตรวจสอบที่เข้มงวด เช่น จะกู้เงินรัฐได้ต้องส่งลูกเรียนหนังสือ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net