Skip to main content
sharethis

ประชาไท--31 มี.ค. 2549 เยาวชน "ตาสับปะรด" ขอทิ้งบัตรประชาชนคืนสิทธิที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยกลับไป พ้อผู้ใหญ่ไม่ฟังเสียงเด็กดีแต่ทะเลาะกัน และไม่ทำตัวอย่างให้เด็กเห็นว่าประชาธิปไตยคืออะไร


 


นางสาวน้ำค้าง คำแดง จากศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม หรือขบวนการตาสับปะรด อายุ 19 ปี กล่าวถึงสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองผ่านสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ด้วยปากเสียงสั่นน้ำตาคลอว่า "หนูไม่มั่นใจเลยว่าถ้าหนูกาในบัตรเลือกตั้งไปแล้วจะมีการโกงหรือไม่ มันเป็นสิทธิเราจริงหรือไม่ ถ้าอย่างนั้น บัตรประชาชนก็ไม่มีประโยชน์แล้ว จะเลือกตั้งไปทำไม การเลือกตั้งครั้งนี้มันเป็นการคลายความอึดอัดมากกว่า ไม่ใช่ทางออก ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ทำตัวอย่างให้เห็นเลยว่าอะไรคือประชาธิปไตย "


 


น.ส.น้ำค้าง กล่าวด้วยว่า รอที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เพราะพ่อสอนตั้งแต่เด็กๆว่าให้ดูคนที่มาเลือกตั้งไว้เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำลายสิทธิของเราในอนาคต และศรัทธาในการเลือกตั้งมาโดยตลอดถ้าไม่เกิดเหตุการณ์อย่างทุกวันนี้ก็คงไปเลือกตั้ง เพราะเป็นครั้งแรกหลังจากที่รอมาตลอด


 


แต่ตอนนี้มองว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เคยเข้าใจว่าเป็นการรับฟังเสียงส่วนใหญ่แต่เสียงส่วนน้อยก็มีค่า ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ต้องสนใจด้วยเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทุกคนควรมีความสุขกับระบบนี้ ส่วนการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือหนึ่งของประชาธิปไตยแต่ไม่ใช่ทั้งหมด และความขัดแย้งมีไปทั่วกลายเป็นเลือกตั้งแล้วทำให้หัวใจหายไป


 


"สิทธิต่างๆจากการเลือกตั้งเหมือนการหลอกกัน เช่นถ้าไม่ไปเลือกตั้งจะไม่ได้สิทธิในการรักษา 30 บาท หรือหมดสิทธิในทางการเมือง แต่พอไปเลือกครั้งใหม่สิทธิก็กลับมาอยู่ดี "


 


ส่วนน.ส.อริศรา แสงศิริวิวัฒน์ อายุ 20 ปี กล่าวว่าได้เข้าไปทำการสำรวจในที่ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่ารักชาติไหม ทุกคนตอบว่ารักชาติ แต่เมื่อถามว่าต้องทำอย่างไรจึงเรียกว่ารักก็ตอบไม่ได้ว่าต้องทำอย่างไร


 


"ไม่เข้าใจว่าไปประท้วงหรือไปเลือกตั้งคือการรักชาติ เพราะฝั่งหนึ่งก็ว่ารักชาติต้องไปม็อบสิ อีกฝั่งบอกว่าถ้ารักชาติต้องไปเลือกตั้งแต่หลังเลือกตั้งก็ไม่เคยมีสิทธิอะไรจากประชาธิปไตยแบบนี้เลยหนูพูดอะไรไม่ได้ หน้าที่หนูคือไปกากบาทแค่นั้นหรือ"


 


น.ส.อริศรากล่าวอีกว่า ทั้งอึดอัดและเครียดที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันเพราะความคิดที่รักชาติต่างกัน ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเคยเสนอไปแล้วว่าให้ผู้ใหญ่หันหน้ามาคุยกันแต่ก็ไม่คุย อยากถามว่าทำอะไรกันอยู่ บอกแต่ว่าให้ไปเลือกตั้งแต่ไม่เคยสอนให้เข้าใจอะไรเลย


 


ด้านนายจุลศักดิ์ แก้วกาญจนะ อายุ 19 ปี ก็กล่าวเสริมว่าประชาธิปไตยที่เข้าใจต้องเกิดสันติในทุกกระบวนการ ไม่ใช่การประท้วงกัน เด็กก็กำลังซึมซับกระบวนการ แต่ไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร และรับความสับสนตลอดเวลาจนไม่อยากสนเรื่องการเมืองแล้ว เพราะประชาธิปไตยทำให้สับสนว่าคือการม็อบหรือการทำให้รู้ว่าจบที่คูหาเลือกตั้ง


 


นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ ผู้อำนวยการกระบวนการตาสับปะรด สรุปว่า เด็กกำลังซึมซับมรดกการทะเลาะกัน และยืนยันว่าเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่เป็นสิทธิช่นกันที่จะคืนสิทธิเพราะมองว่าไม่ใช่ประชาธิปไตย เนื่องจากบางพื้นที่เริ่มมีการซื้อบัตรแล้ว หรือบางพื้นที่ก็บอกว่าหากไม่ไปเลือกจะเสียสิทธิ์ต่างๆ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะออกหนังสือ 108 วิธีโกงเลือกตั้ง ดังนั้นถ้าประชาธิปไตยยังเป็นแบบนี้ก็เลือกที่จะคืนบัตรประชาชนกลับไปและยอมรับในการเสียสิทธิทุกอย่าง


 


จากนั้นทั้งหมดได้นำบัตรประจำตัวประชาชนไปหย่อนลงในตู้ไปรษณีย์จำลองที่เตรียมมาให้สื่อมวลชนได้ถ่ายภาพ ก่อนจะนำบัตรทั้งหมดไปหย่อนในตู้ไปรษณีย์จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net