เปิดรายงาน "สุวัจน์" ฟื้นเกาะพีพีส่งท้าย ครม.แม้ว

นายณัฐวุฒิ แก่นทอง ผู้ประกอบการบนเกาะพีพี เปิดเผยว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2549 ตนได้รับสำเนาหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่งถึงนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ที่ นร 0505/ว (ล) 2972 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2549 เรื่องรายงานการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ลงชื่อนายธไนวัล เภาพิจิตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานสารสนเทศ ปฎิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุว่านายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549

 

สำหรับเนื้อหารายงานต่อคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ ปรากฏตามหนังสือรายงานการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติเกาะพีพี ถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0100.17/1234 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 ลงนามโดยนายสุวัจน์ ซึ่งระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 มอบหมายให้นายสุวัจน์เป็นเจ้าภาพให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรณีพิบัติจังหวัดกระบี่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2548 ปรากฏผลการดำเนินการในการฟื้นฟูเกาะพีพี ดังนี้

 

1. การก่อสร้างบ้านพักถาวรให้แก่ผู้ประสบภัย 216 หลัง มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จะก่อสร้างให้ โดยแยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง 50 หลัง ให้มูลนิธิศุภนิมิตฯ จัดส่งแผนที่ก่อสร้างให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ตรวจสอบว่า อยู่ในระยะถอยร่น หรือเส้นทางเพื่อความปลอดภัย และส่งแบบบ้านให้องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง และสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดกระบี่ตรวจสอบ หากที่ดินราษฎรรายใดไม่ขัดกับแบบขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก็ให้มูลนิธิศุภนิมิตดำเนินการก่อสร้างได้เลย ส่วนกรณีไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง จำนวน 166 หลัง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธืช สำรวจและขอใช้ที่ดิน 20 ไร่ ในเขตพื้นที่ป่า พ.ศ. 2484 จัดสร้างให้ แทนพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีความยุ่งยากในการใช้พื้นที่ตามกฎหมายมากกว่า

 

2. การก่อสร้างท่าเทียบเรือเกาะพีพี วงเงินงบประมาณ 138 ล้านบาท ได้มอบให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี รับไปศึกษาออกแบบและทบทวนการก่อสร้างท่าเทียบเรือเกาะพีพี ตามความเห็นของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเร่งรัดให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ชำนาญการ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยด่วน

 

3. การก่อสร้างโรงพยาบาลเกาะพีพี ให้ดำเนินการก่อสร้างและซ่อมแซมโรงพยาบาล ในสถานที่เดิมตามที่ได้รับงบประมาณ สำหรับโรงพยาบาลแห่งใหม่ ให้ดำเนินการในภายหลังต่อไป

 

4. การก่อสร้างโรงเรียน เห็นชอบให้มีการปรับเปลี่ยนแผนผังการก่อสร้างโรงเรียนใหม่ โดยมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากระบี่ ประสานงานกับกดรมโยธาธิการและผังเมือง ในเรื่องสถานที่ก่อสร้างแบบแปลนและวิธีดำเนินการ

 

5. การก่อสร้างระบบไฟฟ้า วงเงินงบประมาณ 620 ล้านบาท เห็นชอแบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดเก็บอัตราค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงกว่าปกติ จนกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน หลังจากนั้นให้จัดเก็บในอัตราปกติ โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเร่งนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

 

6. การก่อสร้างระบบประปา วงเงินงบประมาณ 181 ล้านบาท (ระบบ Reverse Osmosis) เห็นชอบให้การประแส่วนภูมิภาคเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด และให้การประปาส่วนภูมิภาคจัดเก็บอัตราค่าน้ำประปาในอัตราที่สูงกว่าอัตราปกติ จนกว่าจะคุ้มทุน หลังจากนั้นให้จัดเก็บในอัตราปกติ โดยให้การประปาส่วนภูมิภาคเร่งนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

 

7. ระบบบำบัดน้ำเสีย รัฐบาลเดนมาร์กให้งบประมาณดำเนินการ 28 ล้านบาทเศษ โดยองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ

 

8. การกำหนดเส้นทางหนีภัย 11 เส้นทาง แต่ละเส้นทางมีความกว้างไม่น้อยกว่า 5 เมตร ได้มอบหมายให้เจ้าพนยักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ทำการรังวัดแนวเขตทางให้ชัดเจน โดยบางเส้นทางเจ้าของที่ดินจะไม่ขอรับเงินค่าชดเชยจากรัฐ แต่ยินยอมให้ใช้เป็นเส้นทางหนึภัย และก่อสร้างระบบท่อสาธารณูปโภค สาธารณูปการใต้เส้นทางหนีภัยได้ ทั้งนี้ ทางจังหวัดกระบี่ได้หารือว่า กรณีเจ้าของที่ดินไม่ยกกรรมสิทธิ์ให้กับรัฐ รัฐสามารถก่อสร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่

 

9. การกำหนดระยะแนวถอยร่น เห็นชอบในหลักการให้ปรับระยะแนวถอยร่นจาก 30 เมตร ตามประกาศของกรมโยธาธิการและผังเมือง มาเป็นระยะแนวถอยร่น 20 เมตร ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้นำข้อเสนอของบริษัทที่ปรึกษา บริษัท โมดัส คอนซัลแทนส์ จำกัด ที่ได้กำหนดระยะถอยร่นตามสภาพข้อเท็จจริงมาใช้ โดยเห็นชอบให้ใช้ค่าน้ำขึ้นเต็มที่ปานกลาง หน้าน้ำเกิด ซึ่งหมายถึงค่าเฉลี่ยน้ำขึ้นเต็มที่ขณะน้ำเกิด (ช่วงใกล้ขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ) ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นค่าระดับน้ำทะเลสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติบริเวณเกาะพีพี เพื่อใช้เก็บข้อมูลในการกำหนดระยะแนวถอยร่น

 

10. การกำหนดความสูงของอาคาร และการใช้ประโยชน์พื้นที่ ซึ่งเดิมกำหนดให้อาคารมีความสูงไม่เกิน 9 เมตร และระยะถัดไปกำหนดความสูงเป็น 12 และ 16 เมตรตามลำดับ กำหนดการใช้ประโยชน์ต่อพื้นที่ว่าง 25 : 75 แต่เนื่องจากต่อไปจะต้องก่อสร้างอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อรองรับการเกิดธรณีพิบัติ ความสูงของอาคารจึงควรปรับให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โดยสูงไม่เกิน 12 เมตร และเพิ่มพื้นที่การใช้ประโยชน์ต่อพื้นที่ว่างเป็น 40 : 60 และ 50 : 50 ตามลำดับ โดยจังหวัดกระบี่ได้มอบหมายให้บริษัท โมดัส คอนซัลแทนส์ จำกัด รับไปศึกษา และนำเสนอขอความเห็นชอบอีกครั้ง

 

11. ปัญหาการจัดทำแผนแม่บทฟื้นฟูและพัฒนาหมู่เกาะพีพี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ได้มอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นเจ้าภาพดำเนินการบูรณาการการฟื้นฟู พัฒนาเกาะพีพีแทนหน่วยงานต่างๆ นั้น ปรากฏว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะราษฎรไม่ไว้วางใจเกรงว่า ผลจากการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พ.ศ.2546 จะทำให้เกิดการเวนคืนที่ดิน การจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งได้เร่งรัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำความเข้าใจกับราษฎรโดยด่วนแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท