เตรียมทวงคืนปตท. เมษานี้

ประชาไท—31 มี.ค.2549 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม เวลา 13.30น. องค์กรผู้บริโภค กลุ่มพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ ร่วมแถลงการณ์ แนวทางการดำเนินคดีฟ้องร้องเพื่อนำปตท. กลับคืนสู่ความเป็นสมบัติของประชาชน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายต่างๆ จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกา ทั้ง 2 ฉบับ ที่ใช้ในการแปลงสภาพ ปตท. ภายในเดือนเมษายนนี้

 

โดยเหตุผลที่จะยื่นฟ้อง เนื่องจากพบว่า 1.มีผลประโยชน์ทับซ้อนในบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อย่างรุนแรง และปรากฏให้เห็นชัดเจนว่ามีกลุ่มทุนไม่กี่ตระกูลได้รับผลประโยชน์ จากการนำ ปตท.แปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทั้งก่อนแปรรูปและหลังแปรรูปแล้ว ดังนั้น การฟ้องร้องปตท. และการสืบสวนข้อเท็จจริงในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูล เส้นสายโยงใย ความทับซ้อนกับธุรกิจการเมืองและระบอบทักษิณ ที่ครอบงำสังคมไทยมาตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี

 

2.ปตท.ทำผิดเงื่อนไขต่อผู้บริโภคหลายประการ โดยเฉพาะการยังคงอำนาจในการผูกขาดท่อก๊าซและการไม่มีองค์กรกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการแปรรูปเพราะต้องซื้อก๊าซที่ผูกขาดราคาแพง รวมถึงก๊าซหุงต้มที่แพงขึ้นเกือบสองเท่า เช่น ก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม ปรับราคาจาก 150 บาทเป็น 300 บาท เป็นต้น ถือเป็นการสร้างภาระให้ผู้บริโภคและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกครัวเรือน และเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย

         

3.ปตท.ไม่ได้มีท่าทีว่าจะดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวนและมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้เห็นได้จากการให้ข่าวที่อ้างว่า หากมีการแยกท่อก๊าซปตท. ต้องรับภาระภาษีมากกว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่กำไรของ ปตท.ในรอบปีที่ผ่านมาสูงถึง 83,000 ล้านบาท หรือนี่เป็นนิสัยถาวรของระบอบทักษิณที่ไม่ยอมจ่ายภาษี

 

4.ข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่า หากฟ้องกรณีปตท.จะเป็นการทำลายเศรษฐกิจ หากย้อนกลับไปดูกรณี กฟผ.ที่มูลนิธิฯ ได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 48 ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินชี้ชัดว่าไม่ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหาย กลับทำให้นักลงทุนกล้ามาลงทุนมากขึ้นเพราะประเทศไทยมีหลักธรรมาภิบาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการแปรรูปปตท.ได้ทำลายหลักธรรมาภิบาลไปมาก โดยเฉพาะการขายหุ้นหมดภายในเวลา 1 นาที 17 วินาที

 

คำพิพากษาให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกา ทั้ง 2 ฉบับ ของศาลปกครองสะท้อนให้เห็นความเป็นอิสระของอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการที่ชัดเจนซึ่งยิ่งเพิ่มเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น จึงคิดว่า การฟ้องครั้งนี้มีความสำคัญมาก หากกลับไปดูจะเห็นว่าทรัพย์สินของ ปตท.ขณะนี้มีกำไรถึง 183,000 ล้านบาท ที่เกิดจากมูลค่าหุ้นที่นำไปขายในตลาดหลักทรัพย์ที่วันแรกมีราคาเพียง 35 บาท ต่อมามีราคาสูงถึง 215 บาท ซึ่งกำไรตรงนี้สามารถนำไปทำโครงการ 30 บาทได้ 3 ปีหรือทำกิจการที่เกี่ยวกับบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานได้อีกมาก เพราะฉะนั้นการฟ้องครั้งนี้จึงจำเป็น

 

ทั้งนี้ คนที่จะร่วมฟ้องจะเป็นผู้ใหญ่ที่สังคมให้การยอมรับ รวมทั้งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ โดยจะพยายามฟ้องให้มีความรอบด้านมากที่สุด ฟ้องครบทุกประเด็นมากกว่ากรณี กฟผ.

 

ย้ำเอาปตท.คืนประชาชน-จับตาผลประโยชน์ทับซ้อน มนู-วิเศษ

ด้านนางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึง ปตท.คือ การที่จะต้องเอาอำนาจรัฐ อำนาจมหาชนที่ติดเข้าไปใน ปตท.กลับมาให้ได้ เหมือนกรณี กฟผ.ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ปตท.ไม่มีใครสามารถสร้างความสั่นสะเทือน

 

การที่บอกจะแยกระบบท่อส่งก๊าซก็ไม่ได้ดำเนินการ แต่เมื่อเย็นวันก่อน ผู้บริหาร ปตท. ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะแยกท่อส่งก๊าซ แต่ตีความได้ว่า คงจะตั้งบริษัทลูกขึ้นมา ซึ่งเป็นเพียงขายผ้าเอาหน้ารอดไปเท่านั้น และกิจการท่อก็จะเป็นเพียงบริษัทในเครือของ ปตท.

 

ขณะนี้ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าจะตั้งบริษัทลูกหรือไม่ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าการลิดรอนสิทธิก็ยังคงมีต่อไป ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ปตท. คงจะมีลักษณะคล้ายกับ กฟผ.เราต้องการดึงอำนาจมหาชน อำนาจรัฐ กิจการผูกขาดที่ควรเป็นของรัฐ ของประชาชนกลับมา ไม่ใช่แค่ตั้งบริษัทลูก หรืออนาคตจะมีการตั้งองค์กรกำกับกิจการก๊าซ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

 

มีบุคคล 2 คนน่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการแปรรูป ปตท. คือ นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท. และนายมนู ก็รับหุ้น ปตท.และยังเป็นประธานของบมจ. ปตท.อีก จึงไม่แน่ใจว่ามีผลประโยชน์ขัดกับกฎหมายหรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจระบุว่า กรรมการเตรียมการจัดตั้งจะต้องไม่รับหุ้นที่เกี่ยวข้องภายใน 3 ปี

อีกคนคือ นายวิเศษ จูภิบาล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตผู้ว่าการ ปตท.ในช่วงที่มีการแปรรูป ปตท. และเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ก็ต้องตีความตามกฎหมายว่า การพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แล้ว ยังถือหุ้นได้อยู่ไหม

 

พบ "โอฬาร" โยงใย 3 ธุรกิจ

นางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า จากการที่ศาลปกครองชี้ว่า นายโอฬาร ไชยประวัติ มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างชินคอร์ปและกฟผ. จึงเป็นบรรทัดฐานให้เข้าไปตรวจสอบความเชื่อมโยงในตำแหน่งอื่นๆ พบว่า นายโอฬาร ไชยประวัติ มีตำแหน่งใน 3 ธุรกิจ คือ พลังงาน การเงิน และสายการบิน

 

โดยนายโอฬาร เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ.ชินคอร์ป ตั้งแต่ ปี 2541 เป็นทั้งกรรมการบริหาร ปตท.และเป็นกรรมการในการเตรียมการจัดตั้งบมจ. กฟผ.ในช่วงปี 2546 และในปีต่อมา ก็เป็นกรรมการในบริษัทไทยออยล์ที่ ปตท.ถือหุ้นใหญ่ และทั้งยังเป็นรองประธานกลุ่มชินคอร์ปอีกด้วย

 

ในกลุ่มสายการบิน เป็นกรรมการในการบินไทยและแอร์เอเชียซึ่งเป็นบริษัทลูกของชินคอร์ป ซึ่งจะพบว่าการบินไทยยกเลิกเส้นทางการบินที่ทำรายได้หลายเส้นทางยกให้กับแอร์เอเชีย

 

กลุ่มการเงิน นายโอฬารเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ที่ปล่อยกู้ให้กลุ่มเทมาเส็ก ที่เข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ป และธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้นในบริษัทกุหลาบแก้วซึ่งเข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ป 9.9% ซึ่งไม่ถึง 10% จึงไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท