มะรุมมะตุ้มรุมฟ้องศาลปกครอง

ประชาไท—13 เม.ย.2549 เอ็นจีโอ รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ และเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง รุมพึ่งศาลปกครอง ฟ้องกันระนาว ไล่ตั้งแต่ ปตท. องค์การโทรศัพท์ และล่าสุด จาตุรนต์ ฉายแสง ถูกข้าราชการกระทรวงศึกษาฯ ฟ้อง เหตุตำแหน่งไม่ก้าวหน้า

 

"รสนา"ฟ้องแน่ กรณี ปตท.

น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า สหพันธ์ยืนยันที่จะฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดต่อการแปรรูป บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ในเดือนเม.ย.แม้ว่าปตท.จะออกมาประกาศว่าจะแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกมา

 

ขณะนี้สหพันธ์จัดเตรียมประเด็นที่จะยื่นฟ้อง โดยเห็นว่าหากแยกธุรกิจท่อฯ ออกมาควรเป็นของรัฐบาลหรือไม่ประชาชน ไม่ควรให้ปตท.เป็นผู้ถือหุ้น 100% เพราะเป็นกิจการพลังงานที่สำคัญ มีการเวนคืนที่เพื่อวางท่อ และที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่าปตท.คิดค่าผ่านท่อโดยบวกกับราคาก๊าซที่ขายให้ กฟผ.ประมาณ 20 บาทต่อล้านบีทียู แต่ขายให้กับบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือปตท.สผ.เพียง 8 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม

 

การฟ้องร้องปตท. ศึกษาไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นรูปแบบเดียวกับการฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ประกอบด้วยประเด็นว่า การแปรรูปชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สองมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันหรือไม่ และสามทรัพย์สินส่วนกลางที่เป็นของสาธารณะมีการโอนหรือโอนอำนาจให้กับบริษัทหรือไม่ ส่วนอีกรูปแบบนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอีกฝ่ายจะใช้ข้อมูลที่เปิดเผยในการแก้ไขหรือเตรียมแก้ไขประเด็นทางกฎหมายดังกล่าวได้

 

น.ส.สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า การที่ บมจ.ปตท. จะมีการแยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ออกมาดำเนินการในรูปของบริษัทนั้น ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เพราะยังถือเป็นการตบตาประชาชน เนื่องจาก ปตท. ยังคงอำนาจผูกขาดในธุรกิจท่อก๊าซฯ แต่เพียงรายเดียว ทำให้สามารถที่จะกำหนดราคาจำหน่ายก๊าซฯ และไม่ได้ทำให้ราคาก๊าซฯ ถูกลง การแยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ปตท.ควรจะดำเนินการเมื่อ 4 ปีก่อนตามที่หนังสือชี้ชวนการกระจายหุ้นระบุไว้ แต่ที่มาดำเนินการขณะนี้ เนื่องจากเกิดจากการทวงถามจากบรรดาผู้ถือหุ้น

 

ด้าน น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สหพันธ์ฯ ออกมาเคลื่อนไหว เพราะต้องการนำธุรกิจผูกขาดของ ปตท. กลับมาเป็นของประชาชน เนื่องจากธุรกิจท่อก๊าซฯ ก็เหมือนกับสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอำนาจผูกขาด จัดหา ส่วนการตั้งองค์กรกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า ก็ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ไม่ใช่เพียงเสือกระดาษ เหมือนกับคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังพบผลประโยชน์ทับซ้อนใน ปตท. ทำให้ขาดคุณสมบัติของการเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี โดยเฉพาะนายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ปตท. ขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอาจจะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนได้

 

อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ระบุว่า กำลังศึกษาเรื่องจัดตั้งโฮลดิ้งคอมปานี แล้วแยกบริษัทในเครือออกไปเป็นบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 เหมือนกับเครือซิเมนต์ไทยซึ่งหากเห็นว่าเหมาะสมก็จะแยกต่อไปในอนาคต

 

ทีโอที ยื่นฟ้องเลิกแปรรูปคืนสภาพองค์การโทรศัพท์ฯ

ผู้จัดการออนไลน์ อ้างแหล่งข่าวจาก บริษัท ทีโอที ว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา นายชัยพฤกษ์ สิทธิศักดิ์ พนักงานบริษัท ทีโอที กับพวก 11 คนได้ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด คดีดำหมายเลขที่ ฟ.11/2549 มีความประสงค์จะขอฟ้อง สำนักนายกรัฐมนตรี ที่1,นายกรัฐมนตรี ที่ 2,กระทรวงไอซีที ที่ 3,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ที่4 และคณะรัฐมนตรีที่ 5 เป็นผู้ถูกฟ้องคดี

 

โดยผู้ฟ้องคดีต้องการให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2545 สองมีคำพิพากษาให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกลับคืนสู่ฐานะเดิมคือให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497

 

สามมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นับแต่ศาลได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2545

 

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีให้เหตุผลในการฟ้องว่าขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยที่มีการวางจำหน่าย อย่างแพร่หลายติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน

 

ประการต่อมา พระราชกฤษฎีกาขัดต่อพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 กล่าวคือพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจมีเจตนารมณ์ให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่คล่องตัวหรือไม่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะที่มีการขาดทุนต่อเนื่อง รวมทั้งมิได้มีเจตนารมณ์ที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นกิจการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน

 

แต่กิจการโทรศัพท์เกี่ยวพันกับคลื่นความถี่วิทยุโทรคมนาคม อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 40 รัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการสาธารณะโดยไม่หวังผลกำไรและกิจการโทรศัพท์เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติ รัฐจะต้องดำเนินการเอง ทั้งนี้ศาลปกครองรับเรื่องไว้แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

 

ข้าราชการพลเรือน ศธ. เตรียมฟ้อง "จาตุรนต์" ต่อศาลปกครอง

นายวิศร์ อัครสันตติกุล นายกสมาคมข้าราชการพลเรือนและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า สมาชิกสมาคมฯเตรียมยื่นฟ้องนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คณะกรรมการ ก.ค.ศ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต่อศาลปกครองกลาง ในวันที่ 20 เมษายนนี้

 

เหตุผลที่ยื่นฟ้องคือกรณีที่สมาคมได้เคยยื่นหนังสือร้องเรียนให้แก้ปัญหาเรื่องที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ยังไม่ได้กำหนดแนวทางการประเมินข้าราชการที่เคยปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด (สปจ.) สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ/กิ่งอำเภอ และกรมสามัญศึกษาเดิม เพื่อให้มีตำแหน่งสูงขึ้น แต่การแก้ปัญหายังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาให้กับข้าราชการพลเรือนในสังกัด เป็นเหตุให้ข้าราชการพลเรือนขาดโอกาสทั้งด้านความก้าวหน้า และเสียสิทธิในการรับประเมินเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ

 

"เป็ดไล่ทุ่ง" เอาด้วยฮึดสู้ผ่านศาลปกครอง

 

ร.ท.ทองมี มีใจดี แกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่าหลังจากที่กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งให้การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งต้องเข้าระบบฟาร์มและโรงเรือนทั้งหมด ภายในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาไข้หวัดนก ล่าสุดมีหนังสือด่วนที่สุดจากกรมปศุสัตว์ ที่ กษ.0630/6461 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่ง ให้ควบคุมดูแลเป็ดไล่ทุ่งให้เข้าระบบทั้งหมด รวมทั้งกำหนดข้อบังคับต่างๆ อีกมากมาย ให้เกษตรกรถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คำสั่งดังกล่าวบังคับให้เกษตรกรต้องลงทุนสูงขึ้นมาก

 

ทั้งนี้ เกษตรกรเคยรวมกลุ่มกันเข้ายื่นหนังสือต่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รักษาการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และได้รับปากโดยสัญญาว่าจะหาทางออกที่ดีที่สุดให้ แต่พอทางกลุ่มสลายตัวกลับมีข้อบังคับออกมาให้ปฏิบัติตามโดยไม่มีสิทธิโต้แย้ง

 

การเลี้ยงเป็ดระบบฟาร์มตามที่เคยมีการทดลองในเป็ด 3,000 ตัว ต้องใช้เงินเงินราว 700,000 บาท เป็นค่าก่อสร้างโรงเรือนตามมาตรฐาน ค่าตัวเป็ด และค่าอาหาร ที่ต้องใช้เวลากว่า 6 เดือนกว่าเป็ดจะไข่ ขณะที่การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งจะเสียเพียงค่าตัวเป็ดเท่านั้น หากเปรียบเทียบการลงทุนสูงกว่ามาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท