พม่าเร่งเสริมประสิทธิภาพกองทัพโดยเสนอซื้ออาวุธรัสเซียเพิ่ม

S.H.A.N. (7/4/06) - เมื่อวันที่ 4 - 5 เมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าว DVB/Irrawaddy/Xinhua รายงานว่า พลเอกรองอาวุโสหม่องเอ รองประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC ของพม่าพร้อมคณะรวมกว่า 60 คน ได้เดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 2 - 6 เมษายน 2549 ตามคำเชิญของนายมิคาอิล ฟราดค้อฟ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย

 

ส่วนคณะรัฐมนตรีที่ติดตามไปครั้งนี้ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงปศุสัตว์และการประมง โดยได้ขึ้นเครื่องบินที่สนามบินเอลา ในเมืองเปียนมะนา แตกต่างจากการเดินทางเยือนต่างประเทศของผู้นำพม่าเมื่อครั้งที่ผ่านๆ มา คือจะขึ้นเครื่องบินที่สนามบินเมงกะลาดอน ในกรุงย่างกุ้ง เป็นส่วนใหญ่

 

หลังจากที่คณะผู้นำของพม่าเดินทางถึงกรุงมอสโค ได้รับการต้อนจากคณะผู้นำรัสเซียอย่างสมเกียรติ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในหลายประเด็น และพม่าได้เจรจาขอซื้ออาวุธต่อต้านอากาศยานจากรัสเซียโดยเสนอแลกเปลี่ยนกับพลังงานเชื้อเพลิงด้วย

 

เมื่อปี 2545 รัสเซียได้ขายเครื่องบินรบสมรรถนะสูงแบบ Mig-29 ให้แก่พม่าแล้ว 10 ลำ รวมมูลค่ากว่า 130 ล้านดอลลาร์ โดยอาวุธต่อสู้อากาศยานที่พม่าได้เสนอซื่อในครั้งนี้ได้แก่ชนิด Tor-M1 และ Buk M1-2 ขณะเดียวกันพม่าได้เสนอซื้อเครื่องบินรบ Mig-29 เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งด้วย

 

หลายฝ่ายได้แสดงความเห็นที่รัสเซียได้หันมาสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพม่านี้ว่า รัสเซียอาจต้องการขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง หลังจากที่ได้หยุดหย่อนมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่อดีตสหภาพโซเวียตล่มสลาย

 

ด้านนายชาน ทุน อดีตเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศจีนกล่าวว่า พม่าอาจต้องการเร่งสร้างความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากได้ถูกสหรัฐ สหภาพยุโรป รวมทั้งอาเซียนกดดันให้มีการปฏิรูปทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

 

นักการทูตในพม่าได้ตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางเยือนรัสเซียของพม่าถือได้ว่าประสบความสำเร็จ เมื่อเทียบกับการเดินทางเยือนจีนของนายกโซวิน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อีกด้านหนึ่งคือพม่าหวังได้รับความช่วยเหลือจากจีนและอินเดียที่ต่างต้องการดึงตนเป็นพันธมิตรมากกว่าที่จะผ่านๆ มา โดยไปคบหากับรัสเซียเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนยังมีรัสเซียที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือตนอยู่ ซึ่งอาจทำให้ทั้งจีนและอินเดียต้องทบทวนไม่น้อยเนื่องจากพม่าเป็นประเทศภูมิศาสตร์และมีทรัพยากรพลังงานเชื้อเพลิงจำนวนมหาศาล

 

นอกจากพม่าได้พยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับจีน อินเดีย และรัสเซียเพื่อหวังเป็นแรงต้านทานอำนาจตะวันตกแล้ว ขณะเดียวกันพม่ายังได้คบหากับเกาหลีเช่นเดียวกัน โดยได้มีการติดต่อกับเกาหลีเหนือเกี่ยวกับโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แลกกับพืชผลผลิตทางการเกษตรด้วย

ด้าน นายไมเคิล กรีน อดีตผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ได้กล่าวในที่ประชุมวุฒิสภาสหรัฐว่า ที่รัฐบาลทหารพม่าได้พยายามสร้างประสิทธิภาพของกองทัพอยู่นี้ ควรติดตามดูความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

 

 --------------------------------------------------------------------------------

ข่าวทั้งหมดแปลและสรุปความโดยสำนักข่าวเชื่อม เป็นหน่วยงานข่าวภาคภาษาไทยของสำนักข่าว S.H.A.N (Shan Herald Agency for News) ซึ่งเป็นเครือข่ายของศูนย์ข่าวสาละวิน (Salween News Network) ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ chuem@cm.ksc.co.th และ snn_news@cm.ksc.co.th พร้อมติดตามอ่านข่าวสารย้อนหลังรวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศพม่าภาคภาษาไทยได้ที่ www.salweennews.org ภาษาอังกฤษได้ที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท