ทบทวนฐานคิด ประชาธิปไตยไทย

นับวันยิ่งดูเหมือนว่า "ประชาธิปไตย" ที่ถือเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดของโลก กำลังถูกทำให้เหลือเพียงแค่การเลือกตั้ง ผู้รักประชาธิปไตยต้องไปเลือกตั้ง ที่เหลือนอกจากนั้นเป็นเรื่องของผู้แทน ประชาชนอยู่เฉย ๆ ทำตามกฎ กติกา กฎหมายที่ตัวแทนจะเสกสรรกันออกมา


 

จิตวิญญาณแห่งการเคารพ เชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ รับฟังเหตุรับฟังผล การอยู่ร่วมกันอย่างผู้ใหญ่ และการแสดงสปิริต เมื่อมีการละเมิดกฎของประชาธิปไตย ไม่มีให้พบเห็นเลยในระบบการเมืองการปกครองไทยในปัจจุบัน

 

ประเทศไทยรับประชาธิปไตยมาจากตะวันตกมา 74 ปี นับว่ายาวนานพอควรแต่ยังไม่ได้ลงรากฝังลึกเข้าไปถึงจิตวิญญาณของประชาธิปไตย เพียงแค่เปลือกรูปแบบภายนอกง่าย ๆ ก็ยังไปไม่ถึงเลย

 

คำถามก็คือว่าการรับประชาธิปไตยแบบลอกมาใช้ทั้งดุ้นไม่ได้ผล แล้วเราจะร่วมกันสร้างสรรค์ระบบการเมืองที่ดีที่เหมาะกับสังคมไทย ที่หยั่งรากอยู่ในวิถีชีวิตของพลเมืองไทยได้อย่างไร?

 

ต้องยอมรับว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้กันมาทุกวันนี้ เป็นเรื่องของคนจำนวนน้อยที่คิดแล้วนำไปใช้บังคับกับคนจำนวนมาก ถ้าจะให้ชาวบ้านเข้าใจก็ต้องมีโครงการอบรม เผยแพร่ประชาธิปไตยบ้าง กฎหมายบ้าง ทุ่มเททุ่มทุนกันมามากมายก็ยังได้แค่ที่เห็นอยู่ วิธีทำงานแบบบนลงล่าง (Top Down) นับเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีความจำกัดอย่างยิ่ง

 

หากลองเริ่มย้อนทบทวนกันใหม่ โดยเทียบเคียงกับเรื่องเกษตรพอเพียง เดิมชุมชนไทยทำเกษตรพอเพียง พึ่งตนเองมาโดยตลอด แต่พอประเทศพัฒนามาถึงยุคหนึ่งก็บอกว่าเกษตรพึ่งตนเองนั้นไม่ทันสมัย ได้ผลผลิตน้อย ล้าหลังทางเทคโนโลยี จึงต้องมีนโยบายพัฒนาเกษตรแผนใหม่

 

ทั้งมีโครงการฝึกอบรม การส่งเสริมเกษตรแผนใหม่ ส่งเสริมใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกันจนเต็มท้องทุ่ง มีเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตสูงขึ้น ปลูกขายเพิ่มรายได้มากขึ้น แต่ก็มีปัญหาผลกระทบอื่น ๆ ตามมา อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หนี้สินมากมาย ฯลฯ ในช่วงหลังจึงมีการศึกษาความรู้เกษตรพอเพียง ฟื้นฟูและพัฒนาภูมิปัญญา  ที่เป็นมรดกจากบรรพชนโดยปราชญ์ชาวบ้านมากมายทั่วประเทศ จนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับกันมากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีกรณีคล้าย ๆ กันอีกหลายเรื่อง ที่เป็นการฟื้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมให้มีพลังในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังมีกรณีคล้าย ๆ กันอีกหลายเรื่องที่เป็นการฟื้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม ให้มีพลังในการพัฒนาประเทศ เช่น ป่าชุมชน หมอพื้นบ้าน สมุนไพร หัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น

 

เช่นเดียวกัน ลองหันมามองทุนทางสังคมในเรื่องของการเมือง เรื่องของประชาธิปไตยที่อยู่ในวิถีชีวิตสังคมไทยดูบ้าง

 

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ร่วมกับองค์กรภาคีได้จัดเวทีสังคมสนทนาว่าด้วยเรื่อง "การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้นำชุมชนทั้ง 4 ภูมิภาคได้นำเสนอองค์ความรู้ในการจัดการท้องถิ่นไว้น่าสนใจ

 

มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของสังคมท้องถิ่นหลายแห่งในภูมิภาคต่าง ๆ ผู้อาวุโส ผู้นำได้ตั้งวงพูดคุยกันถึงความแตกแยก ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น มีการหาเสียงโจมตีกันไปกันมา ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้ ทุ่มทุนเงินทองกันมากมาย บางแห่งถึงขั้นฆ่าแกงกัน พอผลออกมาฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายแพ้ก็ไม่ร่วมมือ คอยจับผิด จับจ้องโจมตีอยู่ตลอดเวลา

 

ผลเสียทั้งหมดตกอยู่ที่ชาวบ้าน นอกจากไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว ความขัดแย้งส่งผลให้ความเป็นญาติพี่น้องแตกแยก ในชุมชนก็แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย เมื่อตกอยู่ในสภาพนี้ สังคมท้องถิ่นยิ่งอ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ

 

ผู้เฒ่าผู้แก่พูดคุยกันถึงความแตกแยกของลูกหลานด้วยความห่วงใย ผู้นำ พ่อบ้าน แม่บ้าน เยาวชน ครูบาอาจารย์ตลอดจนถึงพระสงฆ์องค์เจ้า พูดคุยกันทั้งวงเล็ก วงใหญ่ ทั้งวงทางการ และไม่ทางการ บ่นกันไปบ่นกันมา ปรารภกันไม่เว้นแต่ละวัน

 

เมื่อการเลือกตั้งผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นใกล้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำจากกลุ่มต่าง ๆ จึงมาพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อที่จะป้องกันปัญหาความแตกแยก และร่วมหาทางสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น

 

แทนที่จะปล่อยให้แต่ละคนลงสมัครแบบตัวใครตัวมัน และชาวบ้านก็ไปลงคะแนนเลือกแบบตัวใครตัวมันอย่างที่ผ่านมาทุกครั้ง ก็เปลี่ยนมาเริ่มด้วยการเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำจากทุกกลุ่มมาพูดคุยปรึกษาหารือกันได้ว่าผู้นำที่ทุกคนต้องการมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ในหลายแห่งจะกำหนดออกมาใกล้เคียงกัน อาทิ เป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสาธารณะ ช่วยงานส่วนรวมมาโดยตลอด มีความซื่อสัตย์ ทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ มีความรู้ความสามารถ และมีข้อปลีกย่อยอื่น ๆ ออกไปอีก เช่น ครอบครัวมีความพร้อม ยอมรับคำวิจารณ์ได้ หากไม่สามารถทำตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ต้องพิจารณาตนเอง

 

เมื่อได้คุณสมบัติของผู้นำที่ทุกฝ่ายยอมรับแล้ว จึงมาช่วยกันดูว่าใครมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ได้คุยกันมาและมีความเหมาะสม บางท้องถิ่นมีความเห็นเป็นเอกภาพ เห็นพ้องต้องกันว่ามีคนเดียวที่เหมาะสม แต่บางท้องถิ่นอาจมีหลายคนที่มีคุณสมบัติ ก็ต้องช่วยกันพิจารณาหาคนที่เหมาะสมที่สุด ช่วงนี้จะมีการคุยกันแล้วคุยกันอีกเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมพิจารณาจนมั่นใจ  จนกระทั่งเป็นฉันทามติ จากนั้นก็จะให้ผู้อาวุโสหรือตัวแทนชุมชนไปทาบทามเชื้อเชิญบุคคลที่ทุกคนเห็นชอบนั้นขึ้นมาเป็นผู้นำโดยไม่ต้องมีการแข่งขันในการเลือกตั้ง

 

วิธีนี้เป็นวิธีการเลือกผู้นำแบบเดิมของสังคม ชุมชนไทย ที่ไม่มีการแข่งขัน ซึ่งในปัจจุบันท้องถิ่นที่ใช้วิธีการแบบนี้ได้นั้น ต้องมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม มีความเป็นเครือญาติสูง หรือผู้นำของทุกกลุ่มมีการทำงานร่วมกันต่อเนื่อง มีการพบปะพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ

 

ด้วยกระบวนการที่ชุมชนร่วมกันเลือกสรรนี้ จะได้ผู้นำที่ดี และชุมชนก็จะสนับสนุนการทำงานของผู้นำอย่างเต็มที่ มีการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครองท้องที่และองค์กรปกครองท้องถิ่น แม้ในองค์กรปกครองท้องถิ่นก็มีการทำงานร่วมกันอย่างดีระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายสภานิติบัญญัติ

 

มีบางท้องถิ่นที่ไม่ได้ใช้การสรรหาแล้วเชื้อเชิญขึ้นเป็นผู้นำอย่างวิธีแรก แต่ยังคงจัดให้มีการเลือกตั้งแบบปกติ โดยผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนพยายามพูดคุยให้ทุกคนที่ลงสมัคร ใช้วิธีการหาเสียงที่สร้างสรรค์ เน้นการนำเสนอวิสัยทัศน์ นโยบายในการพัฒนาท้องถิ่น เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ขอให้มาทำงานร่วมกันต่อไป

 

บางท้องถิ่น ในช่วงเลือกตั้งมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่พอหลังการเลือกตั้ง กลุ่มผู้นำต่าง ๆ จะช่วยกันสานสัมพันธ์ของทุกคนให้คืนดีดังเดิมและทำงานร่วมกัน

 

จากการสรุปบทเรียนร่วมกับองค์กรท้องถิ่นทั้ง ๔ ภูมิภาคจะพบปัจจัย เงื่อนไข ที่เอื้อให้เกิดความเข้มแข็งของประชาธิปไตยรากหญ้าหลายปัจจัยด้วยกัน

 

 

ทุนทางวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ทางสังคม ยังมีความเข้มแข็ง กลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันเช่น กลุ่มวัฒนธรรมภูไท ชาวปกาเกอะญอ ฯลฯ หรือมีประวัติศาสตร์ในการต่อสู้ร่วมกัน เช่น การต่อสู้เพื่อรักษาป่าชุมชนร่วมกัน หรือมีฐานความเป็นเครือญาติเดียวกัน เป็นต้น ทุนทางสังคมวัฒนธรรมถูกปลุกให้มารับใช้การอยู่ร่วมกันในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

สภาผู้นำท้องถิ่น มีการเชื่อมโยงผู้นำ กลุ่ม ที่มีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น ผู้อาวุโส ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์กรปกครองท้องถิ่น พระสงฆ์ ครู ผู้นำสตรี ผู้นำเยาวชน ผู้นำกลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเรียกชื่อกันหลากหลาย เช่น บางแห่งใช้กลไกศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนตำบล (ศอชต.) บางแห่งใช้เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน บางแห่งใช้สภาผู้นำ เป็นต้น  กลไกสภาผู้นำท้องถิ่นนี้ มีการพบปะพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ปรึกษาหารือกันในทุกปัญหา ทุกเรื่องราวของชุมชนท้องถิ่น ทั้งวงที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นเวทีในการสร้างข้อตกลงร่วมในการแก้ปัญหาและสร้างความสมานฉันท์ในท้องถิ่น

 

กระบวนการมีส่วนร่วม  เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กลุ่มผู้นำเน้นให้เกิดขึ้นในการทำงานร่วมกันอย่างทั่วถึง มีเวทีการวิเคราะห์ปัญหาของแต่ละหมู่บ้าน การวางแผนชุมชน แล้วนำมาสู่แผนของตำบล กระบวนการมีส่วนร่วมนี้เองที่ป้องกันผู้นำคิดเองทำเอง ด้วยวิธีการทำงานจากบนลงล่าง ซึ่งในที่สุดมักไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชน  พอชุมชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง การทำงานจึงสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชน

 

การกระจายประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม  ไม่มีการเลือกที่รัก มักที่ชัง ไม่ให้การสนับสนุนงบประมาณกระจุกตัว แต่กระจายไปอย่างทั่วถึง ไม่เอาประโยชน์เข้าตน พวกพ้อง พี่น้องตัวเอง ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาที่แท้จริงของท้องถิ่น

 

ไม่อยู่ภายใต้สังกัดกลุ่มการเมืองใด หรือผู้มีอิทธิพล  การเลือกตั้งที่แข่งขันกัน ดุเดือด เลือดพล่าน ส่วนสำคัญมาจากการหนุนนำของนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลภายนอก การเลือกตั้งในท้องถิ่นจึงเป็นสงครามตัวแทนของภายนอก จึงทำให้ชุมชนต่อสู้กันจนแตกสะบั้น ปัจจัยข้อนี้ผู้นำทุกฝ่ายย้ำหนักย้ำหนาว่า ผู้นำท้องถิ่นต้องไม่อยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของกลุ่มคนภายนอก เพราะจะทำให้ต้องฟังคนภายนอกแล้วไม่ฟังเสียงชาวบ้าน นอกจากนั้นยังไม่สามารถประสานงานกับกลุ่มอื่น ๆ ได้ นอกเหนือจากกลุ่มที่ผู้นำมีสังกัด

 

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของผู้นำมากกว่าข้อใดคือ การมีคุณธรรม จริยธรรม ทำงานด้วยจิตสาธารณะ มุ่งทำงานเพื่อท้องถิ่น เพื่อส่วนรวม เมื่อผู้นำมีจิตใจที่ดีแล้ว พลังความร่วมมือร่วมใจของทุกคน ทุกฝ่ายจะเข้ามาสนับสนุนการทำงานพัฒนาท้องถิ่นให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

ความรู้ ความสามารถ นั่นก็มีความสำคัญ เพราะในสถานการณ์ที่สังคมท้องถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสัมพันธ์กับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างมาก จึงต้องการผู้นำที่ใฝ่เรียนรู้ มีความเข้าใจทั้งท้องถิ่นและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ตลอดจนมีความรู้ในการจัดการบริหาร และสามารถประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

 

ปัจจัยที่เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมสมานฉันท์ ที่มาจากบทเรียนของท้องถิ่นทั้ง ๔ ภูมิภาคนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ในการคิดค้นสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่มาจากฐานรากเพื่อคลี่คลายสถานการณ์การเมืองไทยที่วิกฤตอยู่ในขณะนี้ได้ไม่มากก็น้อย

 

ชัชวาลย์  ทองดีเลิศ

วิทยาลัยการจัดการทางสังคม

ข่าวประชาธรรม

           

           

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท